เรื่องภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เป็นเรื่องที่หลายคนพยายามที่จะทำความเข้าใจ แต่ต่างก็บอกว่าไม่เข้าใจอยู่ดี บางรายก็บอกว่าเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก เลยทำให้คนทำงานหลายคน ต้องพลาดโอกาสในการใช้สิทธิของตนในการลดหย่อนภาษีไป
หรือ อีกนัยนึงก็คือ เสียภาษีเต็มๆ ซึ่งจริงๆ แล้วหากมีความรู้ หรือ เข้าใจ เรื่องวิธีคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสักนิด ก็อาจจะช่วยประหยัดภาษีไปได้อีกเยอะเลย
ดังนั้นในบทความนี้ แอดมินจะพาพวกเราไปทำความเข้าใจในเรื่องของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และวิธีคำนวณภาษีเงินได้กัน (สำหรับปี 2563)
ใครบ้าง ที่มีหน้าที่ต้องยื่นภาษี?
ในเรื่องของการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับคนทำงาน คนมีรายได้ จะมี 2 แบบ คือ
- แบบ ภ.ง.ด.90 : สำหรับ คนที่มีทั้งเงินเดือนและรายได้อื่น ๆ (รายได้หลายทาง) หรือ ค้าขายแบบบุคคลธรรมดา เงินปันผล หรืออื่น ๆ
- แบบ ภ.ง.ด.91 : สำหรับคนที่มีเงินเดือน โบนัส (คนทำงานประจ โดยไม่มีรายได้ทางอื่น)
โดยทางกรมสรรพากร เขาได้กำหนดให้คนที่มีเงินได้ แม้จะมีเงินได้ไม่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี แต่ก็ต้องมีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายได้ ในกรณีดังต่อไปนี้
คนโสด กรณี มีเงินได้จากการจ้างแรงงาน (เงินเดือน ค่าจ้าง) เพียงประเภทเดียว จะต้องยื่นแบบภาษีเมื่อมีเงินได้เกิน 120,000 บาท หรือ กรณีมีเงินได้จากการจ้างแรงงาน (เงินเดือน ค่าจ้าง) และมีเงินได้ประเภทอื่นด้วย หรือ กรณีมีเฉพาะเงินได้ประเภทอื่น ที่ไม่ใช่เงินได้จากการจ้างแรงงาน จะต้องยื่นแบบภาษีเมื่อมีเงินได้เกิน 60,000 บาท
คนมีคู่ กรณี มีเงินได้จากการจ้างแรงงาน (เงินเดือน ค่าจ้าง) เพียงประเภทเดียว จะต้องยื่นแบบภาษีเมื่อมีเงินได้เกิน 220,000 บาท หรือ กรณีมีเงินได้จากการจ้างแรงงาน (เงินเดือน ค่าจ้าง) และมีเงินได้ประเภทอื่นด้วย หรือกรณีมีเฉพาะเงินได้ประเภทอื่นที่ไม่ใช่เงินได้จากการจ้างแรงงาน จะต้องยื่นแบบภาษีเมื่อมีเงินได้เกิน 120,000 บาท
อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี 2563
โดยอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี 2563 เป็นโครงสร้างภาษีใหม่ ที่จทำให้คนทำงานเสียภาษีน้อยลง เพราะ มีการเพิ่มเติมค่าลดหย่อนหลายประเภท
ขั้นตอนการเครียมตัวยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (สำหรับปี 2563)
เรื่องภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หลายคนมักจะไม่รู้ ว่าจะต้องเตรียมอะไรบ้าง หรือ มารู้อีกทีก็ตอนที่โดนเจ้าหน้าที่สรรพกรขอข้อมูลเพิ่มเติมหลังจากที่ได้ยื่นภาษีไปแล้ว จริงๆ แล้วเอกสารต่างๆ หากเข้าใจ และรู้ว่าต้องใช้อะไรบ้าง การยื่นภาษีไม่ได้เป็นเรื่องยากอะไรเลย ผลพลอยได้ อาจจะได้ภาษีที่จ่ายไปคืนมาหลายพัน หรือ หลายหมื่นอีกด้วย
“หลายคนไม่รู้ลยว่า แต่ละปีตนเองเสียภาษีเท่าไร? เพราะไม่เคยยื่นภาษีด้วยตนเองเลย ให้คนอื่นทำให้”
รู้จักช่องทางการยื่นภาษี
