
Akha Ama Coffee แบรนด์กาแฟเพื่อสังคม มาจากในพื้นที่บ้านเกิดที่เป็นครอบครัวชาวไทยภูเขาเผ่าอาข่า บ้านแม่จันใต้ จ.เชียงราย ได้รับรางวัลจากสภากาแฟโลกและรางวัลจากต่างประเทศหลายแห่ง
บริษัท กาแฟอาข่า อ่ามา จำกัด ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับกาแฟเพื่อสังคม ตั้งแต่ขั้นตอนปลูก คั่ว ชง จนถึงการเสิร์ฟกาแฟรสชาติดีเยี่ยมหอมกรุ่นให้คุณที่ร้านกาแฟของพวกเขาเอง หรือจะเป็นการส่งเมล็ดกาแฟเกรดดีให้คุณถึงบ้าน โดยเมล็ดกาแฟทุกเมล็ดผ่านการคั่วและการควบคุมคุณภาพมาอย่างดีเยี่ยมเพื่อให้การใช้จ่ายของลูกค้าทุกคนเป็นการใช้จ่ายที่คุ้มค่าที่สุด ที่สำคัญลูกค้าไม่ใช่แค่เพียงได้รับกาแฟรสชาติดีกลับไปเท่านั้น แต่ทุกคนยังได้ร่วมมีส่วนในการช่วยเหลือสังคมไปด้วยกันอีกด้วย
ในตอนนี้แอดมินจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับธุรกิจยอดนิยมที่ถูกพัฒนาให้กลายเป็นธุรกิจเพื่อสังคมอย่างการขายเมล็ดกาแฟ อย่างที่ทุกคนได้เห็นกันตามสื่อโซเชียลมีเดียร์และสถานที่ต่างๆที่เริ่มมีคาเฟ่หรือร้านกาแฟเปิดตัวแข่งกัน หากนับรวมกันโดยไม่แบ่งแบรนด์แล้ว จำนวนเกือบจะสูสีกับร้านสะดวกซื้อแล้วด้วยซ้ำ กาแฟอาข่า อ่ามา เป็นแบรนด์กาแฟเพื่อสังคมที่มี DNA ความต้องการช่วยเหลือสังคมเข้มข้นกว่ากาแฟคั่วเข้มในเลือดเสียอีก เราจะมาทำความรู้จักกาแฟแบรนด์นี้ผ่านบทสัมภาษณ์ของ คุณลี อายุ จือปา ผู้ก่อตั้งบริษัท กาแฟอาข่า อ่ามา จำกัดกัน
จุดเริ่มต้น
หากเราพูดถึงวิสาหกิจเพื่อสังคมตอนนี้หลายคนคงเคยได้ยินมาบ้างอยู่แล้ว เพราะตอนนี้วิสาหกิจเพื่อสังคมเติบโตกว่าแต่ก่อนอยู่มา ในตอนที่คุณลีเริ่มต้นทำธุรกิจวิสาหกิจเพื่อสังคมนั้นยังเป็นเพียงแค่รอยต่อที่ทุกคนยังสงสัยว่ามันคืออะไรกันแน่ เป็นมูลนิธิหรือเป็นองค์กรการกุศลหรือเปล่า? ดังนั้นจึงมีคนมากมายที่มีความเข้าใจไม่ถูกต้องและต้องล้มเหลวจากการพยายามทำวิสาหกิจเพื่อสังคม

“ความท้าทาย คือ จะช่วยสังคมอย่างไรให้ชัดเจน”
คุณลี เล่าว่า จุดแรกเริ่มของการเริ่มต้นทำวิสาหกิจเพื่อสังคม สิ่งที่หลายคนต้องตั้งเป็นโจทย์เอาไว้คือการช่วยเหลือสังคมอย่างไรให้ชัด จะสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างไรให้เกิดขึ้นจริง โดยที่เจ้าของธุรกิจหรือผู้ประกอบธุรกิจวิสาหกิจเพื่อสังคมจะต้องมีรายได้เข้ามาเพียงพอต่อการเลี้ยงองค์กรและตัวอย่างยั่งยืนด้วย ดังนั้นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องหรือการรักษาสมดุลระหว่างการช่วยเหลือสังคมกับการช่วยเหลือตัวเองที่ไม่ดีจึงทำให้เกิดความล้มเหลวในที่สุด
“การช่วยเหลือสังคมที่เป็น DNA ของตัวเองอยู่แล้ว”
