Finance Basic – พื้นฐานเรื่องการเงินที่สำคัญถือเป็นเรื่องสำคัญมากเรื่องนึงเลย สำหรับคนทำงานในตำแหน่งหัวหน้าหรือผู้จัดการ เพราะเรื่องงบประมาณ การบริหารจัดการในเรื่องค่าใช้จ่ายถือเป็นอีกหนึ่งความรับผิดชอบที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
แต่เอาเข้าจริง เรื่อง Finance Basic – พื้นฐานเรื่องการเงิน ก็สำคัญกับทุกคน ไม่ว่าเราจะประกอบอาชีพอะไรก็ตาม ความรู้เรื่องการเงินเป็นองค์ประกอบสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งในการประกอบอาชีพนั้นให้สำเร็จ แน่นอนว่ายิ่งเรามีความรู้เกี่ยวกับการเงินมากเท่าไร ยิ่งหมายถึงความปลอดภัยที่มากขึ้นในการดำเนินธุรกิจใดๆ ก็ตามด้วย เพราะการจ้างคนอื่นมาจัดการเรื่องการเงินให้เรานั้น เราจะแน่ใจหรือมั่นใจได้อย่างไรว่าเขาซื่อสัตย์ต่อเรามากพอ
“เราวิเคราะห์จุดคุ้มทุนได้หรือไม่? เข้าใจในทุกตัวเลขที่เกี่ยวบริษัทของเราไหม? หรือเข้าใจไหมว่าอะไรทำให้การทำกำไรของบริษัทของเราตกต่ำ?”
หนังสือ HBR Guide to Finance Basic for Managers เขียนโดย Karen Berman และ Miles Cook ผู้เป็นสุดยอดผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการทางธุรกิจ จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เป็นที่ปรึกษาให้กับระดับผู้จัดการ ผู้บริหาร เจ้าของกิจการ และเจ้าของธุรกิจ Start-Up มากมาย หนังสือเล่มนี้จะเป็นเหมือนเครื่องมือและการสร้างความเชื่อมั่นในการทำให้เรากลายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน ถือเป็นคู่มือฉบับสมบูรณ์ที่จะมอบองค์ความรู้ที่จำเป็นต่อการเข้าใจปัจจัยพื้นฐานทางการเงินตามที่คนทำงานทุกคนต้องมี
“ทุกธุรกิจมีข้อมูลทางการเงินเป็นองค์ประกอบ ถ้าเราไม่รู้จักเครื่องมือทางการเงิน เราก็ไม่สามารถนำข้อมูลนั้นไปใช้ได้”
คนทำงานทุกคนไปจนถึงระดับผู้จัดการ จะได้ยินคำถามหรือการขอความคิดเห็นที่ลองเชิงพวกเขาเกี่ยวกับความเข้าใจพื้นฐานเรื่องการเงินอยู่เสมอ หากเราคุยภาษาเดียวกับพวกเขาได้ เขาจะเข้าใจว่าเราสามารถใช้เครื่องมือทางการเงินเป็นพื้นฐานในการตัดสินใจได้ แต่ความเป็นจริงแล้วคนทำงานส่วนใหญ่หรือคนที่ทำงานในระดับผู้จัดการก็ไม่ได้เข้าใจความแตกต่างระหว่างเรื่องของกำไรกับเรื่องกระแสเงินสดซะด้วยซ้ำ พวกเขาแยกไม่ออกว่าอะไรคืองบดุล และอะไรคืองบกำไรขาดทุน ดังนั้นหากใครสักคนเริ่มพูดคำศัพท์พวกนี้ใส่เรา เราจะเริ่มเกิดอาการกระอักกระอ่วนเนื่องจากเราไม่รู้ว่าจะไปต่ออย่างไรดี เพราะในตอนที่ถูกถามในเรื่องนี้สมองของเรามันโล่งไปหมด
“งบดุล งบกำไรขาดทุน และ งบกระแสเงินสด คือ 3 มุมมองเกี่ยวกับประสิทธิภาพทางการเงินของบริษัท”
