Designing Your Work Life ออกแบบชีวิตการทำงานของตัวเราเอง ไม่ใช่ปล่อยให้งานเหล่านั้นมาออกแบบชีวิตของเรา
ผู้เขียนเขาได้ประยุกต์ใช้หลักการ Design Thinking มานำเสนอ เพื่อนำมาใช้ออกแบบชีวิตการทำงานของตัวเราเอง ไม่ใช่ปล่อยให้งานเหล่านั้นมาออกแบบชีวิตของเรา เรื่องราวและวิธีการจะเป็นอย่างไร? เรามาหาคำตอบกันได้ จากหนังสือ Designing Your Work Life: How to Thrive and Change and Find Happiness at Work
ชีวิตของพวกเราส่วนใหญ่ใช้เวลาในแต่ละวันหมดไปกับการทำงาน ในสัปดาห์นึงชั่วโมงการทำงานของเราอาจจะมากกว่าเวลาพักผ่อนโดยรวมไปแล้วเสียอีก หรือ บางทีอาจจะมากกว่ามาตั้งนานแล้ว จึงไม่แปลกเลยถ้าสถานที่ทำงาน จะกลายเป็นสถานที่ที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตเรามากที่สุด สิ่งที่ต้องมองต่อจากนั้นก็คือผลกระทบที่มันสร้างขึ้นเป็นผลกระทบทางบวกหรือลบกับเรา?
หนังสือ Designing Your Life ของ Bill Burnett และ Dave Evans เป็นเหมือนคู่มือในการช่วยให้เราสามารถออกแบบชีวิตของเราให้น่าพึงพอใจในรูปแบบของตัวเราเอง เราสามารถสร้างชีวิตในแบบที่เราต้องการได้เอง เปรียบเสมือนกับการที่เราเป็นดีไซน์เนอร์ออกแบบเสื้อผ้า เครื่องแต่งกายของเราเอง ชอบสีไหน กระโปรงหรือกางเกง เดรสสั้นหรือยาว เราเลือกเองได้ ในเมื่อคนเราสามารถออกแบบเสื้อผ้าได้ ออกแบบที่อยู่อาศัย ตึกรามบ้านช่องได้ ทำไมเราจะออกแบบชีวิตเราให้เป็นตามแบบที่เราต้องการไม่ได้ล่ะ?
“ออกแบบให้งานของเรากลายเป็นงานที่เราต้องการ”
เมื่อเรามาถึงจุดหนึ่งของการทำงาน ที่ความรู้สึกทุกข์ เบื่อหน่าย หรือการเหนื่อยล้ามันเกิดขึ้น ในตอนนั้นบางคนอาจจะรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องปกติแล้วก็เลือกที่จะทนไป บางคนอาจจะรู้สึกไม่ไหว จนถึงกับต้องเลือกเปลี่ยนเส้นทางชีวิตด้วยการลาออก แต่สิ่งหนึ่งที่หลายคนยังไม่เคยได้ลองทำก็คือการออกแบบงานนั้นมันเสียใหม่ ปรับหรือเปลี่ยนมันให้ตรงกับความพึงพอใจในการทำงานของเรา
“เรื่องเงิน สำคัญก็จริง แต่ระวังหากมุ่งเน้นแต่เรื่องเงินมากเกินไป อาจจะไม่ตอบโจทย์เป้าหมายและความหมายของการมีชีวิตอยู่ของเราได้”
ในตอนเริ่มต้น ความคิดริเริ่มที่จะออกแบบการทำงานมักจะมีอุปสรรคเสมอ อุปสรรคที่มีมูลค่าสูงจนคนมากมายเลือกที่จะโยนความคิดอย่างการออกแบบการทำงานของตัวเองทิ้งไป อุปสรรคที่ว่านี้ก็คือ เรื่องเงินนั่นเอง ค่าตอบแทนอย่างเช็คที่เราเอาไปขึ้นเงินได้ จำนวนตัวเลขเงินในบัญชี หรือธนบัตรมากด้วยมูลค่า สิ่งที่เราต้องทำก็คือ เปรียบเทียบชั่งน้ำหนักมูลค่าของสิ่งเหล่านั้น กับความหมายของชีวิตและเป้าหมายในการทำงานดู เราจะเห็นมันอย่างชัดเจนว่าอะไรกันแน่ที่มีค่ากับสำหรับตัวเรามากกว่ากัน?
