
Halo effect เป็นอคติทางความคิด (cognitive bias) รูปแบบหนึ่ง ที่เรามีต่อสิ่งที่เรารู้สึกชอบหรือรู้สึกดีด้วย จนทำให้การตัดสินใจของเราออกจะลำเอียง
ในสังคมทำงาน หลายครั้งที่คุณค่าของคนมักถูกตัดสินจากรูปลักษณ์ภายนอก ความเห็นหรือ ความรู้สึกส่วนตัวมักถูกนำมาใช้ตัดสินคนในสังคม มาตรฐานความงามของคนถูกคนในสังคมส่วนใหญ่กำหนดขึ้นมาเองว่า แบบนี้สวย แบบนี้หล่อ แบบนี้ขี้เหร่ แบบนี้น่าเกลียด ซึ่งในตอนที่โลกเกิดขึ้นมา ก็คงไม่มีใครเขียนกำหนดกฏเกณฑ์ในเรื่องแบบนี้เอาไว้แน่ๆ
“เราต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองตลอดเวลา เพื่อให้ตรงกับมาตรฐานความงามปัจจุบัน”
หากเป็นผู้หญิง ต้องผิวขาว ตาโต หน้าใส รักแร้เนียน ไม่มีขนขา เอวเล็ก ขาเรียว หรือ หากเป็นผู้ชายก็ต้องตัวสูง อกผายไหล่ผึ่ง ร่างกายกำยำ สมความเป็นชาย อันที่จริงแล้วเรื่องนี้ใครเป็นคนกำหนดเรื่องพวกนี้กัน ความนิยมที่ผู้หญิงต้องเป็นแบบนี้ และผู้ชายต้องเป็นแบบนั้น สิ่งเหล่านี้มันเปลี่ยนแปลงไปเร็วกว่าฤดูกาลเสียอีก ทำให้คนมากมายต้องสูญเสียเงินจำนวนไม่น้อย และรับเจ็บปวดอย่างมากกับการทำให้ตัวเองเป็นที่ต้องการจากการเป็นคนที่ต้องมีความสวยงามตรงตามมาตรฐาน
“ในก็ตอนเกิดมา มันไม่มีฟังก์ชั่นหน้าตามาให้เลือก”
ทุกคนมีนิยามคำว่าสวยงามในแบบฉบับของตัวเอง เหมือนกับบางคนชอบสีดำ บางคนชอบสีแดง หรือ บางคนชอบเรียนศิลปะ บางคนชอบดนตรี เป็นต้น ในเรื่องรูปลักษณ์ภายนอกก็เช่นกัน เราจะกำหนดมาตรฐานความสวยงามขึ้นได้อย่างไร? เมื่อให้ชอบวิชาเดียวกันทั้งโลกยังทำไม่ได้เลย เราทุกคนเกิดจากท้องแม่คนละคนกัน ยกเว้นเสียแต่ว่าเราจะเป็นพี่น้องกันนะ พวกเราไม่ได้เกิดจากแม่พิมพ์ แม่ของเราก็ไม่ได้กดเลือกฟังก์ชั่นหน้าตาและรูปร่างเหมือนตอนเล่นเกมแต่งตัวในอินเทอร์เน็ต แล้วทำไมเรายังต้องให้ความสำคัญกับเรื่องพวกนี้?
“มาตรฐานความสวยงาม ไม่ได้สร้างคนสวย แต่สร้างความเจ็บปวดให้กับคนจำนวนมาก”
เมื่อไรก็ตามที่มีการกำหนดมาตรฐานหรือตัวชี้วัดขึ้น สิ่งที่ตามมาก็คือ ข้อเปรียบเทียบ ถ้าบอกว่าทุกคนควรได้คะแนน 8 คะแนนขึ้นไปในการสอบครั้งนี้ เด็กที่ได้ต่ำกว่า 8 จะโดนตัดสินว่าไม่เก่งทันที แม้ว่าเด็กคนนั้นจะได้ 6 หรือ 7 คะแนนจากคะแนนเต็ม 10 ก็ตาม เมื่อมีคนกำหนดว่าผู้หญิงไม่ควรจะมีขนที่รักแร้นะ ส่วนใหญ่ที่ยึดมาตรฐานนี้จะมองว่าผู้หญิงที่มีคนรักแร้คือผู้หญิงสกปรก ไม่ดูแลตัวเอง และใช้ไม่ได้เลยจริงๆ ถึงแม้ว่าผู้ชายจะมีได้ และพวกเขายังดูสะอาดอยู่ก็ตาม
“ดำ เตี้ย อ้วน หน้าสิว คือ พวกหน้าตาผิดระเบียบ ผิดมาตฐาน”
ทำไมรูปลักษณ์ภายนอกถึงเป็นเรื่องที่เราเอามาล้อเลียนกันได้? หลายคนต้องเจ็บปวดจากการโดนบูลลี่เพียงเพราะพวกเขาเหล่านั้นไม่ได้มีความสวยงามตรงตามมาตรฐานที่คนส่วนใหญ่ชอบ ถ้าเราชอบคนผิวขาว ทำไมเราถึงต่อว่าคนผิวดำล่ะ? สีผิวของคนเรามันเป็นแบบนี้มาตั้งแต่เกิด อีกอย่างตอนที่เราต่อว่าคนอื่นว่าทำไมไม่ตรงกับมาตรฐานความสวย มันไม่ใช่เรื่องของเราด้วยซ้ำ เพราะเรื่องผิวก็ผิวของเขา หน้าตาก็หน้าตาของเขา สิ่งที่เป็นปัญหาตามมาก็คือสรุปว่าเป็นปัญหามาจาก รูปลักษณ์ภายนอก หรือ ความคิดของคน กันแน่
