เราจะตัดสินใจเปลี่ยนงาน ด้วยเงื่อนไขอะไร? ในบทความนี้ จะขอนำเสนอไอเดีย 8 วิธี ในการประเมินงานใหม่ ในการเลือกว่าเราควรจะย้ายงานไหม?
ในช่วงชีวิตการทำงานของคนเรา มันก็ต้องมีวันที่เราอาจจะต้องคิดหนักบ้าง โดยเฉพาะวันที่เราจำเป็นต้องเลือกทางใด ทางนึง ระหว่างอยู่ต่อ หรือ ไปเริ่มต้นกับบริษัทใหม่ดี?
หลายคนพอต้องตกอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ มักจะคิดไม่ตก ว่าจะเลือกเดินทางไหนดี?
แน่นอน เพราะการตัดสินใจในเรื่องการเปลี่ยนงาน มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย หากเราได้ทำงานกับที่ใดที่นึง มาเป็นระยะเวลานานระดับนึง วันนึงเกิดมีบริษัทใหม่ ติดต่อเข้ามา และอยากให้เราไปร่วมงานด้วย เราจะตัดสินใจอย่างไรดี?
มันคงเป็นเรื่องง่าย และตัดสินใจได้ไม่ยาก หากเรากำลังเบื่องานที่ทำอยู่ หรือ เบื่อคนในที่ทำงานปัจจุบันของเราอยู่แล้ว เรียกได้ว่า พร้อมลาออก และไปเริ่มงานที่ใหม่ได้ทันที
แต่ถ้างานใหม่ที่เข้ามา ในวันที่เราเองก็ไม่ได้อยากเปลี่ยนงานล่ะ เราจะทำอย่างไร?
หากเพื่อนร่วมงานที่นี่ ก็ดีกับเรามาก เจ้านายเขาก็ให้การสนับสนุนเราเป็นอย่างดี เราควรตัดสินใจอย่างไรดี?
หากทำงานที่นี่ ซึ่งเป็นงานที่เราก็โอเคอยู่แล้ว การไปเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ มันจะเสี่ยงไปไหม?
แล้วที่ใหม่ เราจะได้เจอเพื่อนร่วมงานดีๆ ไหม? เราจะได้ทำงานกับเจ้านายที่พร้อมที่จะสนับสนุนเราหรือเปล่า?
แล้วถ้าเราตัดสินใจลาออก เพื่อนร่วมงานที่นี่หรือเจ้านายคนปัจุบัน พวกเขาจะคิดอย่างไรกับเรา เขาจะโกรธและไม่พอใจเราไหม?
ความรู้สึก และ ความคิดแบบนี้ เกิดขึ้นได้เสมอ ในยามที่เราเกิดความลังเล หรือเกิดความไม่มั่นใจ และการที่เรายิ่งคิด ยิ่งเอาความรู้สึกเป็นตัวติดสิน โอกาสที่เราอาจจะตัดสินใจผิดพลาดก็สามารถเกิดขึ้นได้เช่นกัน
“รู้อย่างงี้ ไม่น่าตัดสินใจอยู่ต่อเลย หรือ ถ้ารู้แต่แรกว่าไม่ดี ก็ไม่น่าย้ายมาทำงานที่นี่เลย”
แล้วเราควรทำอย่างไร ถ้าไม่อยากตกอยู่ในสถานการณ์แบบนี้?
เรื่องของการตัดสินใจ หากคิดหลายรอบแล้วยังตัดสินใจไม่ได้ ก็คงต้องตั้งเงื่อนไข หรือ หลักเกณฑ์ขึ้นมา เพื่อเป็นหลักการในการที่จะใช้ประเมิน เพื่อหาคำตอบว่า “เราจะอยู่ที่เดิมต่อ หรือ จะย้ายไปทำงานที่ใหม่ดี”
ดังนั้นในบทความนี้ เราจะมากำหนดสถานการณ์จำลองกันว่า หากเราทำงานที่ใดที่นึงมาสักพักแล้ว ปรากฏว่ามีบริษัทใหม่ ติดต่อและนำเสนองานใหม่และตำแหน่งที่น่าสนใจมาให้เรา พร้อม package และ เขาให้เวลาเราประมาณ 1 สัปดาห์ในการตัดสินใจ เราจะเลือกทางไหนดี?
