Emotions at Work, how to deal with it? ปัญหาเรื่องของอารมณ์ และวิธีจัดการกับอารมณ์ในที่ทำงาน ถือเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับคนทำงานในยุคนี้
หลายคนมักบอกว่าการทำงานอย่างเป็นมืออาชีพให้สำเร็จได้นั้นจำเป็นต้องแยกเรื่องงานและเรื่องส่วนตัวออกจากกันให้ได้ งานคืองาน ความรู้สึกและชีวิตที่กำลังดำเนินต่อไปคือเรื่องส่วนตัว หากคุณทำได้จริงคุณจะกลายเป็นมืออาชีพ แต่ประเด็นอยู่ตรงที่คุณจะสามารถยิ้มทักทายให้กับเพื่อนร่วมงานตอนเจอกันที่ร้านกาแฟได้หรือเปล่า ถ้าเขาคือคนที่นินทาว่าร้ายคุณลับหลังให้หัวหน้าคุณฟัง?
“งานจบ แต่อารมณ์ไม่จบ”
การกระทบกระทั่งกันในที่ทำงาน หรือความขัดแย้งที่เกิดขึ้นโดยมีงานเป็นสาเหตุ มักทำให้เราเกิดอารมณ์หรือความรู้สึกที่ไม่พึงใจนักกับคนที่เราร่วมงานด้วย หรือผลลัพธ์ของงานที่ออกมาไม่เป็นไปดังใจ ซึ่งอารมณ์หรือความรู้สึกแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะการทำงานเป็นทีมเท่านั้น แต่การทำงานเดี่ยวคนเดียวที่ได้รับฟีดแบคหรือผลลัพธ์ไม่เป็นไปตามที่คาดเอาไว้ก็สามารถทำให้เราเกิดความรู้สึกอยากเขวี้ยงงานบนโต๊ะทั้งหมดทิ้งไปได้เหมือนกัน ซึ่งทั้งสองเรื่องนี้มันไม่ได้เกี่ยวกับคนหรืองานโดยเฉพาะ แต่เป็นเรื่องของอารมณ์และความรู้สึกต่างหากที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรงเลย
“คุณเองก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง!”
อย่างแรกที่คุณต้องทำความเข้าใจก่อนที่จะตำหนิว่าตัวเองว่าไม่เป็นมืออาชีพก็คือ การที่คุณมีอารมณ์และความรู้สึกนั้นถูกต้องแล้ว เพราะคุณเองก็มนุษย์คนหนึ่งเหมือนกัน รับรู้ถึงอารมณ์และความรู้สึกในที่ทำงานนั้นเป็นเรื่องปกติ ถ้าคุณเป็นหุ่นยนต์ก็ว่าไปอย่าง เราใช้เวลามากกว่า 1 ใน 3 ของวันในการไปทำงาน จึงเป็นเรื่องไม่น่าแปลกใจหากเรื่องงานจะส่งผลต่อสุขภาพจิตของคุณเหลือเกิน
แม้มันจะเป็นเรื่องปกติที่มนุษย์ที่ออกไปทำงานทุกวันอย่างคุณต้องพบเจออยู่เสมอ แต่มันก็เป็นหนึ่งในอุปสรรคที่ทำให้คุณติดอยู่กับอารมณ์และความรู้สึกเหล่านั้นจนอาจพลาดโอกาสในการก้าวหน้าไป เพราะฉะนั้นเพื่อช่วยเพิ่มความเป็นมืออาชีพให้กับคุณ สิ่งเหล่านี้คือ “วิธีจัดการเมื่อเกิดอารมณ์และความรู้สึกไม่ดีในที่ทำงาน”
วิธีจัดการเมื่อเกิดอารมณ์และความรู้สึกไม่ดีในที่ทำงาน
1. รับฟัง
