ใช้หัวใจในการทำงาน หากพูดถึงเรื่องนี้ คงต้องบอกว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องใช้ในแทบทุกอาชีพ แต่มีอาชีพนึง นั่นก็คือ เหล่าบุคลากรทางการแพทย์ ที่ตอนนี้กลายเป็นกลุ่มอาชีพที่ต้อง ใช้หัวใจในการทำงาน เรียกได้ว่ามากที่สุด และ พวกเขามาพร้อมกับความเสียสละอย่างมากมาย เพื่อช่วยเหลือพี่น้องชาวไทย ในการรับมือกับวิกฤติโควิด-19 ที่เรากำลังเผชิญหน้าอยู่ในตอนนี้
“เราใช้ชีวิตอยู่ในโลกใบใหม่ ที่การใช้ชีวิตแบบเดิม อาจจะเป็นไปไม่ได้อีกต่อไปแล้ว”
ในสถานการณ์แบบนี้ที่ คนธรรมดาอย่างเรา แม้แต่การออกไปหาของกินหน้าหมู่บ้าน ก็กลายเรื่องยากไปเสียแล้ว เมื่อทุกพื้นที่ในประเทศไทยในตอนนี้ ได้กลายเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อโรคโควิด-19 ไปเสียหมดแล้ว เราเองต่างก็พยายามป้องกันตัวเองจากโรค โดยไม่พยายามเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยง และ หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยง
แต่ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่กิจวัตรของพวกเขาตรงกันข้ามกับเราอย่างสิ้นเชิง เพราะพวกเขาจำเป็นต้องใกล้ชิดกับกลุ่มเสี่ยง ยิ่งใครมีความเสี่ยงมาก ก็ต้องยิ่งใกล้ชิดพวกเขามากขึ้น พวกเขาเป็นกลุ่มคนที่เสียสละใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ และมีความเสี่ยงสูงที่สุดในการติดเชื้อโรคโควิด-19
“เพราะในทุกๆ วิกฤติ ย่อมมีคนที่เสียสละมากที่สุดเสมอ”
วันนี้ เหล่าบุคลากรทางการแพทย์ คือ ผู้เสียสละ ที่ ใช้หัวใจในการทำงาน จริงๆ
วันนี้แอดมินจะพามารู้จักพวกเขาผ่านบทสัมภาษณ์ของพี่แหวน หรือ คุณปริศนา ปทุมอนันต์ ผู้อำนวยการฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ บุคลากรทางการแพทย์ผู้เป็นด่านหน้าในการต่อสู้กับโควิด-19
จุดเริ่มต้นของการต่อสู้กับศัตรูที่ไม่เคยรู้จัก
ย้อนกลับไปตั้งแต่ตอนที่ประเทศไทยได้รู้จักโควิด-19 ในชื่อโคโรน่าไวรัสที่เกิดการระบาดอย่างรุนแรงใน อู่ฮั่น พี่แหวนเล่าให้ฟังว่าได้มีการขอพยาบาลอาสาจากทั่วประเทศ และมีคนสมัครใจด้วยตัวเองเข้ามาทำงานตรงนี้กว่า 40 คน ในตอนนั้นมีการคาดเดาว่าเชื้อต้องมาถึงไทยเลยทำให้หน่วยควบคุมโรคต้องศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับอาการ การป้องกัน พื้นที่เสี่ยง อย่างเร่งด่วน
นอกจากการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับโรคแล้วยังต้องเตรียมความพร้อมในเรื่องของสถานที่และบุคลากร ซึ่งตอนนั้นต้องทำการเปลี่ยนตึกที่เคยเป็นธนาคารให้กลายเป็นตึกที่สามารถคัดกรองทั้งผู้ป่วยและกลุ่มเสี่ยงโรคโควิด-19 มีการจัดหาเจ้าหน้าที่ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์มาเทรน เวิร์คช็อป ให้ความรู้ เพราะพวกเขาต้องกลายเป็นด่านหน้าในการเผชิญกับโคโรน่าไวรัส
การเตรียมความพร้อมในระยะเวลาอันสั้น
เนื่องจากโคโรน่าไวรัสเข้ามาสู่ประเทศไทยอย่างรวดเร็ว ทำให้สำหรับทางการแพทย์แล้วเวลาเตรียมตัวมีน้อยมากที่จะศึกษาและทำความเข้าใจ ทางโรงพยาบาลจึงมีการตั้งทีมวิกฤติโดยได้ขอความร่วมมือจากบุคลากรและเจ้าหน้าที่จาก ICU มาเรียนและเวิร์คช็อปอย่างจริงจัง โดยมีอาจารย์และหน่วยควบคุมโรคให้ความร่วมมือมาสอนแนวทางการดูแลคนไข้ และวิธีการป้องกันสำหรับบุคคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่เองที่ต้องเข้าไปใกล้ชิดทั้งกับผู้ป่วยและกลุ่มเสี่ยง
