
Dare to daydream หมายถึงเราต้องกล้าที่จะฝัน ถึงแม้อาจจะดูเหมือนเป็นแค่การฝันกลางวัน แต่การมีความฝันทำให้เรามีเป้าหมาย และ มีแรงผลักดัน มุ่งมั่นที่จะเดินหน้าต่อไป
“บางครั้งเราชีวิตของเราก็ล่องลอยเหมือนก้อนเมฆที่ลอยอยู่บนท้องฟ้า”
เราปล่อยตัวเองให้ลอยบนไปในท้องฟ้าตามทิศทางผันแปรไปตามแรงลม ลมพัดไปทางไหนก็ลอยไปทางนั้น ไร้น้ำหนัก ไร้จุดยืน และไร้เป้าหมายที่ตัวเองต้องการจะไป หากคุณเป็นหนึ่งในก้อนเมฆเหล่านั้น ไม่ต้องตกใจไป มันเป็นเรื่องปกติที่เราจะรู้สึกไร้ทิศทางในบางครั้ง หรือ รู้สึกขาดหลักให้ยึด ขาดเส้นชัยให้วิ่งไปหา ก่อนที่คุณจะวิตกกังวลไปมากกว่านี้ เราไปหาสาเหตุของอาการเหล่านี้กันก่อนว่าทำไม เพราะอะไร เราถึงเกิดความรู้สึกแบบนี้
“เราอาจจะกำลังเหนื่อยและอิดโรยมากเกินกว่าจะมองหาเป้าหมายถัดไป”
คุณอาจใช้เวลาหลายปี ในการพยายามไต่เต้าหน้าที่การงานจนมาถึงจุดที่คุณวาดฝันไว้ อาจจะต้องสูญเสียพลังไม่ว่าจะทางกายหรือใจระหว่างทาง แต่ในที่สุดคุณก็มาถึงเส้นชัยได้ในที่สุด ในช่วงแรกมันอาจจะเต็มไปด้วยความปิติยินดี คุณมีเงินซื้อบ้าน รถ และเที่ยวตามที่คุณต้องการโดยไม่ขัดสน คุณสามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้แบบสบายๆ แต่เมื่อถึงจุดที่มีทุกอย่างตามที่ได้เคยวาดฝันเอาไว้ ทุกอย่างกลับวางเปล่า รู้สึกเหนื่อยและอิดโรยเกินกว่าจะมองหาความก้าวหน้าจากจุดเดิม ซึ่งต้องมีสาเหตุหลายอย่างสำหรับเรื่องนี้
“ใช้โอกาสนี้ถามตัวเองว่า ทำไมฉันถึงสูญเสียความทะเยอทะยาน?”
ทุกคนอาจจะมีคำตอบที่แตกต่างกัน บางทีงานในฝันของคุณอาจไม่ใช่สิ่งที่คุณคาดหวัง คุณมีงานมากเกินไปที่จะไล่ตามเป้าหมายของคุณอย่างที่ต้องการ หรือคุณพอใจในจุดที่คุณอยู่และต้องการสนุกกับมันอีกสักชั่วขณะหนึ่ง ไม่ว่าคุณจะตอบตัวเองว่าอะไร? คำตอบนี้ของคุณจะกลายเป็นกุญแจสำคัญในการเอาชนะความเหนื่อย ความอิดโรย การขาดความทะเยอทะยาน และหากคุณดึงความทะเยอทะยานกลับมาได้อีกครั้ง คุณจะมีจุดมุ่งหมายใหม่และมั่นใจมากขึ้นกับสถานการณ์ต่างๆในชีวิตแน่นอน
ความทะเยอทะยาน คืออะไร?
Ambitious ตามพจนานุกรมภาษาอังกฤษของเคมบริดจ์ ให้คำจำกัดความง่ายๆไว้ว่า “ความทะเยอทะยาน” และ “ความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะบรรลุบางสิ่งบางอย่าง” ถ้าคุณมองให้ละเอียดขึ้น คุณจะเห็นความทะเยอทะยานมักจะมีส่วนประกอบ 2 อย่างง่ายๆ ที่คุณเองก็น่าจะเดาได้นั่นก็คือ “เป้าหมาย” และ “ความปรารถนา” ซึ่งหากคุณขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไป ความทะเยอทะยานของคุณก็จะหายวับไปกับตาด้วยเช่นกัน
“แล้วทำไมจู่ๆ ความทะเยอทะยานถึงหายไปจากเราได้ล่ะ?”
