ผู้อ่านหลายคน คงจะเคยได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับค่ายกักกันในต่างประเทศกันมาบ้างแล้ว ไม่ว่าจะเป็น ค่ายกักกันชาวอุยกูร์ในประเทศจีน ค่ายแรงงานในสหภาพโซเวียตระหว่างสงครามเย็น แต่ค่ายกักกันที่โด่งดัง และถูกหยิบยกมาเล่าขานกันอย่างมากที่สุด ก็คงหนีไม่พ้น ค่าย Auschwitz-Birkenau (เอาท์ชวิทซ์-เบอร์เคนเนา) หรือ ค่ายกักกันนรก ที่คร่าชีวิตเชลยชาวยิวไปมากมายในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ระหว่างปี 1939 – 1945
ผู้เขียนได้มีโอกาสเดินทางไปดูค่ายกักกันนี้ด้วยตัวเอง เนื่องจากมีความสนใจในประวัติศาสตร์ และความเป็นไปของชาติพันธุ์ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 ถึงแม้ว่าค่ายกักกันนี้ จะรู้จักกันในนามของค่ายกักกันที่สั่งการโดย อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ แห่งนาซีเยอรมัน ที่มีอำนาจและยึดครองดินแดนทั่วยุโรป
แต่ตัวของค่ายกักกันนี้ กลับไม่ได้ตั้งอยู่ในประเทศเยอรมันแต่อย่างใด ค่าย Auschwitz-Birkenau (เอาท์ชวิทซ์-เบอร์เคนเนา) ตั้งอยู่ในประเทศโปแลนด์ ห่างจากเมืองคราคุฟ เมืองหลวงแห่งเก่าประมาณ 45 นาที หากการกระทำใดที่มนุษย์พึงกระทำต่อกันจะโหดร้ายได้มากที่สุดแล้ว ผู้เขียนขอยกให้ ‘การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์’ ทุกรูปแบบเป็นการกระทำที่ไม่ควรเกิดขึ้นอีกในสังคมที่เราอยู่ร่วมกันนี้ และ วันนี้ ผู้เขียนมี ภาพ 5 ภาพสะเทือนความรู้สึกที่ผู้เขียนได้ลงมือกดชัตเตอร์เอง เพื่อมาถ่ายทอดความเลวร้ายของค่ายกักกันให้ผู้อ่านได้สัมผัสกัน

เสื้อผ้า เข็มทิศ ของใช้ที่มีค่ามากไปกว่าชีวิตคน
เสื้อผ้า ของใช้เหล่านี้ เป็นของชาวยิวที่ถูกจับมาจากทั่วทุกทิศ โดยมีจุดหมายปลายทางเดียวกันคือ ค่ายกักกันแห่งนี้ เมื่อมาถึง ชาวยิวจะถูกแยกหญิงชาย และเดินเรียงแถวเข้ามาเพื่อที่จะได้ “อาบน้ำ” ตามคำบอกเล่าของผู้คุมในเวลานั้น
แต่แท้ที่จริงแล้ว ชาวยิวจะถูกบังคับให้ถอดเสื้อผ้า วางสิ่งของเครื่องใช้เอาไว้ให้ผู้คุมซึ่งจะนำไปเข้าเครื่องอบผ้า รวมถึงส่งต่อไปให้ทหารฝั่งเยอรมันใช้ต่อไป เนื่องจากในสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น เกิดภาวะขาดแคลนสืบเนื่องจากพิษเศรษฐกิจต่อด้วยการมีสงครามใหญ่ยาวนานหลายปี ทำให้เกิดความฝืดเคืองในกลุ่มทหารเยอรมัน
ดังนั้นของทุกชิ้นนั้นมีค่าในภาวะลำบากเช่นนี้ นอกจากนี้ ชาวยิวคือชนชาติที่โดดเด่นในเรื่องการทำธุรกิจ ทำให้สามารถหาซื้อของใช้คุณภาพดีและมีราคาได้มาก เมื่อชาวยิวถูกนำมาถึงค่ายกักกัน จึงต้องมีการนำเสื้อผ้าพวกนี้กลับไปใช้ใหม่ ไม่เพียงเท่านั้น แม้แต่ผมของชาวยิว ยังถูกโกนเพื่อนำไปทอเป็นพรมสำหรับใช้ต่อไป

โรงเรียน…ที่ไม่มีวันได้ไป
ในค่ายกักกันเบอร์เคนเนา หรือ ค่ายเอาท์ชวิทซ์แห่งที่ 2 นอกจากเชลยจะถูกแยกหญิง-ชายแล้ว ยังมีโรงนอนสำหรับเด็ก ซึ่งมีสภาพความเป็นอยู่ที่ลำบากไม่ต่างกัน แต่สิ่งหนึ่งที่แตกต่างจากโรงนอนผู้ใหญ่ คือ ในโรงนอนเด็กจะมีแผ่นป้ายขนาดใหญ่ตั้งอยู่สองฝั่ง ที่ชาวยิวและชนชาติอื่นๆในค่ายกักกันช่วยกันวาดรูปของเล่น เพื่อเสริมสร้างจินตนาการให้กับเด็กๆที่ไม่มีโอกาสได้มีของเล่นในค่ายกักกัน นอกจากนี้อีกฝั่งหนึ่งได้มีการวาดรูปโรงเรียน เพื่อให้กำลังใจเด็กๆที่ไม่ได้ออกไปเจอโลกภายนอกว่าจะได้ไปโรงเรียนในสักวันหนึ่ง

