โรคที่คิดว่าตนเองไม่เก่ง หรือไม่ดีพอ หรือ Imposter Syndrom ที่มีคนจำนวนมากเริ่มเป็นกันเยอะในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ที่มาที่ไปของเรื่องนี้เป็นอย่างไร มาหาคำตอบกันได้กับบทความนี้
ช่วงก่อนหน้านี้หากใครพอติดตามหรือเล่นเกมโทรศัพท์อยู่บ้าง อาจจะเคยได้ยินเกมโทรศัพท์ที่ชื่อ Among Us กันมาบ้าง เกมนี้เป็นเกมที่จะแบ่งผู้เล่นออกเป็นฝั่งคนทำภารกิจกับ Imposter หรือว่าฆาตกรของเกม ซึ่ง Imposter จะเป็นตัวที่คอยขัดขวางการทำภารกิจและอาศัยจังหวะในการฆ่าผู้เล่นแต่ละคน โดยที่ไม่มีใครรู้ สกิลที่ต้องใช้หลักๆ เลยคือการโน้มน้าวจิตใจผู้อื่นให้ได้ เพราะหากคุณโน้มน้าวเก่ง คุณจะสามารถรอดจากการเป็นผู้ต้องสงสัยไปได้
คุณอาจจะเริ่มสงสัยว่าแล้วไอ้เจ้า Imposter ในเกม Among Us มันเกี่ยวกับ Imposter Syndrome อย่างไร? นอกจากชื่อก็ยังไม่เห็นมีจุดไหนเชื่อมโยงกันเลย ให้คุณลองเทียบว่าผู้เล่นแต่ละคนที่ Imposter ไล่ฆ่าอยู่นั่นคือความมั่นใจ ความนับถือ ความภูมิใจ และความรักตัวเองของคุณ ส่วนภารกิจนั้นคือเป้าหมายที่คุณวางไว้ คุณจะพบว่า Imposter ในเกมนั้นดูคล้ายกับ Imposter Syndrome (โรคที่คิดว่าตนเองไม่เก่ง) โรคทางความคิดที่ถ่วงความเจริญคุณเสียเหลือเกิน
“ปรากฎการณ์ด้อยค่า”
ในตอนแรกกลุ่มคนที่เป็น Imposter Syndrome ถูกเรียกว่าพวกเขากำลังเข้าใกล้ปรากฎการณ์การด้อยค่า โดยในปี 1987 กลุ่มอาการการด้อยค่าของพวกเขามีลักษณะเด่นเลย คือความเชื่ออย่างฝังใจเลยว่าผลงานและความสำเร็จที่เกิดขึ้นนั้น พวกเขาไม่สมควรได้รับ และมีความรู้สึกว่าผลงานของพวกเขามีโอกาสจะถูกเปิดโปงว่าไม่เหมาะสม ปลอม หรือถูกด้อยคุณค่าความพยายามได้ตลอดเวลา ซึ่งส่วนหนึ่งของสาเหตุอาจเป็นเพราะการรับรู้และทัศนคติที่ล้าสมัยของพวกเขา พวกเขาหลายคนไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งในงาน ในทีม หรือแม้แต่ในความสำเร็จที่พวกเขาสร้างขึ้น
“ถ้าฉันขอความช่วยเหลือ ฉันจะกลายเป็นคนหลอกลวง”
เมื่อคุณเริ่มทำงานที่ใหม่ ถือว่าการเริ่มต้นครั้งนี้เป็นการนับหนึ่งใหม่ทั้งจากฝั่งของคุณเองและองค์กร แน่นอนว่าคุณไม่มีทางเข้าใจองค์ประกอบของงานได้ครบถ้วน 100% แม้ว่ามันจะเป็นงานตำแหน่งเดียวกับที่คุณเคยทำก็ตาม ด้วยวัฒนธรรม สไตล์การทำงาน หรือแม้แต่การพูดคุยที่แตกต่างกัน ซึ่งถ้าว่ากันตามจริง สิ่งเหล่านี้ก็คือ สิ่งที่คุณต้องปรับตัวเมื่อก้าวเข้าสู่สภาพแวดล้อมใหม่ๆ มันอาจพาคุณเข้าสู่ความรู้สึกวิตกกังวล สงสัย เครียด หรือกระวนกระวายต่างๆจนกระทั่งหัวของคุณเริ่มปลดปล่อยคำพูดเชิงลบเกี่ยวกับตัวเองมาเสียมากมาย “ฉันควรรู้สิ” “ทุกคนเข้าใจยกเว้นฉัน” หรือ “ฉันจะถามหรือขอให้คนอื่นช่วยไม่ได้ เพราะเขาจะคิดว่าฉันหลอกลวง” เป็นต้น
