
Happy Growth – เราจะดูแลกันอย่างไรให้ “ความสุข” ของเราเติบโต ต้องบอกว่าปัญหาเรื่องสุขภาพจิตเป็นเรื่องที่ใหญ่มากในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลระดับใดก็บ่งชี้ในทำนองเดียวกันหมด และยิ่งเห็นชัดมากขึ้นเมื่อมีสถานการณ์โควิคมาซ้ำเติม หันไปเจอใครก็ล้วนแต่บ่นถึงความเครียดที่เพิ่มมากขึ้น และ pain point ของคนวัยทำงานก็เห็นกันมากขึ้น
ตัวอย่างในประเทศจีน คู่สามีภรรยามีอัตราการหย่าร้างสูงขึ้น เพราะการทำงานที่บ้านในช่วงโควิด ทำให้เกิดการลุกล้ำพื้นที่ส่วนตัว และทั้งคู่ก็ยังต้องแบกรับภาระเพิ่มขึ้น ทั้งต้องทำงานที่บ้าน และดูแลพ่อ แม่ หรือลูกหลานไปพร้อมกัน ออกไปข้างนอกก็ไม่ได้ เปลี่ยนพื้นที่ความจำเจก็ไม่ได้ ก็ยิ่งเพิ่มความกดดันขึ้นไปอีก
แม้โควิดจะค่อยๆคลี่คลาย แต่การทำงานยามนี้ก็ใช่ว่าจะราบรื่นนัก ทั้งปัญหา Burn out, Gen Gap หรือความทุกข์จากความสัมพันธ์ หรือจากการสื่อสารระหว่างกัน ความสุขของคนวัยทำงานยุคนี้ จึงอาจไม่ใช่แค่เรื่องของค่าตอบแทนสวัสดิการ หรือการพัฒนาศักยภาพ การดูแลหัวจิตหัวใจคนวัยทำงาน ย่อมทำแบบเดิมไม่ได้อีกต่อไป
หลายคนคงเคยได้ยินชื่อ สสส. หรือสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ซึ่งเป็นองค์กรที่มีพันธกิจในการพัฒนาสุขภาวะของผู้คนโดยตรง ในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงและผันผวนเช่นนี้ สสส. มีวิธีดูแลพนักงานอย่างไร โพสนี้มีคำตอบ
เพิ่มเครื่องมือดูแล เพื่อความเข้าใจตัวเองและคนรอบข้าง
คุณศิรินภา สถานพรรวจนา ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารงานบุคคล สสส. เล่าให้ฟังว่า สสส. ทำงานเพื่อส่งเสริมสุขภาพองค์รวม ทั้งกาย จิตใจ สังคม และปัญญา คน สสส. จึงมีสายตาที่จะใส่ใจทั้ง 4 มิตินี้ โดยได้พยายามพัฒนาสิ่งเหล่านี้ผ่านกระบวนการต่างๆ เพื่อให้ผู้คนทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความสุข
นอกจากการพัฒนาศักยภาพและความเชี่ยวชาญในงานแล้ว ก็ยังต้องพัฒนา soft skills ที่จะช่วยเสริมสร้างความสามารถในการเข้าใจตนเองและเข้าใจคนอื่น และเมื่องานหลักของ สสส. เอง ซึ่งเป็นองค์กรที่ส่งเสริมเรื่องสุขภาวะให้แก่องค์กรอื่น ก็ยิ่งต้องสร้างเข้มแข็งในเรื่องนี้จากภายใน
โครงการ Spiritual Journey เป็นตัวอย่างโครงการที่ สสส. ทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย ตั้งแต่ปีที่แล้ว เพื่อเสริมสร้าง mind set ที่ว่านั้น และเป็นส่วนหนึ่งของการดูแลสุขภาพองค์รวมสำหรับพนักงาน โดยเริ่มต้นที่การสำรวจสภาวะภายในของพนักงาน ซึ่งพบว่า ท่ามกลางสถานการณ์โควิด พนักงานมีภาวะ burnout มีปัญหาด้านความสัมพันธ์ การทำงานเป็นทีม ขาดแรงจูงใจ และเป้าหมายชีวิต จึงได้ทำงานร่วมกับเครือข่ายด้านสุขภาวะทางปัญญา นำเครื่องมือดูแลใจ มาพัฒนาเป็นกิจกรรมหลายหลายรูปแบบให้พนักงานโหวต และเลือกเข้าร่วมตามความสมัครใจ เช่น การฟังด้วยใจ จัดดอกไม้จัดใจ พบเพื่อนใจ ผ่อนพักตระหนักรู้ ดูหนังฟังหัวใจ Spiritual Cafe’ พูดคุยกันเรื่องชีวิตจิตใจ