ไม่ว่าบริษัทใหม่ที่เขาติดต่อมาจะดูใหญ่โตแค่ไหน? หรือมีชื่อเสียงมากมาย หรือ ตำแหน่งที่เสนอมานั้นก็ดูน่าทำมาก ก็อย่าเพิ่งด่วนตัดสินใจ ของให้ใช้ เกณฑ์และเงื่อนไขดังต่อไปนี้ ในการประเมินโอกาส และความเสี่ยง ของงานที่เขานำเสนอมาก่อน เพื่อจะได้มั่นใจว่าเราได้ตัดสินใจจากข้อมูลตรงหน้า หรือ สิ่งที่ได้เห็นจริงๆ ไม่ใช่ใช้อารมณ์ในการตัดสินใจ
8 วิธี ในการประเมินงานใหม่ ก่อนตัดสินใจ
1. เช็คข้อมูลของบริษัทใหม่
อย่าเพียงแค่ฟังข้อมูลว่าบริษัทนี้ดี หรือ เป็นที่ที่มีแต่คนอยากทำงาน จากแหล่งข้อมูลเพียงแหล่งเดียว แน่นอน คนที่เขาติดต่อมาหาเรา ไม่ว่าจะเป็นจากบริษัทใหม่โดยตรง หรือ จาก head hunter หรือ recruiter เขาย่อมต้องบอกว่าที่นี่ดีแน่นอน เพราะเขาก็อยากปิดจ๊อบ ให้ได้เราไปทำงานด้วย
อย่างเพิ่งด่วนเชื่อไปซะก่อน เราต้องจำลองตัวเองเป็นนักสืบไซเบอร์ ลอง search หาข้อมูลจากโลกออนไลน์ว่ามีไหม หรือ มีใคร ที่พูดถึงบริษัทนี้ หรือ องค์กรนี้ ในทางลบบ้าง? (เนื่องจากทางที่ดี คงได้ฟัง คนที่เขาติดต่อมา โม้ให้เราฟังจนเคลิ้มไปแล้ว) หรือ สอบถามข้อมูลเกี่ยวกับองค์กรนี้จากเพื่อนๆ รอบๆ ตัวเรา
ทำไมเราต้องหาข้อมูลด้านลบ? ก็เพื่อนำมาใช้ในการประเมินความเสี่ยง เราคงไม่อยากรู้สึกแย่ หากต้องเข้าไปร่วมงานกับองค์กรที่กำลังมีปัญหา เช่น มีคดีความฉ้อโกง หรือ มีปัญหาเรื่องข่าวไม่ดี เป็นต้น
2. เช็คข้อมูลของตำแหน่งใหม่
อย่าเพิ่งหลงดีใจว่าตำแหน่งงานนี้เหมาะกับเราจริงๆ เราต้องทำการ research อีกสักหน่อย ด้วยการหาข้อมูลเพิ่มเติมว่า ทำไมบริษัทนี้ ถึงต้องการคนมาทำในตำแหน่งที่ว่านี้?
