Generation Gap – ช่องว่างระหว่างวัยที่ (อาจ) ไม่มีอยู่จริง เป็นเรื่องของ ความแตกต่างทางความคิดและความเชื่อของคนต่าง Generation หรือ Generation Gap ถูกพูดถึงกันทุกยุคทุกสมัย เพราะเรื่องนี้เกิดได้กับทุกคน ทุกครอบครัว และทุกองค์กร
ยิ่งถ้าต้องประสบพบเจอเรื่องทำนองนี้ในที่ทำงาน ย่อมส่งผลต่อเรื่องอื่นๆ ตามมาอีกกว้างขวาง ทั้งเรื่อง Teamwork เรื่องการสื่อสาร หรือการขับเคลื่อนเรื่องสำคัญๆ ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายคนหลายฝ่ายหนำซ้ำอาจจะส่งผลกระทบ ลงลึกถึงจิตใจของคนที่ต้องเผชิญเรื่องนี้ จนไม่เป็นอันทำงานทำการ
บทความนี้ ชวนพวกเรามาอ่านเรื่อง Generation Gap ผ่านมุมมองของ คุณประสาน อิงคนันท์ ผู้ก่อตั้งเพจมนุษย์ต่างวัย และ คุณฐิติพร อ่อนสว่าง หรือคุณเซียน ฝ่ายพัฒนาบุคคลากร PPT Global Chemical ที่มาแชร์วิธีคิดเพื่อให้เรารับมือกับเรื่องนี้ให้ได้ อย่างเข้าใจและมีความสุข
ทบทวนว่า ที่จริงแล้วเราต่างกันตรงไหน
คุณประสาน เริ่มต้นตั้งคำถามว่า ตัวเลขที่บอกอายุของเราเป็นปัญหาจริงหรือ หรือเป็นเพราะอะไรกันแน่ที่ทำให้ การทำงานวันนี้ไม่เหมือนเดิม การตอบคำถามนี้อาจต้องตอบตัวเองว่า เราเป็นคน Gen ใด เพื่อให้รู้ตัวก่อนว่าเราอยู่ตรงไหนของเรื่อง
แล้วลองทบทวนดูว่าวิธีคิดและประสบการณ์ในชีวิตการงานของเรา ยกตัวอย่าง ถ้าอายุประมาณ Gen X หรือ Y ก็มักยอมทำงานทุกๆงานที่ได้รับมอบหมาย เพราะมีวิธีคิดว่า การได้มีประสบการณ์ในการทำงาน จะช่วยให้เป็นคนเก่งขึ้น หรือมีความรู้ในการทำงานมากขึ้น
แต่คนสมัยใหม่มองต่าง ไม่ใช่เพราะขี้เกียจหรือขยันน้อยกว่า แต่เพราะเติบโตในสังคมที่ให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิ ความเป็นธรรม และความเป็นตัวของตัวเอง ทั้งยังมีวิธีพัฒนาตนเองในหลากหลายรูปแบบ
ปัญหาเกี่ยวกับคนต่างวัย จึงอาจไม่ใช่เพราะตัวเลข แต่เป็นเรื่องของวิธีคิดและประสบการณ์
เข้าใจ ให้เกียรติ และเรียนรู้
เมื่อเราไม่ควรโทษ “ตัวเลข” ตามอายุ เพราะจะทำให้ความคิดถูกตีกรอบ สิ่งที่ควรทำ คือ การพยายามทำความเข้าใจกันให้มากขึ้น
จากประสบการณ์ของคุณสุภรณ์ อ่อนสว่าง หรือคุณเซียน ฝ่ายพัฒนาบุคลากร จาก PPT Global Chemical ผู้บริหารขององค์กรมักเป็นคน Gen X และ Y บุคคลเหล่านี้มีพลังในการทำงานสูงมาก ในขณะที่คน Gen C เกิดมาพร้อมกับเทคโนโลยี ที่ส่งผลต่อ speed ของคนรุ่นใหม่ ทำให้ต้องการความเร็วไปกับทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการทำงาน หรือการรับ feedback หรือคำตอบในเรื่องต่างๆ รวมทั้งต้องการที่จะเติบโตเร็ว