“ฉันไม่ได้เก่ง ฉันแค่โชคดี”
แม้หลังจากนั้นคุณจะพยายามอย่างหนักเพื่อเรียนรู้งานและปรับตัว แต่โปรดรู้ไว้ว่าระหว่างทางสมองและใจของคุณที่ต้องสู้กับ Imposter ทำงานหนักกว่าคุณแน่นอน ในการฟังคำพูดลบๆ เหล่านั้น เมื่อเวลาผ่านไป คุณกลายเป็นพนักงานที่ทำงานได้อย่างคล่องแคล่วและมีผลงานที่สร้างการตอบรับในเชิงบวกกลับมา เมื่องานของคุณได้รับการตรวจสอบและอนุมัติ แทนที่จะดีใจกับความสำเร็จนั้น คุณกลับรู้สึกว่างเปล่าและลดความสำเร็จนั้นลงด้วย “ฉันแค่โชคดี ฉันไม่ได้เก่งเสียหน่อย” นี่ช่างเป็นคำพูดสำหรับการเฉลิมฉลองที่หดหู่ชะมัด หรือ สมมติว่าคุณไม่สามารถทำงานให้เสร็จได้ หรือคุณได้รับคำติชมที่สำคัญ หรือแม้กระทั่งความคิดเห็นที่ไม่เป็นมิตรเกี่ยวกับงานที่คุณกำลังรับผิดชอบ Imposter ในหัวคุณจะทำงานอย่างหนักด้วยการบอกว่า “พวกเขารู้ว่าคุณไม่เก่ง” หรือ “อีกไม่นาน คุณคือคนต่อไปที่โดนไล่ออกแน่”
“พนักงานในทุกอุตสาหกรรมต้องต่อสู้กับเสียงในหัวมากกว่างานเสียอีก”
ความวิตกกังวลเหล่านี้กลายเป็นเรื่องปกติสำหรับใครก็ตามที่เข้าสู่วัยทำงานแล้ว ไม่ว่าคุณจะประสบกับปัญหาเหล่านี้เมื่อเริ่มงานใหม่ หรือ เข้าร่วมทีมใหม่ หรือ แม้แต่ทำงานมานานแล้วแต่มีงานใหม่ที่ไม่คุ้นเคยเข้ามาก็ตาม จากงานวิจัยทำให้เห็นว่า ผู้คนมากกว่า 82% ในทุกสายอาชีพ 58% พนักงานที่ประกอบอาชีพสายเทคโนโลยี และ 57% ของนักศึกษาวิทยาการคอมพิวเตอร์ กำลังต่อสู้กับ Imposter ในหัวของตัวเองอยู่ เมื่อเวลาผ่านไป Imposter ในหัวของคุณอาจทำได้มากกว่าการแค่เป็นเสียงกระซิบให้คุณรู้สึกแย่ พวกมันอาจทำให้คุณเหนื่อยหน่าย หมดไฟ หรือมีอาการซึมเศร้าได้
“เราทุกคนเริ่มต้นจากการเป็นแฮ็กเกอร์”
หากคุณลองสังเกตตัวเลขข้างต้น คุณจะพบว่าสายอาชีพที่ข้องเกี่ยวกับการนั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์จะมีเปอร์เซ็นการได้พบปะกับ Imposter ค่อนข้างเยอะ ลองย้อนกลับไป หากคุณคือหนึ่งในคนที่ทำงานนั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์ คุณจำวินาทีแรกที่เริ่มเขียนโค้ดอะไรได้บ้าง ใช้การกดรหัสโกงเกม The Sim เพื่อให้เงินมากจนซื้อเฟอร์นิเจอร์บ้านได้ไม่จำกัดหรือการโกงให้เลื่อนพลังงาน ความหิว หรือความสะดวกสบายได้ด้วยตัวเอง การเขียนโค้ดครั้งแรกในบทบาทพนักงานอาจทำให้บางสิ่งบางอย่างยุ่งเหยิงด้วยความไม่รู้ แต่การเมื่อสำเร็จกลับการเป็นความสุขที่ทำให้คุณรู้สึกได้เปลี่ยนแปลงบางสิ่งที่ซับซ้อนให้ดีขึ้นได้
“ทุกคนเริ่มต้นจากการเป็นมือใหม่”
