
แจสเบอร์รี่ แบรนด์ข้าวอินทรีย์ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูงมาก และได้มาตรฐานระดับโลก ทั้งในอเมริกา และยุโรป เป็นแบรนด์ข้าวฝีมือคนไทยที่โด่งดังไปไกลถึงต่างประเทศ
แจสเบอร์รี่ แบรนด์ข้าวอินทรีย์ ที่มีจุดเริ่มต้นมาจาก บริษัท แจสเบอร์รี่ จำกัด หนึ่งในวิสาหกิจเพื่อสังคม ผู้ริเริ่มโมเดลใหม่สำหรับชาวนาไทย กับข้าวแจสเบอร์รี่ ด้วยการเลือกใช้นวัฒกรรมเพื่อการเกษตร เปลี่ยนวงจรข้าวไทยแบบเดิมๆ ด้วยโมเดลใหม่ ผลักดันข้าวของคนไทยไปให้ไกลในตลาดโลก ซึ่งในปัจจุบันมีครอบครัวชาวนาเข้าร่วมโครงการกว่า 2,500 ครอบครัว

ในตอนนี้เราจะไปทำความรู้จักบริษัท แจสเบอร์รี่ จำกัด กับ เรื่องราวของอาชีพชาวนา อาชีพที่สำคัญเพราะคือกระดูกสันหลังของชาติแต่พวกเขากลับกลายเป็นหนึ่งในอาชีพที่ยากจนที่สุด เราจะมาทำความเข้าใจวิธีการและโมเดลธุรกิจที่จะช่วยพี่น้องชาวนาไทยให้สามารถหลุดพ้นจากกับดักความยากจนได้ จากบทสัมภาษณ์ของ คุณปาล์มมี่ พรธิดา วงศ์ภัทรกุล ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทฯ
จุดเริ่มต้นของบริษัท แจสเบอร์รี่ จำกัด
คุณปาล์มมี่เล่าว่า เธอเริ่มต้นจากการทำงานไฟแนนซ์มาก่อน แต่เมื่อทำแล้วรู้สึกไม่ชอบ ถึงแม้ว่าจะเป็นการทำงานที่ช่วยให้คนที่มีเงินอยู่แล้วมีเงินมากขึ้น แต่หลังจากที่พอได้ทำไปเรื่อยๆ จึงเริ่มสงสัยถึงเป้าหมายในการทำงานของตัวเอง ยิ่งทำงานนี้นานไปยิ่งรู้สึกไม่ชอบตัวเอง หลังจากเรียน MBA จนใกล้จบ ถึงเวลาที่ต้องหางานทำต่อ คุณปาล์มมี่จึงพยายามที่จะมองหางานที่ได้เงินดีกว่างานไฟแนนซ์ที่เคยทำ แต่ปรากฏว่าไม่มี และตัวเองก็ไม่อยากกลับไปทำงานไฟแนนซ์แบบเดิมอีก จึงเริ่มมองหางานใหม่ๆ ในด้านอื่นๆ

“ทำไมเกษตรกรไทยถึงจน?”