สิ่งแรกที่สำคัญมากที่ทางโรงพยาบาลต้องเตรียมการคือ ต้องพยายามศึกษาหาข้อมูลให้รู้ว่าคนไข้โควิด-19 มีอาการอย่างไร? จะสามารถแยกออกได้อย่างไร? ตรวจเจอได้อย่างไร? และมาจากพื้นที่เสี่ยงที่ไหนบ้าง? สิ่งนี้เป็นสิ่งแรกๆ ที่ทางโรงพยาบาลต้องทำให้ได้ เพื่อไม่ให้คนไข้โควิด-19 เข้าไปปะปนกับคนไข้อื่นๆ
ผ่านวิกฤติได้เพราะทุกคนยินดีให้ความร่วมมือ
ในตอนที่มีการเปิดตึกเพื่อรองรับคนไข้โรคโควิด-19 นั้น จำเป็นต้องหาบุคลากรมาทำงานในส่วนนี้ จึงต้องขอความร่วมมือจากแผนกอายุรกรรมที่ปกติรับผิดชอบคนไข้หลอดเลือดสมอง ให้มาช่วยดูแลคนไข้โควิด-19 เพิ่ม และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ต้องขอแบ่งมาใช้ในส่วนนี้
ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ พี่แหวนชื่นชมและประทับใจมาก เพราะโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ได้ให้อิสระแก่บุคลากรทางการแพทย์เต็มที่ หากใครไม่สบายใจในการทำงานตรงไหนสามารถออกความคิดเห็นได้ แต่ทุกครั้งที่ต้องการความช่วยเหลือหรือความร่วมมือ ไม่ว่าจะด้านบุคลากร อุปกรณ์ หรือสถานที่ ทุกคนพร้อมยื่นมือเข้ามาช่วยอย่างเต็มใจเสมอ ถึงแม้ว่าในตอนนั้นจะยังไม่มีแม้แต่วัคซีนรักษาก็ตาม
“หนูต้องกลับบ้านไปเจอลูก หนูกลัวจะเอาไปติดเขา”
ในตอนที่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั้งในรอบที่ 1 และรอบที่ 2 ก็ได้มีการเพิ่มวอร์ดอีกสองวอร์ดเพื่อรองรับคนไข้ โควิด-19 ที่ได้รับผลยืนยันแล้วว่าเป็น positive บุคลากรทางการแพทย์ที่เข้ามาทำงานตรงนี้ถือเป็นผู้ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อมากที่สุด ยิ่งโรคทวีความรุนแรงในการแพร่เชื้อเพิ่มขึ้นเท่าใด ยิ่งทำให้ความกังวลของด่านหน้าอย่างบุคลากรทางการแพทย์เพิ่มขึ้นตาม เพราะพวกเขาก็มีครอบครัวที่ต้องกลับไปเจอเช่นเดียวกับคนไข้ทุกคน
“เราดูแลร่างกายและจิตใจบุคลากรของเรา เพื่อให้เขาไปดูแลคนไข้อย่างดีที่สุด”
พี่แหวนเล่าให้เราฟังว่า บุคลากรทางการแพทย์มาทำงานตรงนี้ด้วยใจที่ต้องการจะรักษาและช่วยเหลือคนไข้ทุกคน เพราะฉะนั้นเราจึงต้องสร้างความมั่นใจเรื่องความปลอดภัยในการทำงานให้แก่บุคลากรทุกคนไม่ว่าจะเป็น อาหาร ที่พัก ประกัน มาตรฐานของอุปกรณ์ทางการแพทย์ทุกชิ้น รวมไปถึงระบบการถ่ายเทอากาศภายในวอร์ดที่รับคนไข้โควิด-19
ในวันที่ บุคคลากรติดเชื้อโควิด-19
ก่อนหน้านี้ มีข่าวออกมาว่าบุคคลากรโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ติดเชื้อโควิด-19 ทำให้มีคนตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับความปลอดภัยภายในโรงพยาบาล ซึ่งข่าวที่ออกในรอบแรกนั้น ผู้ติดเชื้อคือคนไข้ที่มารับการตรวจรักษาภายในโรงพยาบาลและไม่ได้ใส่หน้ากากอนามัย ในฝั่งของบุคลากรทางการแพทย์ไม่มีคนติดเชื้อ แต่ในรอบที่ 2 ผู้ติดเชื้อคือหนึ่งในทีมงานแต่ไม่ใช่บุคคลากรทางการแพทย์
