
Choice, happiness and spaghetti sauce เป็นหัวข้อที่ Malcolm Gladwell ได้บรรยายในงาน TED2004 ทั้งสามเรื่องนี้เกี่ยวข้องและเกี่ยวพันกันอย่างไร เรามาหาคำตอบได้จากเรื่องนี้กัน
หากคุณเริ่มต้นกดเข้าบทความนี้เพราะว่าอยากเข้ามาหาความเชื่อมโยงระหว่างความสุขกับซอสสปาเก็ตตี้แล้วล่ะก็ คุณไม่ผิดหวังแน่นอน แต่นี่ไม่ใช่บทความสอนทำอาหารว่าเราควรจะทำอย่างไร? ถึงจะได้ซอสสปาเก็ตตี้ที่อร่อยที่สุดสำหรับมื้อเย็น เพราะถ้าว่ากันตามจริงแล้วซอสที่ดีที่สุดเพียงหนึ่งสำหรับทุกคน มันไม่มีอยู่จริง!
Malcolm Gladwell นักข่าว นักเขียนและนักพูดชาวแคนาดา ผู้เขียนหนังสือยอดนิยมอย่าง Blink: The Power of Thinking Without Thinking และ The Tipping Point: How Little Things Can Make a Big Difference เป็นต้น ซึ่งหนังสือของเขาติดอันดับหนังสือขายดีของ The New York Times Best Seller ทั้งหมด เขาได้เข้าร่วมบรรยายใน TED2004 ละเล่าเรื่องของคุณลุงคนหนึ่งที่เขาชื่นชอบมา คนที่ทำให้เรียนรู้ที่จะมีความสุขด้วยซอสสปาเก็ตตี้
Howard Moskowitz ผู้พลิกโฉมวงการซอสสปาเก็ตตี้
ตอนนั้นคุณลุงคนนี้อายุราวๆ 60 ปี เขาเลี้ยงนกแก้ว ชอบฟังโอเปร่า หลงใหลเรื่องราวประวัติศาสตร์ยุคกลาง งานอดิเรกเหล่านี้อาจจะดูไม่เหมาะนักกับอาชีพของนักจิตฟิสิกส์ แต่ใช่เขาทำอาชีพนี้ และหลงใหลการวัดสิ่งรอบตัวพอๆ กับโอเปร่า เขาจบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยฮาเวิร์ด และเปิดบริษัทให้คำปรึกษาที่เมืองไวท์เพล์นส์ รัฐนิวยอร์ค
“ต้องทำอย่างไรถึงจะได้เครื่องดื่มที่สมบูรณ์แบบที่สุด”
หนึ่งในลูกค้าของคุณลุงโฮเวิร์ด คือ บริษัทเป๊ปซี่ เครื่องดื่มอัดลมซาบซ่าสุดโด่งดังในตอนนี้ เขาค้นพบสารให้ความหวานตัวใหม่และต้องการผลิตไดเอทเป๊ปซี่ หรือ เป๊ปซี่กินแล้วไม่อ้วนนั่นเอง เขาจึงมาปรึกษากับคุณลุงโฮเวิร์ดให้หาข้อมูลว่าจะต้องใส่แอสปาร์แตม(สารแทนความหวาน)เท่าไรต่อกระป๋อง? ถึงจะได้เครื่องดื่มที่สมบูรณ์แบบที่สุด และเรื่องนี้เอง คือ จุดเริ่มต้นของความเปลี่ยนแปลง
“สิ่งที่ผิดพลาดไป คือ คำถามที่เราใช้ถาม ทำให้เราไม่สามารถหาคำตอบที่ต้องการได้”
หลังจากทำการทดสอบโดยการหาคนมาจำนวนมาก ชิมรสเป๊บซี่ที่มีปริมาณความหวานจากแอสปาร์แตม ตั้งแต่ระดับ 8 ไม่หวานเลย ไปจนถึง 12 ที่หวานเกินไป ผลลัพธ์ที่ได้กลับเป็นข้อมูลที่ไม่เกาะกลุ่มและไม่สามารถนำมาเขียนข้อสรุปได้ คนทั่วไปคงใช้วิธีเดาสุ่ม จิ้มตรงกลางระหว่างผลลัพธ์ทั้งหมด แต่คุณลุงโฮเวิร์ด เขามองต่างออกไป เขานั่งใคร่ครวญถึงสิ่งต่างๆ เพื่อหาจุดที่ผิดพลาด และเขาก็ค้นพบว่าโจทย์ที่เขาได้รับนี่แหละ คือ ความผิดพลาด