เป็นเรื่องปกติที่ความทะเยอทะยานของคุณจะค่อยๆ ลดลงราวกับมันปลิวหล่นไปตามกาลเวลา ลำดับความสำคัญที่เปลี่ยนไปตามสถานการณ์และสิ่งที่ดูเหมือนเหตุการณ์สำคัญที่เข้ามา บางทีมันไม่ได้ออกไปมือเปล่า แต่มันเอาความทะเยอทะยานเราออกไปด้วย บางกรณีคุณก็ไม่ได้เป็นคนเลือกละทิ้งความทะเยอทะยาน แต่การหยุดไล่ตามเป้าหมายของคุณอาจจะเกิดเพราะสภาพแวดล้อมไม่เป็นใจ ตัวอย่างเช่นการถูกไล่ออกจากงานในฝัน หรือการสูญเสียคนสำคัญในชีวิตไป และนี่คือสาเหตุตัวอย่างที่คุณอาจจะไม่เคยรู้เลยว่าคุณได้สูญเสียความทะเยอทะยานให้กับมันไปเรียบร้อยแล้ว
1. ช่วงชีวิตที่เปลี่ยนไป: เมื่อคุณก้าวเข้าสู่วัยกลางคนอย่างการมีเลข 3 นำหน้าอายุ คุณจะเริ่มรู้สึกกดดันตัวเองว่าคุณควรทิ้งความฝันใน 18 ปีของคุณทิ้งไปซะ ความฝันในตอนนั้นดูไม่สำคัญพอกับการดำเนินชีวิตในวัย 30 ปีของคุณ การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะสร้างความวิตกกังวลให้คุณอย่างมาก จนกระทั่งคุณเริ่มตีกรอบตัวเองแล้วก็ปล่อยตัวเองให้ล่องลอยไปตามกระแสสังคม ซึ่งก็ไม่ต่างจากก้อนเมฆที่ปล่อยตัวเองลอยไปตามลม
“วิกฤตวัยกลางคนที่น่าสะพรึงกลัว”
เมื่อคุณเติบโตและรู้จักตัวเองมากขึ้น คุณจะค้นพบว่ามีความสุขรูปแบบใหม่ที่อาจทำให้คุณประหลาดใจในตัวเองอยู่เหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น คุณอาจจะเกลียดเด็กมาตลอด และไม่เคยคิดที่จะมีลูกเลยแม้แต่ครั้งเดียว แต่ตอนนี้คุณกลับพบตัวเองนั่งดูลูกของคุณทำการบ้านอยู่ที่บ้านอย่างมีความสุข หรือชื่นชมลายมือเมื่อเด็กๆ กำลังหัดคัดไทยตามที่คุณครูที่โรงเรียนสั่ง แต่หากคุณมีความสุขแล้วกับตัวเอง คุณไม่เห็นความจำเป็นของการไล่ตามสิ่งที่ใหญ่กว่ากว่าตัว เพราะฉะนั้นมันไม่เป็นไรเลย ถ้าคุณจะมองหาเป้าหมายทางอาชีพเพื่อความสุขส่วนตัวแทน
2. การขาดแรงจูงใจ: เมื่อคุณขาดแรงจูงใจที่เหมาะสมในอาชีพการงาน คุณจะรู้สึกว่าไม่อยากทุ่มเทน้ำพักน้ำแรงเพื่อผลลัพธ์ทางสายอาชีพใดๆ เลยเป็นพิเศษ จากประสบการณ์พบว่าแรงจูงใจในชีวิตของคนเรามี 2 ประเภทหลักๆ ด้วยกัน ดังต่อไปนี้
- แรงจูงใจภายใน: คุณตั้งใจทำบางสิ่งให้สำเร็จเพราะมันสอดคล้องกับความสนใจ ความเชื่อ และค่านิยมส่วนตัวของคุณ สิ่งจูงใจเหล่านี้มีความหมายส่วนตัวอย่างลึกซึ้ง เพราะมันเชื่อมโยงกับความรู้สึกและจุดประสงค์ในการมีชีวิตของคุณอย่างแท้จริง
- แรงจูงใจภายนอก: เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อความปรารถนาที่จะทำอะไรบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเพราะคุณกลัวผลกระทบด้านลบหรือกระหายในรางวัล คุณก็ยอมรับผลลัพธ์ที่อาจเกิดขึ้นได้จากการกระทำของคุณ
