โครงการเหลือขอ เป็นโครงการที่ขอรับสิ่งของเหลือใช้ อาทิเช่นเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า ของเล่น หรือแม้แต่สิ่งของรีไซเคิลอย่างกระดาษและพลาสติก เพื่อนำไปเปลี่ยนสิ่งของให้มีมูลค่าอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นนำมาใช้ใหม่ การขายต่อ หรือการนำไปรีไซเคิล นอกจากนี้ยังถือเป็นการร่วมสนับสนุนให้ทุนการศึกษาให้แก่เด็กด้อยโอกาสได้อีกด้วย
บริษัท มานา วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ดำเนินกิจการด้านการรีไซเคิล จำหน่ายวัสดุเหลือใช้ทุกชนิด โดยการส่งเสริมอาชีพผู้ด้อยโอกาสในสังคม เช่น ผู้พิการ ผู้มีปัญหาสุขภาพ ผู้ผ่านการบำบัดยาเสพติด และผู้พ้นโทษ พวกเขาจุดมุ่งหมายในการแก้ไขปัญหาสังคมเหมือนมูลนิธิการกุศลต่างๆ เพียงแต่มีวิธีในการหารายได้เหมือนกิจการ เพื่อนำรายได้มาใช้ในการแก้ปัญหาสังคม พัฒนาชุมชน หรือสิ่งแวดล้อม
ในตอนนี้แอดมินจะพาพวกเราไปทำความรู้จักกับบริษัทที่เล็งเห็นอีกหนึ่งปัญหาของสังคม ที่หลายๆ คนอาจจะเคยได้ยินผ่านหูผ่านตากันมาบ้างแล้ว บริษัทนี้เป็นบริษัทรับของเหลือใช้และรับคนเหลือใช้ด้วยเช่นกัน สิ่งของที่คุณไม่ใช่แล้วบริษัทนี้จะขอนำไปทำให้เกิดมูลค่าใหม่อีกครั้ง เช่นเดียวกับคน คนที่คนอื่นบอกว่าไม่มีมูลค่า พวกเขาจะทำให้คนเหล่านั้นมีมูลค่าขึ้นมาอีกครั้ง เราไปทำความรู้จักกับบริษัทนี้ผ่านบทสัมภาษณ์ของ คุณโชคชัย หลีวิจิตร ผู้ก่อตั้งบริษัท มานา วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัดกันเลย
“จุดเริ่มต้นที่อาศัยปัจจัยมากกว่าหนึ่ง”
การเริ่มทำธุรกิจหรือโครงการอย่างใดอย่างหนึ่ง ต้องอาศัยเหตุการณ์หลายอย่างที่ส่งเสริมให้สิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้น คุณโชคชัย เล่าว่าตัวเขาเองเคยทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ให้กับมูลนิธินกขมิ้นมาก่อน ซึ่งมูลนิธินกขมิ้น คือองค์กรคริสต์เตียนที่ให้การอุปการะช่วยเหลือเด็กกำพร้า เด็กเร่ร่อน เด็กด้อยโอกาส คนชราและบำบัดผู้เสพยาเสพติด เขาพยายามเชิญชวนคนหลายคนให้เข้าร่วมบริจาคเพื่อให้เขาได้เป็นผู้ให้ สร้างโอกาสให้เด็กๆและผู้ด้อยโอกาส แต่หลายคนมักบอกเขาบ่อยๆว่า “เดี๋ยวรอถูกหวยก่อนนะ” หรือ “เดี๋ยวรอรวยก่อนนะ”
“การมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือสังคมไม่จำเป็นต้องบริจาคเงินก้อนโตก็ได้”