PPT Global Chemical เคยทำ VDO Clip ที่มีคนตามดูกันถล่มทลายเมื่อ 3 ปีที่แล้ว เป็น VDO ที่สะท้อนปัญหาGen Gap ที่พบในองค์กร และปัญหาที่องค์กรไม่สามารถดึงคนรุ่นใหม่ไว้ได้ เพราะองค์กรมี speed ของการสื่อสารไม่ตรงกับวัยของพวกเขา เนื้อหาสาระของ VDO สื่อว่า “เข้าใจ ให้เกียรติ เรียนรู้” คือ วิธีการทำงานที่ควรเกิดขึ้นในองค์กร เพื่อให้ปัญหานี้เบาบางลง
“ฟัง” และ “No stupid idea”
ในการปฏิบัติจริงนั้น ไม่ง่าย กิจกรรมที่เป็นเหมือนสะพานหรือ bridge เชื่อมใจคนทั้งหมดเข้าด้วยกัน ควรเริ่มที่ต้องฟังก่อน และต้องไม่มีคำว่า “stupid Idea”
ในขณะที่คนรุ่นเก่าชอบแนะนำและต้องการอธิบายยาว คนรุ่นใหม่ก็ปิดใจไปแล้ว และคิดว่านั่นไม่ใช่คำตอบ องค์กรจึงควรได้สร้างโอกาสให้คนในทุกวัยได้ “clarify” ความคิดหรือเหตุผลของตน ผ่านการคุยกันเพื่อฟังเหตุผล หรือหาจุดร่วมด้วยกัน แต่ไม่ใช่เพื่อวิพากษ์วิจารณ์
แรกๆ อาจจะรู้สึกว่า “การฟัง” เป็นกติกา แต่ต่อมาจะพบว่า นี่คือ วิธีการทำงานสำคัญที่จะทำให้เกิดพื้นที่ปลอดภัยในการทำงาน ยกตัวอย่าง โครงการ GC Next Gen ซึ่งไม่ได้ระบุอายุของผู้เข้าร่วม จะอายุเท่าไหร่ก็เป็น GC Next Gen ได้ขอเพียงกล้าคิดและนำเสนอสิ่งใหม่ๆเพื่อขับเคลื่อนหรือเปลี่ยนแปลงองค์กรได้ตามยุคสมัย และจัดการประชุมที่ให้ผู้บริหาร ทำหน้าที่เดียว คือ “ฟัง” แล้วปล่อยให้เวทีเป็นของพนักงาน ส่งผลให้เกิดพลังเชิงบวกอย่างมาก
สร้างพื้นที่ปลอดภัย แชร์ความต่าง
คำถามต่อมา คือ แล้วเรามีพื้นที่ปลอดภัยมากพอหรือยัง สำหรับสร้างความเข้าใจในความแตกต่าง
คำตอบ คือ หลายที่กำลังพยายามที่จะทำเช่นนั้น เช่น ที่เพจมนุษย์ต่างวัย ได้จัด workshop เพื่อคุยกันว่าเราจะสื่อสารอย่างไรกับคนวัยอื่น ทั้งที่เป็นลูกหลาน ลูกศิษย์ หรือลูกน้อง ส่วนมากพบว่า คนมาเข้าร่วมเพราะรู้สึกปลอดภัย ซึ่งพูดอย่างนี้กับที่บ้านไม่ได้
บางคนเล่าเรื่องไป ก็ค่อยๆ เห็นตนเองมากขึ้น เช่น เคยทำงานพึ่งพาตนเองได้ เมื่อเกษียณอยู่บ้าน มีลูกดูแล และสั่งให้ทำสิ่งนี้สิ่งนั้น ก็เกิดความรู้สึก สูญเสียความเป็นตัวของตัวเอง เสียอำนาจ และพบว่าตนมีอัตตาอยู่มาก
รุ่นน้องคนหนึ่งกล่าวว่า ไม่ควรดูหมิ่นประสบการณ์ของคน ไม่ว่าจะอยู่ในวัยใดก็ตาม เพราะชีวิตแต่ละคนล้วนผ่านประสบการณ์มาต่างกัน ใช้ชีวิตต่างกัน มีวิธีแก้ปัญหาต่างกัน คนอายุมากกว่า มองรอบด้าน จึงอาจกลัวและตัดสินใจช้า ในขณะที่คนอายุน้อยกว่า อาจรู้โลกน้อยกว่า แต่กล้าตัดสินใจที่จะลงมือทำ