หากเป็นตำแหน่งใหม่ ใสกิ๊ก เพราะบริษัทกำลังจะขยายทีม บริษัทกำลังเติบโต ก็โอเคไป แต่ หากเป็นตำแหน่งที่ไปทดแทนคนเก่าที่ลาออกไป ก็ต้องเช็คสักหน่อย ว่าคนเก่าที่ออกไป ออกเพราะได้งานใหม่ที่ดีกว่า หรือ ออกเพราะโดนไล่ออก
เพราะ บางบริษัท เขาไล่พนักงานในบางตำแหน่งออกเป็นว่าเล่น เพราะมองแต่ผลงานเพียงอย่างเดียว บริษัทเหล่านี้จึงมักนำเสนอ package ที่เย้ายวนใจให้คนไปร่วมงานด้วย เรื่องนี้ก็ต้องระวัง เพราะคงไม่มีใครอยากเปลี่ยนงานไปแล้วโดนเด้งภายในไม่กี่เดือนหลังจากนั้น อย่างแน่นอน
ทำไมเราต้องหาข้อมูลของตำแหน่งใหม่? ก็เพื่อมาประเมินดูว่า ระดับความเสี่ยงของตำแหน่งนี้เป็นอย่างไร บริษัทคาดหวัง และ มีมุมมองอย่างไรกับตำแหน่งนี้ รวมไปถึงโอกาสและความก้าวหน้าในลำดับต่อไปอีกด้วย
3. เช็คข้อมูลของเจ้านายใหม่
เขามีการวิจัยกันมาเยอะแล้วว่า “คนจะเปลี่ยนงานก็เพราะเจ้านายนี่แหละ” ดังนั้นหากคิดจะเปลี่ยนงาน เราก็ต้องหาข้อมูลเพิ่มสักหน่อยว่า เจ้านาย หรือ หัวหน้าในอนาคตของเราเป็นคนแบบไหน? เราก็สามารถประเมินได้จากช่วงที่ได้มีการพูดคุยกันตอนสัมภาษณ์ ข่าวดีก็คือ หากเขาไม่พอใจเรา เขาก็คงไม่รับเราแน่ๆ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าหลังจากที่เราไปทำงานกับเขาแล้ว เราจะรอดปลอดภัยกับตำแหน่งใหม่นี้ได้
ลองทำตัวเป็นนักสืบ เสาะหาข้อมูลจากคนใกล้ตัว เช่น เพื่อนร่วมสถาบัน (บางที่เขาอาจจะเคยทำงานที่นี่มาก่อน และ มีข้อมูลให้เราบ้าง) คนในวงการ เช่นลูกค้า คู่ค้า ที่บางทีอาจจะรู้จัก หรือ ในโลกออนไลน์ เผื่อว่าจะเจอข้อมูลอะไรที่น่าสนใจ
ทำไมเราต้องหาข้อมูลของเจ้านายใหม่? ก็เพื่อจะได้รู้สไตล์การทำงานของเจ้านายใหม่ หากเราตัดสินใจเลือกไปทำงานที่นี่ จะได้ปรับตัวถูก เพราะหากเข้ากันไม่ได้ หรือ ทัศนคติในการทำงานไม่ตรงกัน เราก็อาจจะย้ายไปแป๊กอยู่กับที่ทำงานใหม่ก็เป็นได้
4. เช็คข้อมูลของเงินเดือน
ความก้าวหน้าในหน้าที่และการงานสำคัญมากก็จริง แต่หากได้เงินเดือนไม่เหมาะสมกับงานที่ต้องไปทำ หรือ เงินเดือนที่เขาเสนอมาอาจจะน้อยกว่างานที่ทำอยู่ ก็อาจจะไม่คุ้มที่จะเสี่ยงไป อย่าลืมว่า เราทุกคนก็ล้วนมีต้นทุน มีภาระ การเปลี่ยนงาน ก็ต้องดูเรื่องความก้าวหน้าในเรื่องรายได้ด้วย
หากเป็นการเปลี่ยนสายงาน เพราะสายงานเดิมมันตันแล้ว หรืออยู่ในธุรกิจที่สาละวันเตี้ยลง เพื่อให้ได้โอกาสที่ไปได้ไกลกว่าเดิม แต่ต้องแลกมาด้วยเงินเดือนใหม่ที่ได้ ไม่ได้แตกต่างจากเดิมมากนัก อันนี้ ก็อาจจะถือได้ว่าเป็นการตัดสินใจเพื่อมองไปในอนาคตที่ไปไกลกว่าเดิมก็ได้
ทำไมเราต้องหาข้อมูลเงินเดือนของตำแหน่งใหม่? ก็เพื่อประกอบการตัดสินใจ หากได้ไม่แตกต่างกัน แต่ต้องไปทำงานหนัก หรือ มากกว่าที่ทำอยู่ในปัจจุบัน ก็คงไม่คุ้มที่จะย้ายไป วิธีการประเมินง่ายๆ ก็อาจจะดูจากอัตราการขึ้นเงินเดือนของที่ปัจจุบันของเราว่าเฉลี่ยปีละกี่ % และ ที่ใหม่เสนอมาขึ้นให้จากเดิมของเรากี่ %
เช่น งานใหม่เสนอมาให้ 20% สูงกว่าเงินเดือนปัจจุบัน และ เงินเดือนของที่ทำงานปัจจุบันเราขึ้นปีละ 5% ลองคิดดูสิว่า ถ้าให้ได้เงินเดือนตามที่บริษัทใหม่เสนอมา เราต้องทำงานที่เดิมอีกกี่ปี …. คุ้มไหมกับเวลาที่เสียไป?
