ถ้าบริษัทขาดทุนอย่างต่อเนื่อง เป็นระยะเวลา 3 เดือน ติดต่อกัน และ ถ้าพนักงานส่วนใหญ่ของบริษัทนี้ มีทัศนคติที่เป็น Inward Mindset พวกเขาจะมีความคิดเห็นและพฤติกรรมต่อเรื่องนี้อย่างไร?
“ก็น่าจะเป็นเรื่องปรกติ ตลาดอาจจะไม่ดี อาจจะเป็นเพราะเศรษฐกิจไม่ดีก็เป็นได้”
“สินค้าขายยากขึ้น เพราะคู่แข่งมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าราคาถูกที่มาจากจีน”
“พนักงานขาย หรือ ทีมขาย อาจจะไม่เก่งจริง หางานเข้าบริษัทได้น้อยมาก”
“ลูกค้าก็เรื่องมากขึ้นทุกวัน ชอบเอาราคาคู่แข่งที่ถูกกว่ามากดราคาเรา สุดท้ายเราก็สู้ไม่ได้”
“ทีมงานบริการหลังการขายของเรา ยังทำหน้าที่ได้ไม่เต็มที่ ทำให้ลูกค้าเก่าหายไปเยอะ”
“ทีมงานหลังบ้าน ก็สบายเกินไป ใช้แต่เงิน ไม่เคยคิดช่วยกันหาเงินเข้าบริษัทบ้างเลย”
“ต้นทุนของการผลิตของเราสูงมาก ทำให้เราสู้คู่แข่งเขาไม่ได้”
“คู่แข่งเขามีงบการตลาด งบประชาสัมพันธ์เยอะกว่าเรา เราจะไปสู้อะไรกับเขาได้”
นี่คือบางส่วน ของตัวอย่างเหตุผลจากพนักงาน ที่มาจากหลากหลายหน่วยงาน หลังจากที่ทราบว่าบริษัทกำลังประสบปัญหาขาดทุนอย่างต่อเนื่อง
หลายคนได้ให้ความคิดเห็น ที่เป็นในเชิงของความรู้สึก มากกว่าในเชิงของเหตุผล หรือ ข้อเท็จจริง และ ถ้าเรามองให้ลึกลงไป ในแต่ละเหตุผลที่ถูกยกมานั้น ต่างก็เป็นเหตุผลที่โทษแต่คนอื่นทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น โทษเศรษฐกิจ โทษลูกค้า โทษฝ่ายขาย โทษฝ่ายผลิต โทษฝ่ายบริการ โทษคู่แข่ง หรือ โทษคนอื่นๆ เพราะ เหตุผลเหล่านี้มันคือ การแก้ตัว มากกว่าการทางแก้ไข
ไม่เห็นมีใครที่จะโทษตัวเองสักคนว่าเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา
ไม่มีความคิดเห็นไหนเลย ที่จะสามารถนำไปสู่การปรับปรุง หรือ การแก้ไข สถานการณ์ที่บริษัทขาดทุนอย่างต่อเนื่องได้เลย
ซึ่งที่เป็นแน่นอนว่า บริษัทนี้ ก็ยังคงขาดทุนต่อไปในเดือนที่ 4, 5, 6 มีหวัง ได้ปลดพนักงานออกแน่ และ บริษัทอาจจะไปไม่รอดในท้ายที่สุด
ปัญหาอยู่ตรงไหน? มองไม่เห็นปัญหาจริงหรือเปล่า?
ก็อาจจะใช่ เพราะเวลาอยู่ในที่ประชุมทีไร แต่ละฝ่ายก็บอกว่างานในส่วนของตนเองดีเยี่ยม ไม่มีปัญหา
อ้าวแล้วทำไม บริษัทถึงยังขาดทุนอย่างต่อเนื่องล่ะ?
รึว่า ผู้นำไม่เข้าใจในปัญหาจริงหรือเปล่า?