กิจกรรมในลักษณะนี้ ช่วยสะท้อนภาพของการสร้างพื้นที่ปลอดภัย เริ่มที่ workshop ก็อาจต่อเนื่องไปถึงที่บ้าน เรื่องที่จะนำมาเล่าสู่กันฟัง ก็เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับประสบการณ์และความเป็นคนเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่เอาอายุหรือ Gen มาเป็นตัวตั้ง ผู้ใหญ่อาจลองเล่าเรื่องที่ stupid บ้างก็ได้ เด็กจะเข้าใจได้ว่าเราก็เคยสับสนมาก่อน เมื่ออยู่ในวัยเดียวกับเขา ซึ่งจะช่วยให้เกิดการ connect กันทางความรู้สึกได้ เป็นการสร้างพื้นที่ปลอดภัย ด้วยการช่วยปรับกันไปทีละน้อย ดีกว่าไม่เปลี่ยนอะไรเลยแล้วกระทบกันอยู่เรื่อยๆ
ยอมรับว่า เรา (ต่าง) เหมือนกัน
คุณประสานย้ำว่า ควรเริ่มที่การฟัง เมื่อผู้ใหญ่ชอบแนะนำ ดังนั้น สิ่งที่จะช่วยลดช่องว่าง คือ การฟังอย่างตั้งใจของผู้ใหญ่ ไม่เช่นนั้นจะตีความรวมๆ ไปตามกระแสที่เชื่อกันอยู่ว่า เด็กอดทนน้อย ไม่รับผิดชอบ
แม้จะมีจริงอยู่บ้าง แต่ในบางคน หากได้ฟังลึกลงไป จะเข้าใจเขาได้มากขึ้นว่าชีวิตที่เติบโตมาส่งผลต่อวิธีคิดและวิธีการทำงาน เช่น ที่ทำงานไม่ทัน ไม่ใช่ว่าไม่รับผิดชอบ แต่เพราะไม่มั่นใจบางอย่างอยู่
ในขณะที่คนรุ่นใหม่ ก็ควรเชื่อเรื่องของประสบการณ์ บางคนอาจแย้งว่าประสบการณ์นี้เก่าแล้ว ใช้ไม่ได้แล้วก็อาจจะจริง ถ้าเป็นประสบการณ์ภายนอก แต่ประสบการณ์ด้านใน เรื่องของจิตใจ ต้องยอมรับว่าคนรุ่นเก่าผ่านมามาก เพราะต้องพบผู้คนมากมาย
การเปิดใจฟัง และทำความเข้าใจกัน เป็นหัวใจของการมองผ่านความเป็นมนุษย์ที่เรามีเหมือนกัน ไม่ตีตรากัน เพราะเราจะคบใคร คงไม่ใช่เรื่องของ Gen แต่คือ ความเป็นคนของคนนั้น
เริ่มที่ใจ skill ตามมาทีหลัง
คุณเซียน ทิ้งท้ายว่า เริ่มต้นง่ายๆ ที่ใจของเรา เปิดใจรับความงดงามของความต่าง อ้าแขนต้อนรับ เมื่อพบ
คนที่ต่างกับเรา และมองเห็นความต่างนั้นเป็นความสวยงาม ไม่ว่าจะเป็นความต่างในเรื่องของวัย เพศ วิธีคิด หรือสไตล์การทำงาน เมื่อใจเราเปิด พร้อมจะเรียนรู้ ฝึกฝนไปเรื่อยๆ skill จะตามมา แม้วันนี้พื้นที่ที่เราอยู่ยังอาจไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัย 100% เราก็จะรับมือกับความแตกต่างได้อย่างเข้าใจและมีความสุขมากขึ้นกว่าเดิม
#ความสุขกำลังเติบโต #สสส #LifeTalk #HappyGrowth #ถอดรหัสความสุขคนทำงาน
สามารถเลือกรับชมรายการ ในรูปแบบของ YouTube ได้ที่: LIFE TALK HAPPY GROWTH : Generation Gap ช่องว่าง…ที่(อาจ)ไม่มีอยู่จริง
หรือ จะเลือกรับฟังรายการ ในรูปแบบของ Podcast ได้ที่: