อยากเป็นคนที่มี Growth Mindset แต่ก็ไม่รู้ว่าจะ สร้างและพัฒนา Growth Mindset ให้กับตัวเองอย่างไร?
ถ้าในหัวมีแต่คิดในเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ขาดความเชื่อมั่น ความกลัว ที่จะทำผิดพลาด ส่งผลทำให้เราพยายามที่จะหลีกเลี่ยงงานอะไรก็ตาม ที่เราดูแล้วมันยาก หรือ งานที่เราไม่เคยทำ ทำให้เราเกิดอาการกลัว และกังวลล่วงหน้าไปก่อน อาการแบบนี้ เกิดจากการมี Fixed Mindset นั่นเอง
เราทุกคนล้วนมีทั้ง Fixed Mindset และ Growth Mindset ผสมกัน ขึ้นอยู่กับว่า Mindset แบบไหนเรามีมากกว่ากัน แล้วเรามีในเรื่องใด แต่ข่าวดีก็คือ ไม่ว่าเราจะมี Fixed Mindset มากแค่ไหน เราก็สามารถเปลี่ยนให้เป็น Growth Mindset ได้เสมอ เพราะ เรื่อง สร้างและพัฒนา Growth Mindset สำหรับคนทำงาน มันเป็นเรื่องที่พวกเราสามารถสร้างและพัฒนากันได้
ก่อนที่จะไปพูดถึงวิธีการสร้าง Growth Mindset อยากจะพาพวกเรา มาทำความเข้าใจความแตกต่างระหว่าง Fixed Mindset และ Growth Mindset เพิ่มเติมอีกสักเล็กน้อย ว่าประเด็นอะไรบ้าง
“เรื่องของระดับความพยายาม”
เมื่อต้องเจอกับงานยาก คนที่เป็น Fixed Mindset จะพยายามหลีกเลี่ยงที่จะไม่ทำ หรือ ถ้าหลีกเลี่ยงที่จะไม่ทำไม่ได้ คนพวกนี้ก็จะพยายามหาเพื่อนร่วมงานที่มีความสามารถมากกว่าตนในเรื่องนั้นๆ มาช่วยทำในส่วนที่ยากมากๆ และ ในส่วนของตนเองก็จะเลือกทำในส่วนที่ง่ายๆ หรือ ส่วนที่ไม่ต้องใช้ความพยายามมากมายแทน
ในขณะเดียวกัน คนที่เป็น Growth Mindset มีความเชื่อว่าผลลัพธ์ที่ดี ต้องมาจากการกระทำ คนกลุ่มนี้จึงให้ความสำคัญกับความพยายามสูงมาก เพราะเขาเชื่อว่า ถึงแม้วันนี้ยังไม่เก่ง หรือ ยังไม่ชำนาญในเรื่องอะไรก็ตาม แต่ถ้าหากพวกเขามีความตั้งใจ พยายามเรียนรู้ และฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง งานที่ว่ายาก ก็จะกลายเป็นเรื่องง่ายๆ ได้
“เรื่องของระดับความท้าทาย”
เมื่อต้องเจอกับงานที่ท้าทาย คนที่เป็น Fixed Mindset จะกลัวมากที่จะผิดพลาด ผลที่ตามมาก็คือ จะทำตัวหลบๆ หลีกๆ เพื่อที่จะไม่ต้องเป็นเป้าสายตา เพราะไม่อยากแสดงความรับผิดชอบกับงานประเภทนี้ คนที่เป็น Fixed Mindset จะชอบงานง่ายๆ งานซ้ำๆ และ งานที่เค้าคุ้นเคยมากกว่า
แต่หากเราต้องทำงานซ้ำๆ งานเดิมๆ เป็นสิบปี เราจะเบื่อไหม? แล้วเราคิดว่าเราจะมีโอกาสเติบโตไหม? ซึ่งแนวคิดของคนที่เป็น Growth Mindset เขาเชื่อว่างานที่ท้าทายคือโอกาสที่จะทำให้เขาเติบโต ทำให้ได้ทั้งทักษะความสามารถเพิ่มเติม และ ได้ประสบการณ์ควบคู่ไปด้วย