คุณลี เดินสายให้ความช่วยเหลือสังคมตั้งแต่เรียนจบ มีการเข้าไปทำงานกับ Child’s Dream มูลนิธิเกื้อฝันเด็ก ซึ่งเป็นมูลนิธิที่เน้นเกี่ยวกับการดูแลผู้ลี้ภัยและเยาวชนตามชายแดน จึงเริ่มรู้สึกว่าตัวเองมีจังหวะชีวิตที่ดีและได้รับโอกาสในการทำงานทั้งทางความรู้และประสบการณ์พอสมควรแล้ว เมื่อลองมองดูสังคมรอบตัวชัดๆจึงได้เห็นว่าสังคมควรได้รับการช่วยเหลือและตัวคุณลีก็พร้อมให้การช่วยเหลือแล้ว
“ถ้าเราหยิบยื่นให้อย่างเดียว จะเป็นการช่วยเหลือที่ไม่ยั่งยืน”
เมื่ออยากให้การช่วยเหลือที่มอบให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีในระยะยาว ต้องมองหาโมเดลในการช่วยเหลือลักษณะที่สร้างความยั่งยืนและมั่นคง เพราะถ้าการช่วยเหลือของเราเป้นการมอบการช่วยเหลือให้ตามสิ่งที่สังคมขาดแต่ไม่สร้างโมเดลความยั่งยืนเอาไว้ การช่วยเหลือนั้นจะสร้างผลลัพธ์ในระยะสั้นและทำให้เราต้องมอบการช่วยเหลือให้อยู่ตลอด คุณลีจึงคิดโมเดลการพัฒนาภาพรวมสังคมโดยที่ต้องสามารถดูแลชีวิตตัวเองได้ด้วย
“ไม่ใช่แค่หาแนวร่วม แต่ต้องหาเป้าหมายร่วมด้วย”
หลังจากนั้นคุณลีจึงได้พบกับโมเดลของวิสาหกิจเพื่อสังคม ซึ่งคุณลีคิดได้จากการรักษาสมดุลชีวิตตัวเองกับการช่วยเหลือสังคมโดยที่ตัวเองต้องสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างยั่งยืนด้วย การทำวิสาหกิจเพื่อสังคมไม่ใช่สิ่งที่เราจะนั่งคิดแล้วลงมือทำคนเดียวได้ จำเป็นต้องมีทีมหรือแนวร่วมในการสร้างผลกระทบในเชิงของรายได้และแก้ปัญหาสังคมไปพร้อมๆกัน คุณลีจึงเข้าไปในชุมชนที่ตัวเองเกิดมาและร่วมกันกับคนในชุมชนมองหาปัญหาที่สามารถหยิบยกขึ้นมาช่วยเหลือร่วมกันได้ แล้วจึงได้ผลสรุปออกมาเป็นกาแฟเพื่อช่วยเหลือสังคม
ทำไมต้องกาแฟ?
ไอเดียของการขายกาแฟเกิดจากการมองหาสินค้าหรือบริการที่แสดงออกถึงเอกลักษณ์ วิถีชีวิต และวัฒนธรรมของชุมชนที่เด่นชัด ไม่ว่าอย่างไรกิจการเพื่อสังคมหรือวิสาหกิจเพื่อสังคมจำเป็นต้องมีสินค้าหรือบริการที่สร้างความประทับใจได้ก่อน

“กาแฟไม่ใช่แค่เครื่องดื่ม แต่เป็นโอกาสในการเชื่อมโยงกับสังคมที่กว้างใหญ่”
ในตอนที่คุณลีช่วยกันคิดกับคนในชุมชนแล้วได้ข้อสรุปว่าจะขายกาแฟ คุณลีมองออกไปไกลกว่านั้น สินค้าของทางบริษัทจะต้องไม่ใช่แค่กาแฟ แต่มีความเป็นไปได้ไหมที่จะมีการจัดทริป ไหม ให้ความรู้เกี่ยวกับกาแฟ เข้าไปเที่ยวชมวิธีการทำกาแฟ เป็นต้น เพราะฉะนั้นเมื่อมองไปที่กาแฟ คุณลีมองเห็นกาแฟว่าประเทศไทยมีการผลิตกาแฟที่ดี มีผู้ประกอบการที่อยู่เบื้องหลังเมล็ดกาแฟมากมาย ดังนั้นกาแฟจึงไม่ใช่แค่เครื่องดื่ม แต่เป็นโอกาสช่วยเหลือสังคมโดยผลักดันพวกเขาไปสู่สังคมที่กว้างใหญ่
กาแฟเป็นอะไรได้บ้าง?
