โดนเลิกจ้าง แต่ได้รับเงินค่าชดเชยจากการถูกเลิกจ้าง ถือเป็นรายได้ไหม? เราต้องเสียภาษีอย่างไร? หรือ ไม่เสียได้ไหม ตอนนี้หางานยากมาก ว่างงานมาหลายเดือนแล้ว
เรื่องของการถูกเลิกจ้าง นับวันยิ่งมีกรณีและคดีความมากขึ้นทุกวัน ส่วนนึงก็เนื่องมากจากปัญหาของผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด และ พิษของเศรษฐกิจที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น ซึ่งเราก็เห็นได้จากหลายๆ ธุรกิจที่ทะยอยปิดตัวไป
การมาของโควิดครั้งนี้ ทั้งนายจ้างและลูกจ้าง ต่างก็หนักกันทั่วหน้า ใครจะอยู่รอดต่อไปได้ ก็ขึ้นอยู่กับความสามารถในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และ สภาพคล่องทางการเงินของบริษัท หากองค์กร หรือ บริษัทใด ที่ยังพอจะมีทุนหนาหน่อย ก็อาจจะพอที่จะเดินหน้าไปต่อได้ แต่หากเราเป็นพนักงานที่ทำงานอยู่ในบริษัทเหล่านี้ ก็อย่าเพิ่งชะล่าใจ เพราะในตอนนี้ก็ยังไม่มีใครตอบได้ว่าโควิดจะจบเมื่อไหร่ และ จบอย่างไร เอาเป็นว่าเก็บเงินสดเอาไว้ ใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง และมองหาอาชีพเสริมเอาไว้ น่าจะเป็นเรื่องที่ต้องทำมากที่สุดในช่วงเวลานี้
แต่ก็มีเพื่อนๆ ของเราหลายคนที่โชคไม่ดี บริษัทของพวกเขาต้องมาเจอกับวิกฤติ ต้องปิดกิจการ หรือ จำเป็นต้องลดขนาดองค์กร ผลที่ตามมาก็คือ โดนเลิกจ้าง
ในปีที่แล้ว ช่วงเดือนตุลาคม น้องกลุ่มนึงราวๆ 15 คน ถูกเลิกจ้างจากบริษัทยักษ์ใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ พวกเขาได้เงินค่าชดเชยมากกว่าตามที่กฏหมายกำหนด (กรณีนี้บริษัทได้ทำถูกต้อง และ เป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรม)
แต่หลังจากที่โดนเลิกจ้าง ก็เกิดปัญหาตามมา เพราะน้องๆ กลุ่มนี้ เจอปัญหาเรื่องภาษี ซึ่งน้องในกลุ่มนี้ มี 2 เคส คือ
“ความเข้าใจผิด ทำให้ต้องเสียภาษีมากเกินกว่าที่ควรจะต้องเสีย”
เคสแรก
มีน้องบางคน หลังจากที่ได้เงินชดเชยมา พวกเขาก็ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไปตามปรกติ ซึ่งแน่นอนว่ารายได้ในปีภาษี 2562 รายได้ต้องมากกว่าปีที่ผ่านมาเยอะ ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือนปกติ ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึง กันยายน 2562 เงินค่าชดเชยจากการเลิกจ้าง และ ส่วนสุดท้ายคือเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ผลที่ตามมาพวกเขาพบว่าเขาต้องจ่ายภาษีมากกว่าเดิมเยอะมากๆ โดยพวกเขาไม่รู้มาก่อนว่า หากถูกเลิกจ้างทางสรรพกรเขามีตัวช่วย ซึ่งเราสามารถนำมาลดหย่อนได้ด้วย และ หากย้ายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปฝากไว้ในที่ทำงานใหม่ หรือ ย้ายไปอยู่ในรูปของ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เงินในส่วนนี้ ก็ไม่ต้องเสียภาษี
“โดนเลิกจ้าง ไปแล้ว ต้องมาโดนคดีเรื่องภาษีอีก”
เคสที่สอง
หนักกว่าเคสแรก มีน้องหลายคน หลังจากที่ได้เงินชดเชยมา เข้าใจว่าหากถูกเลิกจ้าง ไม่จำเป็นต้องยื่นภาษี ทั้งเงินเดือน เงินค่าชดเชยจากการเลิกจ้าง และ เงินที่ได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ผลที่ตามมาคือ พวกเขาไม่ได้ยื่นภาษี ทำให้มีความผิด รวมไปถึงต้องเจอกับค่าปรับ และ ต้องโดนเสียภาษีเพิ่มเติมอีก เพราะต้องโดนดอกเบี้ยค่าปรับอีก เดือนละ 1.5% นับตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2563 และเรื่องนี้อาจจะไม่จบเพียงแค่นี้ เพราะ หากมีหหลักฐานว่าน้องๆ มีเจตนาละเลยไม่ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร อาจจะมีโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ หากเป็นแบบหลัง เรียกว่าหมดอนาคตเอาง่ายๆ เพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์จริงๆ
สรุปว่าการ โดนเลิกจ้าง แต่ได้รับเงินค่าชดเชยจากการถูกเลิกจ้าง ถือเป็นรายได้ไหม?