“เรื่องของการยอมรับความผิดพลาดและการวิพากษณ์วิจารณ์”
คนที่เป็น Fixed Mindset จะไม่ค่อยชอบความผิดพลาด เพราะพวกเขาเป็นพวกเสพติดความสมบูรณ์แบบทั้งๆ ที่ตนเองก็อาจจะไม่ได้สมบูรณ์แบบขนาดนั้น แต่เหตุที่เขาไม่ชอบความผิดพลาด เพราะเขาอาย และไม่ชอบการถูกวิพากษ์วิจารณ์จากคนรอบข้าง การถูกวิพากษ์วิจารณ์สำหรับคนที่เป็น Fixed Mindset จะมองว่าเป็นการหาเรื่องพวกเขา หรือ เป็นการจ้องจับผิด มากกว่าจะมองว่าเป็นการแนะนำ เพื่อนำไปสู่การปรับปรุง หรือ พัฒนาต่อไป
ในขณะที่คนที่เป็น Growth Mindset พวกเขาจะมองว่า ความผิดพลาดเป็นบทเรียน เพราะเป็นเรื่องที่ต้องเจออยู่แล้ว หากต้องลองลงมือทำอะไรใหม่ๆ สำหรับการถูกวิพากษ์วิจารณ์ พวกเขามองว่านี่คือคำแนะนำ ที่จะนำไปสู่การแก้ไข และ ปรับปรุงต่อไปในอนาคต
ดังนั้น หากเราจะเริ่มต้นด้วยการสร้าง Growth Mindset เราก็ต้องเพิ่มระดับของความพยายาม และ เริ่มทำงานที่ยากมากขึ้น หรือ งานที่ท้าทายมากขึ้นกว่าเดิม รวมไปถึงต้องเปิดใจยอมรับข้อผิดพลาด และ คำติชม เพื่อที่นำเราไปสู่การเติบโต และ ประสบความสำเร็จในอนาคต
แล้วเราจะเปลี่ยน Fixed Mindset เป็น Growth Mindset หรือ เราจะสามารถสร้างและพัฒนา Growth Mindset สำหรับคนทำงานได้อย่างไร?
คำถามนี้อาจจะดูเหมือนยาก แต่หากไม่ลองลงมือทำก็คงไม่มีทางเป็นไปได้ เราสามารถค่อยๆ เปลี่ยน ที่ละเล็ก ทีละน้อยได้ แต่ขอให้ทำอย่างต่อเนื่อง เดี๋ยว Mindset จากเดิมที่เคยเชื่อว่า อะไรก็เป็นไปไม่ได้ จะค่อยๆ เปลี่ยนไป และมองเห็นข่องทาง และโอกาสเอง โดยพวกเราสามารถเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงได้ ดังต่อไปนี้
1. “ยอมรับว่าไม่มีใครสมบูรณ์แบบ”
ทุกคนต่างก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียในตัวเองทั้งนั้น แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าข้อเสียที่เรามี จะเป็นข้อเสียที่แก้ไขไม่ได้ หรือ ข้อดีที่เรามีจะดีกว่าเดิมไม่ได้ เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ ที่เราต้องเปลี่ยนนิยามและความคิดของเราเสียใหม่
2. “อุปสรรค หรือ ปัญหาที่เข้ามา ทำให้เราเติบโต”
แทนที่จะหนีปัญหา หรือ โทษคนอื่นว่าเป็นต้นเหตุของปัญหา เราลองเปลี่ยนมุมมองกับเรื่องนี้กันใหม่ นี่คือ ความท้าทายที่เข้ามาคือบททดสอบศักยภาพและความสามารถของเรา หากเราสามารถผ่านไปได้ เราก็จะมีประสบการณ์มากขึ้น เชี่ยวชาญมากขึ้น และ อาจจะได้มีโอกาสเจอกับโอกาสใหม่ๆ หรือ งานใหม่ๆ ที่ดีกว่าเดิมก็ได้