โดยปกติแล้ว เราจะสามารถยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของปี 2563 ได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 มีนาคม 2564 โดยสามารถยื่นภาษีได้หลายช่องทาง เช่น ยื่นผ่านช่องทางออนไลน์เว็บไซต์ E-Filing หรือ ผ่าน RD Smart Tax แอพ Official จากกรมสรรพากร ยื่นเอกสารได้เหมือนกับการยื่นผ่านเว็บไซต์ หรือ สามารถไปยื่นด้วยตนเองได้ ที่สรรพกรพื้นที่ที่เราทำงานอยู่
“หากเราไม่เข้าใจเรื่องภาษี ไม่เข้าใจว่าขั้นตอนทำอย่างไร เราก็ไม่มีทางวางแผนลดหย่อนภาษีได้”
หนึ่งในปัญหาใหญ่ ในเรื่องวางแผนภาษี คือ หลายคนให้คนอื่นยื่นภาษีให้ เพราะไม่เข้าใจ หรือ ไม่ใส่ใจ ทำให้หลาดโอกาสในการที่จะได้ภาษีคืน (เครดิตภาษี) เพราะฝากคนอื่น หรือไหว้วานคนอื่นยื่น มันก็ไม่ทันการซะแล้ว
เอกสารที่ต้องเตรียม
ในเรื่องของการยื่นภาษี ไม่ว่าจะเป็นการยื่นผ่านช่องทางไหนก็ตาม เอกสารประกอบการยื่นภาษี เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะทางเจ้าหน้าที่กรมสรรพกรเขาคงจะไม่เชื่อแค่ตัวเลขที่เรากรอกเพียงออย่างเดียว เขาต้องดูและตรวจสอบเอกสารประกอบที่เราส่งไปด้วย หากเรายื่นภาษีไปแล้วส่งเอกสารไม่ครบ ก็อาจจะเกิดความล่าช้า หรือมีปัญหาตามมาได้
สำหรับเอกสารที่ต้องใช้ใน เรื่องภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ก็มีดังต่อไปนี้
1 เอกสารรับรองเงินเดือนและการหักภาษี (50 ทวิ) : เป็นเอกสารที่นายจ้างออกให้เรา โดยในเอกสารนี้จะระบุ เงินได้ทั้งปีของเรา (รวมเงินเดือน โบนัสและเงินพิเศษต่าง ๆ) หักภาษี ณ ที่จ่าย, ภาษีที่หักและนำส่งไว้, เงินที่เราส่ง กองทุนประกันสังคม, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ กบข./กสจ./กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน เป็นต้น
2 เอกสารรับรองการหักลดหย่อนค่าเลี้ยงดูบิดา-มารดา : เราสามารถใช้สิทธิ์ ลดหย่อนบิดา-มารดาของตัวเองได้คนละ 30,000 บาท รวมทั้งบิดา-มารดาของคู่สมรส อีกคนละ 30,000 บาท โดยบิดา-มารดา ทั้งของเรา หรือ ของคู่สมรส จะต้องมีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และผู้มีเงินได้จะเป็นผู้เลี้ยงดูบิดา-มารดา ทั้งนี้บิดา-มารดา ทั้งของเรา หรือ ของคู่สมรส จะต้องมีเงินได้ในปีภาษีไม่เกิน 30,000 บาท
3 เอกสารส่วนตัว (เพิ่มเติม) : เช่น ทะเบียนสมรส กรณีกรมสรรพากรเรียกตรวจ หากใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้ หรือมีเงินได้แต่เลือกนำมาคำนวณภาษีพร้อมกัน หรือ เอกสารรับรองบุตร หรือสูติบัตรของบุตร กรณีสรรพากรอาจจะเรียกตรวจได้
4 เอกสารเกี่ยวกับประกันสุขภาพและประกันชีวิต : ในกลุ่มนี้มีดังต่อไปนี้ โดยเอกสารเหล่านี้เราสามารถขอได้จากบริษัทประกันฯ ที่เราได้ทำธุรกรรมเอาไว้ ได้ (โดยปกติ ทางบริษัทฯ จะส่งให้เราทางไปรษณีย์อยู่แล้ว และ เราก็สามารถขอโดยตรงได้เช่นกันผ่านช่องทางเว็บไซต์ของบริษัทฯ นั้นๆ
- เอกสารชำระค่าเบี้ยประกันสุขภาพบิดา-มารดา สามารถลดหย่อนได้สูงสุดตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท โดยบิดา-มารดาจะต้องมีเงินได้ในปีภาษีไม่เกิน 30,000 บาท