“ในโลกที่มีแต่คะแนนความลำเอียง”
คะแนนที่เหล่าคนที่เกิดมาด้วยหน้าตาที่ตรงตามมาตรฐานพกมาตั้งแต่เกิด คนมักช่วยเหลือคนสวยก่อนเสมอ คนมักเลือกคนหล่อในการไปเดทด้วยกัน หรือ องค์กรมักเลือกคนที่หน้าตาเฉลียวฉลาดในการร่วมทำงานด้วย คะแนนความลำเอียงที่เราต่างใส่ให้กันในแต่ละคน มันแค่การเลือกปฏิบัติเท่านั้นเอง แต่สิ่งที่ทำให้มันน่ากลัวก็คือ ต่อให้เราเลือกคนที่หน้าตาเฉลียวฉลาดมาทำงานด้วย แต่เขาอาจจะไม่ได้ทำงานได้ดีอย่างที่เราต้องการ แต่เราก็มักจะหาข้ออ้างและให้โอกาสเขาในครั้งที่สองหรือสามตามมา เพราะเราได้เชื่อไปแล้วว่าเขาจะฉลาดเหมือนที่หน้าตาของเขา
“เพราะเรามองแล้วดูดี รู้สึกดี จึงคิดว่าดี”
Halo effect เป็นอคติทางความคิด ที่ทำให้เรามองสิ่งของ การกระทำ หรือผู้คน ดีเกินความเป็นจริง เนื่องจากรูปลักษณ์ภายนอกของพวกเขาท หรือ การกระทำของพวกเขาที่ดูดีนั่นเอง อคติตัวนี้ส่งผลทำให้เรากลายเป็นเหยื่อที่ตกหลุมพรางทางความคิดของตัวเอง เรามักเสียเงินซื้อของสวยๆ งามๆ ที่ไม่มีประโยชน์ เพราะเรามักเชื่อถือคนที่หน้าตาดู มีภูมิฐานที่เข้ามาหลอกลวง เรามักเชื่อการกระทำของคนหน้ากล้องที่ดูดี แม้ว่ามันเป็นเพียงการแสดงที่ซ้อมมาอย่างดีหลังกล้องก็ตาม
“Halo คือ รัศมีวงกลมที่อยู่บนหัวของเทวดานางฟ้า”
คำว่า halo หากแปลตรงตัว จะหมายถึงรัศมีวงกลมที่อยู่บนหัวของเทวดานางฟ้า จึงให้เปรียบเทียบพฤติกรรมของคนเวลามองสิ่งใดสิ่งหนึ่งดีเกินความเป็นจริง ก็เหมือนกับการที่เราเอารัศมีวงกลมเทวดานางฟ้าไปใส่ไว้บนหัวเขา ซึ่งอคตินี้ เป็นอคติเชิงบวกที่มีอิทธิพลมาจากรูปลักษณ์ภายนอกที่เราเห็นด้วยตาเปล่า จนเราละเลยข้อบกพร่องหรือความผิดพลาดในความเป็นจริง ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งที่เราเผชิญกันอยู่ในชีวิตประจำวันและสร้างความผิดพลาดให้กับเราอยู่เสมอ
“อคติของเรา คือ ภาพลวงตา”
Thorndike นักจิตวิทยาชาวอเมริกันได้เริ่มศึกษาเรื่องนี้ตั้งแต่ปี 1920 เขาพบว่าลักษณะเด่นของสิ่งใดๆก็ตาม จะทำหน้าที่เป็นเหมือนภาพลวงตาในการปิดบังข้อบกพร่องของสิ่งนั้นเสมอ ตัวอย่าง เช่น เราเลือกทำงานกับคนที่แต่งตัวดี มีภูมิฐาน มากกว่าคนใส่เสื้อผ้าหลุดลุ่ย ถึงแม้ว่าเขาจะเป็นคนพูดจาติดขัด ไม่ชัดถ้อยชัดคำ แต่เราจะคิดว่ามันสามารถแก้ได้ เป็นที่น่าแปลกที่เรากลับไม่คิดว่าการใส่เสื้อผ้าหลุดลุ่ยเป็นสิ่งที่แก้ได้ง่ายกว่าการพูดจาติดขัดเสียอีก
“อคตินำไปสู่ความคลาดเคลื่อนจากสภาพความเป็นจริง จนอาจนำไปสู่ความทุกข์ได้”