3. “เป้าหมายที่ดี คือ เป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ เพื่อให้เราเติบโต”
การตั้งเป้าหมายแบบ Growth Mindset คือ การตั้งเป้าหมายที่ทำให้เราเกิดการแสวงหาความรู้ใหม่ๆ เพิ่มเติม โดยเป้าหมายที่ดี จะต้องทำให้เราได้ฝึกฝนทักษะใหม่ๆ บางอย่าง หรือ ทำให้เราได้ประสบการณ์ใหม่ๆ เพิ่มขึ้น และที่สำคัญเป้าหมายนี้ ต้องเป็นเป้าหมายที่ท้าทาย ที่เรา หรือ คนส่วนใหญ่อาจจะไม่เคยทำได้มาก่อน และหากทำได้ มันต้องพาเราไปอยู่ในจุดที่โดดเด่น และแตกต่างจากคนอื่นได้ด้วย
4. “หลีกเลี่ยง คำพูดเชิงลบที่มีต่อตนเองหรือต่อคนอื่น”
คำพูดลบๆ ที่ออกจากปากของเรา ไม่ว่าจะเป็นการพูดถึงตัวเราเองหรือการพูดถึงบุคคลอื่น ต่างก็มีจุดเริ่มต้น ที่มาจากการคิดลบของเราทั้งสิ้น และเมื่อไหร่ก็ตามที่เราคิดลบ พฤติกรรรมและการการะทำของเราก็จะเป็นลบด้วยเช่นกัน ดังนั้นเราจะต้องระมัดระวัง กลั่นกรองคำพูดของเรา ไม่ว่ากับตัวเราเอง หรือ กับคนอื่น ให้เป็นบวกเสมอ เพื่อหนีให้ห่างไกลจาก Fixed Mindset Mode ในความคิดของเรานั่นเอง
5. “ไม่จำเป็นต้องขอความเห็นหรือคำแนะนำ จากทุกคนในทุกๆ เรื่อง”
การที่เรามัวแต่ขอคำแนะนำจากหลายๆ คน ในหลายๆ เรื่องที่เราจะทำ ในที่สุดเราก็จะไม่เหลือความมั่นใจในตัวเอง กลายเป็นคนไม่กล้าตัดสินใจ หรือ หากต้องตัดสินใจก็จะต้องไปถามคนอื่นให้เขาช่วยตัดสินใจแทน เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน หากเรากำลังมีพฤติกรรมแบบนี้ ต้องลด ละ เลิก ซะบ้าง เพื่อหันกลับมาสร้างความเชื่อมั่นในตัวเอง และเชื่อถือในศักยภาพของตนเองให้ได้อีกครั้ง
6. “คำวิพากษ์วิจารณ์ คือ ของขวัญ”
หากเรามองอีกด้านนึง คนที่กล้าวิพากษ์วิจารณ์เราแบบซึ่งๆ หน้า ตรงไปตรงมา เขาอาจจะหวังดีกับเราและอยากให้เราปรับปรุงแก้ไขจริงๆ ก็ได้ (ไม่งั้นเขาจะยอมเสี่ยงพูดตรงๆ ต่อหน้าเราทำไม) ซึ่งต่างจากคนที่เอาเรื่องของเราไปพูดลับหลัง หรือ แค่เอาเรื่องของเราไปพูดนินทาสนุกปาก จากประสบการณ์พบว่า หลายๆ ครั้ง เราก็อาจจะได้แนวทางดีๆ ที่มาจากคำวิพากษ์วิจารณ์ของคนอื่นก็เป็นได้ ดังนั้นขอให้มองว่านี่คือของดี ที่คนอื่นหยิบยื่นมาให้เรา เพื่อนำไปปรับปรุง
7. “อย่าเรียนรู้แค่ความผิดพลาดของตนเอง จงเรียนรู้จากความผิดพลาดของคนอื่นด้วย”
การเรียนรู้จากทุกๆ เรื่องที่เราผิดพลาด เพื่อนำมาปรับปรุง วางแผนใหม่ สำหรับการลงมือทำในครั้งถัดไป ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะเป็นการช่วยให้เราได้ค้นพบวิธีการใหม่ๆ ที่อาจจะได้ผลที่ดีกว่าเดิม แต่จะดีกว่าไหม? หากเราได้เรียนรู้ และได้บทเรียนจากความผิดพลาดของคนอื่นมาด้วย จะยิ่งช่วยทำให้เราประหยัดเวลาในการลองผิดลองถูก เผลอๆ ด้วยแนวทางนี้จะช่วยให้เราเจอวิธีการที่ใช่ และประสบความสำเร็จได้ไวกว่าอีกด้วย