“มันอาจจะดีพอสำหรับตอนนี้…แต่ไม่ใช่ตลอดไป”
บ่อยครั้งแค่ไหน ที่เราคิดในใจว่าอยากให้มีเวทมนตร์ หรือสิ่งมหัศจรรย์อะไรสักอย่างที่ทำให้ที่ทำงานที่เราทำงานอยู่ในตอนนี้ดีขึ้นมา? หรืออยากให้หัวหน้าของเรามีนิสัยดีขึ้นมาอีกสักหน่อย? สิ่งที่เราทำต่อจากการคิดถึงเวทมนตร์เหล่านั้นก็คือ การปลอบใจตัวเองว่า “แค่นี้ก็ดีแล้ว” หรือ “ตอนนี้ก็ดีพอแล้ว” ทั้งที่จริงๆ แล้วสิ่งที่ควรทำก็คือการสร้างความมหัศจรรย์นั้นขึ้นมาเองต่างหาก เพราะคำที่เรามักพูดว่า “ตอนนี้ก็ดีแล้ว” ไม่ได้หมายความว่าเราจะดีไปมากกว่านี้ไม่ได้
“สิ่งที่เราต้องทำก็คือ ทำให้ดีที่สุดในสถานการณ์ที่แย่”
ความน่ากลัวของความคิดของเราที่ว่า “ดีพอแล้วสำหรับตอนนี้” การคิดแบบนี้เป็นการตีกรอบความสามารถในการทำงานของเราเอาไว้เพราะเราคิดว่ามันดีอยู่แล้ว ผลที่ตามมาก็คือการเรียนรู้และการเติบโตของตัวเราจึงเกิดขึ้นได้ยากมาก อันที่จริงแล้วศักยภาพของเราจะถูกดึงออกมาใช้จริงๆ ในตอนที่เราต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่ย่ำแย่จริงๆ แย่จนคำว่า “ดีพอ” ใช้ไม่ได้อีกต่อไป ดังนั้นการทำให้ดีที่สุดในสถานการณ์การที่แย่ มันเป็นการยกระดับความสามารถของเราและแสดงมันออกมาได้อย่างชาญฉลาดซึ่งมันจะทำให้เราจะดูโดดเด่นมากในช่วงเวลานั้น แต่จะดีกว่าไหม ถ้าหากเราไม่ได้ทำดีที่สุดแค่ตอนที่สถานการณ์แย่ หมายที่เราสามารถทำได้ดีที่สุดทุกสถาณการณ์?
“เราจำเป็นต้องทำให้มุมมองการทำงาน และการใช้ชีวิตของเราชัดเจนมากขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงการไปสู่เส้นทางที่ไม่เหมาะสมสำหรับตัวเราเอง”
ในเรื่องของการออกแบบชีวิตของตัวเอง มุมมองการทำงานและการใช้ชีวิตเป็นเหมือนจุดเริ่มต้นที่นำมาซึ่งสิ่งที่เราต้องการ เรื่องของรายได้มักถูกนำมาเป็นเป้าหมายหลักในการทำงาน ในขณะที่ชีวิตก็ยังต้องการความหมายในการดำรงอยู่ ผู้คนมากมายหลงไหลไปกับวัตถุนิยม เงิน และ อำนาจ ทำให้ละเลยเป้าหมาย หรือ ความหมายของการมีชีวิตอยู่ เส้นทางที่นำไปสู่ชีวิตที่น่าพึงพอใจจึงไม่ราบรื่น และบ่อยครั้งก็ทำให้เราเดินไปผิดทาง ในความเป็นจริง ระหว่างเงิน กับ ความหมายของชีวิต ก็คงไม่มีใครสามารถตอบได้อย่างถูกต้องหรอกว่า เราควรเลือกอะไร? เพราะเงินกับความหมายของชีวิต มีตัวชี้วัดที่แตกต่างกันในด้านการให้คุณค่า ซึ่งสองเรื่องนี้ไม่สามารถอยู่ในคำถามเดียวกันได้ สิ่งที่เราต้องสร้างความชัดเจนให้กับตัวเราเองก็คือ การสร้างเข็มทิศในการเดินทางของตัวเราเอง เพื่อปรับมุมมองของเราให้มีความชัดเจนได้มากขึ้น ดังนี้
- มุมมองการทำงาน: การตั้งมุมมองการทำงานเป็นเหมือนการประกาศว่าเราตั้งค่าเกี่ยวกับการทำงานที่ดีและไม่ดีเอาไว้อย่างไร? ทำไมเราต้องทำงาน? เราทำงานเพื่ออะไร? การทำงานของหมายถึงอะไร? และ มันเกี่ยวกับตัวเอง คนอื่น หรือสังคมอย่างไร?