กาแฟมีมูลค่าการซื้อขายทั่วโลกไม่ต่ำกว่า 30 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นเครื่องดื่มที่มีความนิยมในการดื่มเป็นอันดับ 2 รองจากน้ำชา ประเทศไทยผลิตกาแฟเป็นอันดับที่ 25 โลก มีทั้งคนปลูก คนชง คนแปรรูป คนอยู่เบื้องหลังการแปรรูปกาแฟให้อยู่ในรูปของสินค้าในชนิดต่างๆ กาแฟสามารถสร้างผลกระทบที่ยิ่งใหญ่ให้แก่คนที่เกี่ยวข้องกับกาแฟทั้งหมดนี้ได้

“กาแฟต้องไม่ใช่แค่เครื่องดื่ม แต่เป็นแรงบันดาลใจด้วย”
สิ่งที่ต้องคิดต่อจากนั้นคือ คนที่เข้ามาซื้อเขาไม่ได้มองแค่กาแฟ แต่เขายังมองในเรื่องของแรงบันดาลใจด้วย จึงกลายเป็นโจทย์ว่าจะสามารถเป็นแรงบันดาลใจให้คนลุกขึ้นมาช่วยเหลือสังคมได้อีกไหม ไม่ต้องจำกัดว่าเป็นกาแฟเท่านั้น แต่อาจจะลุกขึ้นมาทำอย่างอื่นที่เป็นการช่วยเหลือสังคมไปด้วยกัน คุณลีอธิบายว่าการทำวิสาหกิจเพื่อสังคมตรงนี้ เป็นเหมือนการพยายามทำให้ตัวเองเป็นเหมือนต้นแบบในการผลักดันให้คนอื่นทำตามเพื่อช่วยเหลือสังคมต่อไป
การวัดผลความสำเร็จ
คุณลีอธิบายว่าการวัดผลความสำเร็จสามารถคิดได้ในหลายด้าน หากคิดผลลัพธ์ในเชิงปริมาณ สามารถวัดได้จากผลกระทบเชิงบวกที่ทางบริษัททำให้กับชุมชน เช่น ปริมาณกาแฟเท่าไรที่ได้กระจายออกไปเพื่อช่วยเหลือสังคม มีเกษตรกรหรือคนรุ่นใหม่ที่มาเข้าร่วมหรือเข้ามาช่วยสังคมด้วยกันมีปริมาณเพิ่มขึ้นหรือไม่ ผลลัพธ์ในเชิงนี้เป็นสิ่งที่สามารถวัดได้จากทางกายภาพอยู่แล้ว
“คนที่กินกาแฟของบริษัทไม่ได้จ่ายเพื่อกลิ่นหรือรสชาติของกาแฟเพียงอย่างเดียว การจ่ายของเขาเป็นการลงทุนไม่ใช่เพื่อแค่ความสุขของตัวเอง แต่เพื่อเกษตรกรที่เขาปลูกกาแฟให้แก่ทุกคนด้วย”
สิ่งที่ทางปริษัทต้องประเมินก็คือเรื่องของการสะสมประสบการณ์ เก็บข้อมูลเกษตรกรที่มาเข้าร่วมกับทางบริษัท ต้องคิดว่าผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับบริษัทเขาจะได้อะไรกลับไป คนที่อยู่ต้นน้ำอย่างเกษตรกรได้มีโอกาสในการพัฒนาตนเองหรือไม่ ทางบริษัทจะเป็นคนเอาข้อมูลที่ถูกประเมินแล้วไปส่งต่อให้กับเกษตรกรและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกคน เพื่อให้ทุกคนได้รับโอกาสในการพัฒนาตัวเอง ไม่ใช่แค่เก็บเกี่ยวพืชผลให้กับบริษัท แต่ทางบริษัทพยายามผลักดันทุกคนให้ได้เข้ามามีบทบาท และมีส่วนร่วมในฐานะผู้ประกอบการด้วย
“ปลูกกาแฟแต่กินกาแฟกระป๋อง เหมือนกับสินค้าส่งออกของไทยที่คัดสรรมาอย่างดี แต่คนไทยไม่มีโอกาสได้กิน”