“พวกคุณมองหาเป๊ปซี่สมบูรณ์แบบเพียงหนึ่งเดียว คิดผิดแล้ว พวกคุณต้องตามหาเป๊ปซี่สมบูรณ์ที่หลากหลายต่างหาก”
หลังจากจบประโยคของการนำเสนอผลลัพธ์ เขาโดนไล่ออกมาแทบจะในทันที แต่เขายังคงยืนยันเช่นเดิม นี่มันไม่ใช่แค่เป๊ปซี่แล้ว มันหมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกเลยต่างหาก บริษัทวลาซิก พิคเกิลส์ มาหาเขาที่ออฟฟิศและต้องการให้เขาหาแตงกวาดองที่สมบูรณ์แบบที่สุด แน่นอนว่าเขาไม่ต้องทำการทดลองด้วยซ้ำ เพราะลุงโฮเวิร์ดตอบไปในทันทีว่า “พวกคุณไม่ต้องปรับปรุงแตงกวาดองแบบปกติหรอก คุณต้องผลิตรสชาติอื่นๆต่างหาก”
“ผมจะไม่แนะนำให้คุณมองหาซอสที่คนชอบมากที่สุดหรอก เพราะมันไม่มีอยู่จริง”
จุดเริ่มต้นของการพลิกวงการซอสสปาเก็ตตี้กำลังเริ่มต้นขึ้น บริษัทซุปเปอร์แคมพ์เบลล์มาหาเขา และต้องการให้เขาทำให้ซอสสปาเก็ตตี้ยี่ห้อปรีโก้ที่ซุปเปอร์แคมพ์เบลล์เป็นเจ้าของอยู่ขายดีกว่ายี่ห้อรากู ซึ่งตอนนั้นเรียกได้ว่าเป็นดาวเด่นแห่งวงการซอสสปาเก็ตตี้ในยุค 70-80 เลยก็ว่าได้ แต่ลุงโฮเวิร์ดก็ยังคงเป็นลุงโฮเวิร์ด เขาให้คำแนะนำแบบเดิม แบบเดียวกับเป๊ปซี่ แตงกวาดอง และอีกครั้งสำหรับซอสสปาเก็ตตี้
“ความชอบของ 1 ใน 3 ของคนอเมริกาที่ยังไม่มีใครตอบสนอง”
คนจำนวนมากถูกบรรทุกขึ้นรถ 10 ล้อ จุดหมายปลายทางคือ ฮอลล์ขนาดใหญ่ที่บรรจุคนได้จำนวนมาก และคนเหล่านั้นจะได้รับเส้นสปาเก็ตตี้จำนวน 10 ถ้วยเล็กพร้อมกับซอสสปาเก็ตตี้ที่ผสมกันออกมากว่า 45 แบบ ผลลัพธ์ที่ได้คืออันดับ 1.รสดั้งเดิม 2.รสเผ็ด และอันดับ 3 ซอสแบบหยาบที่มีเนื้อซอสก้อนใหญ่พิเศษ เดาไม่ยากเลยใช่ไหมว่าข้อไหนสำคัญที่สุด ปรีโก้ครองตลาดซอสสปาเก็ตตี้ทันทีที่เริ่มวางจำหน่ายซอสสปาเก็ตตี้แบบมีก้อนใหญ่พิเศษ
“โอ้พระเจ้า ที่เราคิดมันผิดทั้งหมด”
เราเจ้าของธุรกิจในแวดวงอุตสาหกรรมอาหารเริ่มคิดถึงปรากฏการณ์ซอสสปาเก็ตตี้ ลุงโฮเวิร์ดพูดถูกว่าสิ่งที่เราทำอยู่มันกำลังผิดทั้งหมด มีน้ำส้มสายชู 7 รสชาติในซุปเปอร์มาร์เก็ต มัสตาร์ด 14 แบบบนชั้นวาง และน้ำมันมะกอกอีก 71 ชนิด และไม่ใช่แค่นั้น 10 ปีต่อมาปรีโก้ทำกำไรจากการขายซอสสปาเก็ตตี้แบบมีก้อนใหญ่พิเศษได้ถึง 600 ล้านดอลลาร์
“จิตใจไม่รู้หรอก ว่าปากชอบอะไร”
