
โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคที่มีอัตราการเสียชีวิตติดอันดับ 1 ใน 5 ซึ่งถือว่าสูงมากทำ ให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด และจากบุคลากรทางการแพทย์มืออาชีพ และผู้มีประสบการณ์
จากในตอนที่แล้วที่เราได้ไปทำความรู้จักกับหนึ่งในศูนย์การรักษาที่สำคัญของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ซึ่งศูนย์นี้เป็นศูนย์ที่ทุกคนเคยได้ยินชื่อกันอยู่บ่อยๆเสียด้วย ศูนย์ไตเทียมเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ นั่นเอง สิ่งหนึ่งที่ทำให้เรารู้เลยก็คือแม้ไตจะเสื่อมสภาพตามกาลเวลาและตัวเลขอายุที่เพิ่มขึ้นทุกวัน แต่ทางที่ดีเราทะนุถนอมให้มันมีอายุการใช้งานนานกว่าเดิมเสียหน่อยก็ไม่ใช่เรื่องลำบากเกินจะทำ
ตอนนี้แอดมินจะพาทุกคนเข้าสู่ช่วงการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ที่ทุกวินาทีมีค่ามากราวกับชีวิตแขวนอยู่บนเส้นด้าย แต่ชีวิตที่ว่าไม่ใช่ชีวิตของพวกเขา แต่เป็นชีวิตของคนไข้ต่างหาก แอดมินจะพาทุกคนไปรู้จักกับ ศูนย์หัวใจธรรมศาสตร์และหอผู้ป่วยวิกฤตโรคหัวใจ (ซีซียู) จาก พว.วินิตย์ หลงละเลิง พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษและผู้ปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด พว.เรวดี อุดม หัวหน้างานการพยาบาลหอผู้ป่วยวิกฤตโรคหัวใจ (CCU) โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ
“ฆาตกรแสนร้ายกาจที่ชื่อว่า โรคหัวใจ”
ข้อมูลสถิติขององค์การอนามัยโลก พบว่ามีคนเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นจำนวนถึง 7.2 ล้านคน หรือคิดเป็น 12.2% ของสาเหตุการเสียชีวิตทั้งหมด สำหรับในประเทศไทยมีประมาณปีละ 37,000 ราย เสียชีวิตชั่วโมงละ 2 คน และมันยังติดอันดับ 1 ใน 5 ของโรคที่มีอัตราการเสียชีวิตมากที่สุดทุกปีของผลสำรวจทั่วโลกอีกด้วย

“อาการมันแน่นเหมือนช้างเหยียบ”
อาการที่สามารถสังเกตตัวเองได้ชัดๆเลยว่ามีสิทธิ์เสี่ยงเป็นโรคหัวใจหรือเปล่าคืออาการแน่นหน้าอก ซึ่งอาการแน่นจะเกิดขึ้นถี่มาก บางครั้งอาจจะแน่นลามไปถึงคอ ถึงไหล่ข้างซ้าย บางรายอาจจะเป็นไหล่ขวา แต่โดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นไหล่ซ้าย บางคนแน่นจนร้าวทะลุไปถึงหลังก็มี ในงานวิจัยบางที่บอกกันว่ามันแน่นราวกับโดนช้างเหยียบอกอยู่ ความรู้สึกแน่นอกมาก เหงื่อแตก ใจสั่น จะนั่งหรือนอน หยุดหายใจก็ไม่หาย ถ้ามีอาการแบบนี้ ให้รีบไปหาหมอเลย