ทุกคนมักคิดว่าการจะช่วยสังคมได้ คือต้องมีเงินเหลือกินเหลือใช้เสียก่อน ถึงจะนำเงินมาบริจาคเพื่อช่วยสังคมได้ ทั้งที่จริงๆ แล้วสังคมตรงนั้น ไม่มีใครคาดหวังเลยว่าจะต้องมีคนบริจาคด้วยเงินจำนวนมากแค่ไหน แค่เข้ามาเยี่ยมและเห็นความสำคัญของการทำงานของมูลนิธิแค่นี้ก็ดีมากแล้ว คุณโชคชัยจึงรู้สึกว่าต้องทำอะไรสักอย่าง เพื่อให้ทุกคนรู้สึกว่าจริงๆ แล้วทุกคนก็สามารถมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบต่อสังคมโดยเริ่มต้นจากสิ่งเล็กๆ ในชีวิตประจำวันของเราก็ได้
“ทุกคนบอกว่ารอพี่รวย แต่เราไม่ได้คิดเลยว่าคุณต้องรวยถึงจะช่วยได้ เพราะฉะนั้นอะไรก็ได้ที่ทุกคนเหลือใช้ดีกว่า เอามาให้เรา แล้วเราจะทำให้สิ่งต่างๆเหล่านี้มีประโยชน์ต่อสังคม”
อีกเหตุการณ์หนึ่งที่เป็นปัจจัยให้คุณโชคชัยหันมาทำธุรกิจวิสาหกิจเพื่อชุมชน ก็คือในตอนนั้นโครงการหนึ่งที่เกี่ยวกับการสอนวิชาชีพให้เด็กๆ ปิดตัวลง คุณลุงคนหนึ่งทำงานอยู่ที่นั่น เขามีประวัติเคยติดยาเสพติด อยู่สถานบำบัดตั้งแต่วัยรุ่นจนอายุ 45 ปี และเขาทำงานอยู่ตรงนี้ตลอด เมื่อโครงการปิดตัวลงเขาจึงไม่รู้จะไปทำอะไร ช่วงนั้นคุณโชคชัยได้รับโอกาสจากมูลนิธิให้ไปเรียนต่อเกี่ยวกับการรีไซเคิลในระดับปริญญาโทพอดี เหตุการณ์นี้จึงกลายเป็นจังหวะที่ดีมาก
“เราจะสร้างมูลค่าให้กับของที่มีคุณค่าน้อยแล้วของคุณ”
ในเมื่อโครงการที่คุณลุงทำอยู่ถูกปิดไปและพื้นที่ยังว่าง จึงถือโอกาสในการใช้พื้นที่ตรงนั้นในการเริ่มโครงการและสร้างอาชีพให้คุณลุง โดยในตอนแรกไม่ได้คิดเรื่องการบริจาคเลย คิดเพียงว่าให้ลุงมีงานทำ คุณโชคชัยจึงให้เงินคุณลุงออกไปซื้อของ โดยจะบอกว่าที่มาของการซื้อของ ก็คือจะเอามาคัดแยกแล้วนำไปขายเพื่อนำรายได้มาช่วยเหลือเด็กและสังคม เมื่อทำไปได้สักระยะ จึงลองนำโครงการนี้ไปเสนอต่อมูลนิธิ แต่หลายคนก็ไม่เห็นด้วย คุณโชคชัยจึงขอแยกตัวออกจากมูลนิธิแล้วมาเปิด บริษัท มานา วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมในปี 2561 โดยมีการนำคนด้อยโอกาสในสังคม ไม่ว่าจะเป็นคนติดยา เคยติดคุก หรือคนมีปัญหาสุขภาพ มาเข้าร่วมทำงานด้วย
“การซื้อขายน้อยลง การให้มากขึ้น”