บริษัทของเราเป็นเจ้าของอะไรบ้าง? ใครเป็นลูกหนี้ของเรา? เราเป็นลูกหนี้ของใคร? แหล่งที่มาของรายได้หลักของบริษัทของเรามาจากไหน? เงินที่ได้มาถูกนำใช้ไปอย่างไร? เราได้กำไรกลับมาเท่าไร? หรือ สถานะทางการเงินของบริษัทในตอนนี้ภาพรวมเป็นอย่างไร? สิ่งเหล่านี้เราสามารถหาคำตอบได้ด้วย 3 งบการเงิน ดังต่อไปนี้
1. งบดุล หรือ Balance Sheet :
งบแสดงฐานะการเงิน ที่แสดงให้เรารู้ว่า ณ วันนี้กิจการมีสถานะการเงินเป็นอย่างไรบ้าง? งบดุลจะแสดงสิ่งที่บริษัทเป็นเจ้าของ สิ่งที่เป็นหนี้ และมูลค่าตามบัญชีของบริษัท หรือ มูลค่าสุทธิ สามารถเรียกอีกอย่างว่าส่วนของผู้ถือหุ้น
- สินทรัพย์ (Assets) – หนี้สิน (Liabilities) = ส่วนของเจ้าของ (Shareholders’ Equity) หรือ ความมั่งคั่งสุทธิ (Net Worth)
- หนี้สิน (Liabilities) + ส่วนของเจ้าของ (Shareholders’ Equity) = สินทรัพย์ (Assets)
งบดุลแสดงสินทรัพย์ที่ด้านหนึ่งของบัญชีแยกประเภท หนี้สินและส่วนของเจ้าของที่อีกด้านหนึ่ง เรียกว่างบดุลเพราะทั้งสองฝ่ายต้องสมดุลเสมอ ตัวอย่างสินทรัพย์ จะได้แก่ เงินสดในมือและหลักทรัพย์ในความต้องการของตลาด ลูกหนี้ และสินค้าคงเหลือ ส่วนหนี้สิน คือเงินที่เป็นหนี้ เจ้าหนี้และหนี้อื่นๆ ที่โดยจะแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ หนี้สินหมุนเวียน ต้องชำระภายในหนึ่งปี และ หนี้สินระยะยาวคือ หนี้สินที่มีกำหนดชำระมากกว่า 1 ปี
2. งบกำไรขาดทุน หรือ Income Statement :
งบกำไรขาดทุนแสดงผลลัพธ์ที่สะสมภายในกรอบเวลาที่กำหนด บ่งบอกถึงการสร้างรายได้ที่เราสามารถทำได้จากผลิตภัณฑ์หรือการให้บริการของบริษัท เราสร้างรายได้เพิ่มขึ้นเร็วกว่าคู่แข็งหรือไม่? พนักงานขายและการตลาดทำงานได้ดีหรือยัง? และงบกำไรขาดทุนยังบอกอีกว่าเราสามารถปรับสมดุลระหว่างต้นทุนกับรายได้ได้ดีพอแล้วหรือยังด้วย
- รายได้ – ค่าใช้จ่าย = รายได้สุทธิ
3. งบกระแสเงินสด หรือ Cash Flow Statement :
งบกระแสเงินสดคือ งบที่แสดงให้เห็นในหมวดหมู่กว้างๆ ว่าบริษัทได้เงินมาและใช้เงินสดอย่างไรในช่วงเวลาที่กำหนด รายจ่ายจะแสดงในใบแจ้งยอดเป็นตัวเลขติดลบ และแหล่งที่มาของตัวเลขรายได้เป็นบวก บรรทัดล่างสุดในแต่ละหมวดหมู่คือยอดรวมสุทธิของกระแสเข้าและออก และสามารถเป็นได้ทั้งบวกและลบ
เมื่อเราใช้อัตราส่วน เราจะสามารถเปรียบเทียบประสิทธิภาพทางการเงินของบริษัทของเรากับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมในตลาดและกับประสิทธิภาพของบริษัทของเราในอดีตได้ ซึ่งจะทำให้เห็นความก้าวหน้าหรือความถดถอยของการดำเนินธุรกิจของเราได้อย่างชัดเจน
