GRIT มีความหมายว่า ความเพียรพยายาม ซึ่งถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่มีในบุคคลที่ประสบความสำเร็จแทบทุกคน แต่ถ้ามีเพียงเท่านี้จะทำให้เราประสบความสำเร็จได้จริงหรือเปล่า?
การที่คนเราเกิดมามีอะไรไม่เท่ากัน มันเป็นสิ่งที่ดูไม่เท่าเทียมและไม่ยุติธรรมที่สุดเลยใช่ไหม? แถมความไม่เท่าเทียมเหล่านี้ ดันเป็นสิ่งที่เราเลือกไม่ได้อีกด้วย ต่อให้พ่อแม่ของเราจะมีเงินมากมาย แต่ก็อาจจะไม่สามารถใช้เงินซื้อลูกที่ฉลาดเป็นกรดตั้งแต่เกิดได้ หรือ ให้มีพรสวรรค์ระดับที่เกิดมาไอคิวพุ่งสูงปรี๊ดได้
ทั้งหมดของการมีตั้งแต่เกิด ทำให้เป็นเรื่องน่าน้อยเนื้อต่ำใจอยู่ไม่น้อยเลยสำหรับการแข่งขันในชีวิตจริง ทำไมถึงต้องแพ้ทั้งที่เราเริ่มต้นกันคนละจุดด้วยล่ะ? หลายคนอาจจะกำลังมีความคิดแบบนี้ใช่ไหม?
ใน TED Talks Education ปี 2013 Angela Lee Duckworth นักจิตวิทยาที่ทำการศึกษาเกี่ยวกับพลังของความเพียรพยายาม ในที่นี่เรียกว่า GRIT เธอเล่าว่า เรื่องนี้จะเปลี่ยนความคิดน้อยเนื้อต่ำใจในความไร้ซึ่งพรสวรรค์ของเราไปเลย เพราะมันไม่จำเป็นอีกต่อไปแล้ว
“เด็กผลการเรียนดี ไม่ได้มีไอคิวสูง และเด็กฉลาด ก็ไม่ได้มีผลการเรียนที่ดี”
เรื่องนี้ค่อนข้างเป็นความจริงที่ขัดกับสิ่งที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ เพราะคนส่วนใหญ่ยังมีความคิดที่ว่า ถ้ามีไอคิวสูงก็แปลว่าเป็นคนที่เรียนเก่ง ซึ่งเป็นผลมาจากการเรียนภายในรั้วโรงเรียนที่เอาเรื่องของเกรดมาเป็นผลของการแข่งขันที่พ่อแม่บางคนต้องการจากลูกอย่างมาก แม้ลูกบางคนก็ไม่ได้ต้องอย่างนั้น เกรดต่ำเท่ากับเด็กไม่ฉลาด เกรดสูงคือเด็กฉลาด นี่คือสิ่งที่เราใช้ตัดสินกันในการศึกษาใช่ไหม?
แองเจล่า เธอได้ลาออกจากการเป็นที่ปรึกษาการบริหารตอนที่เธออายุ 27 ปี เธอไปเริ่มต้นงานที่ค่อนข้างลำบากกว่างานเก่านิดหน่อย อย่างงานสอนหนังสือเด็กเกรด 7 ในวิชาคณิตศาสตร์ ที่นิวยอร์ค เธอมีการสอน ทำแบบทดสอบ และตรวจข้อสอบอย่างที่คุณครูคนอื่นทำกัน แต่ผลที่ได้ทำให้เธอเกิดข้อสงสัยบางอย่าง เด็กที่มีผลการเรียนดีจนโดดเด่นของเธอ วัดไอคิวแล้วไม่ได้มีไอคิวสูงอย่างที่คิด และเด็กที่มีไอคิวสูงจนน่าตกใจ กลับไม่ใช่เด็กที่เรียนดีที่สุดในห้อง
“สิ่งที่เราต้องการในการศึกษา คือความเข้าใจที่มากกว่านี้”
ในปัจจุบัน บุคลากรทางการศึกษามักด่วนสรุปและตัดสินนักเรียนของตนเองจากตัวเลขเกรดพวกนั้น โดยปราศจากความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง เราจะสามารถเข้าใจเด็กๆ ได้มากกว่านี้ ไม่ใช่เพียงแค่เกรดที่อยู่ในใบผลการเรียน และไม่ใช่แค่จับเด็กมาวัดไอคิวเท่านั้น เพราะคุณครูทุกคนต่างรู้ดีว่าการใช้ชีวิตจริงนั้น มันมีอะไรมากกว่าเกรดและไอคิวเหล่านั้น
ถ้าการไปได้ดีในโรงเรียนและการใช้ชีวิต ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการเรียนรู้ได้เร็วล่ะ?