5. เช็คข้อมูลของผลประโยชน์ต่างๆ ที่จะได้หากย้ายงาน
เราจะดูแค่เงินเดือนที่เขาเสนอมาอย่างเดียว ก็ไม่ได้ ต้องดูสวัสดิการและผลประโยชน์ต่างๆ ที่เขานำเสนอมาให้เราด้วย
เพราะมี บางบริษัทเขาเสนอเงินเดือนให้เยอะมาก แต่พบว่าสวัสดิการที่มีให้พนักงานแทบไม่มีอะไรให้เลย มีแต่ให้แค่ตามกฏหมายกำหนด อีกกรณีนึง บางบริษัท มีสวัสดิการที่ดีมาก แต่เสนอเงินเดือนให้เราไม่ได้สูงมาก ซึ่งตรงประเด็นนี้ คนที่เน้นสวัสดิการ ก็อาจจะเลือกบริษัทที่มีสวัสดิการดีๆ ก็ไม่ได้ผิดอะไร
สวัสดิการและผลประโยชน์อื่นๆ ที่ต้องพิจารณา หลักๆ เช่น เรื่องกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (ยิ่งเปิดโอกาสให้พนักงานหักได้เยอะ และ บริษัทสบทบเยอะ ยิ่งดี) เรื่องประกันสุขภาพ หรือ อุบัติเหตุ (ครอบคลุมแค่ไหน รวมสมาชิกในครอบครัวไหม? อย่าลืมว่าหากมีตรงนี้ เราก็ไม่ต้องออกเงินเองในยามเจ็บป่วย) เรื่องวันลาพักร้อน (มีเยอะก็ดี) หรือ เรื่องอื่นๆ (ค่ารถ ค่าเดินทาง ค่าเช่าบ้าน ค่าโทรศัพท์ หรือ อื่นๆ)
6. เช็คข้อมูลของค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น หากมีการย้ายงาน
การย้ายงานไม่ใช่ไม่มีค่าใช้จ่าย หลายๆ กรณีเป็นการย้ายงานข้ามจังหวัด หรือ คนละโซนกับที่พักอาศัยในปัจจุบันของเราเลย ซึ่งในส่วนนี้ มันมีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น อาทิเช่น
ย้ายงานไปแล้ว ต้องเดินทางขับรถไกลกว่าเดิม เราก็ต้องพิจารณา ค่าใช้จ่ายในเรื่องค่าน้ำมัน ทางด่วน ด้วย หากบริษัทใหม่ ไม่ได้ออกให้ เราก็ต้องรับผิดชอบไปเต็มๆ หรือ ต้องไปเช่าบ้าน หรือ เช่าคอนโดอยู่
หรือ ตำแหน่งงานใหม่ ต้องอาศัยทักษะเพิ่มเติมบางอย่างที่จำเป็น เช่น ภาษา หรือ วิชาชีพเฉพาะด้าน ซึ่งบริษัทใหม่เขาไม่ได้มีการสนับสนุนตรงนี้ แต่เรามองว่าจำเป็นเพื่อความสำเร็จและความก้าวหน้า เราก็ต้องลงทุน
ทำไมเราต้องดูเรื่องค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น หากมีการย้ายงาน? เพราะหลายเคส เห็นเงินเดือนเยอะ เลยตัดสินใจเปลี่ยนงาน แต่ปรากฏว่า เงินไม่เหลือ เพราะหมดไปกับ ค่าใ้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเช่นค่าเดินทาง ค่ารถ ค่านำ้มันเป็นต้น ดังนั้น หากประเมินเรื่องนี้เอาไว้ก่อน จะได้ไม่พลาด
7. เป้าหมายชีวิตของเรา จะเป็นอย่างไร หากอยู่ต่อ หรือ ย้ายงานใหม่?
