
แชร์ลูกโซ่ เป็นมหกรรมวิธีการล่อหลอกให้คนจำนวนมากหลงเชื่อให้ไปร่วมลงทุน ด้วยการเสนอผลตอบแทนที่สูงมากเกินความเป็นจริง พอมีคนจำนวนมากมาลงทุน ช่วงแรกๆ ก็อาจจะได้ผลตอบแทนจริงกันไปบ้าง ทำให้เหยื่อหายคนเกิดอาการโลภไปหาเงินมาลงทุนเพิ่มเพราะคิดว่ารวยแน่นอน เลยไปชวนเพื่อน ชวนญาติ และคนอื่นๆ มาลงขันกันด้วย และหลังจากนั้นเมื่อเจ้ามือได้เงินไปถึงจุดที่พอใจ พวกเขาก็จะหายวับไปกับเงินจำนวนมหาศาล
ในอดีตจนถึงปัจจุบันมีเคสแชร์ลูกโซ่เกิดขึ้นมากมาย จำนวนผู้เสียหายก็มีจำนวนมากขึ้นเช่นกัน หลายคดียังฟ้องร้องกันไม่จบเลย ปัญหาคือหากเราตกเป็นเหยื่อเข้าไปแล้ว เมื่อไหร่เราจะได้เงินคืน? ดังนั้น เพื่อไม่ให้คกเป็นเหยื่อของคนขี้โกงเหล่านี้ เราลองมาทำความเข้าใจกลโกง และวิธีการคลาสิคกันว่า แชร์ลูกโซ่ เขามีวิธีการล่อหลอกเราอย่างไร?
“ฝากขั้นต่ำวงละ 1,000 บาท แค่เดือนเดียว รับไปเลย กำไรสุทธิต่อเดือน 900 บาท”
“ระยะเวลารับฝาก 1 เดือน รับเงินคืนทั้งเงินต้น และ ดอกเบี้ย”
“โอนจริง โอนไว ไม่ต้องรอนาน แค่เดือนเดียวก็รวยแล้ว”
ลงแค่ 1,000 บาท สิ้นเดือน ได้ 1,900 บาท
แล้วถ้าลง 100,000 บาท สิ้นเดือน กำไร 90,000 บาท เห็นๆ
ดีลดีๆ แบบนี้มีที่ไหน แต่มีที่นี่ กับ แม่ตานี
แม่ตานี คนดีของสังคม กวาดรางวัลลูกกตัญญู และ นักธุรกิจดีเด่นมาแล้วหลายสถาบัน ปัจจุบันเป็นเจ้าของโครงการอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่แห่งภาคอีสาน และ มีธุรกิจส่งออกสินค้าไปจำหน่ายในต่างประเทศ
วันนี้มาชวนพวกเรารวย มาเป็นเศรษฐีกัน ด้วยการมาร่วมโครงการออมเงินกับกำไรสุดยอดกับแม่ตานีกัน
แม่ตานี จะนำเงินของพวกเราไปต่อยอดให้งอกเงยไปกว่านี้อีก ด้วยการไปลงทุนในตลาดสินค้านวัฒกรรมชั้นสูงในต่างประเทศ ซึ่งตอนนี้กำลังเป็นที่นิยมมากทั่วโลก
อย่ารอช้า ตัดสินใจเลยเถอะ จะได้เลิกจน และมาเป็นเศรษฐีด้วยกัน
ถ้าได้อ่านบทความนี้ พร้อมๆ กับเห็นภาพประกอบ หรือ สื่อวิดีโอ ของแม่ตานี นั่งอยู่บนกองแบงค์พันมากมาย มี background เป็นรถหรูคันละสิบๆ ล้านหลายคัน มีบ้านคฤหาสน์หลังใหญ่ มีภาพถ่ายรูปคู่กับดาราดัง นักธุรกิจชื่อดัง หรือ ภาพกินหรู อาหารแพงๆ เราจะรู้สึกอย่างไร?
และ ถ้ามีภาพประกอบ ของลูกทีม หรือ ทีมงานของแม่ตานี หลายคน มาบอกเราอีกว่า เพิ่งลงเงินไปไม่นาน ครั้งแรกแค่ 300,000 บาท เผลอแป๊บเดียว ได้กลับมาเป็น 570,000 บาท เราจะรู้สึกอย่างไร?
หากได้ข้อเสนอที่ให้ผลตอบแทนสูงเกินจริงมากๆ เราจะเชื่อไหม?