คุณลี เล่าว่าในตอนเด็ก คุณพ่อคุณแม่ของคุณลีจะชอบพูดว่าแม้พวกท่านจะปลูกกาแฟ แต่พวกท่านกลับไม่มีโอกาสได้ลิ้มรสกาแฟของตัวเองเลย หรือต่อให้ได้ลิ้มรสก็ไม่มีความรู้มากพอที่จะตอบได้ว่ากาแฟแบบไหนเรียกว่าดี อร่อย สมบูรณ์แบบ และกาแฟแบบไหนที่ไม่ดี ไม่อร่อย และสาเหตุเกิดจากอะไร สิ่งนี้จึงทำให้คุณลีผลักดันให้เกษตรกรทุกคนที่ปลูกกาแฟต้องมีโอกาสได้กินกาแฟของตัวเอง ต้องบอกได้ว่าแบบไหนที่เรียกว่าดี และแบบไหนที่ไม่ดี
“พวกเขาไม่ได้กินกาแฟเพราะติดกาแฟ พวกเขาติดน้ำตาลและครีมในกาแฟต่างหาก”
คุณลีเล่าให้ฟังว่าวันที่คุณพ่อคุณแม่ได้กินกาแฟแก้วแรกของตัวเอง พวกเขาบ่นว่าทำไมมันขม มันไม่หวาน มันไม่มัน จึงทำให้คุณลีเข้าใจว่าพวกเขาไม่ติดกาแฟ พวกเขาติดน้ำตาล ติดครีมในนั้น จึงเกิดการต่อยอดในเรื่องของการให้ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ สิ่งแวดล้อม การยกระดับการศึกษา ผลักดันให้ลูกหลานเกษตรกรเข้าถึงการศึกษามากขึ้น สร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเพื่อตัวพวกเขาเอง
บทสรุป
การเป็นผู้ประกอบการทางสังคมเป็นวาระที่เป็นธรรมชาติ หากอยากเป็นผู้ประกอบการที่ช่วยเหลือสังคมโดยที่ตัวเองสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืนจำเป็นต้องอาศัยแผนที่ดี แผนที่ดีหมายถึงแผนการเงิน แผนทางธุรกิจ ลองคิดดูว่าเราคิดจะทำธุรกิจประเภทนี้ไปกี่ปี ระยะสั้นหรือระยะยาว และในยุคปัจจุบันมีทักษะ Design Thinking อย่างรอบครบ อย่ากลัวที่จะลงมือทำเพื่อทดลอง อะไรที่เราคิดมาต่อให้ดีแค่ไหนก็ตาม หากไม่กล้าลงมือทำ เราก็จะไม่มีวันได้รับรู้ผลลัพธ์ที่แท้จริงอยู่ดี ไม่มีใครบอกเราได้ว่าจะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว มีเป้าหมายที่ชัดเจน มุ่งมั่น และมีสติการทำงาน
“ทักษะความรู้เราหาได้ทุกวัน แต่ความมุ่งมั่นและสติเราต้องตามหาจากภายในตัวเอง”
Akha Ama Coffee กาแฟจากยอดดอย สู่กาแฟดังระดับโลก | The Practical Sustainability วิสาหกิจ “เพื่อน” สังคม
หรือ จะเลือกรับฟังรายการ ในรูปแบบของ Podcast ได้ที่:
ช่องทางการติดต่อ
บริษัท กาแฟอาข่า อ่ามา จำกัด โทร 088 267 8014 เว็บไซต์ www.akhaamacoffee.com อีเมล์: info@akhaama.com
สนับสนุนโดย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม (สวส.)
บทความแนะนำ :
คิดคิด กับกิจการเพื่อสังคม ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหาเพื่อความยั่งยืน
Therapy Dog Thailand – สุนัขนักบำบัดแห่งประเทศไทย