เรามาเริ่มต้นกันจากการนิ่ง และฟังร่างกายของคุณ มันกำลังพยายามสื่อสารอะไรถึงคุณ? บ่อยครั้งที่เรารู้สึกได้ว่ามีอะไรในร่างกายผิดปกติก่อนที่เราจะสามารถเจาะจงได้เสียอีกว่าอาการดังกล่าวคืออะไร? ใบหน้าของคุณอาจจะแดงก่ำ ขอบตาร้อนผ่าว หัวใจเต้นเร็วจนได้ยิน นี่แสดงถึงคุณกำลังวิตกกังวลมากกว่าที่คุณคิด
ข้อห้ามเลย ก็คือ ในขณะที่กำลังอารมณ์เสียหรือกระสับกระส่ายจนขาดสติ ถ้าเป็นไปได้ อย่าพยายามตัดสินใจอะไร ไม่ว่าจะเรื่องเล็กหรือใหญ่ งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์แสดงให้เห็นว่าเมื่อคนเรากำลังวิตกกังวลเรื่องอะไรสักอย่าง ความสามารถในการตัดสินใจของพวกเขาจะลดลง
2. เรียนรู้วัฒนธรรมของบริษัท
ทุกบริษัทมีวัฒนธรรมที่แตกต่างกันออกไป บางบริษัทอาจมีความเปราะบางทางอารมณ์มากกว่าบริษัทอื่นๆ แม้ว่าคุณจะทำงานให้กับบริษัทที่เปิดกว้างในการพูดคุยเกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึก แต่คุณควรคำนึงถึงขอบเขตในการเปิดเผยอารมณ์และความรู้สึกเหล่านั้นด้วย หากจะพูดให้เห็นภาพ ประธานบริษัทของคุณก็คงไม่ได้อยากรู้ว่าผลงานคุณแย่ลงเพราะคุณเพิ่งเลิกกับแฟน หรือคุณทำงานส่งช้าลงเพราะติดปาร์ตี้กับเพื่อน เป็นต้น
3. ค้นหาบุคคลที่ปลอดภัย
ในโลกของการทำงานที่เหมือนเราต้องพยายามเอาตัวรอดกันในทุกวัน จะเป็นเรื่องที่ดีมากหากคุณมีเพื่อนร่วมงานที่ไว้ใจได้สักคน เพื่อแบ่งปันความรู้สึกทั้งดีและไม่ดีแก่กัน อย่างไรก็ตาม คนทำงานทุกคนต่างรู้กันดีว่าไม่ใช่ทุกคนจะสามารถเป็นเพื่อนร่วมงานที่ปลอดภัยให้กับคุณได้ มิเช่นนั้นคงไม่เรียกว่าการเอาตัวรอดหรอก พยายามมองหาพันธมิตรที่เชื่อถือได้ในที่ทำงานที่คุณสามารถระบายเมื่อรู้สึกไม่สบายใจด้วยได้
4. การเปิดกว้างทางอารมณ์
หากคุณอยู่ในตำแหน่งผู้จัดการหรือหัวหน้า คุณสามารถกำหนดลักษณะสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนให้เพื่อนร่วมงานทุกคนสบายในการแบ่งปันความคิดของพวกเขาให้แก่กันและกันได้ การโอบกอดกันในทีมถือเป็นวิธีการสร้างความแข็งแกร่งในทีมที่ดีอีกวิธีหนึ่ง ในฐานะหัวหน้า การที่ลูกน้องมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันและดีต่อคุณ พวกเขาสามารถเป็นพลังพิเศษให้คุณในการทำงานได้
5. ยอมรับว่าคุณไม่สามารถเลือกเพื่อนร่วมงานได้