Thorndike ได้ทำการทดลอง โดยการสังเกตผู้บังคับบัญชาทหารที่กำลังประเมินทหารผู้ใต้บังคับบัญชาในด้านต่างๆ ผลสรุปก็คือ ทหารผู้ใต้บังคับบัญชาที่มีรูปร่างหน้าตาที่ดีกว่า จะทำให้ได้รับการประเมินในด้านต่างๆ ที่ดีกว่าทหาทั่วๆ ไป นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษาในกลุ่มตัวอย่างเพศชาย 155 คน และหญิง 155 คน พบว่ารูปลักษณ์ภายนอกมีผลอย่างมากต่อการสร้างความสัมพันธ์ทั้งชายและหญิง ตัวอย่างเช่น ความเซ็กซี่และเค้าโครงใบหน้าที่ดูดี มีผลต่อการดึงดูดเพศหญิงมากกว่าเพศชาย เป็นต้น
“อคตินำไปสู่ตกหลุมพรางความคิดถาวร”
Halo effect ไม่ใช่แค่เพียงปรากฏการณ์ทางความคิดระยะสั้นที่เมื่อเราเห็นความจริงแล้วตาสว่าง แต่มันทำได้มากกว่านั้น นักจิตวิทยากล่าวว่าในบางครั้งมันทำให้เกิด บุคลิกภาพแฝง (personality traits) ชนิดถาวรได้ เช่น ลัทธิความเชื่อในตัวบุคคลใดบุคคลหนึ่งซึ่งนำไปสู่ความงมงาย และถูกสืบทอดเป็นระยะเวลานาน หรือในบางคนมีการพัฒนาบุคลิกภาพที่ผิดเพี้ยนเพราะถูกชักจูงโดย Halo effect จนในที่สุดก็ลืมตัวตนที่แท้จริงของตัวเองไป เป็นต้น
“สติ เป็นเกราะป้องกันอคติได้”
เพราะการเกิดอคติอย่าง Halo effect มันอาจจะทำให้เราพลาดในการตัดสินใจ หรือสร้างความเจ็บปวดให้เราในด้านใดด้านหนึ่ง สิ่งที่เราทำได้ก็คือมีสติในการตัดสินใจ ก่อนตัดสินคน สิ่งของ หรือการกระทำ ให้ตั้งสติ มองทุกอย่างให้รอบด้าน เตือนตัวเองไม่ให้หลงไปกับรูปลักษณ์ภายนอก และใช้เหตุผลในการตัดสินใจมากที่สุด พยายามอย่าให้ความรู้สึกเป็นตัวกำหนดความถูกผิด
“อย่าให้ อคติ ทำร้ายเรา และอย่าใช้ อคติ ทำร้ายใคร”
ไม่ใช่เพียงแค่เราที่เจ็บปวดจากการตกหลุมพรางทางความคิด ทุกครั้งที่เราเผลอตัดสินทุกอย่างจากรูปลักษณ์ภายนอก ยังมีอีกฝ่ายที่เจ็บปวดจากการโดนตัดสินเช่นกัน มาตรฐานแห่งความสวยงามที่ทำให้สังคมบิดเบี้ยว พยายามผลักทุกคนให้ตกลงไปในหลุมพรางแห่งความคิดผิดๆ เหล่านี้ หล่อหลอมให้เราชื่นชมกันจากภายนอกโดยมองข้ามคุณค่าที่แท้จริงภายในไปเสียหมด หากเรามีสติเราจะคิดได้ เราจะแยกแยะมันออกว่าอะไรที่เปลือก และอะไรคือเนื้อแท้
บทสรุป
ในสังคมไทยในปัจจุบันก็ยังแฝงไปด้วยการดูถูกเหยียดหยามกันมากมาย หลายคนอดไม่ได้ที่จะพูดว่าความประทับใจแรกที่มีต่อคนที่พบเห็นก็คือรูปลักษณ์ภายนอก มาตรฐานความงามยังคงถูกใช้ในการมองคน ตัดสินคน ว่าเขาหน้าตาดีหรือเปล่า
ถ้าเรายังปล่อยให้สังคมขับเคลื่อนไปด้วยการชื่นชมความงามของเปลือกนอกไปเรื่อยๆ คนก็จะมองข้ามที่จะพิจารณาในเรื่องคุณค่า และก็จะตกหลุมพรางความคิดที่บิดเบี้ยว ทำให้เกิดการตัดสินใจที่ผิดพลาด ดังนั้นการตัดสินใจเรื่องต่างๆ อย่างผู้มีปัญญา ก็ต้องอาศัยหลักการและเหตุผล ตัดความหลงใหล หรือ ความรู้สึกแรกพบ และ อคติออกไป แล้วจะทำให้เราค้นพบคุณค่าที่แท้จริงของกันและกัน
“Do not judge a book by its cover อย่าตัดสินหนังสือจากหน้าปก”
บทความแนะนำ : Why we love, why we cheat – ทำไมเราถึงรัก และ ทำไมเราถึงต้องหลอกลวง
Source:
https://adecco.co.th/th/knowledge-center/detail/halo-effec
https://www.dmh.go.th/news/view.asp?id=1220
https://mgronline.com/qol/detail/9620000073850
https://www.healthcarethai.com