
Burnout หรือ Burnout Syndrome หรือ ภาวะหมดไฟ กำลังเป็นปัญหาใหญ่ให้กับเหล่าคนทำงาน อันเป็นผลมาจากความเครียดเรื้อรังในที่ทำงาน อาทิเช่น อาการเหนื่อยล้าทางอารมณ์ ตัวเองรู้สึกหมดพลัง มีทัศนคติเชิงลบต่อความสามารถในการทำงานของตนเอง หรือ ขาดความเชื่อมั่นในความสำเร็จ พวกเราลองสำรวจดูว่าเรากำลังมีอาการแบบนี้หรือเปล่า?
องค์กรจะทำอย่างไรดี เมื่อพนักงานของพวกเขาหมดไฟในการทำงาน?
อาการหมดไฟเป็นอาการยอดนิยม ที่แม้จะไม่ก้าวออกจากบ้านก็จะเห็นคนบ่นกันจนชินตาหนาหูเหลือเกิน ไม่ว่าจะเป็นจากการ Work From Home หรือ จะได้กลับไปทำงานที่ออฟฟิศตามเดิมแล้ว อาการหมดไฟก็เกิดขึ้นราวกับโรคระบาด แถมยังระบาดเร็วพอๆ กับโควิด-19 อีกด้วย ผลกระทบของมันไม่ได้ส่งผลเสียต่อผู้ที่มีอาการเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อองค์กรหรือบริษัทของพวกเขาด้วย แล้วคุณภาพงานที่ได้จากพนักงานที่หมดไฟ คุณภาพจะออกมาเป็นอย่างไร? คงเดาได้ไม่ยากว่าคุณภาพของงานคงออกมาไม่ดีเท่าที่ควร หากอาการหมดไฟ มีผลกระทบมากขนาดนี้ ในมุมขององค์กรหรือหัวหน้าเราควรจะทำอย่างไรดี?
“คงไม่มีองค์กรไหน อยากให้พนักงานเกิดอาการหมดไฟจากการทำงานกับพวกเขาอยู่แล้ว”
พนักงานที่กระตือรือร้นและเต็มที่กับการทำงาน จะสร้างผลลัพธ์เชิงบวกให้กับบริษัท และแน่นอนในทางกลับกันพนักงานที่หมดไฟ แม้ว่าพวกเขาจะทำงานได้เสร็จ แต่ประสิทธิภาพในการทำงานกลับตกลงอย่างน่าใจหาย จึงไม่มีองค์กรหรือบริษัทไหน? ต้องการให้พนักงานของตัวเองเกิดอาการหมดไฟขึ้นมา แต่ในความเป็นจริงอาการหมดไฟของพนักงานกลับเกิดขึ้นกันอย่างแพร่หลาย และจากงานวิจัยยังพบอีกว่า ความพยายามในการจัดการความเครียดที่เป็นเหตุให้เกิดอาการหมดไฟของพนักงานนั้นเป็นไปอย่างยืดเยื้อแถมยังล้มเหลวอีกต่างหาก
“ทุกคนเคยเกิดอาการหมดไฟ แม้แต่กับงานที่รักก็ตาม”
Deloitte ได้ทำการสำรวจพนักงานประจำในสหรัฐอเมริกาเป็นจำนวน 1,000 คน พวกเขาพบว่ามีถึง 77% ของพนักงานเหล่านั้น เคยมีอาการหมดไฟมาก่อนจากงานล่าสุดที่พวกเขาทำ และมากกว่าครึ่ง เล่าว่าพวกเขาเคยประสบกับอาการหมดไฟมากกว่าหนึ่งครั้ง ถึงแม้ว่ากว่า 87% ของผู้ตอบแบบสอบถาม จะมีแรงบันดาลใจในการทำงาน แต่ในความเป็นจริงคนเหล่านั้นก็ยังเกิดความเครียดในงานที่ตนเองรักอยู่ดี
“ไม่อยากให้พนักงานหมดไฟ แต่หลายๆ องค์กรกลับไม่ทำอะไรกับเรื่องนี้เลย”
จากการสำรวจพนักงาน พบว่ามีถึง 64% บอกว่าพวกเขามีความเครียดในการทำงานบ่อยมาก และในขณะเดียวกัน 7 ใน 10 คนหรือ 69% บอกว่านายจ้างของพวกเขาไม่ได้ทำอะไรมากพอที่จะช่วยลดอาการหมดไฟของพวกเขาได้ และ 1 ใน 5 หรือ 21% บอกว่าพวกเขาไม่คิดว่านายจ้างของพวกเขาจะเสนอโปรแกรมลดความเครียดหรือวิธีการช่วยอะไรแบบนั้นให้หรอก
“องค์กรควรมีความกระตือรือร้นอย่างจริงจังกับการแก้ปัญหาอาการหมดไฟของพนักงาน”