หากคุณตั้งเป้าหมายที่สอดคล้องกับตัวตนของคุณ ความสนใจ และความหลงใหลของคุณ ซึ่งเหล่านั้นจะกลายเป็นผู้จูงใจชั้นดี มันจะดึงดูดคุณให้มีความทะเยอทะยานมากขึ้นเพื่อบรรลุเป้าหมายนั้นอย่างแท้จริง
3. มีความนับถือตนเองต่ำ: ถ้าคุณไม่เชื่อว่าตัวคุณสามารถบรรลุเป้าหมายได้ แล้วคุณจะทำได้อย่างไร? ตัวคุณเองยังไม่เชื่อเลย การมองเห็นคุณค่าในตัวเองต่ำและไม่มีความมั่นใจในตัวเองเลยจะทำให้ความทะเยอทะยานที่ควรมีวิ่งหนีหายไปหมด และคุณจะทำลายตัวเองด้วยทัศนคติเชิงลบที่คุณมีต่อตัวเองอีกด้วย ดังนั้นคุณไม่ยอมเสี่ยงอะไรเลยต่อให้จำเป็นเพื่อบรรลุเป้าหมาย แต่คุณเลือกที่จะโยนเป้าหมายทิ้งแทน สัญญาณต่อไปนี้คือสัญญาณที่บอกว่าคุณกำลังขาดความนับถือในตัวเอง
- ความอ่อนไหวต่อการวิพากษ์วิจารณ์: คุณเชื่อทุกคำวิจารณ์และเก็บมาใส่ใจทั้งหมดโดยไม่สนใจว่ามันเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ที่สร้างสรรค์หรือไม่
- ความเป็นปรปักษ์: เมื่อคุณถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างไม่เป็นธรรม แทนที่คุณจะต่อต้านหรือต่อสู้เพื่อตัวเอง คุณกลับเชื่อในคำวิจารณ์เหล่านั้น หมายความว่าคุณไม่ได้ตั้งตัวเป็นปรปักษ์กับความไม่เป็นธรรมเหล่านั้น แต่คุณกำลังตั้งตัวเป็นปรปักษ์กับตัวเอง
- แยกตัวออกจากสังคม: คุณเริ่มกลายเป็นคนเก็บตัวมากกว่าปกติ คุณไม่อยากพูดถึงปัญหาของคุณกับใครเลย เพราะมันจะยิ่งตอกย้ำความสงสัยในตัวเองให้ยิ่งเจ็บช้ำกว่าเดิม
การพูดกับตัวเองในเชิงลบ อาทิเช่น “นั่นไม่มีวันเกิดขึ้นกับฉัน” หรือ “ไม่มีทางที่ฉันจะทำแบบนั้นได้” แสดงว่าคุณไม่มีความนับถือตัวเองเลยสักนิด
4. ทุกอย่างถาโถมเข้ามามากเกินไป: บางครั้งโลกก็โยนทุกอย่างเข้าใส่คุณพร้อมกันในคราวเดียว อย่างกับนัดกันมาเอาคุณให้ตายกันไปข้างนึง เมื่อคุณมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างเกิดขึ้นในชีวิต เป็นเรื่องปกติที่จะรู้สึกขาดความมั่นใจในการทำอะไรบางอย่างเพื่ออนาคต สถานการณ์แบบนี้จะนำไปสู่การผัดวันประกันพรุ่ง การเลื่อนเป้าหมายออกไป หรือถึงขั้นล้มเลิกไปในท้ายที่สุด