พี่แหวนบอกว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือการแก้ปัญหาหลังจากนั้น ต้องชื่นชมบุคลากรทางการแพทย์ในทุกฝ่าย ทุกคนพยายามอย่างเต็มที่ในการหยุดเชื้อ มีการปิดให้บริการ กักตัวผู้ที่ใกล้ชิดผู้ติดเชื้อและคนที่เข้าข่ายกลุ่มเสี่ยง ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และดูแลรักษาผู้ติดเชื้ออย่างดีที่สุด
“เราอยู่ท้ายไม่ได้ เราต้องเป็นแนวหน้า”
พี่แหวนเล่าว่า จากวันแรกที่เป็นเหมือนการซ้อม ที่ทุกคนต้องศึกษาจากหนังสือ ตำรา มีการเทรน มีการเวิร์คช็อปเพื่อเตรียมความพร้อมในการรักษาคนไข้ในแต่ละเคส ตอนนี้ถึงเวลาลงสนามจริง ที่นอกจากจะต้องใช้ความรู้ที่ศึกษามาทั้งหมดในการรักษาคนไข้แล้วยังต้องพร้อมที่จะศึกษาหาความรู้จากสถานการณ์จริงอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญที่สุดคือ “ใช้ความรู้ สร้างความมั่นใจ”
อีกทั้งทางโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ยังมีการส่งบุคคลากรทางการแพทย์ที่มีความรู้ความสามารถไปยังโรงพยาบาลต่างๆเพื่อเป็นแนวหน้าในการรักษาและป้องกันโควิด-19 อีกด้วย
“ทุกคนรู้ว่าหน้าที่คืออะไร ต้องรับผิดชอบผู้ป่วย ตัวเอง และครอบครัว”
สิ่งที่พี่แหวนภูมิใจในทีมบุคลากรทางการแพทย์โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติมากที่สุด ก็คือการที่ทุกคนรู้โดยที่ไม่ต้องอธิบายหรือบังคับอะไรกัน เข้าใจหน้าที่และรับผิดชอบในส่วนของตัวเองได้อย่างดีเยี่ยม ทุกคนยินดีที่จะช่วยเหลือกัน หัวหน้างานของแต่ละฝ่ายรู้และเข้าใจทำให้สามารถเพิ่มพลังให้ลูกทีมในแต่ละฝ่ายได้อย่างดีเยี่ยม
บทสรุป
ทุกคนคงได้ทราบกันถึงกระบวนการเตรียมตัว การทำงาน และการรับมือต่อวิกฤตการณ์โควิด-19 แล้ว สิ่งที่เห็นชัดเจนมากที่สุดในกระบวนการทำงานเหล่านี้ ก็คือ การทำงานเป็นทีมของบุคลากรทุกคนในโรงพยาบาล ทุกคนมีใจที่จะช่วยเหลือกัน ไม่เกี่ยงกันทำงาน พยายามเติมเต็มทีม เติมเต็มกันและกันอย่างสุดความสามารถ
สิ่งที่เพิ่มระดับความยากให้กับงานตรงนี้ ก็คือ โรคโควิดเป็นโรคที่พัฒนาตัวเองอยู่เสมอ ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ทุกคน จำเป็นต้องศึกษาหาข้อมูลให้ทันกับการพัฒนาตัวเองของโรคเช่นกัน
“พวกเราจะผ่านมันไปด้วยกัน”
จากที่ได้คุยกับพี่แหวน คงแสดงให้ทุกคนได้เห็นถึงการ ใช้หัวใจทำงาน ของเหล่าบุคลากรทางการแพทย์ทุกคน ความกล้าหาญในการก้าวมาเป็นด่านหน้าที่จะต่อสู้ รักษา และป้องกันทุกคนจากโรคโควิด-19 และ ยังเห็นถึงความพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะสร้างความมั่นใจและเชื่อใจให้กับเราทุกคน
ติดตามรับชมเรื่องราว เบื้องหลังวิกฤติและการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ในการรับมือกับสถานการณ์โควิด ได้กับรายการ Unmask Story เรื่องเล่าหลังแมสก์ ของ บุคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ
ใช้หัวใจทำงาน | โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ
หรือ จะเลือกรับฟังข้อมูลเพิ่มเติมในรูปแบบของ Podcast:
ติดตามชมรายการ UNMASK STORY
กับ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ
ได้ทุกวันเสาร์ เวลา 20:00 น.
ทาง Facebook เพจ @มนุษย์เงินเดือนพันธุ์ใหม่
และ ช่องทาง Social Media ของ The Practical