หากคุณไม่ได้เปิดบริษัทของคุณเอง ก็จะเป็นไปไม่ได้เลยที่คุณจะเลือกเพื่อนร่วมงานได้เอง เรื่องนี้เป็นเหมือนการวัดดวงโดยแท้ ซึ่งเราควบคุมไม่ได้และหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วย ไม่ต้องห่วง คุณไม่จำเป็นต้องเป็นเพื่อนซี้ตายแทนกันได้กับเพื่อนร่วมงานก็ได้ คุณก็แค่ต้องทำงานของตัวเองให้เสร็จ เป็นมิตรกับทุกคน ถึงจะไม่สามารถซี้กันได้แต่ก็ไม่ควรสร้างศัตรูในที่ทำงานเพิ่ม
6. สร้างขอบเขต
การได้ใช้เวลากับเพื่อนร่วมงานทางสังคมก็เป็นเรื่องดีเช่นกัน แต่คุณต้องรู้จักคำว่าพอดีในการวางตัว เพราะยิ่งคุณออกไปเที่ยวกับพวกเขามากเท่าไร นั่นหมายถึงความยุ่งเหยิงทางอารมณ์และงานของคุณที่เพิ่มมากขึ้นด้วย สถานการณ์น่าอึดอัดใจที่ตามมาคือ เมื่อคุณต้องสนทนาเกี่ยวกับงานหรือค่าตอบแทนบางอย่างที่มีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง เรื่องของมิตรภาพจากเรื่องส่วนตัวกับการทำงานกำลังชนกันให้ยุ่งเหยิงเลยทีเดียว
7. เตรียมเครื่องมือ
บางครั้งก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะรู้สึกถึงอารมณ์มากมายในที่ทำงาน เวลาแบบนี้สิ่งสำคัญที่สุดคือคุณต้องมีตัวช่วยหรือเครื่องมือสุขภาพจิตที่จะช่วยคุณได้เมื่อคุณรู้สึกแบบนี้ ไม่ว่าจะเป็นสมุดไดอารี่ สละเวลาไปสูดหายใจลึกๆ หรือแม้แต่การออกไปหาขนมหวานกินให้ร่างกายพอที่จะได้กลับมาสดใสขึ้นอีกสักหน่อย เป็นต้น
8. การดูแลตนเอง
หลายสิ่งรอบตัวที่อาจทำให้เกิดอารมณ์รุนแรงในที่ทำงาน สิ่งเหล่านี้เรียกว่าปัญหาใหญ่ในสังคมหรือภายในบริษัทของคุณ ซึ่งนี่ไม่ใช่ความผิดของคุณเลย การดูแลตัวเองอาจไม่ใช่คำตอบของการยุติปัญหาที่เกิดโดยคนอื่น แต่เพื่อช่วยคุณในการจัดการกับอารมณ์และความรู้สึกที่ไม่ดี นอกจากนี้ยังเป็นหนึ่งในสิ่งที่คุณสามารถทำได้โดยไม่เกี่ยวกับคนอื่น เพื่อช่วยให้คุณดูแลตัวเองได้ดีขึ้น คุณควรปฏิบัติดังนี้
- ใช้วันหยุด วันหยุดของคุณเป็นหนึ่งในค่าตอบแทนที่คุณได้จากการทำงาน แล้วทำไมคุณถึงต้องไม่รับมันด้วยล่ะ การพักร้อนอาจช่วยทำให้ฟิวส์ที่กำลังรอการระเบิดในตัวคุณเย็นลงได้ นอกจากนี้ยังมีการศึกษาที่น่าสนใจจากองค์การอนามัยโลกว่า การทำงานเป็นเวลานานทำให้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดอีกด้วย ดังนั้น หยุดไปพักหน่อยเถอะ
- นอนหลับ ทุกอย่างดูยุ่งเหยิงขึ้นเมื่อคุณกำลังเหนื่อย การจัดการอารมณ์ที่แม้จะเป็นเรื่องเล็ก แต่หากคุณกำลังพบกับความเหนื่อยล้า มันอาจจะกลายเป็นอารมณ์ที่คุณไม่สามารถจัดการได้จนกระทั่งมันปะทุขึ้นมาก็ได้ เพราะฉะนั้นนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอเพื่อให้ร่างกายแข็งแกร่งพร้อมที่จะเจอและจัดการกับอารมณ์และความรู้สึกแย่ๆอยู่เสมอ