- มุมมองการใช้ชีวิต: แม้จะฟังดูยิ่งใหญ่และน่ากลัว แต่มันเป็นความคิดแรกเริ่มของเราเกี่ยวกับการให้ความหมายของชีวิตและการใช้ชีวิตให้มันคุ้มค่า มันจะช่วยให้เราสามารถจัดลำดับได้ว่าอะไรคือเรื่องสำคัญที่สุด โดยเราสามารถเริ่มต้นได้จากการตั้งคำถามเหล่านี้ เช่น ทำไมเรามาอยู่ที่นี่? อะไรที่มีความหมายและเป็นเป้าหมายของชีวิต? ความสัมพันธ์ส่วนบุคคลกับคนอื่นคืออะไร? และ ครอบครัวไหน เมืองไหน และที่ใดบนโลกที่เหมาะสมกับเรา?
“หยิบปัญหาใส่ลงในกล่อง และบอกว่าอะไรอยู่ในกล่อง”
สิ่งถัดมาในการออกแบบชีวิตของเราหลังจากเราสามารถค้นพบมุมมองการทำงานและการใช้ชีวิตของตัวเองแล้ว คือการปรับโครงสร้างเพื่อแก้ไขปัญหาใหม่ๆ ที่เราไม่เคยรับมือมาก่อน ทุกครั้งที่มีปัญหาเข้ามา เราจะหยิบมันใส่ลงไปในกล่องแล้วบอกว่ามันคืออะไร? กล่องนี้จะเป็นกรอบที่เราจำกัดพื้นที่ให้กับปัญหาเหล่านั้น แต่ในการแก้ไขปัญหาใหม่ๆ มันไม่ได้เกี่ยวกับว่าปัญหาอะไรอยู่ในกล่อง แต่กล่องนี่แหละที่เป็นปัญหา
คนเรามักบอกว่าความคิดสร้างสรรค์ คือความคิดนอกกรอบ การคิดเกี่ยวกับอะไรที่อยู่นอกเหนือกล่องที่เราใช้ใส่ปัญหาเอาไว้ มันคือทั้งหมดของกิจกรรมการเล่นสนุกอยู่รอบๆ กล่องของเราโดยที่ไม่ยอมกระโดดลงไปภายในกล่องใบนั้น แต่การเล่นสนุกแบบนี้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อ
“เราต้องยอมรับเสียก่อนว่ามันมีกล่องอยู่ตรงนั้นเสมอ ไม่ว่าเราจะออกมาไกลแค่ไหนก็ตาม และเตือนตัวเองว่าปัญหาที่เรากำลังเจอและพยายามแก้ไขนั้น มีกล่องใส่มันเอาไว้เสมอ”
ทางแก้ก็คือ เมื่อเรารู้ว่าว่าเรามีกล่องสำหรับปัญหา เราสามารถเปลี่ยนขนาดกล่องใบนั้นได้ทุกเมื่อที่เราต้องการ การขยายขนาดกล่องเป็นการเพิ่มพื้นที่ให้กับวิธีแก้ปัญหาที่เราสามารถนำมาใช้แก้ปัญหาของเราได้ แต่หากเราจะตั้งคำถามว่าทำไมเราไม่ แกะกล่องนั้นออกเสียล่ะ ในเมื่อเราด็รู้อยู่แล้วว่ามีกล่องอยู่ตรงนั้น แต่ขึ้นชื่อว่าเป็นมนุษย์แล้ว เราไม่มีทางทำได้หรอก เพราะกล่องมันจะอยู่ตรงนั้น ต่อให้ขยายไปแค่ไหน มันก็ยังเกิดการตีกรอบของความคิดของเราอยู่ดี
“เราจะพบว่ามันไม่ได้ถูกต้องทั้งหมดกับการพูดว่า คนอื่นทำให้เราต้องออกห่างจากคำว่าความสุขมากขึ้นเรื่อยๆ”
เมื่อเราติดอยู่ในชีวิตที่เราไม่ได้พอใจ เรามักจะตำหนิหรือโยนความผิดให้สิ่งอื่นรอบข้างเสมอ “มันไม่ใช่ความผิดของฉันที่งานห่วยแตก คุณเคยเจอหัวหน้าฉันหรือยังล่ะ?” หรือ “มันเป็นความผิดของบริษัทที่มีนโยบายและวัฒนธรรมองค์แย่ๆ พนักงานทุกคนถึงได้ไม่มีความสุขแบบนี้” เราเอาแต่พูดว่าเป็นเพราะใครหรือเป็นเพราะอะไร แต่เราไม่เคยบอกว่ามันเป็นเพราะตัวเราเอง เราอาจจะกำลังโทษหัวหน้าของเราที่แสนห่วยแตกว่าทำให้เราไม่มีความสุขในการทำงานได้มากขนาดนี้ แต่เราเคยลองถามตัวเองดูหรือยังว่าใครคือหัวหน้าของเราจริงๆ กันแน่? เพราะในการออกแบบชีวิตเรา เราเองนี่แหละที่เป็นหัวหน้า