เพราะทุกอย่างแสดงให้เห็นว่าไอคิว ความสามารถในการเรียนรู้ และพรสวรรค์ในการเรียนของเด็กส่วนใหญ่ ไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้เด็กไปได้ดีในโรงเรียน และคนไอคิวสูงไม่ได้ประสบความสำเร็จเสมอไป ด้วยความจริงนี้ทำให้แองเจล่า ลาออกจากการเป็นครูเพื่อต่อปริญญาโทในสาขาจิตวิทยา เพราะเธอต้องการเข้าใจเกี่ยวกับตัวนักเรียนและการศึกษามากกว่านี้
“ใครประสบความสำเร็จ? และ ทำไมเขาถึงประสบความสำเร็จ?”
แองเจล่า ทำการศึกษาค้นคว้าด้วยโจทย์นี้มาโดยตลอด เธอลงพื้นที่ศึกษาทั้งเด็กและผู้ใหญ่เพื่อค้นหาว่าคนประเภทไหนที่จะประสบความสำเร็จ และทำไมพวกเขาเหล่านั้นถึงประสบความสำเร็จ? เธอไปที่ไปที่วิทยาลัยทหารเวสท์พอยท์ เพื่อวิเคราะห์ว่านายร้อยคนใดจะอยู่ฝึกต่อหรือลาออก ไปดูการแข่งขันสะกดคำแห่งชาติ เพื่อดูว่าเด็กคนไหนจะชนะหรือไปได้ไกลที่สุดตรงไหน ศึกษาเกี่ยวกับเหล่าคุณครูมือใหม่ ที่ทำงานในสถานที่ที่ยากลำบาก พยากรณ์ว่าคุณครูคนใดจะสอนอยู่ต่อเมื่อปีการศึกษาจบลง และกลุ่มนักเรียนของครูคนใดจะมีประสิทธิภาพสูงที่สุด เป็นต้น
นอกจากนี้เธอยังได้มีโอกาสร่วมมือกับบริษัทเอกชนเพื่อวิเคราะห์ว่าพนักงานขายคนไหนจะยังคงรักษาผลงานไว้ได้ และทำยอดขายได้เยี่ยมที่สุด จากสถานภาพ หน้าที่ และบริบทที่แตกต่างกันในแต่ละกรณีศึกษาที่เธอได้ลงพื้นที่ศึกษามาทั้งหมด ทำให้ค้นพบคุณสมบัติหนึ่งที่โดดเด่นออกมา ซึ่งมันไม่ใช่รูปลักษณ์ภายนอกที่ดูดี ไม่ใช่ความสามารถในการเข้าสังคม ไม่ใช่ความแข็งแรงของร่างกาย และไม่ใช่การมีไอคิวสูง แต่เป็นเรื่องของ…
“GRIT – ความเพียรพยายาม”
เธอได้ให้นิยามความหมายของ “ความเพียรพยายาม” เอาไว้ว่า ความฝักใฝ่ ความใคร่ในการทุ่มเท บากบั่น ฝ่าฟันเพื่อเป้าหมายที่เป็นความต้องการ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วความเพียรพยายามจะเป็นการกระทำในระยะยาว เป็นความอดทน มุมานะอย่างใช้ระยะเวลาเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามที่หวัง การมุ่งมั่นในการไปข้างหน้านั้นไม่ได้ทำกันแค่วันหรือสองวัน แต่เป็นสัปดาห์ เป็นเดือน เป็นปี หรือมากกว่าปีขึ้นไป เปรียบเทียบแล้วมันก็เหมือนกับการวิ่งมาราธอน ที่เส้นชัยก็คือความสำเร็จที่เราตั้งไว้
ความเพียรพยายามให้อะไรบ้าง?
จากการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องความเพียรพยายาม แองเจล่า ค้นพบว่านักเรียนที่มีความเพียรมากกว่า จะประสบความสำเร็จในการศึกษา ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่การเรียนจบเพียงเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการมีผลการเรียนที่เป็นเลิศอีกด้วย เมื่อเทียบกับคุณสมบัติอื่นๆเช่น รายได้ของครอบครัว ความรู้สึกปลอดภัยในการมาโรงเรียน หรือผลคะแนนสอบที่เป็นมาตรฐาน สิ่งเหล่านี้ยังมีน้ำหนักให้เด็กคนหนึ่งเรียนจบได้ไม่เท่ากับการมีความเพียรพยายาม
“พรสวรรค์ ไม่ได้ช่วยให้มีความเพียรพยายาม”
แม้ความเพียรพยายามจะเป็นปัจจัยหลักในการศึกษาหรือการดำเนินชีวิต แต่สิ่งที่น่าแปลกใจก็คือ เรามีข้อมูลเกี่ยวกับความเพียรพยายามกันน้อยมาก เราจะสร้างมันได้อย่างไร? คนเริ่มมีความเพียรพยายามได้อย่างไร? ความเพียรพยายามเพิ่มหรือลดลงได้อย่างไร? ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ยังต้องทำการค้นคว้าเพื่อหาคำตอบที่ชัดเจนต่อไป
แองเจล่า เล่าว่าสิ่งที่เธอแน่ใจในตอนนี้ก็คือ พรสวรรค์ไม่ได้มีส่วนช่วยให้เกิดความเพียรพยายาม จากข้อมูลที่เธอได้จากการค้นคว้า เธอพบว่าจากคนมากมายที่มีพรสวรรค์อันน่าทึ่งมักไม่ประสบความสำเร็จในทางเดียวกับพรสวรรค์ที่ตนเองได้รับ คล้ายกับเรื่องราวของกระต่ายกับเต่า เพราะกระต่ายมีพรสวรรค์เรื่องความเร็วมากกว่า จึงเกิดความนิ่งนอนใจ และไม่เกิดความเพียรพยายาม นั้นคือจุดที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า พรสวรรค์กับความเพียรพยายามไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกันเลย
ความเชื่อในการเติบโต
จากการค้นคว้าทั้งหมด แองเจล่าค้นพบไอเดียเกี่ยวกับการเสริมสร้างความเพียรพยายามที่น่าสนใจ ซึ่งเป็นผลงานของ Dr. Carol Dweck พัฒนาขึ้นที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ไอเดียนี้เกิดจากการที่ Dr. Carol ได้ทดลองให้นักเรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงและการเติบโตของสมอง อีกทั้งยังให้นักเรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับการตอบสนองของสมองต่อสิ่งท้าทายและน่าตื่นเต้น ซึ่งการเรียนรู้เหล่านี้จะทำให้นักเรียนรู้สึกว่าการเพียรพยายามเพื่ออะไรสักอย่าง ต่อให้ต้องพบกับความล้มเหลว ก็จะมองว่าความล้มเหลวไม่ใช่สิ่งถาวร หากพยายามต่อไป มันสามารถเปลี่ยนไปได้
“ความสามารถในการเรียนรู้เป็นสิ่งที่ไม่ตายตัว และสามารถเปลี่ยนแปลงได้ด้วยความเพียรพยายามของคุณ”
ไอเดียนี้เป็นไอเดียที่ตอบคำถามเกี่ยวกับผลการเรียนนักเรียนทั้งหลายของแองเจล่าได้ดีจริงๆ ว่านี่คือเหตุผลที่ทำไมเด็กที่มีผลการเรียนดีที่สุด ถึงไม่ใช่เด็กที่มีไอคิวสูงที่สุด ความเพียรพยายามจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในการเรียนรู้ ซึ่งไม่ใช่แค่เพียงการศึกษาเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการดำเนินชีวิตประจำวันอีกด้วย ในชีวิตจริงเส้นชัยของคุณอาจไม่ใช่แค่เกรดแต่เป็นความสำเร็จครั้งใหญ่ในชีวิตที่รอคุณอยู่ เมื่อคุณเพียรพยายาม
บทสรุป
จากการศึกษาของแองเจล่า คงทำให้เราเห็นแล้วว่าการนั่งอิจฉาในพรสวรรค์ที่คนอื่นเขามีเป็นเรื่องเสียเวลาเหลือเกิน พรสวรรค์เหล่านั้นไม่ได้มีส่วนช่วยในเรื่องของความเพียรพยายามเลยด้วยซ้ำ
ปัจจัยในการประสบความสำเร็จก็มีความเพียรพยายามเป็นส่วนประกอบในนั้น เพราะฉะนั้นแทนที่จะนั่งน้อยเนื้อต่ำใจในพรสวรรค์หรือความไม่เท่าเทียมที่เกิดขึ้น สู้เอาเวลาของเราไปปักหมุดเส้นชัย แล้วเริ่มออกวิ่งมาราธอนในเส้นทางชีวิตของเราเองตั้งแต่ตอนนี้จะดีกว่า เราอาจจะถึงเส้นชัยในเร็วๆ นี้ก็ได้
“เพราะความสำเร็จไม่ได้มาจากพรสวรรค์ แต่มาจากความเพียรพยายาม”
Grit: the power of passion and perseverance | Angela Lee Duckworth