ในตอนนั้นคุณปาล์มมี่ได้รับคำชวนจากเพื่อนให้มาทำงานในสายวางแผนธุรกิจ จึงลองหาข้อมูล ศึกษาไปเรื่อยๆ จนกระทั่งมีคำถามเกี่ยวกับความยากจนของเกษตรกรไทย หากเราเป็นคนที่อาศัยอยู่และทำงานที่กรุงเทพฯ เราจะไม่เคยสงสัยเรื่องแบบนี้กันเลย ทุกคนบอกกันเสมอว่าเราต้องเคารพและรู้สึกขอบคุณชาวนา ให้เกียรติอาชีพของพวกเขาให้มาก แต่ทำไมพวกเขาถึงกลายเป็นอาชีพที่ยากจนที่สุดในประเทศไทย ประเด็นนี้เองที่จุดประกายให้คุณปาล์มมี่เริ่มศึกษาเพื่อหาวิธีการและคำตอบอย่างจริงจัง
“ปัจจัยของความยากจนที่ชาวนาไม่สามารถหลุดออกมาได้ด้วยตัวเอง”
พบว่ามีหลายปัจจัยมากที่ทำให้อาชีพชาวนาเป็นอาชีพที่จนที่สุด และพวกเขาเองก็ไม่สามารถหลุดออกจากปัจจัยเหล่านั้นออกมาได้เลย อาทิเช่น ปัญหาเรื่องของหนี้สินที่เกิดจากการกู้ยืมเพื่อนำมาปลูกและดูแลข้าว การโดนกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง การพึงพานโยบายภาครัฐมากเกินไป และ อื่นๆ คุณปาล์มมี่ จึงเริ่มคิดวางโมเดลธุรกิจว่ามันพอจะเป็นไปได้ไหมที่จะหานวัตกรรมอะไรเพื่อช่วยเกษตรกรในภาคอีสาน ซึ่งเป็นภาคที่เกษตรกรยากจนที่สุดในประเทศ หลังจากนั้นคุณปาล์มมี่จึงลงพื้นที่ไปสัมภาษณ์เกษตรกร ส่งเสริมการเกษตรอินทรีย์ มอบข้าวสายพันธุ์ใหม่เข้าไปส่งเสริมพวกเขา ทำราคาข้าวให้ดีขึ้น สร้างตลาดที่ทำให้ได้ราคาข้าวที่ดี สิ่งสำคัญก็คือ นำเกษตรกรออกจากนโยบายรัฐบาลที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาและไม่มีความแน่นอน ทำให้พวกเขาไม่ต้องพึ่งพาภาครัฐอีกต่อไป
“วิสาหกิจเพื่อสังคมคืออะไร สำหรับแจสเบอรี่”
คุณปาล์มมี่ อธิบายว่าธุรกิจเพื่อสังคมหรือวิสาหกิจเพื่อสังคมสำหรับบริษัท แจสเบอร์รี่ จำกัด ก็คือ ธุรกิจเพื่อแสวงหาผลกำไรเหมือนธุรกิจทั่วไป แต่วัตถุประสงค์ของบริษัทที่ตั้งใจก่อตั้งขึ้นมามีความต้องการสร้างผลประโยชน์ต่อสังคมหรือช่วยแก้ปัญหาทางสังคมได้โดยที่ยังดำเนินธุรกิจไปด้วย การที่บริษัทยิ่งโตบริษัทก็ยิ่งแก้ปัญหาทางสังคมได้มากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่บริษัทก็ทำกำไรได้ดีไปด้วย
“ความยากในการเริ่มต้น”
ในกรณีของบริษัท แจสเบอร์รี่ จำกัด การทำให้เกษตรกรเชื่อใจ คุณปาล์มมี่เล่าว่าเป็นเรื่องที่ยากมาก โดยเฉพาะการเริ่มต้นกับเกษตรกรกลุ่มแรก กว่าที่พวกเขาจะยอมยกมือเข้าร่วมต้องใช้ความพยายามกันอย่างมาก เพราะที่ผ่านมาพวกเขาได้รับความหวังแต่ไม่มีการช่วยเหลือแบบจริงจังมาหลายครั้งแล้ว ทำให้ทางคุณปาล์มมี่เองต้องเข้าไปคุยกับเกษตรกรหลายกลุ่ม เข้าไปสื่อสารกับเกษตรกรทุกคนตรงๆ เล่าถึงโครงการให้พวกเขาเข้าใจ ในปีแรกมีเกษตรกรเข้าร่วมไม่ถึง 100 คนด้วยซ้ำ แต่พอเมื่อผ่านไป 1 ปี ผลลัพธ์ก็เริ่มออกมาให้เห็นเป็นรูปธรรม พี่กลุ่มเกษตกรเริ่มเกิดการบอกต่อกัน แจสเบอรี่จึงได้รับการยอมรับและไว้ใจจากเกษตรกรมากยิ่งขึ้นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
