เลิกจ้างที่ชอบด้วยกฎหมาย มีประเด็นอะไรบ้าง? เรื่องสำคัญที่เราต้องรู้ ในบทความนี้ จะมาสรุปหลักการเลิกจ้างที่ชอบด้วยกฎหมาย ให้พวกเราคนทำงานได้เข้าใจกันให้มากยิ่งขึ้น พวกเราจะได้ไม่พลาดตกเป็นเหยื่อโดนเลิกจ้าง โดยขาดความเข้าใจ หรือ เข้าใจผิดได้
เลิกจ้างที่ชอบด้วยกฎหมาย โดยสรุปจะมี 5 ประเด็นหลักๆ ที่ต้องพิจารณาเหตุแห่งการเลิกจ้าง ดังต่อไปนี้
1. เหตุการณ์กระทำความผิดของลูกจ้างที่จะนำมาเป็นเหตุแห่งการเลิกจ้าง ต้องเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
เรื่องความผิดของลูกจ้างที่เกิดขึ้น ที่นายจ้างมองว่าเป็นเหตุให้นำมาสู่การเลิกจ้างนั้น ทางกฎหมายแรงงานได้มีหลักพิจารณาเอาไว้ว่า นายจ้างจะมาเอาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมานานแล้วมาบอกเลิกจ้างลูกจ้างไม่ได้
ยกตัวอย่างเช่น ลูกจ้างทำความผิด เช่น บกพร่องในหน้าที่การงาน มาสาย หรือ อื่นๆ ในอดีต โดยเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมาแล้ว ในกรณีแบบนี้ทางกฎหมายจะถือว่าเป็นการให้อภัยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพราะนายจ้างไม่ได้ต่อว่า ตำหนิ หรือ ออกใบเตือนในขณะนั้น เพราะฉะนั้นจะเอาเหตุการณ์ในอดีตมาเป็นเหตุในการเลิกจ้างไม่ได้
การนำเหตุความผิดของลูกจ้างเพื่อมาเลิกจ้าง จะต้องเป็นเหตุเกิดขึ้นสดๆใหม่ๆ เช่นเกิดขึ้นในปีทำงานปัจจุบัน ภายใน 1 เดือน หรือ เร็วกว่านั้น การปล่อยเหตุการณ์เอาไว้นาน จะนำมาใช้ในการเลิกจ้างไม่ได้
ดังนั้น หากลูกจ้างถูกเลิกจ้าง จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต ก็อาจจะเข้าข่ายการถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรมได้
2. สาเหตุของการเลิกจ้าง ที่นายจ้างประสงค์ที่จะไม่จ่ายค่าชดเชย
เหตุแห่งการเลิกจ้าง ซึ่งเป็นเหตุที่ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย และนายจ้างมีความประสงค์ที่จะไม่จ่ายค่าชดเชย นายจ้างจะต้องระบุสาเหตุในการเลิกจ้างเอาไว้ในจดหมายหรือหนังสือเลิกจ้างให้กับลูกจ้างเอาไว้ด้วย
โดยกฎหมาย เขาระบุเอาไว้ว่า ถ้านายจ้างเลิกจ้างโดยไม่ระบุเหตุแห่งการเลิกจ้างนั้นเอาไว้ในหนังสือเลิกจ้าง นายจ้างจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในคดีเรื่องการจะไม่จ่ายค่าชดเชยให้กับลูกจ้างไม่ได้
เพราะฉะนั้นการเลิกจ้างด้วยวาจา หรือ ด้วยหนังสือเลิกจ้าง แต่ไม่ได้ระบุว่ามาจากสาเหตุอะไร? ซึ่งสาเหตุนั้นเป็นสาเหตุที่กฎหมายกำหนดเป็นข้อยกเว้นที่จะไม่จ่ายค่าชดเชยเอาไว้
ดังนั้น การเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย ต้องระบุสาเหตุลงในหนังสือเลิกจ้างให้ชัดเจน
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : ลูกจ้างจะไม่ได้รับเงินชดเชย อันเนื่องมาจากการเลิกจ้าง ในกรณีใดบ้าง?