- ออกไปรับประทานอาหารกลางวัน แม้ว่าจะเป็นเวลาไม่กี่นาทีก็ตาม แต่หากคุณทำได้ ลองออกไปกินอาหารกลางวันนอกบริษัทดู ใช้เวลาสำหรับมื้อกลางวันของคุณเพื่อนกินอย่างมีสติและผ่อนคลาย แทนที่จะกินมื้อเที่ยงที่โต๊ะทำงานและทำงานหลายอย่างไปพร้อมกับตักข้าวเข้าปาก นั่นไม่เรียกว่าพักกลางวันจริงๆหรอกนะถ้าคุณไม่ได้พักน่ะ
- รู้ขีดจำกัด สิ่งนี้จำเป็นต่อสุขภาพจิตของคุณมาก หากคุณมีโครงการที่ต้องร่วมมือกับใครบางคนที่คุณรู้ว่าเขาจะกลายเป็นศัตรูต่อสุขภาพจิตของคุณแน่นอนหากต้องร่วมงานกัน มันอาจจะคุ้มค่าว่าหากคุณปฏิเสธโครงการนั้นไปเพื่อรักษาความสงบของคุณเอาไว้ เสียงานแต่รักษาสุขภาพจิตไว้ได้ก็ถือว่าคุ้มค่าไม่ใช่หรอ
- รับความช่วยเหลือจากมืออาชีพ หากอารมณ์และความรู้สึกในที่ทำงานมากเกินกว่าจะจัดการได้ หรือรบกวนลามมาถึงชีวิตส่วนตัวของคุณ การพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตถือเป็นอีกทางออกที่ดี ผู้เชี่ยวชาญอาจจะเป็นตัวช่วยสำคัญที่ช่วยคุณจัดการอารมณ์และความรู้สึกที่รบกวนจิตใจของคุณให้หายไปได้
บทสรุป
แม้คุณจะเป็นหนึ่งในกลไกของบริษัทที่ช่วยขับเคลื่อนบริษัทไปข้างหน้า แต่อย่าลืมว่าพวกคุณก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง อารมณ์และความรู้สึกเป็นหนึ่งในองค์ประกอบของมนุษย์ที่ทำให้มนุษย์แตกต่างจากคอมพิวเตอร์ โปรแกรม หรือ AI ไหนๆ
เมื่อคุณเกิดอารมณ์หรือความรู้สึกไม่ดีในการทำงาน อย่าปล่อยให้มันตามไปรบกวนคุณในชีวิตส่วนตัว คิดเอาไว้ว่างานต้องจบในงาน ผลประโยชน์ การทำงาน หรือความผิดพลาดทั้งหมดล้วนเป็นเพียงสิ่งที่เกิดขึ้นภายในงาน เมื่อคุณกลับมาใช้ชีวิตส่วนตัว โยนความรู้สึกและอารมณ์จากงานทิ้งไว้ตรงนั้น หาวิธีจัดการมันให้ได้ อาจจะเป็นวิธีข้างต้นที่คุณอ่านผ่านมาหรือวิธีที่คุณค้นพบด้วยตัวเอง มีอารมณ์และความรู้สึกได้แต่ต้องจัดการมันได้ด้วย คุณถึงจะเรียกได้ว่ามืออาชีพ
“มืออาชีพไม่ใช่หุ่นยนต์ พวกเขามีอารมณ์และความรู้สึก แต่พวกเขาวิธีจัดการมันอย่างถูกต้อง พวกเขาถึงเป็นมืออาชีพ”
Reference:
How to Deal With Emotions at Work
บทความแนะนำ:
Workplace Stress – ความเครียดในที่ทำงานคืออะไร และมีผลกระทบกับเราอย่างไร?