อัตราส่วนความสามารถในการทำกำไร (Profitability Ratios)
อัตราส่วนความสามารถในการทำกำไร จะช่วยวัดความสามารถในการทำกำไรของบริษัทออกมาเป็นเปอร์เซ็นต์ของตัวเลขอื่นๆ เช่น
- อัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ (Return on Assets หรือ ROA): ระบุว่าบริษัทใช้สินทรัพย์เพื่อสร้างผลกำไรได้ดีเพียงใด เป็นการวัดผลลัพธ์ที่ดีในการเปรียบเทียบบริษัทที่มีขนาดต่างกัน
- อัตราผลตอบแทนจากส่วนของเจ้าของ (Return on Equity หรือ ROE): แสดงกำไรเป็น % เป็นอัตราส่วนแสดงความสามารถในการทำกำไรเทียบกับส่วนของเจ้าของ ซึ่งเป็นการประเมินค่าอัตราผลตอบแทนที่ผู้ถือหุ้นในฐานะของเจ้าของกิจการจะได้รับ
- อัตราผลตอบแทนจากการขาย (Return on Sales หรือ ROS): หรือ ที่เรียกว่าอัตรากำไรสุทธิ (net profit) เป็นกำไรสุทธิที่คิดจากร้อยละของรายได้จากการขาย โดยจะวัดว่าบริษัทสามารถควบคุมต้นทุนและเปลี่ยนรายได้ให้เป็นกำไรสุทธิได้ดีเพียงใด?
- อัตรากำไรขั้นต้น (Net Profit Margin): อัตรากำไรขั้นต้นแสดงให้เห็นว่าบริษัทผลิตสินค้าหรือให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงใด โดยคำนึงถึงต้นทุนโดยตรงเท่านั้น
อัตราส่วนการดำเนินงาน
สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าบริษัทใช้สินทรัพย์ในการทำงานและจัดการเงินสดได้ดีเพียงใด การหมุนเวียนของสินทรัพย์เป็นอย่างไร อัตราส่วนนี้จะแสดงให้เห็นว่าบริษัทใช้สินทรัพย์ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเงินสด เครื่องจักร และอื่นๆ เพื่อสร้างรายได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงใด โดยอัตราส่วนการดำเนินงานช่วยให้คุณประเมินระดับประสิทธิภาพของบริษัท ยกตัวอย่างเช่น
- ระยะเวลาในการเก็บหนี้ถัวเฉลี่ย (Days Sales Outstanding : DSO) คือ จำนวนวันที่จะเก็บเงินสดจากยอดคงค้างจากลูกหนี้ ซึ่งจะเป็นตัวบอกเราว่าบริษัทสามารถเก็บเงินที่ลูกค้าที่ค้างชำระได้เร็วเพียงใด
- ระยะเวลาชำระหนี้เจ้าหนี้การค้า (Days Payables Outstanding: DPO) คือ จำนวนวันที่คู่ค้าให้เครดิตกับบริษัทของเราโดยเฉลี่ย ซึ่งจะเป็นตัวบอกเราว่าบริษัทของเราจ่ายเงินให้บริษัทคู่ค้าอื่นๆ ได้เร็วแค่ไหน ยิ่งสูงยิ่งดี เพราะแทนที่กิจการจะนำเงินไปจ่ายหนี้ ก็สามารถนำไปใช้อย่างอื่นก่อนได้
อัตราส่วนสภาพคล่อง (Liquidity Ratios)
อัตราส่วนสภาพคล่องบอกคุณเกี่ยวกับความสามารถของบริษัทในการปฏิบัติตามภาระผูกพันทางการเงินระยะสั้น เช่น การชำระหนี้ เงินเดือน และเจ้าหนี้การค้า ยกตัวอย่างเช่น