จะให้เข้าใจได้อย่างไร ในเมื่อแต่ละฝ่ายก็ซุกซ่อนปัญหาเอาไว้ เพราะไม่ต้องการให้ใครๆ รู้ว่าหน่วยงานของตน หรือ ตัวพวกเขาเองมีปัญหา
ส่วนนึง พวกเขาก็อาจจะกลัวว่า การบอกปัญหาที่ตนเองมีไป จะไม่ได้รับการช่วยเหลือ หรือ จะไม่ได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหาร และ จากหน่วยงานอื่นๆ (กลัวไม่มีใครช่วย)
และอีกส่วนนึงพวกเขา พวกเขาก็อาจจะกลัวว่า จะถูกผู้บริหารมองว่าพวกเขาไม่ดี ไม่เก่ง ไม่มีความสามารถ ซึ่งอาจจะมีผลต่อความมั่นคงในหน้าที่การงานของพวกเขาได้ (กลัวตกงาน)
นั่นคือสาเหตุหลักๆ ที่พวกเขาเลือกที่จะเงียบดีกว่า
การเงียบ เป็นแค่ทางเลือกทางนึงในการปิดบังปัญหา แต่มันไม่ได้ช่วยให้ปัญหานั้นหายไป
ปัญหาที่ทำให้เรื่องราวลุกลามใหญ่โต เกิดจาก ทุกฝ่ายในยามเจอปัญหา หรือ อุปสรรค ต่างก็ไม่ยอมเปิดใจคุยกันตั้งแต่แรก (ซุก ซ่อนปัญหาเอาไว้ รอวันระเบิด)
และที่แย่กว่านั้น ต่างก็เห็นความสำคัญของตนเองเป็นใหญ่ โดยมองคนอื่น หน่วยงานอื่นคือปัญหา มองว่าปัญหามาจากคนอื่น และตนเองเป็นผู้ถูกกระทำให้ได้รับผลกระทบเหล่านี้ไปด้วย
พนักงานเกือบทั้งหมด ก็เลยเพิกเฉยต่อปัญหา เพราะคิดว่าปัญหาไม่ได้มาจากตนเอง นั่นก็เลยทำให้ตนเองไม่จำเป็นต้องไปแก้ หรือ ไปช่วยแก้ปัญหานั้นๆ
บริษัทนี้ กำลังมีปัญหา และ ปัญหาที่แท้จริงก็คือ คนที่ส่วนใหญ่ กำลังมีทัศนคติที่เป็น Inward Mindset ซึ่งเป็นทัศนคติที่ คนมักให้ความสำคัญกับตนเองมากกว่าคนอื่น มองว่าคนอื่นคือตัวปัญหา มักคิดว่าตนเองเป็นฝ่ายถูก มักจะแสดงอาการปกป้องตนเอง หรือ พูดจาให้ร้ายคนอื่น โยนความผิด หรือ ปัญหาให้คนอื่นๆ เป็นต้น
“ปัญหาใหญ่ๆ ขององค์กร มักมีจุดเริ่มต้นจากปัญหาเล็กน้อย ที่เกิดระหว่างคนเพียงไม่กี่คน”
เมื่อคนใดคนหนึ่ง เริ่มต้นด้วยการกระทำที่มาจาก ทัศนคติที่เป็น Inward Mindset ตัวอย่างเช่น ฝ่ายขาย พอขายไม่ได้ ก็กล่าวโทษว่าฝ่ายบริการดูแลลูกค้าไม่ดี ลูกค้าก็เลยไม่ซื้อ พอฝ่ายบริการได้ยิน ด้วยที่มีทัศนคติที่เป็น Inward Mindset เช่นกัน ฝ่ายบริการก็เลยโต้ตอบกลับไป ด้วยการกล่าวโทษฝ่ายขายว่า ไม่มีความสามารถ ไม่มีฝีมือ เป็นต้น ทำให้เกิดวงจรกล่าวโทษกันและกัน ยิ่งเกิดขึ้นบ่อย ยิ่งมีความรุนแรงสูงขึ้น อาจจะลุกลามไปใหญ่โต เพราะแต่ละฝ่ายก็อาจจะไปหาพวกมาสนับสนุนความคิดตนเอง เพื่อให้ตนเองเป็นฝ่ายถูก
ผลที่ตามมา ก็จะเกิดการแบ่งพรรคแบ่งพวกในองค์กร (เกี่ยงงาน เกี่ยงความรับผิดชอบ ปัดปัญหาออกจากตัว) ก่อเกิดความสัมพันธ์ที่แย่ๆ (จากปัญหาเรื่องเล็กๆ ที่เกี่ยวกับงาน ลุกลามกลายเป็นอคติส่วนบุคคล) ต่างคน ต่างฝ่ายก็จะทำพฤติกรรมแย่ๆ ต่อกัน กลายเป็น วงจรการสมรู้ร่วมคิด (Collusion: ต่างฝ่ายต่างหาแนวร่วมและเหตุผลมาเข้าข้างตนเอง เพื่อหักล้างฝั่งตรงกันข้าม)
ในที่สุดองค์กร หรือ บริษัทแบบนี้ ก็จะได้รับผลกระทบในท้ายที่สุด เฉกเช่นบริษัทนี้ ที่ยอดขายตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง มาก่อนหน้านี้ราวๆ ครึ่งปี แต่มาส่งผลทำให้บริษัทขาดทุนจริงๆ อย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน
“นี่แหละ พลังทำลายล้างที่มาจากการมี Inward Mindset”
หลายคนมักลืมไปว่า “คนที่เราต้องเจอหรือ ทำงานด้วย เขาตอบสนองความรู้สึกที่เราส่งมอบไปให้กับเขา ไม่ใช่พฤติกรรมที่เราแสดงให้เขาเห็น”
การที่เรามีทัศนคติที่เป็น Inward Mindset มันแสดงออกถึงความรู้สึกได้ชัดเจนว่า เรามองผู้อื่นแบบใด ซึ่งคนตรงข้ามเรา เขารับรู้ได้ทันทีว่า เรากำลังกล่าวโทษเขา หรือ ไม่ให้ความสำคัญกับพวกเขา