“เปลี่ยนเรื่องเล่า เปลี่ยนผลลัพธ์”
จากงานวิจัยของศาสตราจารย์ Carol Dweck มหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ดพบว่าเราสามารถแบ่งความคิดของคนได้ออกเป็น 2 รูปแบบด้วยกัน คือ แบบแรก เป็นกลุ่มที่มีความคิดคงที่ (Fixed Mindset) และ แบบที่สอง เป็นกลุ่มที่มีการเติบโตทางความคิด (Growth Mindset) คนที่มีความแบบแรกก็จะเชื่อว่าความเก่งและความสามารถของพวกเขาคงที่ ตามธรรมชาติแล้ว เรื่องของพรสวรรค์ ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เมื่อพวกเขาประสบความสำเร็จในบางอย่าง พวกเขาก็จะเชื่อว่ามันเป็นเพราะความสามารถตามธรรมชาติของพวกเขา
“มันไม่ใช่ความผิดของฉัน ก็ฉันไม่เก่งในเรื่องพวกนั้น” หลายคนมักพูดแบบนี้ตอนที่พวกเขาล้มเหลว
ในอีกด้านหนึ่ง คนที่มีการเติบโตทางความคิดจะเลือกที่จะเชื่อว่า ถึงแม้ว่าทุกคนจะมีพรสวรรค์หรือความสามารถตั้งต้นตามธรรมชาติที่ไม่เท่ากัน แต่ความเก่งกาจและความสามารถเป็นสิ่งที่พัฒนาได้ พวกเขาสามารถเรียนรู้ที่จะเก่งในสิ่งใหม่ๆ พวกเขาเชื่อว่าสามารถประสบความสำเร็จได้ด้วยความพยายามในการทำงานอย่างหนัก การฝึกซ้อม ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่อะไรที่พวกเขาได้มาโดยกำเนิด
“คนที่มีการเติบโตทางความคิด จะมีความพยายามและเต็มใจที่จะทำงานหนักเพื่อให้ไปถึงเป้าหมาย แม้ว่าพวกเขาจะไม่ได้เก่งกาจมาตั้งแต่ต้นก็ตาม”
นี่คือ 2 สิ่งบนโลก ที่สร้างผลลัพธ์ที่แตกต่าง ลองสังเกตเรื่องราวของตัวเราเองดู เมื่อไรก็ตามที่เราเริ่มรู้สึกว่าเรากำลังจะกลายเป็นคนที่มีความคิดคงที่ ให้เราพยายามปรับโครงสร้างความคิดและเล่าเรื่องเดิมของเราด้วยวิธีคิดใหม่ให้ดีขึ้น พยายามดึงการเติบโตทางความคิดเข้ามาใส่ ย้อนมองตัวเอง สร้างผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อแก้ไขปัญหาโดยการขยายกรอบที่เคยตีไว้แล้วให้กว้างขึ้นอีกสักหน่อยแล้วมันจะดีขึ้น
การออกแบบชีวิตการทำงานเสียใหม่อาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่มันก็ง่ายกว่าการเริ่มต้นใหม่อยู่มากเหมือนกัน ดังนั้นอย่างน้อยเราก็มาลองทำความเข้าใจการออกแบบชีวิตการทำงานของเรา และลองทำตามไอเดียเหล่านี้ดูก่อนที่จะรีบตัดสินใจที่จะลาออก และนี่คือ 2 กลยุทธ์ที่จะทำให้เราสามารถขยายกล่องใบเดิมของเราให้กว้างขึ้นโดยไม่ยึดติดกับกรอบเดิมๆ