8. “ไม่เคยทำมาก่อน ไม่ได้หมายความว่าเราจะทำไม่ได้ ไม่มีความรู้มาก่อน ไม่ได้หมายความว่าเราจะรู้จริงในเรื่องนี้ไม่ได้”
การที่เราไม่มั่นใจ ไม่เคยทำมาก่อน นั่นเพราะเกิดจากเราแค่ยังไม่รู้ในเรื่องนั้นเท่านั้นเอง หากเราเรียนรู้ ด้วยความตั้งใจจริงๆ เราก็ย่อมทำได้อย่างแน่นอน ดังนั้นการตีตราว่าเราไม่รู้ เลยทำไม่ได้จึงเป็นการด่วนสรุปและตัดอนาคตของเราเร็วเกินไป (คิดแบบนี้ ก็เป็น Fixed Mindset) เปลี่ยนมุมมองซะใหม่นะครับ ทุกอย่างเราสามารถเรียนรู้ได้เสมอ
9. “ให้รางวัลตนเองกับทุกๆ ความพยายามและความคืบหน้าจากการลงมือทำ”
อย่าไปตั้งเป้าว่าเมื่อสำเร็จแล้ว หรือ ต้องได้ตามเป้าหมายแป๊ะๆ ถึงจะให้รางวัลกับตัวเราเอง เพราะการทำแบบนี้ อาจจะเป็นการสร้างความกดดัน เกิดความเครียดมากเกินความจำเป็นให้กับตัวเรา ส่งผลทำให้เราอาจจะเลิกล้มที่จะทำต่อไประหว่างทางได้ ดังนั้นเราควรจะมีความสุข และให้รางวัลกับทุกๆ ย่างก้าว ที่เราผ่านแต่ละด่านไปได้ ให้รางวัลเล็กๆ น้อยๆ ก็ได้ แต่ควรให้กับทุกๆ ความคืบหน้าที่มันเกิดขึ้น เพราะนี่คือ กำลังใจชั้นดี ที่จะทำให้เราเดินหน้าต่อไปได้
และทั้งหมดนี้ ก็เป็น 9 วิธี ในการสร้างและพัฒนา Growth Mindset สำหรับคนทำงาน
ซึ่งหลายข้อจริงๆ แล้วก็ไม่ได้ยากอย่างที่คิด แต่สิ่งที่ยากที่สุดก็คือ เราจะทำจริงหรือเปล่า และ จะตั้งใจทำได้นานแค่ไหน?
อย่าลืมนะครับ Mindset ที่ดีนั้นสร้างได้เสมอ ถ้าหากเราอยาก และ ตั้งใจที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองจริงๆ ทั้งนี้ไม่ใช่เพื่อใคร แต่เพื่อตัวเอง เพื่อโอกาสที่ดีขึ้น และ เพื่อที่จะได้มีทางเลือกที่ดีมากขึ้นในชีวิตนะครับ
ข้อมูลเพิ่มเติม :
เรื่องของ Growth Mindset และ Fixed Mindset มาจาก หนังสือ Mindset: The New Psychology of Success (2007) ผู้แต่งคือ Carol Dweck มี Version ที่เป็นภาษาไทยด้วย สามารถหาซื้อได้ตามร้านหนังสือชั้นนำครับ
บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวกับ Growth Mindset และ Fixed Mindset สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ :
Growth Mindset และ Fixed Mindset คือ อะไร? และมีผลต่อตัวเราอย่างไร?
Fixed Mindset ที่เป็นปัญหาและพบได้บ่อยในการทำงาน หรือ ในที่ทำงาน