“โรคกระเพาะจะทำให้คุณมองโลกแง่ดีเกินไปและโรคเบาหวานจะทำให้คุณแทบจะไม่รู้สึกถึงมัน”
บางคนในกลุ่มผู้สูงอายุโดยเฉพาะผู้หญิงจะรับความรู้สึกได้น้อย บางครั้งรู้สึกว่าตัวแค่จุกใต้ลิ้นปี่จึงคิดไปเองว่าอาจจะเป็นโรคกระเพาะ แต่พอมาตรวจจริงๆแล้วกลับพบว่าตัวเองเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเฉียบพลันก็มี หรือการมีโรคประจำตัวอย่างโรคเบาหวานจะเป็นสิ่งที่ทำให้ความรู้สึกถึงอาการโรคหัวใจน้อยลง อย่าวินิจฉัยโรคเอง ถึงบางครั้งโรคหัวใจมันเหมือนจะดูง่ายแต่บางครั้งมันก็ไม่บอกอะไรเราก่อนเลยเหมือนกัน
“หาหมอไม่ใช่เรื่องเสียหาย จะเป็นหรือไม่เป็นอย่างน้อยก็ชัวร์”
ต้องรู้จักสังเกตตัวเอง อย่าคิดว่าอาการแน่นหน้าอกหรือจุกใต้ลิ้นปี่เป็นเพราะโรคกะเพราะอาหารเพียงอย่างเดียว มีหลายคนที่พลาดเพราะคิดแบบนี้มาแล้ว ถ้าเป็นโรคกะเพราะอาหารกินยาแล้วรอสักพักอาการจะดีขึ้น แต่ถ้ากินยาแล้วยังเป็นอยู่ เป็นบ่อย หรือมีอาการเหงื่อแตก หายใจไม่ออก ใจสั่นร่วมด้วย ให้รู้ตัวเลยว่าไม่ปกติแล้ว ให้มาหาหมอเลย อาการประกอบอื่นๆ มันเกิดขึ้นเฉพาะบุคคล แต่อาการหลักๆที่เป็นกันทุกคนคือแน่นหน้าอก

“ออกกำลังกายแข็งแรงไม่ได้หมายความว่าเป็นโรคหัวใจไม่ได้”
คนที่ดูแลสุขภาพตัวเองอย่างดี มีออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พวกเขาจะมีความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจน้อยกว่าเพราะพวกเขามีสุขภาพแข็งแรง แต่ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาไม่มีสิทธิ์เป็นโรคที่เกี่ยวกับหัวใจ เพราะโรคหัวใจเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ยกตัวอย่างเช่น กรรมพันธุ์ มีปัญหาเรื่องหัวใจโตไม่ทราบสาเหตุ ยกตัวอย่างเช่น กรรมพันธุ์ หรือมีปัญหาเรื่องหัวใจโตไม่ทราบสาเหตุ เป็นต้น นักกีฬาออกกำลังกายอยู่แล้วล้มไปเลยก็มี ไม่ว่าจะแข็งแรงขนาดไหนก็อย่าวางใจให้กับโรคนี้
“เราต้องมองผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง”
ศูนย์หัวใจธรรมศาสตร์และหอผู้ป่วยวิกฤตโรคหัวใจ (ซีซียู) เป็นศูนย์หนึ่งที่ปัจจุบันได้เป็น COE หรือ Center of Excellent ศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านโรคหัวใจและหลอดเลือด เป็น 1 ใน 5 ศูนย์ของธรรมศาสตร์ที่มีชื่อเสียงมาก ดังนั้นเวลาทำงานบุคลากรจะไม่ได้ทำอยู่ที่ศูนย์ที่เดียว จะมีคณะกรรมการพัฒนาทางด้านคุณภาพผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงคณะกรรมการใหญ่ด้านอายุรกรรมด้วย บุคลากรทุกคนจึงมีทำงานเชื่อมโยงกับหลายฝ่าย โดยยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางแล้วบุคลากรทุกคนคือคนที่หมุนเวียนและเชื่อมโยงกันเพื่อช่วยผู้ป่วยตรงกลางอย่างดีที่สุด