หนึ่งสิ่งที่เป็นเครื่องยืนยันว่าเราไม่สามารถตอบได้จริงๆ หรอกว่าเราชอบกินอะไร คือตัวอย่างของกลุ่มคนที่กินกาแฟ หากเราลองถามใครก็ตามว่า “คุณชอบกาแฟแบบไหน?” คนส่วนใหญ่มักมีคำตอบแบบอัตโนมัติที่เหมือนกันคือ “เข้มข้น หอมกรุ่น” แต่ลุงโฮเวิร์ดของเราไม่คิดเช่นนั้น จากการทดสอบของเขาที่ให้คนได้มีโอกาสชิมจริงๆ ผลลัพธ์คือมีแค่ 25%-27% เท่านั้นที่ชอบกินกาแฟแบบเข้มข้น หอมกรุ่น เพราะส่วนใหญ่แล้วล้วนชอบกาแฟแบบจางๆ และผสมนมกันทั้งนั้น แต่เพราะค่านิยมทำให้การกินกาแฟแบบนั้นดูเด็กมากน่ะสิ
“เราอยู่ในโลกที่มีค่านิยมของการเผชิญหน้ากับอาหารล้ำเลิศหนึ่งเดียว”
ค่านิยมที่สร้างความมั่นใจในอาหารเลิศรสว่ามีได้เพียง 1 อย่างเท่านั้น ไม่มีตัวเลือก ไม่มีความหลากหลาย ไม่ว่าใครก็จะได้รับอาหารจานเดียวกันนี้ทั้งนั้นเพราะมันสุดยอดที่สุด ยกตัวอย่างเช่น ลองจินตนาการว่าคุณเดินเข้าไปในร้านอาหารสุดหรู ซึ่งเชฟจะเสิร์ฟซาซิมิเกรดพรีเมี่ยมพร้อมกับน้ำจิ้มเลิศรสสูตรพิเศษของร้าน ซึ่งทุกโต๊ะจะได้รับน้ำจิ้มสูตรพิเศษนี้ และถ้าคุณเริ่มถามหาน้ำจิ้มอื่นเพราะคุณรู้สึกว่ามันไม่อร่อย หมายความว่าคุณแปลกประหลาดทันที นี่แหละคือค่านิยม
“เราคิดกันไปเอง ว่ามันจะทำให้ทุกคนมีความสุข”
ซอสมะเขือเทศ เป็นไอเดียที่เกิดจากประเทศอิตาลีซึ่งพวกเขาผลิตซอสมะเขือเทศเนื้อเนียนละเอียดและเจือจาง แต่มันกลายเป็นซอสยอดนิยมอย่างไม่น่าเชื่อในปี 70 ตั้งแต่นั้นทุกคนจึงเห็นดีเห็นงามว่าซอสที่ดีและดั้งเดิมต้องเนื้อเนียนละเอียดและเจือจางเพียงเพราะแรกเริ่มที่คิดค้นมันเป็นเช่นนั้น มันเป็นเหมือนต้นตำรับทางวัฒนธรรมซึ่งกลายเป็นค่านิยม แต่คุณลุงโฮเวิร์ดเปลี่ยนมัน ต้นตำรับทางวัฒนธรรมมีเพียง 1 รูปแบบเอง จะให้ดีสำหรับคนทุกรูปแบบเป็นไปไม่ได้หรอก
“มนุษย์หมกหมุ่นกับการค้นหวิธีการครอบจักรวาลเพียงวิธีเดียวเพื่อใช้กับทุกคนบนโลก”
ทฤษฎีส่วนใหญ่ใช่ช่วงศตวรรษที่ 19-20 คือ การหมกหมุ่นเกี่ยวกับการหาแนวคิดแบบครอบจักรวาล ไม่ว่าจะจิตวิทยา แพทย์ หรือเศรษฐศาสตร์ พวกเขาพยายามหากฎในการควบคุมพฤติกรรมมนุษย์ ซึ่งเขาต้องการเพียงหนึ่งเท่านั้นเพื่อนำมาใช้กับคนทั้งโลก โดยลืมไปว่าไม่มีทางที่จะให้คนทั้งโลกชอบอาหารจานเดียวกันได้ ชอบเสื้อผ้าตัวเดียวกัน หรือชอบหนังเรื่องเดียวกันได้ เพราะพวกเขามีความหลากหลาย
“แนวคิดที่ใช้ได้เปลี่ยนการครอบจักรวาลเป็นการยอมรับความหลากหลายแทน”