เงินค่าชดเชยถือเป็นรายได้ ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องมีภาระทางภาษีตามมา ที่เราต้องดูแลและจัดการ แต่ในเรื่องการ การถูกเลิกจ้าง ไม่ใช่มีแค่ เงินค่าชดเชยเท่านั้น ที่มีผลต่อเรื่องภาษี ยังมีเงินได้อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีกหลายตัว ดังต่อไปนี้
เรื่องเงินค่าชดเชย
ในกรณีนี้ ถือว่าเป็นการเลิกจ้างเป็นธรรม เป็นเงินที่จะได้รับเมื่อออกจากงานตามกฎหมายแรงงานเนื่องจากถูกเลิกจ้าง ไล่ออก หมดสัญญาจ้าง และเกษียณอายุโดยที่ลูกจ้างไม่ได้เป็นฝ่ายผิด
โดยตามกฎหมายแรงงาน มาตรา 118 ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้าง ดังต่อไปนี้
- ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 30 วัน
- ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 90 วัน
- ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 180 วัน
- ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 240 วัน
- ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 10ปี ขึ้นไป แต่ไม่ครบ 20 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 300 วัน
- ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 20ปี ขึ้นไป จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 400 วัน
กรณีที่เราโดนเลิกจ้าง หรือ ถูกไล่ออก และ ได้รับค่าชดเชย : เงินค่าชดเชยที่เราได้รับ 300,000 บาทแรก จะได้รับการยกเว้นภาษี
เช่น หากได้รับเงินชดเชยการเลิกจ้างมา 500,000 บาท ค่าชดเชย 300,000 บาทแรก ก็จะได้รับการยกเว้นภาษี ส่วน 200,000 บาทที่เหลือ ก็จะต้องนำไปคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาต่อไป
หากโดนเลิกจ้างระหว่างปีภาษี เงินเดือนที่ได้ก็ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามปกติ เฉพาะเงินชดเชยการเลิกจ้างเท่านั้นที่ ได้รับ 300,000 บาทแรก จะได้รับการยกเว้นภาษี
กรณีที่เราเกษียณอายุหรือหมดสัญญาจ้าง และ ได้รับค่าชดเชย : เงินค่าชดเชยดังกล่าว ทั้งหมดจะต้องนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษีทั้งก้อน และไม่ได้รับยกเว้น 300,000 บาทแรก เหมือนกกรณีที่ถูกเลิกจ้างหรือไล่ออก
เช่น ทำงานจนเกษียณอายุ ครบ 60 ปี ได้รับเงินค่าชดเชย 1,500,000 บาท ก็ต้องนำเงินก่อนนี้ไปคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย
กรณีที่เราลาออกด้วยความสมัครใจ หรือถูกไล่ออกด้วยความผิดร้ายแรง : แบบนี้ไม่ได้ค่าชดเชย และ ไม่ได้สิทธิในการลดหย่อนภาษี
เรื่องกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
ซึ่งจะประกอบไปด้วยเงิน 4 ส่วน คือ ส่วนแรกคือ เงินสะสม(ลูกจ้างจ่ายเข้ากองทุน) ส่วนที่สองคือ เงินสมทบ (นายจ้างจ่ายเข้ากองทุน) ส่วนที่สามคือ ผลประโยชน์เงินสะสม และ ส่วนที่สี่คือ ผลประโยชน์เงินสมทบ ถ้าเราต้องโดนเลิกจ้าง เรามีทางเลือก คือ
ขอคงเงินไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยเราสามารถเลือกเก็บเงินทั้งหมดเอาไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และคงสถานะสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพต่อไปได้ โดยที่เราไม่ต้องส่งเงินสะสมและนายจ้างเดิมไม้ต้องส่งเงินสมทบอีกต่อไป โดยระยะเวลาที่เราสามารถคงเงินไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามข้อบังคับของกองทุนแต่ไม่น้อยกว่า 90 วันนับตั้งแต่วันออกจากงาน ตราบเท่าที่เรายังไม่ถอนเงินออกมา เราก็ยังไม่ต้องเสียภาษี หลังจากนั้น หากเราหางานใหม่ได้ แล้วที่ใหม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เราสามารถโอนเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของบริษัทเดิม ไปยังกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของบริษัทใหม่ได้เช่นกัน
โอนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปเป็นกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เราสามารถเลือกที่จะโอนย้ายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปยังกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพได้ หากเลือกวิธีการนี้ ก็เท่ากับว่ายังไม่มีการถอนเป็นเงินสดออกมา เราก็ไม่ต้องเสียภาษี
หากเราจำเป็นต้องใช้เงิน โดยลาออกจากกองทุน และ ถอนออกมาเป็นเงินสด ในทางกฎหมาย หากเราเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไม่ครบ 5 ปีและยังมีอายุไม่ครบ 55 ปีบริบูรณ์ เราจะต้องนำเงินในส่วนของผลประโยชน์ของเงินสะสม เงินสมทบ เป็นเงินที่นายจ้างสมทบเพิ่มให้ และ ผลประโยชน์ของเงินสมทบ มาเสียภาษีด้วย ส่วนเงินสะสมในส่วนที่เป็นของเราที่เราได้รับคืนมา ไม่ต้องนำมาเสียภาษี
เรื่องเงินก้อนอื่นๆ (นอกเหนือจาก เงินค่าชดเชย และ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ)
อาทิเช่น เงินหรือสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ยังไม่ได้ใช้ เงินเดือนที่ค้างชำระ ค่าเสียหายที่เรีกร้องจากการถูกเลิกจ้าง หรือ อื่นๆ เงินที่เราได้มาเหล่านี้ จะถือว่าเป็นรายได้ของเรา และ เราต้องนำมายื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแบบปกติด้วย
วิธีการเสียภาษีในกรณีที่โดนเลิกจ้าง
กรณีแรก อายุงานของเราเกิน 5 ปี (นับตั้งแต่วันแรกที่เริ่มทำงาน จนถึงวันสุดท้ายที่โดนให้ออกจากงาน)
เรามีสิทธิที่จะเลือกนำเงินก้อนนี้ไปรวมหรือไม่รวมกับรายได้อื่นๆ เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ หากเราเลือกที่จะแยกยื่น เราจำเป็นต้องยื่นโดยใช้ ใบแนบ ภ.ง.ด. 90, 91 กรณีคำนวณเงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียว เพราะเหตุออกจากงานเฉพาะที่เลือกเสียภาษีโดยไม่นำไปรวมคำนวณภาษีกับเงินได้อื่นๆ ซึ่งโดยทั่วไปหากสามารถแยกยื่นภาษีได้โดยไม่ต้องมารวมกับรายได้อื่นๆ จะช่วยทำให้ภาระภาษีของเราต่ำลง ดังนั้นเราควรเลือกใช้สิทธิแยกยื่นด้วยใบแนบจะดีกว่า
กรณีที่สอง อายุงานของเราไม่ถึง 5 ปี (นับตั้งแต่วันแรกที่เริ่มทำงาน จนถึงวันสุดท้ายที่โดนให้ออกจากงาน)
หากเราทำงานกับนายจ้างนี้ไม่ถึง 5 ปี และมีอายุสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไม่ถึง 5 ปีเราก็จะไม่ได้รับสิทธิยื่นเสียภาษีเงินก้อนนี้ด้วยใบแนบ แต่ต้องนำเงินก้อนทั้งหมดที่ได้รับ ไปรวมกับรายได้อื่นๆ เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ทำให้เราต้องเสียภาษีในฐานภาษีที่สูงขึ้น
ถึงตรงนี้แล้วคงรู้แล้วว่า หากเรา หรือ เพื่อนของเราถูกเลิกจ้าง จะต้องวางแผนเรื่องภาษี และ ทำอย่างไร ให้เสียภาษีอย่างถูกต้อง และ ไม่เสียภาษีเยอะจนเกินไป
บทสรุป
ถึงตรงนี้แล้วคงรู้แล้วว่า หากเรา หรือ เพื่อนของเรา โดนเลิกจ้าง จะต้องวางแผนเรื่องภาษี และ ทำอย่างไร ให้เสียภาษีอย่างถูกต้อง และ ไม่เสียภาษีเยอะจนเกินไป
เพราะในเรื่องของ กฎหมายแรงงาน เกี่ยวพันกับเรื่องภาษี ดังนั้น เราต้องศึกษาถึงเงื่อนไข และข้อกำหนดให้ละเอียดถี่ถ้วน มิฉะนั้น เราอาจจะต้องกลายเป็นผู้เสียผลประโยชน์ และ อาจทำผิดกฏหมายได้
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวกับกฏหมายแรงงานสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ :
ลูกจ้างจะไม่ได้รับเงินชดเชย อันเนื่องมาจากการเลิกจ้าง ในกรณีใดบ้าง?
ถูกเลิกจ้าง และ ให้ออกจากงานแบบกระทันหัน ต้องทำอย่างไรดี?