โรงนอนที่นำมาซึ่งความตาย
ภาพโรงนอนนี้ จัดแสดงถึงสภาพเตียงนอนที่เคยมีนักโทษในค่ายกักกันต้องถูกบังคับให้นอนจริงๆในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากการไล่ล่าชาวยิว ตามนโยบายนาซีเยอรมันนั้นเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้มีชาวยิวและผู้ให้การช่วยเหลือชาวยิวจำนวนมากมาย ที่ถูกส่งมาอยู่ที่ค่ายกักกันแห่งนี้ จนเกินจำนวนที่โรงนอนจะรับได้ไหว
ทำให้สภาพความเป็นอยู่ในโรงนอนนั้นลำบากมาก ทำให้ชาวยิวถึง 3 คนต้องนอนเบียดกันภายในช่องเตียง 1 ชั้น และเนื่องจากโรงนอนที่สร้างไม่ได้มีอากาศถ่ายเทมากพอ จึงทำให้เป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคและทำให้เชลยในค่ายล้มป่วย รวมถึงเสียชีวิตลงมากมายในห้องนี้

แก๊สที่หลงเหลือ….กับสัญญาณชีวิตที่หมดไป
ห้องรมแก๊ส สุดโด่งดังที่เป็นหลักฐานถึงความไร้มนุษยธรรมที่คนกลุ่มหนึ่งจะมีต่อคนกลุ่มหนึ่งในประวัติศาสตร์ ในวันที่ผู้เขียนได้เดินทางเข้าไปและเห็นว่าห้องรมแก๊สนี้จะมีลักษณะเป็นห้องโล่งๆ สิ่งก่อสร้างที่ใหญ่จนสะดุดตาที่สุดก็คือ เตาเผาที่ปรากฏในภาพ 2 เตาใหญ่ๆนี้ และ ป้ายห้ามก่อประกายไฟ เนื่องจากยังมีแก๊สหลงเหลืออยู่
แต่ย้อนกลับไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เตาและห้องนี้ถูกใช้งานอย่างหนักเพื่อปลิดชีวิตชาวยิวและเหยื่อของสงครามเป็นจำนวนมาก ห้องรมแก๊สนี้เป็นที่สำหรับสังหารชาวยิว ชาวโปแลนด์ หรือเชลยคนอื่นๆ ที่ไม่สามารถเป็นแรงงานอีกต่อไป เช่น เด็ก ผู้ป่วย เป็นต้น เมื่อเข้าไปในห้องรมแก๊สที่หน้าตาเหมือนกับโรงอาบน้ำแล้ว ชาวยิวจะค่อยๆ สิ้นใจจากแก๊สพิษในเวลา 15 นาที

พังทลาย…แต่ยังคงอยู่
ในช่วงก่อนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เวลานั้น กองทัพของฝ่ายสัมพันธมิตรได้เปรียบอย่างมาก สามารถต่อสู้และชนะฝ่ายอักษะและปลดปล่อยประเทศมากมาย เมื่อทางฝ่ายนาซี เห็นถึงความเป็นไปได้ที่จะแพ้สงคราม จึงได้ทำการระเบิดห้องรมแก๊ส เพื่อปกปิดสิ่งที่ได้กระทำลงไปต่อชาวยิวหลายล้านคนที่ถูกสังหาร
อย่างไรก็ตามสิ่งที่อดอล์ฟ ฮิตเล่อร์ได้กระทำลงไป ก็ปรากฏสู่สายตาชาวโลก ทั้งความโหดร้ายของสงคราม การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ตามแผนกำจัดชาวยิวที่เกิดขึ้น ทำให้โลกตระหนักถึงการสูญเสียและความเลวร้ายของสงครามมากขึ้น ภายหลังองค์การสหประชาชาติ จึงได้สนับสนุนแคมเปญ Never again เพื่อป้องกันไม่ให้ความเลวร้ายแบบนี้เกิดขึ้นซ้ำอีก
จากภาพ 5 ภาพนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นที่แสดงถึงความยากลำบากในการใช้ชีวิตในค่ายกักกันของคนชนชาติหนึ่ง ซึ่งถูกกระทำอย่างไร้มนุษยธรรมโดยไม่ได้มีความผิดอะไรเลย แสดงถึงความทารุณที่เคยเกิดขึ้นจริงกับมนุษย์แบบเดียวกับเรา มีเนื้อหนัง มีลมหายใจ และสิ้นลมหายใจไปอย่างไม่ยุติธรรม ภายใต้โลกแห่งความแตกต่าง ไม่ว่าจะสีผิวแตกต่างกัน ศาสนาแตกต่างกัน หรือแม้กระทั่งเชื้อชาติแตกต่างกัน ไม่ควรเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการสังหารกันระหว่างมนุษย์ขึ้น หน้าที่ของมนุษย์คือเคารพ และดำรงอยู่ท่ามกลางความแตกต่างนี้อย่างเข้าใจและให้เกียรติกัน
แหล่งข้อมูลเพิ่มเติมของ Auschwitz-Birkenau