- อัตราส่วนทุนหมุนเวียน (Current ratio): อัตราส่วนนี้วัดสินทรัพย์หมุนเวียนของบริษัทเทียบกับหนี้สินหมุนเวียน ในการคำนวณ ให้หารสินทรัพย์หมุนเวียนทั้งหมดด้วยหนี้สินหมุนเวียนทั้งหมด ซึ่งจะบ่งบอกถึงสภาพคล่อง ของบริษัทในการที่จะชำระหนี้ระยะสั้น หากมีค่าน้อยกว่า 1 หมายความว่า บริษัทมีหนี้สินหมุนเวียนมากกว่าสินทรัพย์หมุนเวียนทำให้อาจมีปัญหาในการชำระหนี้ระยะสั้นได้ แต่ถ้าหากอัตราส่วนนี้มากกว่า 1 แสดงว่าบริษัทมีสินทรัพย์หมุนเวียนมากพอที่จะชำระหนี้ระยะสั้น
- อัตราส่วนทุนหมุนเวียนเร็ว (Quick ratio): อัตราส่วนนี้ปรับปรุงมาจากอัตราส่วนทุนหมุนเวียน โดยในการคำนวณเราจะไม่นำ สินค้าคงเหลือ มาคิดรวมกับ สินทรัพย์หมุนเวียน อื่น ๆ เช่น เงินสด ลูกหนี้การค้า และ สินทรัพย์ในความต้องการของตลาด เนื่องจากสินค้าคงเหลือสามารถแปลงเป็นเงินสดได้ช้ากว่า และอาจมีมูลค่าต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชี ทำให้อัตราส่วนทุนหมุนเวียนเร็วบอกถึง สภาพคล่อง ของกิจการได้ดีกว่าอัตราส่วนทุนหมุนเวียน
- อัตราส่วนเงินสด (Cash ratio): อัตราส่วนที่ใช้วิเคราะห์ สภาพคล่อง ของบริษัทที่ตั้งอยู่บนหลักความระมัดระวังที่สุด โดยจะนำ สินทรัพย์หมุนเวียน ที่เป็น เงินสด และ หลักทรพย์ในความต้องการของตลาด หารด้วย หนี้สินหมุนเวียน ถ้าหากอัตราส่วนนี้สูง หมายถึงบริษัทมีสภาพคล่องสูง แต่หากสูงมากอาจหมายถึงบริษัทถือเงินสดไว้มากจนเกินไปทำให้ประสิทธิภาพในการใช้สินทรัพย์ลดลง จึงควรดูอัตราส่วนประสิทธิภาพในการใช้สินทรัพย์ควบคู่กันด้วย
- อัตราหมุนเวียนของลูกหนี้ (Account Receivable Turnover): จำนวนครั้งที่บริษัทสามารถเก็บเงินจากการขายเชื่อได้ สามารถคำนวณได้โดยใช้ยอดขายเชื่อสุทธิหารด้วยลูกหนี้การค้าเฉลี่ย โดยที่ลูกหนี้การค้าเฉลี่ยคือลูกหนี้การค้าต้นงวดบวกลูกหนี้การค้าปลายงวดหารด้วย 2 โดยถ้าหากอัตราหมุนเวียนของลูกหนี้สูง หมายความว่าบริษัทของเราสามารถเก็บเงินจากการขายเชื่อได้เร็ว แต่หากอัตรานี้สูงเกินไปอาจหมายถึงบริษัทเข้มงวดในการให้เครดิตกับลูกค้ามากเกินไปซึ่งอาจจะทำให้เสียเปรียบในการแข่งขัน ดังนั้นการนำอัตราส่วนนี้ไปเปรียบเทียบกับกิจการอื่นจึงควรดูนโยบายการให้เครดิตแก่ลูกหนี้ของบริษัทด้วย
- ระยะเวลาเก็บหนี้ (Average Collection Period): เป็นการคำนวนให้เห็นถึงระยะเวลาในการเรียกเก็บหนี้ว่าสั้นหรือยาว เพื่อให้ทราบถึงคุณภาพของลูกหนี้ของบริษัท รวมไปถึงประสิทธิภาพในการเรียกเก็บหนี้และนโยบายในการให้สินเชื่อทางธุรกิจ หากระยะเวลาเก็บหนี้มีค่าน้อย หมายถึงคุณภาพของลูกหนี้ที่ดี ที่สามารถชำระเงินได้เร็วนั่นเอง