จากการสำรวจ พบว่ามีพนักงานประจำหลายคนมีไอเดียเกี่ยวกับการช่วยหยุดอาการหมดไฟของพนักงานหลากหลายมาก แต่พวกเขาบอกว่ามันเป็นเพียงไอเดียเท่านั้น เพราะไม่ใช่ทุกคนจะโชคดีได้อยู่ในบริษัทที่ให้ความสนใจเกี่ยวกับสุขภาพกายและจิตใจของพนักงานจริงๆ เมื่อพูดถึงสวัสดิการในด้านสุขภาพที่องค์กรหรือบริษัทมีการเสนอให้เพื่อช่วยในการลดอาการหมดไฟ พบว่ากว่า 28% ต้องนำครอบครัวมาเป็นเหตุผลในการขอหยุดงาน ไม่เช่นนั้นเขาคงไม่มีวันได้หยุดพักผ่อนเลย
“เมื่อวันหยุดก็เป็นได้แค่ชื่อ เป็นเพียงแค่การได้ทำงานนอกสถานที่เท่านั้น”
บริษัทควรมีวันหยุดสุดสัปดาห์อย่างจริงจังและวันหยุดพักผ่อนให้แก่พนักงาน อาการหมดไฟเกิดขึ้นเมื่อคนเรารู้สึกไม่มีเวลาส่วนตัว เวลาที่ไม่ต้องติดต่อพูดคุยกับใคร เวลาพักผ่อน เพื่อเป็นการชาร์จแบตตัวเองให้กลับมาพร้อมทำงานอีกครั้ง โชคร้ายที่กว่าก็คือ พบว่า 30% ของผู้ตอบแบบสอบถามพบว่าพวกเขายังคงต้องทำงานเป็นเวลานานหลายชั่วโมงในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ และ 43% บอกว่าพวกเขาได้หยุดในวันหยุดพักร้อนทั้งหมดก็จริง แต่ถึงจะได้หยุดพักร้อน พวกเขายังคงต้องตรวจสอบอีเมล์อยู่บ่อยๆ หรือรับโทรศัพท์ที่โทรมาติดต่อเรื่องงานตลอด
“ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นเมื่อพวกเขาอยู่ห่างจากงาน”
เพราะการทำงานหนักจนเคยชิน ทำให้พนักงานหลายคนรู้สึกไม่สบายใจและพักผ่อนได้อย่างไม่เต็มที่ โดยเหตุผลอันดับหนึ่งเลยที่ทำให้วันหยุดเหมือนไม่หยุดจริงๆ ก็คือ พวกเขากลัวจะเกิดปัญหาหรือข้อผิดพลาดบางอย่างขึ้นในช่วงที่พวกเขาไม่ได้ทำงาน เหตุผลรองลงมาก็คือกลัวว่างานจะเสร็จไม่ทันกำหนดการและความคาดหวังของหัวหน้าก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้กดดันในช่วงเวลาพักร้อน
“Mail on Holiday โปรแกรมที่มีการลบอีเมล์งานโดยอัตโนมัติ”
Daimler ผู้ผลิตรถยนต์ในเยอรมนีเปิดตัว “Mail on Holiday” โปรแกรมที่มีการลบอีเมล์งานโดยอัตโนมัติเมื่อมันถูกส่งมาในวันหยุดพักผ่อนของพนักงาน พวกเขาจะถูกตัดการเชื่อมต่อจากงานอย่างเต็มตัว และผู้ที่ส่งอีเมล์มาจะได้รับการแจ้งเตือนว่าอิเมล์ที่พวกเขาส่งมาจะถูกลบโดยอัตโนมัติและมีตัวเลือกให้ติดต่อเพื่อนร่วมงานคนอื่นหรือส่งอีเมล์อีกครั้งเมื่อพนักงานกลับมาที่สำนักงาน
“เป็นเรื่องยากเกินไปที่จะบอกให้คนที่อยู่ภายใต้ความเครียดอย่างมากให้จัดการกับความเครียดให้ได้”
Tonya Slawinski ผู้อำนวยการด้านการศึกษาและการฝึกอบรมของสมาคมผู้เชี่ยวชาญด้านการช่วยเหลือพนักงาน เล่าว่าบางบริษัทมีการเสนอการเข้าเรียนการจัดการความเครียดให้แก่พนักงานในบริษัท เพื่อฝึกให้พนักงานรู้วิธีจัดการความเครียดที่เกิดจากการทำงานได้อย่างถูกต้อง ลดการเกิดอาการหมดไฟได้อีกด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะเมื่อคนเราเกิดความเครียดอย่างมากหรือหมดไฟไปแล้วจะมาคิดแก้ไขมันก็สายไปเสียแล้ว บริษัทจึงควรแก้ปัญหาให้ได้ก่อนที่ความเครียดจะหนักจนเกินเยียวยาหรือถึงขั้นหมดไฟในการทำงาน
“การมีหัวหน้าที่เข้าอกเข้าใจ เป็นสิทธิประโยชน์ที่ดีที่สุดที่พนักงานในบริษัทได้รับ”