โมเดลการทำงานของแจสเบอรี่
แจสเบอรี่เข้าไปมีส่วนร่วมตั้งแต่ขั้นตอนการคัดเมล็ดพันธุ์ข้าว ในช่วงปีแรกจะนำเมล็ดพันธุ์ไปให้เกษตรกร คัดเมล็ดพันธุ์ให้ ปีหลังๆ จะเริ่มสอนให้เกษตรกรให้ทำเอง มีการคัดกรองเกษตรกรที่เพาะเมล็ดพันธุ์เพื่อให้แจกจ่ายในเครือข่าย มีการกำหนดว่าหากจะปลูกข้าวให้แจสเบอรี่ต้องปลูกลักษณะนาดำทั้งหมด จะไม่มีการทำนาหว่าน เป็นเกษตรอินทรีย์มาตรฐานสากลทั้งหมด มีการอบรมเกษตรกรเพื่อให้ปฏิบัติได้ตรงตามมาตรฐาน

นอกจากนี้ยังมีการช่วยเหลือในเรื่องให้ไฟแนนซ์เกษตรกรในลักษณะโครงการเงินกู้ เพราะเกษตรกรส่วนใหญ่เป็นหนี้ธกส. อยู่แล้วทำให้พวกเขาไม่สามารถกู้ที่อื่นได้อีกนอกจากไปกู้นอกระบบ ทางแจสเบอรี่จึงนำเงินไฟแนนซ์จากต่างประเทศมาให้กู้โดยไม่ต้องค้ำประกัน ไม่ต้องเอาที่ดินมาจำนอง และดอกเบี้ยต่ำมาก เป็นทางเลือกเพื่อให้พวกเขามีแหล่งเงินทุนเพิ่ม และมีการรับซื้อผลผลิตทั้งหมดมาแปรรูปเพื่อทำการตลาดขายผลผลิตส่งออกให้ต่างประเทศต่อไปอีกด้วย
Contract Farming (การทำนาแบบสัญญาจ้าง)
คุณปาล์มมี่ เล่าว่าบางคนเรียกการทำธุรกิจรูปแบบนี้ว่า Contract Farming หรือ การทำนาแบบสัญญาจ้าง ซึ่งเรียกแบบนั้นก็ไม่ผิด แต่สิ่งที่แจสเบอรี่ทำนั้นเป็นมากกว่าการทำสัญญาจ้าง เพราะว่าถ้าเป็นการทำสัญญาจ้างแบบบริษัทใหญ่ หรือ ทั่วๆ ไป จะมีการบังคับว่าต้องซื้อเมล็ดพันธุ์และปุ๋ยจากทางบริษัทเขาและจะมีการกำหนดราคาที่บริษัทจะรับซื้อผลผลิต แต่สำหรับแจสเบอรี่จะเป็นสัญญาจ้างแบบให้เมล็ดพันธุ์ ให้อิสระในการเลือกปุ๋ย โดยจะรับจากแจสเบอรี่หรือไปซื้อเอง หรือจะทำเองก็ได้ แต่ขอให้ใช้ปุ๋ยอินทรีย์จากคนในกลุ่มที่ได้รับใบรับรองอย่างถูกต้องก็พอ
“การรวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อสร้างการแลกเปลี่ยนที่เกิดประโยชน์สูงสุด”
คุณปาล์มมี่ เล่าว่าโดยปกติแล้วเกษตรกรจะเป็นอาชีพที่ไม่ค่อยมีการข้องเกี่ยวหรือพูดคุยกันเท่าไร แต่แจสเบอรี่จะเข้าไปทำการรวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อดึงความรู้ ความสามารถ และความถนัดของเกษตรกรแต่ละคนมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยจะมีการแลกเปลี่ยนความรู้ แชร์ประสบการณ์ หรือมีการค้าขายสินค้าเกษตรระหว่างกัน อย่างเช่น เกษตรกรที่เลี้ยงวัว ก็จะสามารถขายปุ๋ยอินทรีย์ให้คนในกลุ่มได้ในราคาที่ต่ำ เพราะขี้วัวสามารถนำมาทำปุ๋ยอินทรีย์ได้จึงทำให้ต้นทุนการทำปุ๋ยอินทรีย์ถูกลง เป็นต้น
ข้าวแจสเบอรี่ต่างจากข้าวปกติอย่างไร?