- เอกสารชำระค่าเบี้ยประกันสุขภาพ (เฉพาะในปี 2563 เท่านั้น) สามารถลดหย่อนได้สูงสุด ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 25,000 บาท เมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิต ต้องไม่เกิน 100,000 บาท
- หนังสือรับรองการชำระเบี้ยประกันชีวิต สามารถนำมาหักลดหย่อนได้ตามจริง สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท ส่วนประกันชีวิตแบบบำนาญ สามารถลดหย่อนได้ตามจริง สูงสุดไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 200,000 บาท ทั้งนี้ เมื่อรวมค่าเบี้ยประกันแบบบำนาญกับเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือเงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือเงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพแล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาท ในแต่ละปีภาษี
5 เอกสารดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัย : ในกลุ่มนี้สามารถหักลดหย่อนได้ตามจริง สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
6 เอกสารรับรองการซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) : ในกลุ่มนี้สามารถใช้สิทธิ์ได้สูงสุดไม่เกินร้อยละ 30 ของเงินได้ และเมื่อรวมกับเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือเงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือ เงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนแล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาท ในแต่ละปีภาษี
7 เอกสารรับรองการซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวม SSF หรือ SSFX : SSFX จะมีเฉพาะปี 2563 โดย SSF สามารถลงทุนได้ แต่รวมกันกับ RMF เงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือเงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือ เงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนแล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาท ในแต่ละปีภาษี
8 เอกสารเงินบริจาค : ในกลุ่มนี้สามารภนำ ใบเสร็จรับเงินบริจาค เพื่อสาธารณกุศลทั่วไป สามารถหักลดหย่อนได้ตามจริง สูงสุดไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้สุทธิ แต่หากเป็นเงินสนับสนุนการศึกษา การช่วยเหลือสังคม โรงพยาบาล และเงินบริจาคให้กองทุนยุติธรรม สามารถหักลดหย่อนได้เป็น 2 เท่าของเงินบริจาค
9 ค่าใช้จ่ายฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร : ในกลุ่มนี้เราสามารถนำค่าใช้จ่ายฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร นำมาหักลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 60,000 บาท ตามจำนวนที่จ่ายจริงสำหรับการตั้งครรภ์ในแต่ละครั้ง สามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีกับค่าใช้จ่ายที่เกิดตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป
10 โครงการช้อปดีมีคืน : ในกลุ่มนี้สามารถใช้ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป สำหรับการซื้อสินค้าในโครงการช้อปดีมีคืน หรือ ใบเสร็จรับเงินจากการซื้อหนังสือ หรือ สินค้าโอทอป จากโครงการช้อปดีมีคืน โดยรวมค่าใช้จ่ายได้สูงสุด 30,000 บาท (มีเฉพาะปี 2563) ข้อควรระวัง อย่าช้อปเกินตัว หรือ ช้อปเกินเพดานภาษีนะครับ
11 โครงการบ้านหลังแรก :กรณีที่เรามีการซื้อบ้านหลังแรกที่จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในช่วงวันที่ 13 ตุลาคม 2558 – 31 ธันวาคม 2559 สามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีได้เช่นกัน โดยจะต้องมีหนังสือรับรองจำนวนเงินที่ชำระค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์, หนังสือรับรองการซื้ออสังหาริมทรัพย์ว่าเป็นที่อยู่อาศัยหลังแรก (สามารถดูแบบฟอร์มของกรมสรรพากร), สำเนาซื้อ-ขายอสังหาริมทรัพย์ และ สำเนาสัญญากู้ยืมเงิน (กรณีขอสินเชื่อจากธนาคารหรือสถาบันการเงิน)
12 หนังสือรับรองการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพ ลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท โดยมีเงื่อนไข คือ คนพิการ จะต้องมีบัตรประจำตัวคนพิการ และระบุชื่อผู้มีเงินได้เป็นผู้ดูแลในบัตรประจำตัวคนพิการ โดยคนพิการต้องมีเงินได้ในปีภาษีไม่เกิน 60,000 บาท หรือ คนทุพพลภาพ จะต้องเป็นผู้ทุพพลภาพมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 วัน มีใบรับรองแพทย์ที่ออกในปีภาษีที่ขอใช้สิทธิ์หักลดหย่อน และมีหนังสือรับรองการเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูคนทุพพลภาพ
13 หนังสือหรือเอกสารรับรองเงินได้อื่น ๆ นอกเหนือจากเงินเดือน
เอกสารอื่นๆ เช่น เอกสารเครดิตภาษีเงินปันผล สำหรับคนที่ลงทุนในหุ้น หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย กองทุนรวมต่าง ๆ กรณีที่เราลงทุนในกองทุนรวมที่มีการจ่ายปันผล เงินปันผลที่ได้รับนั้นจะถูกหักภาษี 10% (หากฐานภาษีของเราต่ำกว่า 10% เราสามารถได้เครดิตภาษีคืนในส่วนของเงินปันผลนี้ได้)
มาเช็คกันดูว่า เราจะต้องเสียภาษีเท่าไร?
แอดมินอยากให้พวกเรามาทำความเข้าใจ และ ลองคำนวณภาษีของตนเองกันตั้งแต่ตอนนี้ เพราะตอนนี้เรายังเหลือเวลาอีกเดือนกว่าๆ ก็จะหมดปีภาษี 2563 นี้แล้ว ดังนั้นเราต้องรีบมาวางแผน เพื่อลดหย่อนภาษีกัน เพื่อประโยชน์ของตัวเราเอง
ในขั้นตอนนี้ แอดมินใช้ แบบคำนวณภาษีของทาง SCBAM ซึ่งเป็นโปรแกรมคำนวณภาษีแบบง่ายๆ ที่ช่วยให้พวกเราสามารถเตรียมตัววางแผนเรื่องภาษีได้ดียิ่งขึ้น สามารถ Download กันได้ที่นี่ : ดาวน์โหลดแบบคำนวณภาษี
แบบคำนวณภาษีให้ใช้ ปี 2563 ซึ่งดีมาก มีครบสำหรับเรื่องลดหย่อน และ มีภาษาอังกฤษให้เลือกด้วย สำหรับชาวต่างชาติที่ทำงานในประเทศไทย
กรณีตัวอย่าง
นาย เอ ทำงานประจำ (โสด) เงินเดือน 50,000 บาท (มีรายได้ทางเดียว ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.91) เงินได้ ของนายเอ คือ 600,000 บาท (กรณีไม่มีโบนัส) และ เขามีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 5% และไม่มีรายการลดหย่อนอื่นๆ เพิ่มเติม
เงินได้ของนายเอ หักค่าใช้จ่าย 50% ของเงินได้ (แต่ไม่เกิน 100,000 บาท) = 100,000 บาท หักค่าลดหย่อน 79,000 บาท และ หัก เงินได้ที่ได้รับการยกเว้น 20,000 บาท