ถ้าเราอยากประสบความสำเร็จ ก็ต้องสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นให้ได้ และ ให้ได้ผลลัพธ์ ที่เป็นผลลัพธ์ที่ต้องการร่วมกัน
การปรับมุมมอง และ ทัศนคติของเราเองจึงเป็นเรื่องสำคัญ ด้วยการเปลี่ยนจาก ทัศนคติที่เป็น Inward Mindset เป็น Outward Mindset
วิธีการเริ่มต้นง่ายๆ คือ การเปิดใจ เข้าใจคนอื่นมากขึ้น ให้มองข้อดีของคนอื่นเป็นอันดับแรก (เมื่อไหร่ก็ตาม ที่เราเห็นคนอื่นสำคัญเทียบเท่า หรือ มากกว่าเรา เราจะเปิดใจ เข้าใจเขามากขึ้นโดยอัตโนมัติ)
รับฟัง ด้วยการเปิดใจ โดยไม่โต้ตอบ พร้อมด้วยการปรับวิธีการและกระบวนการเพื่อเป็นการช่วยเหลือคนอื่นให้เกิดผลลัพธ์ (แน่นอนว่า ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น เราเองก็มีส่วนได้ประโยชน์เช่นกัน)
ซึ่งเป็นกระบวนการที่ดูแล้วง่ายมาก แต่ทำจริงนั้นยาก ถ้าหากจิตใจเราเจือปนไปด้วย Inward Mindset ที่เข้มข้น แต่ทุกอย่างย่อมมีทางแก้
ถ้าเราไม่ลองก็ไม่รู้ แต่ที่แน่ๆ วิธีที่ทำอยู่เดิมมันไม่ได้ผลอยู่แล้ว ลองมาเปลี่ยนวิธีใหม่กันดีกว่า
กลับมาที่บริษัทเดิม … สถานกรณ์ตอนนี้เปลียนไปโดยสิ้นเชิง
6 เดือนให้หลัง หลังจากที่ทีมงานระดับหัวหน้า และ ผู้บริหารทั้งหมด ได้ไปเข้า Workshop Outward Mindset ผลที่ตามมาก็คือ ยอดขายก็กลับมากระเตื้องขึ้น เติบโตเป็นเท่าตัว
ปัญหาเรื่องการแบ่งพรรคแบ่งพวก ก็ละลายหายไปเยอะเลย เพราะทุกคนต่างก็เข้าใจ และให้ความสำคัญกับเพื่อนร่วมงาน หัวหน้า ลูกน้องกันมากกว่าเก่า ส่งผลทำให้ผลการประเมินเรื่อง Employee Engagement ก็กลับมาสูงขึ้นจนน่าตกใจ และที่สำคัญ ในเดือนที่ 5 หลังจากการทำ Workshop Outward Mindset บริษัทก็กลับมามีกำไรอีกครั้ง
เพราะ เรื่องของความสำเร็จ มันคือ เรื่องของคน และ เรื่องของทัศนคติ
มันมีหลายกรณีตัวอย่าง ที่พิสูจน์แล้วว่า การมี Outward Mindset คือ คุณสมบัติที่สำคัญของคนทำงาน และ ของผู้นำในยุคนี้
Outward Mindset ไม่ได้แค่ใช้กับการทำงานได้เท่านั้น แต่ยังสามารถนำมาใช้กับชีวิตส่วนตัว และ ครอบครัวได้อีกด้วย
ผมเองก็ได้ลองมาแล้ว ชีวิตการทำงานมีความสุขมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การทำงานกับคนที่เคยคิดว่าทำงานยาก หรือ คงจะทำงานด้วยลำบาก ตอนนี้ทำได้อย่างสบาย หลังจากที่ปรับวิธีคิดและทัศนคติเป็นแบบ Outward Mindset นอกจากนี้ ทัศนคติเป็นแบบ Outward Mindset ยังทำให้ครอบครัวมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นมากขึ้นอีกด้วย
ถึงตรงนี้ ผมขอแนะนำ ถ้าอยากเข้าใจมากขึ้น ลองไปหาซื้อหนังสือภาษาไทย ที่ชื่อ วิธีพาตัวเองออกจากกล่องใบเล็ก (Leadership and Self Deception) และ อยู่แต่ในกล่อง คุณจะไปเห็นอะไร (The Anatomy of Peace) มาอ่านเพื่อเข้าใจเรื่องเหล่านี้ก่อนก็ได้ครับ
แต่ Highlight จริงๆ คือ หนังสือเล่มนี้ครับ The Outward Mindset : Seeing Beyond Ourselves ตอนนี้มีแต่ภาษาอังกฤษ แต่ขอแนะนำเลยนะครับดีจริงๆ ที่ผมเปลี่ยนมุมมองจากเรื่องไม่ดี เป็นเรื่องดีๆ ได้หลายเรื่องก็เพราะหนังสือเล่มนี้เลยครับ
ลองไปหาซื้อตามร้านหนังสือชั้นนำดูนะครับ
บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวกับ Outward Mindset สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ :
จุดเริมต้นของความสัมพันธ์ที่ย่ำแย่
เจ้านายที่จู้จี้ เจ้านายที่ขี้บ่น เจ้านายที่คอยแต่จะจ้องจับผิด
Source:
https://arbingerinstitute.com/Landing/TheOutwardMindset.html