- อัตราหมุนเวียนของสินค้าคงเหลือ (Inventory Turnover): จำนวนครั้งที่บริษัทสามารถขายสินค้าคงเหลือออกไปได้ สามารถคำนวณได้จากใช้ต้นทุนขายหารด้วยสินค้าคงเหลือเฉลี่ย โดยที่สินค้าคงเหลือเฉลี่ยคือสินค้าคงเหลือต้นงวดบวกสินค้าคงเหลือปลายงวดหารด้วย 2 โดยถ้าหากอัตราหมุนเวียนของสินค้าคงเหลือสูง หมายความว่าบริษัทของเราสามารถขายสินค้าได้เร็ว แต่ถ้าหากอัตรานี้สูงเนื่องจากสินค้าคงเหลือน้อยเกินไปจนทำให้สินค้าไม่พอขายและต้องสูญเสียลูกค้าไปในที่สุด ดังนั้นจึงต้องมี การบริหารสินค้าคงเหลือของเรา ต้องไม่ให้มากหรือน้อยจนเกินไป
- ระยะเวลาขายสินค้า (Holding period): สำหรับอัตราส่วนนี้ แสดงให้เห็นว่าระยะเวลาสั้นยิ่งดี ยิ่งขายได้เร็วก็ดีกับธุรกิจ
หลักการ คือ ค่าใช้จ่ายต้องตรงกับรายได้
วัตถุประสงค์ของงบกำไรขาดทุน หรือ Income Statement คือ การรวมต้นทุนและค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการสร้างรายได้ในช่วงเวลาที่กำหนด ซึ่งค่าใช้จ่ายเหล่านั้นอาจไม่ใช่ค่าใช้จ่ายที่จ่ายจริงในช่วงเวลานั้น บางคนอาจได้รับการชำระเงินก่อนหน้านี้ บางส่วนอาจจะได้รับเงินในภายหลังเมื่อบิลของผู้ขายถึงกำหนดชำระ ดังนั้นค่าใช้จ่ายในงบกำไรขาดทุน จึงไม่สะท้อนถึงเงินสดที่จ่ายออกไป จึงต้องมีงบกระแสเงินสดที่จะบอกว่าเงินสดเข้าและออกเป็นอย่างไร
รายจ่ายของต้นทุนไม่นับรวมกับกำไร
เมื่อรายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับต้นทุนเกิดขึ้น มันจะไม่ปรากฏในงบกำไรขาดทุน ดังนั้นบริษัทจึงสามารถซื้อรถบรรทุก เครื่องจักร คอมพิวเตอร์ และอื่นๆ ได้ และค่าใช้จ่ายจะปรากฏในงบกำไรขาดทุนในรูปแบบค่าเสื่อมราคาที่เกิดจากการใช้งานแบบค่อยเป็นค่อยไปตลอดอายุการใช้งานเท่านั้น รายการทั้งหมดเหล่านี้มักจะได้รับการชำระเงินเป็นเวลานานก่อนที่จะมีการคิดค่าเสื่อมราคาเต็มจำนวน
“ความแตกต่างระหว่างกำไรและเงินสดสามารถสร้างความเสียหายได้ทุกรูปแบบในการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับบริษัทที่กำลังเติบโต”
บริษัทอาจต้องรับมือกับข้อเท็จจริงที่ว่าลูกค้ารายใหญ่รายหนึ่งจ่ายบิลช้ามาก หรือ ผู้ขายรายสำคัญรายหนึ่งต้องชำระเงินล่วงหน้า สิ่งเหล่านี้สามารถสร้างความหายนะให้กับกระแสเงินสดของบริษัทได้ แม้ว่าจะไม่ได้ส่งผลกระทบต่อผลกำไรมากนักก็ตาม
มีเหตุผลสำคัญ 3 ประการที่บอกว่าเราควรทำความเข้าใจงบกระแสเงินสด หรือ Cash Flow Statement
1. จะช่วยให้เราเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้กับบริษัทของเรา ทิศทางของธุรกิจ และลำดับความสำคัญของผู้บริหารระดับสูงที่มีแนวโน้มว่าจะเป็นอย่างไร?