คุณหมอรู้ดีว่าโรคมะเร็งเหมือนกัน แต่ในบางครั้งก็ใช้วิธีรักษาแบบเดียวกันไม่ได้ เพราะฉะนั้นแค่การรู้ว่าจะรักษาโรคมะเร็งอย่างไรมันไม่พอ มันต้องรู้ด้วยว่ามะเร็งแต่ละคนต่างกันอย่างไร เช่นเดียวกัน อาหารจานเดียวกัน ไม่สามารถทำให้ลูกค้าทุกคนพอใจได้ ลูกค้าไม่ได้ชอบเนื้อเหมือนกันทุกคน บางคนก็กินผัก และอีกหลายคนไม่ชอบผัก หรือบางคนอาจจะเหม็นกระเทียม ในขณะที่หลายคนชอบกลิ่นกระเทียมมากๆ อาหารที่ดีที่สุดคืออาหารที่ลื่นไหลไปตามความชอบของทุกคนได้ ยอมรับความหลากหลายและรังสรรค์มันออกมาเป็นจานที่พิเศษสำหรับแต่ละคน ไม่ใช่แค่เพียงหนึ่งจานสำหรับทุกคน
“เมื่อเรายอมรับความแตกต่างของมนุษย์แล้ว เราจะพบวิถีทางสู่ความสุขที่แท้จริง”
สิ่งที่เราปฏิเสธไม่ได้เลย คือบนโลกนี้ทุกคนไม่ได้หน้าตาเหมือนกัน ไม่ได้มีสีผิวเหมือนกัน ไม่ได้มีหุ่นเหมือนกัน แม้แต่การเติบโตแต่ละคนก็ยังมาจากสถานที่ที่แตกต่างกัน สิ่งแวดล้อมและอาหารการกินที่ต่างหาก ความหลากหลายที่เป็นเหมือนศิลปะที่แต่งแต้มลงบนโลกใบนี้ ล้วนเป็นสิ่งสวยงามที่ทำให้โลกเรามีเฉดสีที่แตกต่างกันออกไป ทำไมเราต้องเลือกให้มีเพียงสีเดียวในเมื่อเราสามารถมีได้ทุกสี การยอมรับในสีของกันและกันไม่ใช่เรื่องยากเย็นเกินความสามารถคนคนหนึ่งเลย ยอมรับความแตกต่างของคนอื่นให้เหมือนกับที่เราอยากให้คนอื่นเขายอมรับเรา เหมือนกับที่เราต้องยอมรับนะว่าซอสมะเขือเทศเนื้อหยาบๆที่มีเนื้อก้อนโตๆติดอยู่ข้างบนเส้นสปาเก็ตตี้พวกนั้นมันอร่อยจริงๆ
บทสรุป
การนำตัวเองเข้าสู่ทฤษฎีครอบจักรวาล อาจจะเป็นการทำให้ตัวเองเสียผลประโยชน์อย่างใหญ่หลวง? ค่านิยมเพียงหนึ่งเดียวทำให้เราหมดสิทธิ์รู้ความชอบที่แท้จริง หมดโอกาสในการโดดเด่นในรูปแบบที่เราต้องการจะเป็น
ประโยชน์ของการเหมือนกันหมดมันมากกว่าความหลากหลายจริงๆ เหรอ? ความคิดนอกกรอบ ความคิดสร้างสรรค์ การรังสรรค์สิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นได้เพราะความหลากหลายทางความคิด
ถ้าคุณอยากเป็นจุดสีที่โดดเด่นบนโลก ทำไมต้องบูชาความเหมือนกันแบบนั้นล่ะ และถ้าคุณอยากได้รับการยอมรับ วันนี้ คุณยอมรับความหลากหลายของคนรอบตัวคุณได้หรือยัง? น้ำมันมะกอกยังมีได้ตั้ง 71 ชนิดเลย มัสตาร์ดเองก็มีตั้ง 14 แบบ ให้คุณ คนข้างบ้าน และบ้านถัดอีกสองสามหลังใช้มัสตาร์ดแบบเดียวกัน คุณคิดว่ามันเป็นไปได้ไหมล่ะ?
“เพราะมนุษย์เกิดจากมนุษย์ ไม่ใช่เครื่องถ่ายเอกสาร”
Choice, happiness and spaghetti sauce | Malcolm Gladwell