เมื่อก้าวเข้าสู่สายอาชีพการเขียนโค้ดอาจทำให้รู้สึกว่าเพื่อนร่วมงานบางคนมีพรสวรรค์ในการพัฒนาซอฟต์แวร์อย่างมาก เข้าใจชิ้นส่วนงานทั้งหมด ในขณะที่คุณเป็นเพื่อแฮกเกอร์เขียนโค้ดโกง สิ่งที่คุณมองว่าคนนั้นคนนี้ดูพิเศษเป็นเพียงบทบาทที่แตกต่างจากโปรแกรมอื่นที่พวกเขาถนัดแต่คุณไม่ ซึ่งกลับกัน การเขียนโค้ดของคุณก็อาจเปรียบเสมือนพลังวิเศษที่คนอื่นอยากมีได้เช่นกัน ในขณะเดียวกันนี้ คุณอาจพบว่ามีบางวันที่คุณต้องมานั่งตีกับ Imposter ในสมองว่าหากสิ่งที่คุณมีคือความพิเศษ แล้วคนอื่นล่ะ? ไม่แน่ ทุกคนที่นี่อาจพิเศษหมด แต่พวกเขาอาจจะมองว่าคุณไม่ก็ได้ ดังนั้นแทนที่จะเสียเวลาจมปลักอยู่กับสิ่งที่คุณไม่รู้ คนอื่นรู้ หรือคุณรู้ คนอื่นไม่รู้ โปรดจำไว้ว่าทุกคนเริ่มต้นจากการเป็นมือใหม่ที่ไม่รู้กันมาก่อนทั้งนั้น แม้แต่เพื่อนร่วมงานที่เปล่งประกายที่สุดในแผนกของคุณก็เช่นกัน
“บางทีเราอาจถูกเลี้ยงดูมาแบบนี้”
จากงานวิจัยพบว่าความสัมพันธ์ในครอบครัวช่วงแรกส่งผลต่อการพัฒนาของ โรคที่คิดว่าตนเองไม่เก่ง หรือ โรคด้อยคุณค่าในตัวเอง ตัวอย่างเช่น พ่อแม่เผด็จการกดดันให้ลูกมีผลการเรียนในระดับสูง ยึดมาตรฐานและอุดมคติที่ไม่สามารถบรรลุได้โดยง่าย ในขณะเดียวกันก็มีอีกประเภทที่ต่างกันสุดขั้ว ก็คือพ่อแม่ที่ลอยตัวอยู่เหนือกิจกรรมและงานบ้านของลูกทั้งหมด ปกป้องพวกเขาจากทุกความเจ็บปวดและความผิดหวัง ซึ่งการทำแบบนี้อาจทำให้เด็กเข้าใจว่าการปกป้องมากเกินความจำเป็นนั้นเป็นเพราะพวกเขาขาดความสามารถ ความสัมพันธ์ในครอบครัวอาจเกิดขึ้นในขณะที่คุณต่อสู้กับความรู้สึกด้อยคุณค่าในตัวเอง และมันส่งผลให้คุณพ่ายแพ้ Imposter ในหัว ไม่ว่าจะคุณในบทบาทลูกหรือคุณในบทบาทของพ่อแม่ที่ทำงานหาเงินเลี้ยงลูก
“มนุษย์เราชอบเป็นเจ้าของ แต่แย่หน่อย ที่เราไม่ได้พบกับมันเสมอไป”
มีความรู้สึกอบอุ่นเมื่อคุณเป็นส่วนหนึ่งของทีมที่คุณรู้สึกว่าได้รับการยอมรับและมีส่วนร่วม และรู้ว่าคุณสามารถเป็นตัวของตัวเองได้ ความรู้สึกถึงการมีส่วนร่วมเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนาจากการทำงาน และบางคนก็ให้คุณค่ามากกว่านั้นในบทบาทการทำงานร่วมกันเป็นทีม ความหลากหลายมีส่วนอย่างมากในการสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของ และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีโดยรวมยังมีหนทางอีกยาวไกล ดังนั้น การค้นหาบริษัทที่ทำงานอย่างจริงจังเพื่อส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่หลากหลายและครอบคลุมมากขึ้นภายในทีมเทคโนโลยีจึงเป็นส่วนสำคัญในการหางานของคุณ การถามคำถามในระหว่างกระบวนการสัมภาษณ์เกี่ยวกับความหลากหลาย เช่น เชื้อชาติ เพศ ครอบครัว แม้กระทั่งความชอบในการเขียนโปรแกรมอาจช่วยให้เข้าใจว่าบริษัทเปิดกว้างให้กับความแตกต่างมากน้อยแค่ไหน