แจสเบอรี่ มีการควบคุมตั้งแต่จุดเริ่มต้นอย่างการคัดเมล็ดพันธุ์ของข้าวจนถึงขั้นตอนการเก็บเกี่ยวเพื่อให้ได้คุณภาพที่ดีและสม่ำเสมอ มีการจัดจำหน่ายภายใต้แบรนด์แจสเบอรี่เท่านั้น 98% เป็นการขายแบบส่งออกทั้งหมด คนไทยจึงไม่ค่อยรู้จัก แม้ในช่วงแรกจะมีการขายในประเทศเพราะว่ามีผลผลิตปริมาณน้อย แต่ไม่สามารถสู้ราคากับข้าวแบรนด์อื่นในประเทศไทยได้ เพราะทางบริษัท แจสเบอรี่ มีการการันตีเรื่องราคากับเกษตรกร ถ้าต้องขายตัดราคาเพื่อสู้กับราคาข้าวในตลาด เกษตรกรก็จะขายข้าวได้ในราคาต่ำไม่ต่างจากเดิม ทำให้พวกเขาก็อยู่ไม่ได้และลืมต้าอ้าปากไม่ได้และหลุดจากกับดักความจนไม่ได้ในท้ายที่สุด
“คนไทยไม่ได้ยอมควักเงินเพื่อให้ได้ข้าวที่มีคุณภาพที่ดีกว่า”
ผู้บริโภคในประเทศไทยอาจจะยังไม่ได้สนใจในเรื่องของคุณภาพข้าวเสียเท่าไร อย่างเช่น ข้าวหอมมะลิ ข้าวขาว ข้าวอินทรีย์หอมมะลิ ข้าวขาวอินทรีย์ คนไทยจะมองว่าข้าวขาวก็คือข้าวขาว ไม่ได้มองว่าเกรดที่ได้มามีความพิเศษกว่ากันอย่างไร จึงอาจจะยังไม่พร้อมที่จะจ่ายเพื่อให้ได้คุณภาพที่แตกต่าง ด้วยเหตุนี้เองแจสเบอรี่จึงเริ่มมองหาตลาดที่ให้ความสำคัญกับคุณภาพสินค้าและคุณภาพชีวิตของผู้ที่ปลูก ซึ่งตลาดรูปแบบนี้จะอยู่ที่ต่างประเทศ การขายผลผลิตจึงเน้นไปที่ตลาดต่างประเทศ เพื่อที่จะสามารถคุมคุณภาพทั้งข้าวและชีวิตของผู้ปลูกให้ดี ได้เจอกับผู้บริโภคที่เขามองเห็นคุณค่าของสิ่งเหล่านี้อย่างแท้จริง
แจสเบอรี่ทำให้ชีวิตของเกษตรกรเปลี่ยนแปลงอย่างไร?