พอทำงานในรูปแบบนี้ไปสักระยะหนึ่ง จากที่ต้องซื้อของตลอด การขายก็น้อยลงเพราะพ่อค้าแม่ค้ารู้ว่าทางบริษัทซื้อเพื่อนำไปช่วยเหลือสังคมและผู้ด้อยโอกาส พวกเขาก็จะเริ่มเปลี่ยนจากการขายเป็นการให้แทน ในขณะเดียวกันบริษัทก็มีการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างวัฒนธรรมการให้ และทางบริษัททำให้คนอื่นได้เข้าใจว่าของที่เหลือใช้ หรือที่พวกคุณมองว่ามันไม่มีประโยชน์ต่อพวกคุณแล้ว สามารถนำมาให้แก่ บริษัท มานา วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด เพราะทางบริษัทสามารถทำให้สิ่งของเหล่านี้มีประโยชน์อีกครั้งได้
โครงการเหลือขอ
“โครงการเหลือขอ เราขอของที่คุณไม่ต้องการแล้ว เพื่อนำมาสร้างคุณค่าเพื่อนำไปเป็นรายได้นำมาใช้แก้ปัญหาสังคม”
คุณโชคชัย เล่าว่าคนที่ทำงานด้วยหลายคนเป็นคนประเภทที่เคยถูกมองว่าเป็นปัญหาหรือขยะของสังคม เพราะฉะนั้นอะไรก็ตามที่เหลือใช้ ทางบริษัทจะขอเพื่อนำมาทำให้เกิดประโยชน์ คนที่สังคมมองว่าใช้การไม่ได้แล้ว ทางบริษัทจะขอพวกเชาไว้ แล้วทางบริษัทจะทำให้เห็นว่าพวกเขาสามารถทำงาน มีอาชีพ และทำประโยชน์ให้แก่สังคมได้
รูปแบบโครงการเหลือขอ
ในโครงการเหลือขอ มีที่มาจากคนที่มาเข้าร่วมมักถูกมองในลักษณะนั้น บริษัทจึงขอพวกเขามาเข้าร่วมเพื่อทำงานช่วยสังคมไปด้วยกัน เพราะฉะนั้นในรูปแบบเดียวกันเลย สิ่งของเหลือใช้ เสื้อผ้าทุกเพศทุกวัย หนังสือ กระเป๋า รองเท้า เครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งเก่าและใหม่ ของเล่น สิ่งของทั่วไปทั้งหมด แม้กระทั่งวัสดุรีไซเคิลอย่างกระดาษหรือพลาสติก ทางบริษัทรับได้ทั้งหมด ยกเว้นเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหม่อย่างตู้หรือเตียงที่ขนาดเกิน 1.20 เมตรขึ้นไป เพราะสถานที่เก็บของของเรามีจำกัดมาก นอกจากนี้ยังมีโครงการเหลือขอสัญจรในเขตพื้นที่รอบกรุงเทพมหานครไม่เกิน 200 กิโลเมตร ในจังหวัดใกล้ๆ วนไปเรื่อยๆ อย่างเช่น อยุธยา นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ปราจีนบุรี เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดเป็นความต้องการของทุกคนมีใจอยากจะแบ่งปัน อยากมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือสังคม
ของที่ได้รับ เอาไปไหนต่อ