2. บริษัทส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่ผลกำไร แต่เมื่อพวกเขาควรจะเน้นที่ผลกำไรและเงินสด แน่นอน ผลกระทบมักจะจำกัดอยู่ที่กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน
3. คนที่เข้าใจกระแสเงินสดมักจะได้รับความรับผิดชอบมากกว่า และด้วยเหตุนี้จึงมีแนวโน้มที่จะก้าวหน้าได้เร็วกว่าผู้ที่มุ่งเน้นที่งบกำไรขาดทุนเพียงอย่างเดียว
การวิเคราะห์ผลประโยชน์ค่าใช้จ่าย
สิ่งสำคัญคือต้องเข้าใจต้นทุนของสถานะที่เป็นอยู่ เราต้องชั่งน้ำหนักข้อดีที่เกี่ยวข้องของการลงทุนแต่ละครั้งกับผลเสียที่ตามมาจากการไม่ลงทุนเลย การวิเคราะห์ต้นทุนและผลประโยชน์ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนต่อไปนี้
- ระบุต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับโอกาสทางธุรกิจใหม่
- มองไปที่ความคุ้มของการลงทุนใหม่
- กำหนดเดดไลน์สำหรับค่าใช้จ่ายและรายได้ที่คาดหวัง
- มองไปถึงประโยชน์ของรายได้เพิ่มเติมที่การลงทุนจะนำมาให้
- ประเมินผลประโยชน์และต้นทุนที่ไม่สามารถวัดได้
เมื่อคุณทำตามขั้นตอนนี้เสร็จสิ้น คุณก็พร้อมที่จะเริ่มประเมินโอกาสในการลงทุนได้แล้ว
การวิเคราะห์จุดคุ้มทุน
การวิเคราะห์จุดคุ้มทุน บอกเราว่าเราต้องขายเท่าไร? เพื่อจ่ายสำหรับการลงทุนคงที่ หรือกล่าวได้ว่าจุดใดที่เราจะคุ้มทุนในกระแสเงินสดของเราด้วยข้อมูลที่อยู่ในมือ เราสามารถดูความต้องการของตลาดและส่วนแบ่งตลาดคู่แข่งเพื่อดูว่าจะขายได้มากขนาดนั้นจริงหรือไม่ การวิเคราะห์จุดคุ้มทุนยังช่วยให้เราคิดถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงของราคาและปริมาณอีกด้วย
“บริษัทส่วนใหญ่ทำการวิเคราะห์จุดคุ้มทุนโดยพิจารณาจากรายได้และอัตรากำไรขั้นต้น”
ก่อนที่เราจะสามารถคำนวณในเรื่องนี้ได้ เราต้องเข้าใจส่วนประกอบที่เกี่ยวข้องเหล่านี้เสียก่อน
- ต้นทุนคงที่ คือ ต้นทุนที่ส่วนใหญ่เท่าเดิม ไม่ว่าจะขายผลิตภัณฑ์ได้กี่ชิ้นหรือขายบริการได้กี่หน่วย เช่น ประกัน เงินเดือนผู้บริหาร หรือค่าเช่า เป็นต้น
- ต้นทุนผันแปร คือ ต้นทุนที่เปลี่ยนแปลงตามจำนวนหน่วยที่ผลิตและขาย
ปริมาณคุ้มทุน = ต้นทุนคงที่ / (ราคาขายต่อหน่วย – ต้นทุนผันแปรต่อหน่วย)
เมื่อเราตัดสินใจรับโอกาสในการลงทุนแล้ว เราก็ควรติดตามความคืบหน้า ติดตามการประมาณการของเราเทียบกับรายได้และค่าใช้จ่ายจริง เป็นความคิดที่ดีที่จะทำสิ่งนี้เป็นรายเดือน เพื่อให้เราสามารถระบุปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ตั้งแต่เนิ่นๆ
ข้อมูลอะไรบ้างที่งบการเงินไม่สามารถบอกเราได้
