Burnout Syndrome คืออะไร? แล้วเราจะรู้ได้อย่างไร ว่าเรากำลังอยู่ในปัญหานี้? และ หากเรากำลังมีอาการ Burnout Syndrome เราจะแก้ปัญหา หรือ รับมือในเรื่องนี้อย่างไร?
Burnout Syndrome หรือ ภาวะหมดไฟในการทำงาน (Occupational Phenomenon) ซึ่งเป็นปัญหาทางด้านสุขภาพจิตประเภทนึงที่ ทางองค์การอนามัยโลก ได้จัดให้อยู่ในกลุ่ม International Classification of Diseases (ICD) โดยในทางการแพทย์ยังถือว่า อาการการเกิดภาวะหมดไฟจากการทำงาน เป็นการเปลี่ยนแปลงด้านจิตใจ แต่ยังไม่ถึงขั้นเจ็บป่วยทางจิตเวช
หมดไฟในการทำงาน กับ เบื่องาน ใช่เรื่องเดียวกันไหม?
เวลาเราพูดถึงภาวะหมดไฟในการทำงาน บางคนหมายความรวมไปถึงในเรื่องของการเบื่องาน แน่นอนมันอาจจะเกิดความรู้สึกปะปนกันได้ แต่เพื่อให้เข้าใจในเรื่องนี้มากขึ้น เราต้องรู้และเข้าใจก่อนว่า ภาวะหมดไฟในการทำงาน คือ อะไร?
ความเครียดเรื้อรังที่เกิดขึ้นจากการทำงาน หรือ ในที่ทำงาน คือสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้เรา หรือ ใครหลายๆ คน เข้าสู่ภาวะหมดไฟในการทำงาน โดยตามแนวทางของการวินิจฉัยโรค ICD-11 ขององค์การอนามัยโลก เขาบอกเอาไว้ว่า ภาวะหมดไฟในการทำงาน จะมีอาการหลักๆ อยู่ 3 อาการ ดังต่อไปนี้
- อาการที่ 1 : ตัวเราเองรู้สึกสูญเสียพลังงาน หรือมีภาวะอ่อนเพลีย
- อาการที่ 2 : ตัวเรามีความรู้สึกต่อต้าน และมองงานของตนเองในทางที่เป็นลบ ขาดความรู้สึกในความตั้งใจที่จะประสบความสำเร็จ หรือ อีกนัยนึงก็คือขาดแรงจูงใจที่จะประสบความสำเร็จในการทำงาน
- อาการที่ 3 : ตัวเรารู้สึกเหินห่างจากคนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้ร่วมงาน หรือ ลูกค้า รวมไปถึง การขาดความผูกพันกับสถานที่ทำงาน
“อยู่ๆ คนเราจะหมดไฟกันง่ายๆ ไปเลยไม่ได้ ทุกอย่างมันต้องมีที่มาที่ไป และมันต้องมีสาเหตุ”
เราคงเคยเห็น หรือ แม้กระทั่งตัวเราเองก็อาจจะเคยเป็น ในปีแรกๆ ที่เริ่มงานกับที่ทำงานที่แรกใหม่ๆ เราจะรูสึกตื่นเต้น มีความตั้งใจที่จะเรียนรู้ในหลายๆ เรื่อง เราจะตั้งใจและพยายามมากเป็นพิเศษ ไม่ใช่แค่ในเรื่องงาน แต่รวมไปถึงการ สร้างสัมพันธ์กับเพื่อนๆ หรือ พี่ๆ หรือ น้องๆ ในที่ทำงาน
แต่พอเวลาผ่านไปสัก 3-4 ปี ความตั้งใจและความพยายามที่เคยมี ก็หดหายไป จากเดิมในปีแรกๆ ที่เคยอยากไปทำงานทุกๆ วัน แต่มาตอนนี้ เกิดอาการเบื่อหน่าย ไม่อยากไปทำงาน รวมไปถึงอาจจะไม่อยากไปเจอหน้าคนที่ทำงานด้วยก็ได้ คิดถึงแต่เรื่องจะลาออก เป็นไงครับ เหตุการแบบนี้ คุ้นๆ ไหมครับ? อยู่ดีๆ เมื่อเวลาผ่านไป ทำไม คนคนเดียวกัน ถึงกลับกลายเป็นคนที่หมดไฟได้
“แล้วเราจะรู้ได้อย่างไร ว่าเรากำลังอยู่ในภาวะหมดไฟในการทำงาน”
จริงๆ แล้วในทางจิตวิทยาเขาได้มีการศึกษาในเรื่องของ วงจร Burnout Syndrome หรือ ภาวะหมดไฟในการทำงาน และได้มีคำอธิบาย ถึงในเรื่องนี้ว่า วงจรของภาวะหมดไฟในการทำงาน ประกอบไปด้วย 5 ระยะ
ระยะที่ 1 Honeymoon: ชื่อก็บอกแล้วว่าเป็นช่วงฮันนีมูน กล่าวคือ เป็นช่วงที่เราอยู่ในช่วงเริ่มทำงานที่ใดที่นึง เมื่อได้เริ่มงานกับที่ใหม่ๆ เราก็จะมีความรู้สึกตื่นเต้น ต้องการทุ่มเทให้กับการทำงานอย่างเต็มที่ สนใจใฝ่รู้ในทุกๆ เรื่อง และเต็มไปด้วยความคาดหวัง รวมไปถึงเป็นช่วงของการปรับตัวด้วย ซึ่งโดยรวมในช่วงเวลานี้ สำหรับเรา อะไรก็ดูดีไปหมด โดยมากจะพบว่า ช่วงฮันนีมูน จะเกิดในช่วงเริ่มทำงาน ทดลองงาน และ อาจจะกินเวลาไป 1-2 ปี