เงินได้สุทธิของ นายเอ คือ 401,000 บาท
หากเรานำข้อมูลเหล่านี้ไปกรอกในโปรแกรมแบบคำนวณภาษี รายละเอียดก็จะออกมาดังรูปที่ 2
จากรูปที่ 2 แสดงให้เห็นว่า หากไม่พิจารณาเรื่องการลดหย่อนภาษีอะไรเลย นาย เอ ต้องเสียภาษีประจำปี 2563 เท่ากับ 17,600 บาท ประมาณ 4.4% ของรายได้ทั้งปีของนายเอ
ดังนั้น หากนายเอ เพิ่มในเรื่องการลดหย่อนภาษี ในบางเรื่อง เช่น
- หักลดหย่อนค่าเลี้ยงดูบิดา-มารดา : เฉพาะของตนเอง ก็จะได้เพิ่มค่าลดหย่อนมาอีก 60,000 บาท แต่ต้องระวัง เพราะหากนายเอ ได้ใช้สิทธิ์ตรงนี้ไปแล้ว พี่น้องที่เหลือของนายเอ จะใช้ค่าลดหย่อนตรงนี้ไม่ได้อีกแล้ว
- ประกันสุขภาพและประกันชีวิต : คนทำงานอย่างไรเสียก็ควรมีประกันเอาไว้บ้าง กรณีนี้ นายเอ ควรมี ประกันสุขภาพและประกันชีวิต อย่างละ 15,000 บาท
- โครงการช้อปดีมีคืน : มีมาก็ต้องใช้ สมมุติว่านายเอ จัดไป 10,000 บาท กับเสื้อผ้าชุดใหม่สำหรับการทำงานในปีหน้า
แค่ใช้ค่าลดหย่อนภาษี บวกกับสิ่งที่คนทำงานจำเป็นต้องมี (ประกันสุขภาพและประกันชีวิต) และ ใช้สิทธิ์โครงการลดหย่อนภาษีเพิ่มเข้าไป นายเอ ประหยัดภาษีไปได้ถึง 10,000 บาท เพราะจากการคำนวณต้องจ่ายจริงเพียงแค่ 7,600 บาท
หากยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ด้วยเงื่อนไขตามข้างต้น นายเอ จะสามารถขอเงินภาษีในส่วนที่ได้จ่ายเกินเอาไว้ (เครดิตภาษี) ได้ถึง 10,000 บาท เลยทีเดียว
และ ถ้านายเอ มองการณ์ไกล วางแผนเรื่องเกษียณ ด้วยการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และ กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) อย่างละ 30,000 บาท รวมเป็น 60,000 บาท นายเอ จะเสียภาษีสำหรับปี 2563 เท่ากับ 4,550 บาท เท่านั้นเอง
จากตัวอย่างของนายเอ จะเห็นได้ว่า หากนายเอ ปล่อยให้คนอื่นช่วยยื่นภาษีให้ โดยที่เขาไม่เข้าใจ เขาจะต้องเสียภาษีประจำปี 2563 เท่ากับ 17,600 บาท แต่หากนายเอ ลองทำความเข้าใจและยื่นเอง นายเอ ก็มีทางเลือกที่จะเสียภาษีน้อยลง 7,600 บาท (เครดิตภาษี ได้ 10,000 บาท) หรือ 4,550 บาท (เครดิตภาษี ได้ 13,050 บาท)
บทสรุปสำหรับเรื่องนี้
ภาษี เป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนที่ต้องจ่าย ดังนั้น เรื่องภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยเฉพาะคนทำงานอย่างพวกเรา เป็นเรื่องที่เราต้องทำความเข้าใจ และ ควรรับผิดชอบในการวางแผน และ ยื่นภาษีด้วยตนเอง ไม่ใช่เพื่อใคร เพื่อประโยชน์ของตัวเราเอง
สุดท้าย ขอแนะนำให้เริ่มวางแผนกันตั้งแต่วันนี้ Download โปรแกรมคำนวณภาษีไปลองใช้ดู เพื่อประเมินเบื้องต้นว่า เราจะต้องเสียภาษีเท่าไร และ จะใช้มาตรการ หรือ เรื่องอะไรบ้างที่จะนำไปลดหย่อนภาษี เราจะได้ประหยัดภาษีได้อย่างเต็มที่ และ วางแผนการเงินต่อไปได้ง่ายยิ่งขึ้น
Source: https://www.rd.go.th และ https://www.scbam.com/th/service-channel/service-income-tax/
บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวกับ ภาษี สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ : ภาษี ทำไมต้องมี ทำไมต้องจ่าย จ่ายแล้วไปไหน?