ไม่อนุญาตและไม่อนุมัติ ให้ลาพักร้อน หัวหน้าสามารถทำได้ด้วยเหรอ? แล้วเป็นแบบนี้ เราจะมีสิทธิ์ลาพักร้อนไปทำไม ในเมื่อขอลาพักร้อนไปหัวหน้าก็ไม่อนุมัติอยู่ดี
เรื่องของลาพักร้อน มีหลากหลายกรณีที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิด ทั้งในส่วนของพนักงาน และ ในส่วนของนายจ้าง หรือ บริษัท สำหรับในเรื่องประเด็นของการลาพักร้อน เพื่อให้เข้าใจในเรื่องนี้มากขึ้น เราลองมาดูตัวอย่างเรื่องราวของน้องท่านนึง ที่ได้สอบถามผ่านทาง Inbox ของแฟนเพจ มนุษย์เงินเดือนพันธุ์ใหม่ กัน
หนูอยากทราบว่าทำไมหนูใช้สิทธิ์ลาพักร้อนไม่ได้? ทั้งๆ กฎของบริษัทก็ระบุเอาไว้ว่าพนักงานในตำแหน่งนี้มีสิทธิ์ลาพักร้อน ได้ ไม่เกิน 15 วัน ต่อปี หนูก็เป็นพนักงานบริษัทคนนึงที่ต้องการจะใช้สิทธิ์ในการลาพักร้อน และต้องการลาพักร้อน 1 อาทิตย์ เพื่อไปทำธุระ และพาครอบครัวไปเที่ยว
หลังจากทำเรื่องขออนุญาติหัวหน้าไป ปรากฏว่าหัวหน้าไม่อนุมัติ แบบนี้ไม่ยุติธรรมเลย จะลาพักร้อนบ้าง ก็ไม่อนุมัติ และ หากไม่ลาพักร้อนในช่วงที่เหลือของปีนี้ ก็จะโดนตัดสิทธิ์ลาพักร้อนไปซะอีก แล้วแบบเราจะมีสิทธิ์ให้พนักงานลาพักร้อนไปเพื่ออะไร
ไม่อนุญาตและไม่อนุมัติ ให้ลาพักร้อน หัวหน้าสามารถทำได้ด้วยเหรอ? เรื่องนี้ สรุปว่าเป็นอย่างไร?
ในเรื่องวันลาพักร้อน เป็นเรื่องที่พนักงานหลายคนยังมีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เช่น เข้าใจว่าการลาพักร้อนนั้นเป็นสิทธิของพนักงานที่จะลาเมื่อไหร่ก็ได้ จะลาติดต่อกันแบบรวดเดียวจบก็ได้ โดยนายจ้างไม่มีสิทธิปฏิเสธ ในทางกลับกัน ฝั่งบริษัท
หรือ นายจ้างก็เช่นกัน มีความเข้าใจผิดว่า การลาพักร้อนเป็นสวัสดิการที่บริษัทมีให้แก่พนักงาน ซึ่งบริษัทจะให้หรือไม่ให้กับพนักงานก็ได้เพราะเป็นสิทธิของบริษัท
เพื่อตัดปัญหาในเรื่องความสับสนและเข้าใจผิด ดังนั้นเรามาทำความเข้าใจในเรื่องสิทธิการลาพักร้อนในแบบที่ถูกต้องกันดีกว่า
ในทางกฎหมายแรงงาน จะไม่มีคำว่า “ลาพักร้อน” เพราะมันไม่ใช่วันลา แต่จะเรียกว่า “วันหยุดพักผ่อนประจำปี” โดยวันหยุดในทางกฎหมายแรงงานได้มี การกำหนดเอาไว้ 3 ประเภท ดังต่อไปนี้
วันหยุดประจำสัปดาห์ :
อ้างอิงมาตรา 28 ระบุเอาไว้ว่า ให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างมีวันหยุดประจำสัปดาห์ สัปดาห์หนึ่งไม่น้อยกว่า 1 วัน โดยวันหยุดประจำสัปดาห์ต้องมีระยะห่างกันไม่เกินหกวัน
วันหยุดประเพณี (วันหยุดนักขัตฤกษ์) :
อ้างอิงมาตรา 29 ระบุเอาไว้ว่า ให้นายจ้างประกาศกำหนดวันหยุดตามประเพณีให้ลูกจ้างทราบ เป็นการล่วงหน้า ปีหนึ่งไม่น้อยกว่า 13 วัน โดยรวมวันแรงงานแห่งชาติตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ให้นายจ้างพิจารณากำหนดวันหยุดตามประเพณีจากวันหยุดราชการประจำปี วันหยุดทางศาสนาหรือขนบธรรมเนียมประเพณีแห่งท้องถิ่น
วันหยุดพักผ่อนประจำปี (หรือ ที่เราเรียกว่า วันลาพักร้อน) :