5. อาการซึมเศร้าและวิตกกังวล: ความผิดปกติทางจิต เช่น ภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวล ส่งผลต่อแรงจูงใจและความทะเยอทะยานอย่างมาก ทุกคนประสบกับสภาวะเหล่านี้ด้วยสาเหตุที่ต่างกัน แต่ผู้ที่มีภาวะเหล่านี้มักขาดพลังงานทางอารมณ์ในการไล่ตามเป้าหมาย ความคิดเชิงลบเข้าครอบงำความสนใจทั้งหมดจึงทำให้ยากต่อการคิดถึงสิ่งอื่น หากเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นกับคุณ คุณควรขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญหรือแพทย์โดยไม่ต้องลังเล พวกเขาสามารถเป็นพื้นที่ปลอดภัยและแก้ไขสถานการณ์ที่เป็นอยู่ของคุณได้
แม้เราจะรู้สาเหตุที่ความทะเยอทะยานของเราหายไปแล้ว แต่คุณยังคงต้องการวิธีที่จะสามารถดึงมันกลับมาให้ได้ด้วย และนี่คือ 7 วิธีเอาชนะตัวเองในยามที่กำลังอยู่ในภาวะขาดความทะเยอทะยาน
- หาพี่เลี้ยง: ค้นหาคนที่สร้างแรงบันดาลใจให้คุณและติดต่อพวกเขาอย่างสม่ำเสมอเพื่อนำไปสู่ความสัมพันธ์ในการเป็นเพื่อนระยะยาวและที่ปรึกษาที่สามารถแนะนำคุณตลอดอาชีพการงานของคุณได้
- พึ่งพาการสนับสนุน: คิดถึงคนที่คุณรู้จักมานานที่สุดและคนที่คุณรู้จักดีที่สุด พวกเขาเป็นคนทะเยอทะยานหรือเปล่า? พวกเขาได้สอนบทเรียนสำคัญเกี่ยวกับตัวคุณหรือการทำงานหนักให้หรือไม่? ตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่คุณจะบอกกับพวกเขาว่าคุณต้องการการสนับสนุนจากพวกเขามากกว่าปกติ ไม่ต้องห่วงว่าเขาจะคิดไม่ดีกับคุณ เพราะพวกเขาเป็นคนที่ห่วงใยคุณที่สุด พวกเขาจะกระตือรือร้นในการช่วยเหลือและสนับสนุนคุณอย่างแน่นอน
- รู้จักตัวเอง: ตอนนี้เป็นเวลาที่ดีที่จะไตร่ตรองถึงประสบการณ์ในอดีต บทเรียนที่ได้เรียนรู้ และสิ่งที่ทำให้คุณเต็มไปด้วยความสุข เริ่มเขียนบันทึก เรียนรู้การทำสมาธิ พูดคุยกับนักบำบัดหรือโค้ช การมองอดีตอย่างจริงจังสามารถช่วยคุณวางแผนสำหรับอนาคตได้
- มุ่งเน้นไปที่ความสำเร็จของคุณ: หากคุณกลัวว่าความล้มเหลวจะทำให้คุณผิดหวัง พยายามจดจำช่วงเวลาที่น่าภาคภูมิใจเอาไว้ อะไรที่ทำให้ช่วงเวลานั้นพิเศษ? กลุ่มคนที่ถูกชื่นชมและยกย่องในช่วงเวลาสำคัญเขาเป็นอย่างไร? หันกลับมามองตัวเองว่าคัณกำลังทำอะไรอยู่ มีทักษะอะไร ทำงานกับใคร สิ่งที่สามารถช่วยคุณในการค้นหาว่าอะไรคือแหล่งพลังงานที่ผลักดันให้คุณไปหาเป้าหมายได้ มองไปยังเส้นชัยที่คุณต้องการก็พอ อย่ากลัวความล้มเหลวระหว่างทาง
- ก้าวออกจากพื้นที่ปลอดภัยของตัวเอง: การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่น่ากลัวและอาจทำให้คุณกลัวความสำเร็จ แต่การลองสิ่งใหม่ๆ อาจนำไปสู่การค้นพบที่น่าประหลาดใจได้ มองหาโอกาสที่จะก้าวออกจากพื้นที่ปลอดภัยของตัวเอง คุณอาจริเริ่มโครงการใหม่ที่ทำงาน หรือเรียนในชั้นเรียนที่คุณเคยสงสัยกระบวนการมาตลอด แต่ไม่เคยหาคำตอบสักที ทั้งหมดนี้สามารถช่วยคุณตัดสินใจในการย้ายครั้งต่อไปได้