ระยะที่ 2 Balancing Act: เป็นช่วงของการปรับสมดุล เกิดขึ้นหลังจากช่วงฮันนีมูน หมายความว่าเราทำงานมาระยะนึง จนเริ่มพบกับปัญหาที่เราอาจจะไม่ได้คาดคิดมาก่อน หรือ ก่อนหน้านี้ เราเองเคยมีความคาดหวังกับงานที่ทำในระดับนึง แต่ผลที่ออกมาดันไม่ได้ตามที่หวัง หรือ หัวหน้าสร้างความหวังให้กับเราในปีแรก พออีกปีถัดมา กลับไม่ทำตามที่ว่าเอาไว้ ณ จุดนี้ เราอาจจะเริ่มรู้สึกว่างานที่ทำไม่ตอบโจทย์ เริ่มรู้สึกว่าตนเองไม่ได้รับความยุติธรรม หรือ การไม่ได้รับการยอมรับในที่ทำงาน จนอาจจะทำให้ ตนเองรู้สึกว่าตัดสินใจผิดพลาด และไม่สามารถแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ หรือ ทำงานออกมาได้ไม่ได้ดั่งใจ สิ่งเหล่านี้ ทำให้เกิดอาการเหนื่อยล้า อันเนื่องมาจากความเครียดที่มีผลมาจากการพักผ่อนไม่เพียงพอเพราะด้วยความที่คิดมาก เป็นต้น
ระยะที่ 3 Chronic Stress: หากเราไม่สามารถจัดการตัวเราเองในระยะที่ 2 ได้ ปัญหาที่ตามมาก็คือ ความเครียดเรื้อรัง เป็นความเครียดที่เกิดขึ้นทุกวันและร่างกายไม่สามารถตอบสนองหรือแสดงออกต่อความเครียดนั้นได้ ซึ่งเมื่อนานวันเข้าความเครียดนั้นก็จะสะสมเป็นความเครียดเรื้อรัง ตัวอย่างเช่น เกิดขึ้นจากการที่เราต้องเจอสถานการณ์เดิมๆ เผชิญกับความคิดแบบเดิมๆ เจอกับปัญหาเดิมๆ อย่างต่อเนื่อง จนเรารู้สึกเหนื่อยล้า เหนื่อยหน่ายเรื้อรัง เกิดอาการหงุดหงิดง่าย โมโหเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ง่าย แทบทุกวัน มีการทะเลาะเบาะแว้งกับเพื่อนร่วมงาน เริ่มวิพากษ์วิจารณ์หน่วยงานหรืองอค์กรของตนเองในทางลบ บางรายอาจจะถึงกับแยกตัว เลือกใช้ชีวิตโดดเดี่ยว หรือ หันไปพึ่งสุรา หรือ ของมึนเมาเพื่อหวังว่าสิ่งเหล่านี้จะช่วยบำบัดได้ เป็นต้น
ระยะที่ 4 Burnout: หากเราไม่สามารถจัดการตัวเราเองในระยะที่ 3 ได้ เราก็จะเข้าสู่ ภาวะหมดไฟในการทำงาน อาการที่บ่งบอกได้ ก็คือ อาทิเช่น พฤติกรรมการดำเนินชีวิตจากเดิมเปลี่ยนไปในทางที่แย่ลงอย่างสิ้นเชิง เกิดความรู้สึกว่างเปล่าในใจ จะเริ่มรู้สึกสิ้นหวัง มีความรู้สึกว่าตนเองล้มเหลว สูญเสียความมั่นใจในตนเอง หรือ ย้ำคิดย้ำทำแต่ในเรื่องของปัญหา ในทางสุขภาพ จะมีการปวดหัวบ่อยครั้ง มีปัญหาโรคกระเพาะหรือลำไส้ (เพราะความเครียด) ในทางสังคม ก็จะพยายามใช้ชีวิตสันโดด ไม่สนใจใคนทั้งคนในที่ทำงานและคนที่บ้าน เป็นต้น (ลองเช็คตัวเอง หรือ คนรอบข้างดูนะครับว่าเขามีอาการแบบนี้หรือเปล่า)
ระยะที่ 5 Habitual Burnout: หากเราไม่สามารถจัดการตัวเราเองในระยะที่ 4 ได้ เราก็จะกลายเป็นคนที่หมดไฟในการทำงานไปเรียบร้อยแล้ว อาการที่บ่งบอกได้ ก็คือ อาทิเช่น อาการของคนที่อยู่ในภาวะหมดไฟ (ตามตัวอย่างในระยะที่ 4) เริ่มมีอาการและมีปัญหาทางสุขภาพจิต ที่เกิดจากอาการป่วยเนื่อง ที่มีผลมาจากอาการเหนื่อยล้าที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา สาพอารมณ์แปรปรวน รู้สึกแย่กับตนเอง หดหู่ หมดหวัง และ เสียใจ อยู่ตลอดเวลา อาการเหล่านี้ หากปล่อยนานไป อาจส่งผลถึงภาวะซึมเศร้าในอนาคตได้
“สัญญาณเตือนว่าเรากำลังเข้าสู่ภาวะหมดไฟในการทำงาน”
เราสามารถเช็คสัญญาณเตือน ว่าเราเริ่มเข้าสู่ภาวะหมดไฟในการทำงานแล้วรึยัง โดยเขาแบ่งออกเป็น 3 ด้าน ดังต่อไปนี้
ผลกระทบจากภาวะหมดไฟในการทำงานส่งผลกับเราอย่างไรบ้าง?