“สิ่งหนึ่งที่แน่นอนในเทคโนโลยี คือสิ่งต่างๆ จะเปลี่ยนไป”
การทำตัวทันสมัยหรือพยายามตามเทรนด์โลกอยู่เสมอกลายเป็นเรื่องที่น่าเหนื่อยหน่าย เมื่อเทรนด์ผ่านมาและผ่านไปเร็วกว่าพายุฤดูร้อนเสียอีก ทักษะที่มีปรับเปลี่ยนมูลค่าไปตามกาลเวลา จึงเป็นเรื่องง่ายที่นักพัฒนาจะรู้สึกว่าพวกเขาล้าหลัง อุตสาหกรรมเองก็กว้างใหญ่ มีวิธีการเขียนและรันโค้ดที่หลากหลายสำหรับอุตสาหกรรมทุกประเภทและกรณีการใช้งาน ไม่แปลกหากคุณไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนาซอฟต์แวร์เลย แม้จะทำงานมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้วก็ตาม เทคโนโลยีมีอะไรให้เรียนรู้อยู่เสมอ ตลอดจนวิธีแก้ปัญหาและแนวทางมากมายด้วยเช่นกัน หาก Imposter ในหัวคุณกำลังบอกว่าคุณไม่เก่ง เลยไม่เชี่ยวชาญสักที โปรดเถียงมันกลับไปด้วยข้อเท็จจริงเหล่านี้ดู
บทสรุป
งานด้านเทคโนโลยีที่ยอดเยี่ยมไม่ใช่แค่การทำงานกับภาษายอดนิยมและเครื่องมือใหม่ล่าสุดเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวกับการหาวัฒนธรรมการทำงานที่เหมาะสมด้วย ชีวิตการทำงานเต็มไปด้วยสัมภาระและความคาดหวังที่หนักอึ้ง คุณสามารถตั้งหลักได้มากมายในการต่อต้านความรู้สึกที่คิดว่าตนเองไม่เก่ง หรือ ด้อยคุณค่าในตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการมองหาวัฒนธรรมการทำงานที่คุณสามารถเติมเต็มความต้องการและความคาดหวังส่วนตัวของคุณได้เป็นทางออกที่ดีในการทำงานสายเทคโนโลยีนี้
สิ่งแรกที่คุณควรทำคือ เข้าใจความต้องการของตัวเองและศึกษาวัฒนธรรมการทำงานของบริษัทที่คุณสนใจก่อนจะตอบรับข้อเสนองานที่ได้รับ จำไว้ว่าการสัมภาษณ์เป็นโอกาสที่ดีสำหรับคุณในการทำความเข้าใจว่าคุณจะได้รับการสนับสนุนและความรู้สึกสบายใจแบบที่คุณต้องการ
อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญก็คือ Imposter syndrome ไม่เพียงแต่ทำให้คุณรู้สึกแย่กับตัวเองเท่านั้น แต่ยังขัดขวางการเรียนรู้ที่คุณต้องทำเพื่อให้ประสบความสำเร็จ โอกาสและการเติบโตในอาชีพได้อย่างมีความหมายอีกด้วย ท้ายที่สุดแล้วอาชีพด้านเทคโนโลยีของคุณก็เป็นมากกว่าแค่ผลรวมของทักษะการเขียนโปรแกรม และการสร้างนั้นก็เป็นศิลปะมากกว่าเพียงวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อบทบาทและหน้าที่มากมายนั้นใหม่และมีพลังพอๆกับตัวเทคโนโลยี
“หากคุณกำหนดคุณค่าให้ตัวเองไว้มากพอ จะไม่มี Imposter ตัวไหนในหัวมาด้อยคุณค่าคุณได้แน่นอน”
Reference:
Why Imposter Syndrome in Tech Is So Common—and What We Can Do About It
บทความแนะนำ:
ทัศนคติลบ คือ จุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ที่ย่ำแย่ ที่ทำลายทั้งความสุขและอนาคต