อ้างอิงมาตรา 30 ระบุเอาไว้ว่า ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันมาแล้วครบหนึ่งปี มีสิทธิ์หยุดพักผ่อนประจำปีได้ ปีหนึ่งไม่น้อยกว่า 6 วันทำงาน โดยให้นายจ้างเป็นผู้กำหนดวันหยุดดังกล่าวให้แก่ลูกจ้างล่วงหน้า หรือกำหนดให้ตามที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกัน และ ในปีต่อมานายจ้างอาจกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่ลูกจ้างมากกว่า 6 วัน ทำงานก็ได้ หรือ นายจ้างและลูกจ้างอาจตกลงกันล่วงหน้าให้สะสมและเลื่อนวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ยังมิได้หยุดในปีนั้น รวมเข้ากับปีต่อๆไปได้ สำหรับลูกจ้างซึ่งทำงานยังไม่ครบหนึ่งปี นายจ้างอาจกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่ลูกจ้างโดยคำนวณให้ตามส่วนก็ได้
ดังนั้น วันหยุดทั้ง 3 กรณี ที่ว่ามานั้น ตามกฎหมายแรงงาน เขากำหนดให้นายจ้างเป็นผู้กำหนดหรือจัดให้ลูกจ้างได้หยุด เพราะเป็นสิทธิของลูกจ้างที่นายจ้างจะต้องจัดให้ตามกฎหมาย
แต่ทำไมกรณีนี้ น้องเขาขอลาหยุด ทำถูกต้องตามขั้นตอนทุกประการ แต่ทำไมหัวหน้าไม่อนุมัติ?
อย่างที่เราก็ทราบกันแล้วว่า วันหยุดพักผ่อนประจำปี หรือพักร้อน เป็นสิทธิหยุดงานที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานบังคับให้นายจ้างจะต้องจัดให้ลูกจ้างได้หยุด หรือหยุดตามที่นายจ้างตกลงกับลูกจ้าง
ซึ่งในกรณีของน้องคนเดิมของเรา เขามีวันหยุด 15 วันต่อปี สมมุติว่าตลอดทั้งปี น้องเขาทำงานไปโดยยังไม่เคยขอลาพักร้อนเลย จึงอยากจะขอลาในช่วงปลายปี สัก 7 วันรวดเดียวเลย (ขอลาแค่ครึ่งเดียว) ที่เหลือ น้องเขาคงไม่ได้ใช้ ก็เลยทำใจต้องโดนตัดทิ้งไป เพราะตามระเบียบของบริษัทบอกไว้ว่าวันลาพักร้อนเมื่อไม่ได้ใช้ ก็จะถูกตัดทิ้งไป ไม่มีการสะสมวันลาพักร้อน
นั่นจึงเป็นเหตุที่น้องเขาโกรธ ที่หัวหน้าไม่อนุมัติ หรือ ไม่อนุญาตให้ลาพักร้อน ทั้งๆ ที่จะหมดปีแล้ว ยังไม่ให้เขาลาอีก ทำให้น้องเขารู้สึกว่า เหมือนโดนเอาเปรียบ ไม่ให้ลา ทำให้สิทธิลาพักร้อนของน้องเขาในปีนี้หมดไป
แต่ในมุมของบริษัท หรือ หัวหน้า การที่พนักงานลาพักร้อนนานๆ ก็อาจจะกังวล หรือ กลัวว่างานจะสะดุด หรือ มีผลกระทบได้เช่นกัน เช่น หากพนักงานในแผนกใดแผนกนึง พร้อมใจกันลาหยุด ลาพักร้อนพร้อมๆ กัน เป็นระยะเวลา 6-7 วัน บริษัทจะเป็นอย่างไร?
คงจะต้องมีผลกระทบต่อการทำงานของบริษัทอย่างแน่นอน นั่นจึงอาจจะเป็นสาเหตุที่ว่า น้องเขาซึ่งขอลาพักร้อนยาวๆ 7 วัน ถึงไม่ได้รับการอนุมัติจากหัวหน้า ด้วยเหตุนี้เอง จึงมีหลายๆ บริษัท ได้กำหนดเอาไว้ในระเบียบว่า ไม่ให้พนักงานลาติดกันยาวเกิน 3 หรือ 4 วัน
แต่อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่า น้องเขาจะไม่ได้ลาพักร้อนก็จริง (เพราะเจ้านายไม่อนุมัติ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผล หรือ สาเหตุใดก็ตาม) แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าน้องเขาจะ สละสิทธิวันลาพักร้อน
ทางบริษัทจะต้องจัดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้กับน้องเขา (พนักงาน) โดย หัวหน้า หากเห็นแล้วว่าลูกน้องของตน ไม่ได้ลาพักร้อนเลย และตอนนี้ก็จะหมดปีแล้ว ควรหาข้อตกลงกับพนักงาน โดยทำตารางการหยุดพักร้อนสำหรับน้องเขา กำหนดวันหยุดตามสิทธิที่เขามีอยู่ในปีนี้คือ 15 วัน หรือ หากไม่อยากให้พนักงานลาพักร้อนนานจนเกินไป ก็ควรหาทางออกร่วมกับพนักงาน ด้วยการยกวันลาที่เหลือ ยกยอดไปปีหน้าแทนก็ได้
แล้วถ้าพนักงาน เขาดันไม่อยากลาหยุดเพื่อพักร้อนเอง จะทำอย่างไร?