ตัวอย่างหนึ่งจากบริษัท Aetna พวกเขามีการจัดเตรียมชั้นเรียนโยคะและการทำสมาธิฟรีให้แก่พนักงาน มีศูนย์ฟิตเนส และอาหารที่ถูกหลักโภชนาการมากมายให้เลือกสรร นอกจากนี้ยังมีการให้เงินสนับสนุนสุขภาพของพนักงานทุกคน เพราะประธานบริษัทอย่าง Mark Bertolini เขาเคยประสบกับอาการทุกข์ทรมานจากความเครียดเนื่องจากลูกชายของเขาถูกวินิจฉัยว่าเป็นโลกมะเร็งในปี 2001 และในปี 2004 เขาเกือบตายจากอุบัติเหตุขณะไปเล่นสกี สิ่งเหล่านี้จึงเป็นเหมือนตัวนำให้เขาคิดถึงพนักงานทุกคนในบริษัท ความเครียดมันทำร้ายเขาอย่างไร และเขาไม่อยากให้มันเกิดขึ้นกับพนักงานในบริษัทของเขา
“ให้การสนับสนุนและยอมรับคนอื่นง่ายๆ โดยเริ่มจากการพูดคำว่า ขอบคุณ”
3 ใน 10 ของผู้ตอบแบบสอบถาม เล่าถึงการบกพร่องในการสนับสนุนและการยอมรับพนักงานหรือลูกทีมของผู้นำ สิ่งเหล่านี้เป็นเหมือนเชื้อเพลิงที่ทำให้อาการหมดไฟลุกลามเร็วขึ้น ทั้งที่การสนับสนุนและยอมรับคนอื่นเป็นเรื่องที่ง่ายมาก เช่นการเริ่มจากหัดพูดคำว่า“ขอบคุณ” เมื่อเพื่อนร่วมงานทำได้ดีหรือแม้แต่หัวหน้างานของเราทำงานได้ยอดเยี่ยม ผลวิจัยพบว่าบริษัทที่มีการยอมรับและให้เกียรติกันในบริษัทจะมีประสิทธิภาพในการทำงานที่ดีขึ้น เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อมในการทำงานที่จะช่วยลดอาการเครียดในที่ทำงานลงได้
“องค์กรยังสามารถพูดคำว่า ขอบคุณ ได้ยิ่งใหญ่กว่านั้นอีก”
Deloitte U.S. ประกาศหยุดทำงานช่วงสิ้นปีสำหรับพนักงานทุกคนในบริษัท ให้ตัดขาดการเชื่อมต่อระหว่างงานกับพนักงานทุกคนในช่วงวันหยุดคริสต์มาสยาวไปถึงปีใหม่เพื่อให้พนักงานได้พักผ่อนจากการทำงานหนักอย่างเต็มที่ และเพราะทุกคนได้หยุดทั้งหมด จึงลดความรู้สึกผิดในการออกห่างจากงานและความกดดันเกี่ยวกับความคาดหวังของหัวหน้างานไปได้เลย แถมในเดือนกุมภาพันธ์เป็นเดือนสำหรับเฉลิมฉลองวันเกิดปีที่ 200 ของ William Welch Deloitte บริษัทจึงมีการขอบคุณพนักงานทุกคนอีกครั้งด้วยการจัดวันหยุดให้อีกหนึ่งสัปดาห์เพื่อให้พนักงานหยุดยาวอีกครั้งอีกครั้ง
บทสรุป
พนักงานส่วนใหญ่ล้วนเคยประสบปัญหาอาการหมดไฟทั้งนั้น องค์กรหรือบริษัทสามารถช่วยพวกเขาเพื่อแก้ไขอาการเหล่านี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการส่งเสริมให้มีวันหยุดสำหรับการให้พนักงานได้พักผ่อนเติมพลังกันได้อย่างเต็มที่ ให้ความสำคัญในด้านสุขภาพของพนักงานมากขึ้น ตัวอย่างเช่น การจัดอบรมการจัดการความเครียด และการดูแลสุขภาพจิตของพนักงาน มีการสร้างค่านิยมในบริษัทเกี่ยวกับการยอมรับและชื่นชมกันและกัน รวมถึงการขอบคุณในการทำงานหนักของเพื่อนร่วมบริษัททุกคน สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ง่ายดายและเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าถ้าเทียบกับประสิทธิภาพและคุณภาพที่เราจะได้จากพนักงานที่มีไฟในการทำงานและเต็มที่กับทุกงานที่ได้รับมอบหมาย
“ถ้าไม่อยากให้พนักงานหมดไฟ องค์กรก็ต้องเติมไฟเข้าไปให้พวกเขาแทน”
Reference:
How Managers Can Prevent Their Teams from Burning Out | Jen Fisher
บทความแนะนำ:
Burnout Syndrome สัญญาณที่กำลังบอกกับเราว่า เรากำลังเข้าสู่ภาวะหมดไฟในการทำงานไปเรียบร้อยแล้ว