ส่งผลกระทบต่อตัวเราหลายด้าน เช่น ผลกระทบทางด้านจิตใจ ภาวะหมดไฟในการทำงาน สามารถทำให้เราเป็นคนที่ท้อแท้ และรู้สึกหมดหวังได้ง่าย เข้าสู่ภาสะเครียดจนเป็นเหตุทำให้นอนไม่หลับ ผลกระทบทางด้านร่างกาย เกิดอาการเหนื่อยง่าย ปวดหัวบ่อย หรือ แม้กระทั่งเกิดอาการ Office Syndrome เป็นต้น ผลกระทบทางด้านการทำงาน กลายเป็นคนที่ถูกมองไม่ดี เพราะมาทำงานสายบ่อย ขาดงานบ่อย ผลงานน้อยลง หรือ ตกตำ่ลงอย่างต่อเนื่อง จนในที่สุด อาจจะลาออกได้
อาชีพอะไร หรือ งานประเภทไหน ที่เสี่ยงทำให้เราหมดไฟในการทำงานได้ง่ายๆ?
จะบอกว่างานอาชีพไหน หรือ ประเภทไหน แบบเฉพาะเจาะจงคงจะยาก เอาเป็นว่าการเกิด Burnout Syndrome หรือ ภาวะหมดไฟในการทำงาน ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมและลักษณะของเนื้องานที่เราทำมากกว่า โดยมากจะเป็นลักษณะงานที่ อาทิเช่น
- มีความเครียด ความกดดัน ต้องทำงานหนัก ที่มีปริมาณมากเกินไป
- เป็นลักษณะงานที่เร่งรีบ หรือ ต้องทำงานปริมาณเยอะๆ ในเวลาที่จำกัด
- ต้องทำงานหนักแต่ได้รับผลตอบแทนที่ไม่หมาะสม (คือน้อยเกินไป)
- ทำงานที่ทำให้ตนเองรู้สึกว่าไม่มีคุณค่า หรือ ไม่มีความภูมิใจในสิ่งที่ทำ
- ทำงานในที่ ที่ไม่มีความยุติธรรม ไม่เชื่อใจ หรือ ขาดการยอมรับในการทำงาน
- ทำงานในบริษัท หรือ องค์กรที่ไม่มีระบบทำงาน ไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน
บทสรุป
เรื่องของการเกิด Burnout Syndrome หรือ ภาวะหมดไฟในการทำงาน สามารถเกิดขึ้นได้กับเราทุกคน โดยเฉพาะในยุคที่เรากำลังเผชิญหน้ากับโควิดและการเปลี่ยนแปลงที่นับวันยิ่งมาเร็วและมาแรงขึ้นทุกที
หากเรา หรือ คนในครอบครัว กำลังอยู่ในภาวะ Burnout Syndrome หรือ ภาวะหมดไฟในการทำงาน ก็ขอให้ทำความเข้าใจกับเรื่องนี้ นี่ไม่ใช่โรคร้าย แต่เป็นแค่สภาวะอาการที่เกิดจากการที่ไม่สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างเท่าทันเท่านั้นเอง
พลังแห่งความรักและความหวังดีของคนในครอบครัว คือ เรื่องสำคัญ หากเราและคนในครอบครัวช่วยกัน หมั่นให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการคิดบวก หรือ ช่วยกันมองหาหนทางในการแก้ไขปัญหา เชื่อว่าอาการ Burnout Syndrome หรือ ภาวะหมดไฟในการทำงาน ที่เกิดขึ้นก็จะสามารถหายขาดได้เช่นกัน