กรณีแบบนี้ ก็เป็นไปได้ เพราะมีพนักงานจำนวนมาก ที่อาจจะบ้าพลัง บ้างาน ทำแต่งานจนไม่อยากลาหยุด เพื่อป้องกันปัญหาที่จะตามมา หัวหน้าต้องให้พนักงานที่ไม่อยากลาหยุดพักร้อนทำหนังสือแจ้งมาที่หัวหน้า ว่ามีความประสงค์จะไม่ใช้สิทธิลาพักร้อนที่เหลือในปีนี้ แล้วพนักงานก็เซ็นชื่อไว้เป็นหลักฐาน
หากทำแบบนี้แล้ว พนักงานจะไม่สามารถมาเรียกร้องให้บริษัทจ่ายค่าวันหยุดพักร้อนได้ และ บริษัทก็ไม่ต้องจ่ายค่าวันหยุดพักร้อนให้กับพนักงาน เพราะเป็นไปตามกฏหมายแรงงานมาตรา 30 คือ บริษัทจัดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แล้ว แต่พนักงานไม่ยอมใช้สิทธิเอง
แต่ถ้าบริษัทและพนักงานไม่ได้ทำตามกระบวนการข้างต้น พนักงานเขาก็สามารถเรียกร้องให้บริษัทจ่ายค่าวันหยุดพักร้อนที่พนักงานไม่ได้ลาได้ สรุปว่า บริษัทก็จะต้องจ่ายค่าวันหยุดพักร้อนให้กับพนักงาน
บทสรุป
ไม่อนุญาตและไม่อนุมัติ ให้ลาพักร้อน หัวหน้าสามารถทำได้ด้วยเหรอ? ประเด็นนี้เราคงได้คำตอบกันแล้ว
ในเรื่องของวันหยุดพักผ่อนประจำปี หรือพักร้อน เป็นสิทธิหยุดงานที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานบังคับให้นายจ้างจะต้องจัดให้ลูกจ้างได้หยุด หรือหยุดตามที่นายจ้างตกลงกับลูกจ้าง
ถ้าลูกจ้างขอหยุดแล้ว แต่นายจ้างไม่ตกลงหรือไม่อนุมัติ นายจ้างก็ต้องอนุญาตให้สละสมไปหยุดในปีถัดไป หรือยินยอมจ่ายเป็นค่าจ้างให้ลูกจ้าง ถ้าไม่จัดให้หยุดก็มีโทษทางอาญา และต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดเสมือนให้ลูกจ้างมาทำงานในวันหยุด
ดังนั้น ก่อนที่พนักงานจะใช้สิทธิลาพักร้อน ก็ควรศึกษาระเบียบข้อบังคับที่บริษัทเขาได้กำหนดไว้ให้เข้าใจเสียก่อน ถึงแม้ว่าการลาเป็นสิทธิของพนักงาน แต่การใช้สิทธิดังกล่าวจะต้องอยู่ภายใต้ระเบียบว่าด้วยการลาของบริษัทด้วย
ซึ่งหากพนักงานไม่ปฏิบัติตามระเบียบของบริษัท หัวหน้าก็มีสิทธิที่จะไม่อนุมัติการลาพักร้อนได้เช่นกัน และหากพนักงานทราบว่าหัวหน้าไม่อนุมัติให้ลา การที่พนักงานหยุดงานเพื่อลาพักร้อนเอาเอง ก็ถือว่าเป็นการละทิ้งหน้าที่ ซึ่งบริษัทหรือหัวหน้าสามารถเอาผิดและลงโทษได้
ขอขอบคุณข้อมูลจาก กระทรวงยุติธรรม
บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวกับกฏหมายแรงงานสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ :
ลูกจ้างจะไม่ได้รับเงินชดเชย อันเนื่องมาจากการเลิกจ้าง ในกรณีใดบ้าง?
ถูกเลิกจ้าง และ ให้ออกจากงานแบบกระทันหัน ต้องทำอย่างไรดี?
เรื่องสิทธิประโยชน์จากการว่างงาน (กองทุนประกันสังคม)