งานคือส่วนนึงของชีวิต ดังนั้นการทำงานที่เดิม หรือ จะย้ายไปทำงานที่ใหม่ ก็ควรเป็นการตัดสินใจที่เป็นส่วนนึงของเป้าหมายในชีวิตของเราด้วย
งานที่ทำ หรือ ที่จะไปทำ ใช้งานที่เป็นเป้าหมายของเราหรือเปล่า ใช่เส้นทางอาชีพ ที่เราอยากทำไหม หรือ อยากจะไปให้สุดๆ กับทางนี้ไหม? อย่ามองแค่รายได้ ให้มองไปให้ลึกและไกลกว่านั้น
ไม่ว่าจะเลือกอยู่ หรือ ไป เรามีความสุขในการตัดสินใจหรือเปล่า? ครอบครัวเราจะได้รับผลกระทบ จากการตัดสินใจของเราไหม? หากงานที่ต้องไปทำ มีผล หรือ มีโอกาสสร้างปัญหาให้ครอบครัวของเรา เช่น ต้องห่างไกลกัน ไม่มีเวลา เรามีวิธีการรับมือกับปัญหาที่จะเกิดไหม?
เพราะชีวิตของเรา ไม่ได้มีแค่เรื่องงานอย่างเดียว หากการย้าย หรือ อยู่ที่เดิม ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของเรา หรือ กระทบต้องคนในครอบครัว เราก็ต้องเลือกว่า คุ้มไหมที่จะทำ?
8. เป้าหมายทางการเงินของเราจะเป็นอย่างไร หากอยู่ต่อ หรือ ย้ายงานใหม่?
อีกไม่นานก็ต้องเกษียณ หรือ อีกไม่นานก็จะต้องออกมาทำธุรกิจของตนเอง เป้าหมายเรื่องการเงิน หรือ การลงทุนจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะการเปลี่ยนงาน ทำให้เรามีรายได้มากขึ้น
รายได้ของเราที่มากขึ้นจากการเปลี่ยนงาน (แต่หากรายจ่ายไม่ได้มากขึ้น) ก็จะช่วยให้เราสามารถนำเงินที่เพิ่มเติมไปลงทุน หรือไปออม ได้มากขึ้นเช่นกัน ส่งผลทำให้เป้าหมายทางการเงินของเราถึงได้ไวมากยิ่งขึ้นอีกด้วย และ ยิ่งบริษัทมีสวัสดิการดีๆ เช่น มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้อีก ยิ่งดีขึ้นไปใหญ่
ดังนั้น เรื่องเงินอย่างไรก็สำคัญ อย่าดูแค่เงินเดือนใหม่ที่ได้ ให้ดูว่าจะมีเงินเหลือเท่าไรด้วย เพื่อที่จะได้นำมาเพิ่มเติมในการลงทุนหรือการออม
บทสรุป
ทุกๆ การตัดสินใจ ไม่ว่าจะอยู่ต่อ หรือ ย้ายไปทำงานที่ใหม่ ก็มีความเสี่ยง หรือ มีผลลัพธ์ที่เกิดจากการตัดสินใจของเราตามมาเสมอ
ลองใช้ 8 วิธี ในการประเมินงานใหม่ ก่อนตัดสินใจดูนะครับ อย่างน้อยก็เป็นเงื่อนไขที่ช่วยคัดกรอง ทำให้เราสามารถเลือกตัดสินใจได้ตรงตามโจทย์ของชีวิตของเราเอง และ ยังช่วยลดการนำอารมณ์มาใช้ในการตัดสินใจได้อีกด้วย
ขอให้การตัดสินใจครั้งนี้ เป็นการตัดสินใจที่ดีที่สุดนะครับ
บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวกับ สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ :
Top 10 Skills of 2025 ทักษะสำคัญที่คนทำงานต้องมีก่อนปี 2025
เรากำลังเบื่องาน คือ สัญญาณบอกเหตุว่า เราจำเป็นต้องมองหาการเปลี่ยนแปลง