งบการเงินมีข้อมูลที่เป็นการแสดงผลย้อนหลังหรืออดีตเป็นหลัก งบกำไรขาดทุนและงบกระแสเงินสดจะบอกเราว่าบริษัทของเราดำเนินการอย่างไรในช่วงเวลาก่อนหน้านี้ งบดุลจะแสดงภาพรวมสถานะทางการเงิน ณ วันที่กำหนด แต่ธุรกิจก็จำเป็นต้องรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในตอนนี้ และสิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นในวันพรุ่งนี้ ต่อไปนี้คือข้อมูลหลัก 3 ประเภทที่เราจะไม่ได้จากงบการเงิน
- ประสิทธิภาพขององค์ที่ไม่ใช่ทางการเงิน
หากบริษัทมีปัญหาด้านความปลอดภัย มีแนวโน้มที่จะประสบปัญหาทีละอย่าง ซึ่งความปลอดภัยเป็นแง่มุมหนึ่งของความสมบูรณ์ขององค์กร อีกอย่างหนึ่งคือระดับความผูกพันของพนักงาน ผู้คนสนุกกับการทำงานในบริษัทของเราหรือไม่? พวกเขาจะแนะนำให้เพื่อนหรือไม่? ในการตอบคำถามเหล่านี้ เราต้องการข้อมูลจากการพนักงานและคุณจะไม่พบข้อมูลเหล่านี้ในงบการเงิน - สิ่งที่ลูกค้าคิด
ทัศนคติของลูกค้า ความพึงพอใจที่พวกเขามีต่อบริษัทและผลิตภัณฑ์ของบริษัท ความคับข้องใจ การร้องเรียนและอื่นๆ สิ่งเหล่านี้ก็ไม่ปรากฏในงบการเงินเช่นกัน ทว่าทัศนคติเหล่านั้นเป็นตัวบ่งชี้ที่สำคัญของความสำเร็จในอนาคตของบริษัท ท้ายที่สุดแล้ว หากบริษัทไม่สามารถยึดลูกค้าของตนไว้และดึงดูดลูกค้ารายใหม่ๆ ได้ โอกาสของบริษัทก็มีแนวโน้มจะมืดมนลง - คู่แข่งกำลังวางแผนอะไรอยู่
ประเด็นนี้แทบจะไม่เกิดขึ้นเลย และบริษัทส่วนใหญ่ใช้เวลาและทรัพยากรอย่างมากในการพยายามคาดการณ์ความเคลื่อนไหวครั้งต่อไปของคู่แข่ง บริษัทที่ชาญฉลาดจะคอยจับตาดูแผนเหล่านั้นด้วยการวิเคราะห์รายงานและข่าวประชาสัมพันธ์ของคู่แข่ง พูดคุยกับนักวิเคราะห์และผู้สังเกตการณ์ที่มีความรู้ และเข้าร่วมการประชุมในอุตสาหกรรม ธุรกิจที่ไม่สนใจการแข่งขันถือเป็นธุรกิจที่กำลังตกอยู่ในอันตราย
บทสรุป
คนทำงานหรือเจ้าของธุรกิจควรให้ความสนใจกับระดับของเงินทุนหมุนเวียนของบริษัท เงินทุนหมุนเวียนน้อยเกินไปอาจทำให้บริษัทอยู่ในสถานะที่ไม่ดี ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลถึงการชำระค่าใช้จ่ายหรือการใช้ประโยชน์จากโอกาสในการทำกำไรได้ แต่เงินทุนหมุนเวียนที่มากเกินไปก็ทำให้ความสามารถในการทำกำไรลดลง เนื่องจากเงินทุนดังกล่าวต้องได้รับการสนับสนุนทางการเงินในทางใดทางหนึ่ง
ในขณะที่ผู้คนใช้งบทางการเงินเพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับบริษัทต่างๆ หลายคนสังเกตเห็นว่างบดุลแบบเดิมไม่สามารถสะท้อนมูลค่าและศักยภาพในการทำกำไรของบริษัทได้ การไม่มีสิ่งที่จับต้องไม่ได้ในงบดุล อย่างเช่น ทักษะ ทรัพย์สินทางปัญญา ตราสินค้า หรือความสัมพันธ์ ทำให้เราไม่สามารถรับรู้สินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดผลผลิตสูงสุดได้ ดังนั้นเราควรมองข้ามอิฐ ปูน อุปกรณ์ และเงินสดที่ประกอบเป็นสินทรัพย์ในงบดุลเพื่อกำหนดมูลค่าที่แท้จริงของบริษัทจากสิ่งที่งบดุลไม่ได้แสดงอยู่ด้วย
References:
อัตราส่วนทางการเงิน Financial Ratio