เราจะเชื่อหรือไม่ ไม่รู้ แต่ที่แน่ๆ คือ นี่มันไม่ใช่การลงทุนอย่างแน่นอน และ นี่ก็ไม่ควรเรียกว่าเป็นการทำธุรกิจ
มันคือ แชร์ลูกโซ่ (ภาษาอังกฤษ เรียกว่า Ponzi Scheme) เป็นการหลอกลวง ต้มตุ๋น ด้วยการอาศัยความอยากมี อยากได้ หรือ ความโลภของคน บวกกับการขาดความรู้ เพื่อเข้าไปติดกับดักในวงจรอุบาทว์ กว่าจะรู้ตัวว่าโดนหลอก ก็โดนไปหลายหมื่น หรือ หลายแสนไปแล้ว
อย่างคดีในอดีต “แม่มณี” มิจฉาชีพเหล่านี้เล่นตั้งชื่อที่ทำให้คนคุ้นหู เฉพาะคดีนี้ความเสียหายเบื้องต้นประเมินเอาไว้คร่าวๆ ว่า มีผู้เสียหายราวๆ 1,800 คน ซึ่งไม่น่าเชื่อเลยว่า แค่การโฆษณาชวนเชื่อแบบนี้ จะทำให้คนเป็นพันๆ คน หลงตกเป็นเหยื่อ เอาเงินมาให้แม่มณี กลุ่มนี้รวมกันถึง 400 ล้านบาทเลยทีเดียว
แต่นี่ยังน้อยหากจะเทียบเบอร์ใหญ่ ยังสู้รุ่นใหญ่อย่างกรณีคดีของแม่ชม้อยไม่ได้ ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นราวๆ 30 ปีก่อน แม่ชม้อยและพวกจัดชุดใหญ่ ทำให้มีผู้เสียหายกว่า 16,000 คน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 4.5 พันล้านบาท โดยคดีจบลงที่ว่า แม่ชม้อยกับพวกต้องถูกตัดสินจำคุก 154,005 ปี แต่เงินของผู้เสียหาย ก็ต้องต้องทำใจ ได้คืนไม่ครบ หรือ อาจจะไม่ได้เลย และยังมีกรณีลักษณะเดียวกันและคดีแบบนี้อีกมากมาย ที่มีคนจำนวนมากต้องตกเป็นเหยื่อของแชร์ลูกโซ่ และต้องมาหมดเนื้อหมดตัวเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์
ถ้าไม่อยากตกไปเป็นเหยื่อของแชร์ลูกโซ่ ป้องกันตัวเราเองเอาไว้ก่อน ด้วยแนวทางดังต่อไปนี้
“มันไม่มีจริงกับการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงๆ แบบนี้”
เพราะ ถ้ามีจริง แม่ตานี หรือ แม่อื่นๆ ไม่ต้องมาบิ้ว ขอเงินจากพวกเราไปลงทุนหรอกครับ เพราะถ้าผลตอบแทนสูงอย่างที่ว่าจริงๆ ทำไมแม่ๆ เหล่านั้น ถึงไม่ไปกู้เงินธนาคารเพื่อเอามาลงทุน บอกว่ารวยซะขนาดนั้น น่าจะไปกู้ได้อย่างสบาย นี่แสดงว่า รวยปลอม หรือ รวยย้อมแมวมา
“ถ้าเรียกว่าเป็นการลงทุนจริงๆ ก็ต้องมีสถาบันการเงินที่เชื่อถือได้รับรอง”
ทำไม ไม่เห็นมีสถาบันการเงินไหนๆ หรือ หน่วยงานกำกับของรัฐ มารับรองเลย ดังนั้นถ้ามีใครมาเรื่ยไร หรือ ระดมทุน โดยไม่มีความน่าเชื่อถือ ไม่มีการรับรอง แบบนี้แสดงว่า ปลอมชัวร์
“สินทรัพย์ หรือ สิ่งที่จะเอาเงินไปลงทุนไม่ชัดเจน”
พวกมิจฉาชีพเขามักจะบอกว่าต้องการเงินไปลงทุน สินค้าอะไรก็ไม่รู้ บางที่ก็อ้างว่าเป็นเทคโนโลยีใหม่ บางแหล่งก็อ้างไปลงทุนเงินดิจิตอล หรือ ลงทุนในธุรกิจแปลกๆ โดยมีการบอกข้อมูลไม่หมด นั่นแสดงว่ามีเจตนาไม่ดี ถ้าเจอแบบนี้ ตั้งข้อสังเกตไว้ก่อนเลยว่า หลอกชัวร์
“เร่ง และ บีบให้ลงทุนทันที เพราะอ้างเรื่องโอกาสและผลตอบแทนมหาศาล”
เขามักจะเร่ง บีบเราให้รีบรวย อ้างสรรพัดว่าไม่ลงตอนนี้จะเสียโอกาส เหมือนกับว่าจะเอาเงินเราให้ได้ โดยไม่ให้เราคิด อ้างผลตอบแทนเยอะๆ เราจะได้ไม่มีเวลาหาข้อมูล จะได้ตกเป็นเหยื่อเขาง่ายๆ ถ้าเจอแบบนี้ ชัดเลยว่า แชร์ลูกโซ่แน่นอน
“จัดฉากดูน่าเชื่อถือ ทั้งภาพ แสง สี เสียง”
อย่าไปหลงกลกับการจัดฉาก และ ภาพประกอบ สิ่งเหล่านั้นสามารถเช่า หรือ ยืมมาจัดฉากได้ เรื่องเหล่านี้เป็นส่วนประกอบของการโฆษณาชวนเชื่อ มักมาพร้อมๆ กับ แชร์ลูกโซ่ ถ้าเจอแบบนี้ คอนเฟิร์มได้เลย แชร์ลูกโช่แน่นอน
ถ้าเจอการโฆษณาชวนเชื่อเรื่องการลงทุน แต่ก็ยังไม่แน่ใจว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่?
เราสามารถตรวจสอบข้อมูลรายชื่อบุคคลหรือผู้ให้บริการเกี่ยวกับการชักชวนให้ลงทุน ได้ที่เว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ได้ที่ https://market.sec.or.th/public/idisc/th/InvestorAlert
หรือ ที่ https://เสี่ยงสูง.com หรือ หากผู้ลงทุนมีเบาะแสเกี่ยวกับการดำเนินการที่น่าสงสัย สามารถแจ้งได้ที่ SEC Help Center สายด่วน ก.ล.ต. 1207 เพื่อการตรวจสอบในเชิงลึกต่อไป