คุณโชคชัยอธิบายว่าของที่รับบริจาคมา เริ่มต้นเลยจะเข้าสู่กระบวนการคัดแยกก่อน เพราะของที่รับเข้ามามีทั้งของที่ใหม่ ไม่ผ่านการใช้งานเลย ซึ่งจะถูกคัดแยกว่าเป็นของที่เหมาะสมกับเด็กหรือไม่ หากเหมาะสมกับเด็กของจะถูกส่งไปยังมูลนิธิบ้านนกขมิ้น เพราะทางบริษัทยังมีการทำงานร่วมกับมูลนิธิอยู่ หากเป็นของที่ใหม่แต่ไม่เหมาะสมกับเด็ก ทางบริษัทมีเพจขายของออนไลน์ ชื่อเพจ Share Shopping ซึ่งจะนำสิ่งของพวกนี้มาไลฟ์ขายของเพื่อนำไปเป็นทุนการศึกษาให้เด็ก
“Share Shopping เป็นจุดเริ่มต้นของ Share Market สำหรับวิสาหกิจเพื่อสังคม”
การทำเพจขายของ Share Shopping ยังเป็นการปูเส้นทางไปสู่ตลาดออฟไลน์สำหรับการเป็น Share Market เพื่อสร้างพื้นที่ตลาดให้แก่วิสาหกิจชุมชนอื่นๆ หรือคนที่อยากขายของแล้วนำเงินไปช่วยสังคมแต่ไม่มีพื้นที่ในการประชาสัมพันธ์ได้เข้ามาใช้พื้นที่ตรงนี้ร่วมกัน ทุกจะสามารถรับรู้ได้ทันทีว่าตลาดขายของนี้คือตลาดที่ซื้อขายกันเพื่อช่วยเหลือสังคม
“ขั้นตอนการคัดกรองที่ไม่ใช่แค่การคัดสิ่งของ แต่เป็นการคัดกรองคนด้วยเช่นกัน”
นอกจากการนำมาขายแล้ว ของใหม่ที่รับเข้ามามีการนำไปช่วยยังกลุ่มผู้ด้อยโอกาสต่างๆ เช่น กลุ่มคนพม่าที่มีการอพยพหนีเหตุการณ์ความไม่สงบเข้ามา เป็นต้น ในส่วนของสิ่งของที่ผ่านการใช้งานแล้วจะถูกจำหน่ายเป็นของมือ ของที่พังหรือเสียจะถูกนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล และส่วนของชิ้นไหนที่ไม่สามารถใช้ได้แล้วจริงๆ จะมีโรงงานไฟฟ้าชีวมวลมารับของเหล่านี้ไป แล้วมอบทุนการศึกษาให้เด็กๆ เป็นการตอบแทน ในขั้นตอนทำงานนี้เองที่เป็นเหมือนการคัดกรองคนที่จะเข้ามาร่วมทำงานในบริษัท ความตั้งใจมากน้อยขนาดไหน ต้องการจะเปลี่ยนแปลงชีวิตมากน้อยขนาดไหน จะดูกันได้จากการทำงานในกระบวนการนี้
“โดยพื้นฐานทุกคนอยากเป็นคนดีอยู่แล้ว ขอแค่เขามีเพื่อนและสังคมที่ยอมรับเขาจริงๆ เท่านั้นเอง”
ถึงแม้ทีมงานและบุคลากรทุกคนจะเป็นผู้ด้อยโอกาสหรือเป็นคนที่สังคมไม่ให้การยอมรับมาก่อน แต่เมื่อเขาได้มาเริ่มต้นทำงานเพื่อสังคมตรงนี้ พวกเขาทุ่มเทและตั้งใจมาก เพราะพวกเขารู้ว่าสิ่งที่พวกเขาทำอยู่พวกเขาทำเพื่ออะไร พวกเขาหวังจะเปลี่ยนแปลงชีวิตตัวเองด้วย สิ่งหนึ่งที่ทำงานตรงนี้คุณโชคชัยเล่าว่าเขาไม่ได้หวังผลที่จะได้ค่าตอบแทน แต่ต้องการให้ผู้ด้อยโอกาสหรือคนที่เคยทำผิดพลาดในชีวิตได้เปลี่ยนแปลงตัวเอง ลุกขึ้นสู้ใหม่อีกครั้ง ทางบริษัทจึงเข้าไปให้โอกาสและเป็นเพื่อนกับพวกเขา
“จะทำงานร่วมกับคนลักษณะแบบนี้ได้อย่างไร?”