- ตั้งเป้าหมายที่ชาญฉลาด: คุณอาจมีเป้าหมายอยู่แล้ว แต่ถ้ามันใหญ่เกินไปและน่ากลัว คุณจะรู้สึกว่ามันยากเกินกว่าจะเข้าไปลองหรือเข้าไปทำ เพราะฉะนั้นให้แบ่งเป้าหมายระยะยาวของคุณออกเป็นเหตุการณ์สำคัญที่เล็กกว่าแทน โดยใช้วิธี SMART สำหรับแต่ละขั้นตอน
– Specific – เฉพาะเจาะจง คุณรู้ว่าผลลัพธ์สุดท้ายของคุณจะเป็นอย่างไร
– Measurable – สามารถวัดได้ คุณสามารถวัดผลลัพธ์ของคุณได้เพื่อให้คุณรู้ว่าเมื่อคุณข้ามเส้นชัย
– Achievable – บรรลุผลได้ คุณสามารถบรรลุเป้าหมายด้วยทักษะและทรัพยากรที่คุณมีในปัจจุบัน
– Realistic – สมเหตุสมผล เป้าหมายของคุณรองรับความทะเยอทะยานในชีวิตที่กว้างขึ้น
– Timely – เวลาที่ชัดเจน คุณมีกำหนดเวลาที่ชัดเจนสำหรับเป้าหมายของคุณ
คุณสามารถใช้วิธีนี้สำหรับการตั้งเป้าหมายส่วนตัว อาชีพ เป้าหมายระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวได้ การมีรายการสิ่งที่ต้องทำในแต่ละวันจะช่วยให้คุณสร้างนิสัยในการตั้งเป้าหมายและบรรลุเป้าหมายอย่างสม่ำเสมอ - การวิจัย: องค์ประกอบสำคัญของความทะเยอทะยานคือการทำความเข้าใจว่าอะไรคือจุดยืนระหว่างคุณกับเป้าหมายของคุณ เมื่อคุณทำสำเร็จ คุณจะพร้อมสำหรับความท้าทายที่รออยู่ข้างหน้ามากขึ้น ลองใช้คำถามเหล่านี้ถามตัวเองดู เช่น การศึกษาที่จำเป็นสำหรับงานนี้คืออะไร? หรือ อุตสาหกรรมแข่งขันกันอย่างไร? หรือ ผู้นำในอุตสาหกรรมปัจจุบันมีประสบการณ์แบบไหนที่คุณไม่มี? นอกจากนี้คุณยังสามารถฟังพอดคาสต์ของอุตสาหกรรม อ่านหนังสือ หรือพบปะผู้คน เพื่อให้คุณเข้าใกล้วิธีการบรรลุเป้าหมายที่คุณต้องการมากขึ้น
บทสรุป
ถึงแม้ว่าตอนนี้คุณอาจจะไม่แน่ใจเกี่ยวกับความฝัน เป้าหมายชีวิต และแรงบันดาลใจของคุณ อาจมีหลายคนที่เข้ามาตั้งคำถามเกี่ยวกับชีวิตของคุณ แต่มันก็เป็นแค่เพียงเส้นทางช่วงหนึ่งของชีวิต ที่อาจจะไร้ทิศทางไปบ้าง ล่องลอยไปบ้าง หรือขอหยุดพักตรงจุดที่คุ้นเคยเสียหน่อย ไม่มีอะไรเสียหายเลยหากคุณจะปล่อยตัวเองให้ได้ทำเช่นนั้นบ้าง เพื่อรักษาความทะเยอทะยานให้อยู่กับคุณ คุณจำเป็นต้องสร้างจุดมุ่งหมายที่ใจต้องการและกล้าที่จะปล่อยให้จุดมุ่งหมายนั้นสร้างคุณขึ้นมา ชัยชนะแต่ละครั้งมันหอมหวาน หากคุณได้ลองลิ้มรสแม้แต่การไปถึงเส้นชัยของระยะสั้น มันจะสอนให้คุณสามารถตั้งเป้าหมายระยะยาวได้เองในที่สุด
“กล้าที่จะฝันกลางวัน มันเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะผลักดันคุณให้ไปถึงเส้นชัย”
Reference:
Dare to daydream: How to overcome lack of ambition