กลยุทธ์ที่ 1: ปรับโครงสร้าง และการเปลี่ยนกฎเกณฑ์ – เป็นการปรับกิจวัตรประจำวันของเราเกี่ยวกับลำดับความสำคัญขององค์กร เพิ่มคุณค่าให้แก่การดำเนินงานให้มากขึ้น แม้คุณจะทำงานอยู่ที่เดิม แต่การปรับแต่งกิจวัตรประจำวันหรือ ลองตั้งกฏเกณฑ์ใหม่ๆ แล้วยึดมันไว้ให้แน่น อาจสร้างเรื่องราวที่แตกต่างและสร้างความสัมพันธ์ในรูปแบบที่คุณไม่เคยมาก่อนในที่ทำงานได้
“มองหาผลประโยชน์ใหม่ๆ และหาแหล่งที่จะสร้างความพึงพอใจให้คุณได้มากพอ..สำหรับตอนนี้”
กลยุทธ์ที่ 2: ปรับเปลี่ยนต้นแบบ – เราสามารถยกเครื่องใหม่ชีวิตการทำงานของเราได้ สร้างการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้อย่างชัดเจน สร้างภาพลักษณ์ใหม่ พรมใหม่ เฟอร์นิเจอร์ใหม่ และนี่อาจจะฟังดูเหมือนเรากำลังต้องการจะเปลี่ยนมันใหม่ทั้งหมด การเปลี่ยนแปลงต้นแบบที่เราใช้ยึดในการทำงานเป็นสิ่งที่ใหญ่กว่าและทำให้มีส่วนร่วมได้มากกว่า ซึ่งสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ชัดเจนกว่า
“เป็นโอกาสที่ดี ที่เราจะได้เริ่มเขียนบทบาทและเรื่องราวใหม่ของชีวิตของเรา”
ในจุดที่การออกแบบชีวิตของเรามาถึงจุดที่เรารู้ตัวว่าควรเริ่มต้นใหม่ดีกว่าการพยายามออกแบบการทำงานในสถานที่เดิม มันไม่ใช่เรื่องที่ผิดอะไรเลย เพราะการลาออก ก็เป็นหนึ่งในการออกแบบชีวิตที่เราได้เลือกแล้ว คนมากมายชอบมีความคิดเกี่ยวกับการลาออกในทางลบเสมอ แต่การลาออกจริงๆแล้ว ถือเป็นการนำเสนอโอกาสที่ดี มันทำให้เราเห็นข้อเท็จจริงระหว่างการทำบางอย่างให้เสร็จสิ้นกับการเริ่มต้นใหม่ เราควรปรับกรอบความคิดเกี่ยวกับการลาออกให้เป็นเหมือนโอกาสที่คุณจะได้เป็นนักเขียน และได้เริ่มต้นเขียนเรื่องราวของตัวเองใหม่อีกครั้ง
บทสรุป
การใช้ชีวิตมันยากด้วยตัวมันเองอยู่แล้ว ถ้าหากคนเรามีชีวิตที่สมบูรณ์แบบและการงานที่มั่นคงอยู่แล้ว เราคงไม่จำเป็นต้องออกแบบชีวิตอะไรกันเพิ่มเติมอีกเลย แต่ความเป็นจริงมันไม่ใช่ เพราะความมั่นคงมันไม่มีอยู่จริง
“การออกแบบชีวิตของเรามันไม่มีจุดสิ้นสุด และมันไม่มีความสมบูรณ์แบบ แต่บางครั้งมันดีมากเลยด้วยซ้ำ เพราะชีวิตของเรานั้นสั้น สั้นเกินกว่าที่เราจะเลิกทำงานได้ และชีวิตเราก็มีค่าเกินกว่าจะเลิกทำงานได้”
การออกแบบชีวิตของเราจึงเป็นเหมือนงานที่อยู่ในขั้นตอนของการดำเนินการ ไม่มีอะไรดีไปกว่าการไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป มันทำให้ชีวิตของเราน่าสนใจ น่าตื่นเต้น และน่าหลงใหลอย่างไม่รู้จบ บางครั้งเราอาจจะล้มเหลวบ้าง เดินถอยกลับไปที่เดิมบ้าง หรืออาจจะต้องเริ่มต้นใหม่ซ้ำๆ แต่ด้วยการออกแบบความคิดจะทำให้เรามีภูมิคุ้มกันต่อการล้มเหลว เราจะมีแรงเพื่อก้าวต่อไปข้างหน้าใหม่อีกครั้ง เพื่อที่จะได้พบกับช่วงเวลาที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งมันอาจจะได้ผลลัพธ์เกินกว่าที่เราจินตนาการเอาไว้ว่าจะเกิดขึ้นอีกด้วยซ้ำ