คุณโชคชัย เล่าว่าเคยมีคนถามว่าทำงานกับคนด้อยโอกาส คนเคยติดยา คนเคยติดคุก หรือคนที่สังคมไม่ยอมรับได้อย่างไร? จริงๆ แล้วกระบวนการไม่ได้มีอะไรมากเลย คุณโชคชัยจะบอกกับพวกเขาตั้งแต่แรกเลยว่าที่จ้างพวกเขาเข้ามาเพราะยังเห็นว่าพวกเขาสามารถทำประโยชน์ให้เกิดกับบริษัทและผู้อื่นได้ ไม่ได้รับเพราะสงสารหรืออยากสงเคราะห์พวก ถ้าอยากทำงาน อยากยืดหยัดอยู่ในสังคมด้วยกำลังและความสามารถของตัวเอง ให้ทำงานอยู่ที่นี่อย่างตั้งใจ จุดเริ่มต้นแบบนี้พวกเขาจะไม่ได้รู้สึกว่าพวกเขาเป็นคนต่ำต้อย พวกเขาจะรู้สึกว่าพวกเขาทำงานได้เงินและยังได้ช่วยเหลือสังคมได้ด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นกระบวนการที่เปลี่ยนแปลงความคิดเขาไปทุกวัน
บทสรุป
สิ่งสำคัญของการทำธุรกิจวิสาหกิจเพื่อสังคม คุณต้องรักษาสมดุลระหว่างการเป็นธุรกิจวิสาหกิจเพื่อสังคมกับการสงเคราะห์ให้ดี เพราะการสงเคราะห์คือให้ทั้งหมด ใครลำบากเข้าช่วยเหลือไว้ทั้งหมด แต่ในการเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม การสงเคราะห์มากเกินไปอาจทำให้บริษัทล้มเสียเอง สุดท้ายเราจะกลายเป็นอีกปัญหาหนึ่งของสังคม
“การเห็นชีวิตคนดีขึ้น มีการเปลี่ยนแปลง เป็นสิ่งที่มีความสุขมากจริงๆ”
สิ่งที่วิสาหกิจเพื่อสังคมทำคือ การจ้างงาน การสร้างอาชีพ ให้โอกาสพวกเขาได้ยืดหยัดอยู่ในสังคมได้ด้วยตัวเอง
ทุกคนที่อยากทำวิสาหกิจเพื่อสังคมมีใจในการช่วยเหลือสังคมเต็มร้อยอยู่แล้ว อย่างคุณโชคชัยเองเมื่อได้เห็นการเปลี่ยนแปลง ได้เห็นการเจริญเติบโตของคนที่ได้รับโอกาสแล้วก็มีความสุข ซึ่งเป็นความสุขที่เกิดจากการช่วยเหลือสังคมอย่างแท้จริง จากคนที่เข้ามาตัวเปล่า ไม่มีที่อยู่ พวกเขามีกำลังในการออกไปหาที่อยู่เอง มีข้าวของเครื่องใช้เข้ามาในห้อง ช่วยเหลือตัวเองได้ ไม่ลำบาก เมื่อมองสิ่งเหล่านี้มันคือความสุขที่ได้มีส่วนช่วยเหลือจริงๆ
เปลี่ยนสิ่งของเป็น “โอกาส” | The Practical Sustainability วิสาหกิจ “เพื่อน” สังคม
หรือ จะเลือกรับฟังรายการ ในรูปแบบของ Podcast ได้ที่:
ช่องทางการติดต่อ
บริษัท มานา วิสาหกิจเพื่อนสังคม จำกัด
เลขที่ 89/12 ซอยเสรีไทย17 ถนนเสรีไทย แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม กรุงเทพฯ 10240
โทร : 02-375-5392, 093-930-7738, 094-940-0606, 088-077-0330
โทรสาร : 02-375-5392
อีเมล : maana-se@hotmail.com
วันเวลาทำการ
วันจันทร์ – วันเสาร์ 09.00-17.00 น.
วันอาทิตย์ 13.00-17.00 น. (เฉพาะส่วนงานการรับบริจาคที่สำนักงาน)
สนับสนุนโดย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม (สวส.)