แจสเบอรี่จะมีองค์กรที่เข้ามาวัดผลลัพธ์ทางสังคม ซึ่งผลลัพธ์ก็คือเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการกับแจสเบอรี่มีรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่าเกษตรกรทั่วไป 14 เท่า มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น คุณปาล์มมี่ เล่าว่าจากการที่ทำงานตรงนี้มา 10 ปี เห็นชัดมากเลยว่าการทำงานในช่วงปีแรกๆ ลูกหลานเกษตรกรส่วนใหญ่จะเข้าเมือง ไปรับจ้าง ทำงานโรงงาน แต่พอทำงานตรงนี้เข้าปีที่ 4 ที่ 5 จะเห็นว่าลูกหลานของเกษตรกรเริ่มสนใจที่จะกลับมาเป็นเกษตรกรและเข้าร่วมโครงการกับแจสเบอรี่กันมากขึ้น เพราะพวกเขาเล็งเห็นถึงรายได้ที่มากกว่าและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และที่มากกว่าตัวเงินที่ใช้วัด ก็คือคุณภาพชีวิตและความสุขของพวกเขาที่มีลูกหลานกลับไปอยู่ด้วย ลูกหลานต่างก็กลับไปเป็นเกษตรกรสืบทอดอาชีพนี้เหมือนกับพ่อแม่ ปูย่า ตายาย ของพวกเขา

การเข้าร่วมเป็นเกษตรกรของแจสเบอรี่
คุณปาล์มมี่บอกว่า ตอนนี้ทางบริษัทฯ ยังรับเรื่อยๆ ทุกวันนี้จะรับเกษตรกรเข้ามาเป็นพื้นที่ ในการเข้าร่วมจำเป็นต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง อย่างเช่น ในเรื่องของใบรับรองการเป็นเกษตรอินทรีย์ ต้องทำการรับรองเป็นกลุ่มซึ่งมีราคาค่อนข้างสูง ทางแจสเบอรี่จึงต้องรับเกษตรกรเป็นพื้นที่ เช่น หากสนใจเข้าร่วม ก็ต้องเข้าร่วมเลยทั้งหมู่บ้านหรือชุมชน ทุกคนในพื้นที่ให้ความร่วมมือในการทำเกษตรอินทรีย์ ไม่มีเคมีในบริเวณนั้นเลย เป็นต้น
บทสรุป
จากวันที่เป็นแค่แผนธุรกิจสู่วันที่มีครอบครัวเกษตรกรเข้าร่วมกว่า 2,500 ครอบครัว คุณปาล์มมี่เล่าว่าการทำธุรกิจเพื่อสังคมอย่างแรกเลยต้องรู้ว่าปัญหาคืออะไร? ในตอนแรกเองคุณปาล์มมี่ก็ไม่เข้าใจถึงปัญหาทางสังคมเหล่านี้อย่างแท้จริง ไม่เข้าใจว่าทำไมเกษตรกรถึงยังจนอยู่แบบนั้น พวกเขาไม่ได้ขี้เกียจ พวกเขาทำงาน พวกเขาเก็บเงิน และพวกเขาอยู่ในฐานะยากจนโดยที่เขาไม่เลือก แต่เมื่อได้ลองเข้าไปสัมผัสถึงได้เข้าใจปัญหาอย่างแท้จริง การแก้ปัญหาจำเป็นต้องใช้วิธีที่สร้างสรรค์ในการดำเนินการ เพราะฉะนั้นการแก้ปัญหาสังคมในหลายบริบทต้องใช้วิธีที่สร้างสรรค์แตกต่างกันไป ต้องใช้ความเข้าใจว่าไม่สามารถเข้าไปแล้วปรับเปลี่ยนได้เลย ทุกคนมีวิถีชีวิตของตัวเอง ทุกอย่างต้องค่อยเป็นค่อยไปจึงจะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ก้าวไปข้างหน้าด้วยกันอย่างยั่งยืน
“การเข้าไปปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของใครให้ดีขึ้น เราต้องใช้ความมุ่งมั่นในระยะยาว”
ชาวนาไทย ทำไมไม่รวย? | The Practical Sustainability วิสาหกิจ “เพื่อน” สังคม
หรือ จะเลือกรับฟังรายการ ในรูปแบบของ Podcast ได้ที่:
ช่องทางการติดต่อ
Tel: +66-2-691-2370
Email: info@jasberry.net
Website: https://www.jasberry.net
Facebook: https://www.facebook.com/siamorganic
สนับสนุนโดย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม (สวส.)
บทความแนะนำ Therapy Dog Thailand – สุนัขนักบำบัดแห่งประเทศไทย