“การรักษาโรคหัวใจ ที่ไม่ได้ใช่แค่แพทย์โรคหัวใจ”
ในการรักษาคนไข้โรคหัวใจมีการเชื่อมโยงกันหลายฝ่าย วางแผนการทำงานอย่างเป็นระบบเพราะไม่สามารถปล่อยคนไข้ไปได้โดยที่ไม่แนะนำอะไรเลยได้ จะต้องมีการให้คำแนะนำในเรื่องอาหารการกินและการปฏิบัติตัว ถ้าสมมติคนไข้มีความผิดปกติอะไร เช่น น้ำหนักเกินมีไขมันเกินไปมากเลย หรือผอมมากดูขาดสารอาหาร ก็จะมีผู้เชี่ยวชาญทางด้านโภชนาการที่เข้ามาช่วยดูในเรื่องอาหารการกินของคนไข้ หรือหากคนไข้มีอาการแขนขาอ่อนแรง ซึ่งพบบ่อยในกลุ่มผู้สูงอายุ เราก็จะมีการหาผู้เชี่ยวชาญทีมกายภาพบำบัดมาให้คำแนะนำในการกระตุ้น ให้ลุกขึ้นมาเดิน มานั่ง บุคลากรหลากหลายทีมที่พร้อมเข้ามาช่วยเหลือคนไข้
การประสานงานกับซีซียู
CCU ย่อมาจาก Cardiac Care Unit หอผู้ป่วยวิกฤตโรคหัวใจ หน่วยงานที่ดูแลคนไข้กลุ่มโรคหัวใจ เราจะรับช่วงต่อในการดูแลหลังจากการทำหัตถการ เพราะว่าถือว่าคนไข้หลังจากหัวใจขาดเลือดใหม่ๆ เหมือนการได้รับบาดเจ็บมันต้องมีการรักษาซึ่งศูนย์หัวใจเขาจะทำหน้าที่ในการรักษามาแล้ว หลังจากนั้นคือการติดตามเฝ้าระวังซึ่งเป็นหน้าที่ของซีซียู โดยคนไข้แต่ละคนจะอยู่ในห้องแยก มีเตียงทั้งหมด 20 เตียง มีคนไข้ฝั่งวิกฤต 8 เตียง เป็นศูนย์วิกฤตอีก 12 เตียงที่จะมีการติดตามเฝ้าระวังผ่านจอมอนิเตอร์
“สิ่งหนึ่งที่พยาบาลทำได้ก็คือเรื่องการให้ความรู้”
การให้แนะนำทั้งคนไข้ ญาติ และคนดูแลหลัก ประเมินก่อนว่าคนดูแลคือใคร ปัจจุบันคนไข้ของเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ หากแนะนำไปที่คนไข้เลย คนไข้อาจจะมีการหลงลืมบ้าง ทำให้เราต้องแนะนำที่ตัวญาติและคนดูแลหลักไปด้วย จุดประสงค์ของการให้ความรู้คือการทำอย่างไรไม่ให้คนไข้ที่หายแล้วต้องกลับมาเป็นซ้ำ และสามารถกลับไปใช้ชีวิตร่วมกับครอบครัวได้อย่างปกติสุขเหมือนเดิม

“รู้สึกดี รู้สึกเหมือนพยาบาลอยู่ใกล้เขา”
เนื่องจากมีโควิด-19 เข้ามา จึงมีปัญหาในเรื่องการเข้าเยี่ยมอยู่บ้างเพราะบางครั้งทางโรงพยาบาลก็ไม่สามารถให้ญาติเข้ามารับฟังการแนวทางการดูแลคนไข้เมื่อคนไข้กลับบ้านไปได้ จึงมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ให้คนไข้โหลดแอปพลิเคชัน CCU TUH ผ่านคิวอาร์โค้ดแล้วเข้ามาแชทกับแอดมินที่รอตอบแชทอยู่ กลับไปบ้านเป็นอย่างไร ทานยา ดูแลแผลดีไหม ทำได้ไหม มีการติดตามกับคนไข้ตลอด ซึ่งได้เสียงตอบรับจากผู้ใช้บริการดีมาก มีการถ่ายรูปส่งมาว่าทำอย่างไร หรือเรื่องกินอาหาร ว่ากินอาหารอะไรได้บ้าง ช่วยทำให้คนไข้ที่กลับไปอยู่บ้านสบายใจด้วย
“ต้องการให้คนไข้มีชีวิตที่เหลืออย่างมีคุณภาพที่สุด ไม่เจ็บป่วยหรือทรมาน”
ในคำว่าหอผู้ป่วยวิกฤตโรคหัวใจไม่ได้หมายถึงการดูแลแค่คนไข้วิกฤตเพียงอย่างเดียว เราดูรวมถึงคนไข้พ้นวิกฤตด้วย ซึ่งไม่ว่าจะพ้นวิกฤตแบบเสียชีวิตหรือใกล้เสียชีวิตก็ตาม มีการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care) และ การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายของชีวิต (End of life Care) ศูนย์ธรรมศาสตร์ธรรมรักษ์ก็จะเป็นทีมที่เข้ามาช่วยเหลือ ความเจ็บปวดและทรมานในการที่ต้องทำการรักษาต่อไป ทำให้ในบางกรณีต้องเรียกญาติเข้ามาคุยว่าถ้าเป็นแบบนี้ต่อไปตัวคนไข้ก็จะทรมาน ในบั้นปลายคนไข้ต้องการอะไร ญาติต้องการอะไร ระยะสุดท้ายต้องการแค่ไหนทางศูนย์จะได้พาไปให้ถูกทาง
บทสรุป
คนไข้โรคหัวใจมาถึงเร็วก็ได้รักษาเร็ว เพิ่มโอกาสในการกลับไปใช้ชีวิตได้อย่างปกติ กล้ามเนื้อหัวใจถ้ามันขาดเลือดไปแล้วหรือตายไปแล้ว มันก็เหมือนสมองที่ตายแล้วตายเลย ไม่มีการฟื้นคืนชีพขึ้นมาใหม่ เพราะฉะนั้น เวลาคือชีวิต ถ้ามีอาการแน่นหน้าอกรุนแรงมากให้ไปโรงพยาบาลเลย ต้องเริ่มแล้วในการดูแลตัวเอง สังเกตตัวเอง การตรวจสุขภาพเป็นสิ่งสำคัญ อย่างน้อยปีละครั้ง ถ้ามีโอกาสได้ตรวจคลื่นหัวใจ หรือทำเอ็กโคคาร์ดีโอแกรมยิ่งเป็นโอกาสที่ดีเลย อย่างน้อยก็ได้ดูปัญหาที่เกิดขึ้นกับหัวใจ รู้เร็วก็แก้ปัญหาได้เร็ว ก็จะส่งผลดีต่อสุขภาพของเรา
“เรามองว่าทุกวินาทีมีค่าต่อคนไข้มาก เพียงเสี้ยววินาทีถ้าเราช่วยไม่ทัน คนไข้สามารถเสียชีวิตได้ และถ้าเราช่วยได้เร็วนั่นหมายถึงเราเพิ่มโอกาสให้คนไข้ ทำให้คนไข้ได้มีชีวิตต่อไปอีกครั้ง”
ด้วยรักและห่วง”ใจ” | โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ
หรือ จะเลือกรับฟังข้อมูลเพิ่มเติมในรูปแบบของ Podcast:
บทความ แนะนำ :
โรคไต และไตเทียม กับโรคที่ไม่ใช่แค่โรคประจำตัวของผู้สูงอายุอีกต่อไป
ติดตามชมรายการ UNMASK STORY
กับ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ
ได้ทุกวันเสาร์ เวลา 20:00 น.
ทาง Facebook เพจ @มนุษย์เงินเดือนพันธุ์ใหม่
และ ช่องทาง Social Media ของ The Practical