3. ต้องไม่ยกเหตุผลที่เคยลงโทษลูกจ้างไปแล้ว มาเป็นเหตุในการเลิกจ้างอีก
ถ้านายจ้างเห็นว่าลูกจ้างทำผิดและได้ถูกลงโทษพักงานไปแล้ว โดยการพักงานนั้นถือเป็นการพักงานโดยไม่จ่ายจ้าง ในกรณีนี้ ถือว่าการกระทำดังกล่าวของลูกจ้าง ถูกลบล้างด้วยเหตุแห่งการลงโทษไปแล้ว เพราะฉะนั้นจะหยิบยกเอาเหตุนั้นมาเลิกจ้างอีกไม่ได้ เพราะคนเราทำผิดครั้งเดียว จะลงโทษ 2 ครั้งไม่ได้
พูดถึงเรื่องการพักงาน มี 2 กรณี คือ การพักงานระหว่างสอบสวน กับ การลงโทษโดยการพักงาน
การพักงานในระหว่างสอบสวนความผิดลูกจ้างมีกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ในมาตรา 116 และ มาตรา 117 โดยมีหลักเกณฑ์ดังนี้
ในกรณีที่นายจ้างทำการสอบสวนลูกจ้างซึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด ห้ามมิให้นายจ้างสั่งพักงานลูกจ้างในระหว่างการสอบสวนดังกล่าว เว้นแต่จะมีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างให้อำนาจนายจ้างสั่งพักงานลูกจ้างได้ ทั้งนี้ นายจ้างจะต้องมีคำสั่งพักงานเป็นหนังสือระบุความผิดและกำหนดระยะเวลาพักงานได้ไม่เกินเจ็ดวัน โดยต้องแจ้งให้ลูกจ้างทราบก่อนการพักงาน
ในระหว่างการพักงานตามวรรคหนึ่ง ให้นายจ้างจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างตามอัตราที่กำหนดไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือตามที่นายจ้างและลูกจ้างได้ตกลงกันไว้ในข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ทั้งนี้ อัตราดังกล่าวต้องไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบของค่าจ้างในวันทำงานที่ลูกจ้างได้รับก่อนถูกสั่งพักงาน
เมื่อการสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว ปรากฏว่าลูกจ้างไม่มีความผิด ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานนับแต่วันที่ลูกจ้างถูกสั่งพักงานเป็นต้นไป โดยให้คำนวณเงินที่นายจ้างจ่ายตามมาตรา 116 เป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้างตามมาตรานี้พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละสิบห้าต่อปี
4. เหตุความผิดของลูกจ้าง ต้องร้ายแรงพอที่จะเลิกจ้างได้
เหตุความผิดนั้นจะต้องร้ายแรงพอ เหมาะสมกับการเลิกจ้างได้ โดยภาษากฎหมายเรียกว่า การกระทำกับโทษต้องได้สัดส่วนกัน ไม่ใช่ว่าลูกจ้างมาสายแต่สองครั้งแล้วจะนำมาเป็นเหตุในการเลิกจ้าง เหตุแบบนี้ถือว่าไม่ร้ายแรงพอที่จะนำมาเลิกจ้างได้ การมาสายสองครั้ง อาจจะออกหนังสือเตือนหรือเตือนด้วยวาจาก่อนก็ได้
แต่ถ้าลูกจ้างทำผิด เช่นทำเรื่องทุจริตต่อนายจ้าง หรือ ทำการละทิ้งหน้าที่นานเกิน 3 วัน หรือ ประพฤติตนเสื่อมเสีย กระทำการให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง นายจ้างอาจเลิกจ้างได้ ซึ่งทั้งนี้ต้องพิจารณา พฤติกรรมและเหตุจะต้องมีสัดส่วนพอกัน
5. การเลิกจ้าง จะต้องเลิกจ้างคนที่มีสถานะเป็นลูกจ้างเท่านั้น
ในบางกรณี ที่นายจ้างพูดหรือแจ้งทางโทรศัพท์กับลูกจ้างว่า “พรุ่งนี้ไม่ต้องมาทำงานแล้วนะ” แบบนี้แปลว่าลูกจ้างถูกเลิกจ้างเรียบร้อยแล้ว แต่ต่อมานายจ้างกลับจะมาบอกว่าตอนนั้นไม่ได้พูดจริงจัง การที่ลูกจ้างไม่มาทำงานหลังจากนั้นถือเป็นการละทิ้งหน้าที่ นายจ้างจึงถือเป็นการเลิกจ้างโดยไม่จ่ายชดเชย
แบบนี้นายจ้างไม่สามารถทำได้ เพราะการเลิกจ้าง ต้องเลิกจ้างคนที่มีฐานะเป็นลูกจ้าง การพ้นจากการเป็นลูกจ้างไปแล้ว ไม่สามารถทำได้ เพราะนายจ้างแจ้งเขาให้ออกทางโทรศัพท์ไปแล้ว
ดังนั้นหลักการเลิกจ้างขั้นต้น ฝ่ายบุคคลหรือนายจ้างจะต้องทบทวนให้ดีว่าเราปฏิบัติขัดกับหลักการข้างต้นหรือไม? เพราะอาจจะสุ่มเสี่ยงผิดต่อข้อกฏหมายที่ว่าเลิกจ้างไม่เป็นธรรมได้
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกฏหมายแรงงาน : กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สายด่วน 1506 กด 3 และ 1546
บทความแนะนำ:
หัวหน้ารังแกลูกน้อง มีความเสี่ยง อาจเจอความผิดอาญามีโทษทั้งจำและปรับได้
โดนบีบให้ออก ทั้งๆ ที่เราก็ไม่ได้มีความผิดอะไร เราควรรับมืออย่างไร?