หลังจากเข้าร่วมกิจกรรม จะมีช่วงเวลาที่พนักงานได้มาพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน และเรียนรู้จากประสบการณ์ของคนอื่น เพื่อตอกย้ำถึงมุมมองและเครื่องมือดูแลจิตใจ ที่ได้จากกิจกรรมต่างๆ โดยเน้นการนำปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ทั้งเรื่องส่วนตัวและการงาน
การเปลี่ยนแปลง เริ่มจากการมองเห็นตัวเอง
ดร. สรยุทธ รัตนพจนาถ จากธนาคารจิตอาสา ขยายความว่า ทุกคนล้วนอยากเปลี่ยนแปลง เพื่อเป็นคนที่ดีขึ้น ทำงานดีขึ้น แต่ไม่ชอบให้ใครมาบอก พวกเขาต้องการเปลี่ยนแปลงเอง นั่นคือ ธรรมชาติของผู้คน การทำให้เขาสะท้อนได้เองผ่านการมองเห็นตนเองเพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเอง เป็นหน้าที่ของคนที่ดูแลพนักงานอย่าง HR ซึ่งก็ต้องหาทางและทำหน้าที่ที่จะสร้างโอกาสแบบนี้ให้เกิดขึ้น และควรทำในลักษณะของการ integrate ทั้งหมดทั้งมวลเข้าสู่ชีวิต เพราะทุกวันนี้โลกต้องการให้คนวัยทำงานดูแลเพิ่มขึ้น ทั้งดูแลชีวิตส่วนตัว การงาน พ่อแม่ ลูกหลาน ครอบครัว และสังคมส่วนรวม เครื่องมือที่เลือกเมื่อนำมาใช้ จึงควรให้ผลหลายด้านไปพร้อมกัน
กิจกรรมในโครงการ Spiritual Journey ที่ สสส. ยกตัวอย่างมาเป็นกิจกรรมที่สนุก และมากกว่าความสนุกนี้ ยังให้เครื่องมือกับเราด้วย เมื่อทำเป็น ผู้คนก็จะนำไปใช้ในชีวิตของเขาได้เอง สำคัญ คือคนที่พาทำ หรือที่เรียกว่า กระบวนกร ต้อง embody ในเรื่องนี้ หมายถึง มีความสามารถที่จะดูแลจิตใจของตนได้ด้วย เมื่อถึงเวลาแชร์ความรู้ จึงไม่ใช่การบรรยายแบบ lecture แต่เป็นการใช้ตนเองแชร์ความรู้และประสบการณ์ว่า คนที่มีลักษณะอย่างนี้นี่แหละ คือคนที่มีความสุข
เปิดใจ เรียนรู้ วางของเก่าไว้ก่อน
กิจกรรมติดตั้งเครื่องมือดูแลใจ ส่วนมากเป็น direct experience ที่ต่างคนต่างก็ได้ทำกิจกรรมเหมือนๆ กัน เช่น ดูหนังเหมือนกัน ทำงานอาสาเหมือนกัน ฟังเพลงเดียวกัน แต่ประสบการณ์และมุมมองที่เกิดขึ้นกับแต่ละคนนั้นต่างกัน เมื่อมาพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ก็ทำให้ได้เห็นบทเรียนจากคนอื่น ทั้งที่เป็นคนที่เราชอบ หรือแม้ว่าเราไม่ชอบก็ตาม แต่เขาก็จะมีบทเรียนที่ดีของเขา ซึ่งก็อาจจะเป็นบทเรียนที่ดีต่อเราด้วย และทำให้ได้เห็นความเป็นมนุษย์ที่ใกล้กันมากขึ้น ที่สำคัญ คือ เราต้องเปิดใจ เรียนรู้ วางของเก่าไว้ก่อน และท้ายที่สุดแล้ว เราก็จะพบเครื่องมือที่สำคัญ ซึ่งก็คือ ตนเอง
กิจกรรมเหล่านี้ นอกจากจะเสริมสร้างการพัฒนาสุขภาวะทางปัญญาแล้ว ยังทำให้ความสัมพันธ์ของคนในองค์กรดีขึ้น เพราะหลายครั้งปัญหาในองค์กร เกิดจากการสื่อสารที่ตกหล่น กิจกรรมอย่างนี้ ใครๆ ก็มาร่วมก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้า ลูกน้อง นายจ้าง ลูกจ้าง ใครก็มาได้ ทำให้เกิดความรักและความใส่ใจที่จะดูแลกัน จนนำไปสู่ productivity ในการทำงาน รวมไปถึงได้ sense of community ได้ employ engagement ได้ job satisfaction จนไปถึงเรื่องของ marketing ด้วย ทำนองว่าทำงานเดียวแต่ตอบหลายโจทย์ ซึ่งแม้จะคล้ายกิจกรรมสันทนาการ แต่ก็ช่วยให้คนทำงานหาจุด optimum หรือ จุดสมดุล กาย ใจ สังคม ปัญญา ของตนเอง ซึ่งเป็นเรื่องเฉพาะตน ของใครของมัน ต้องหาเจอในตัวเอง จึงจะดูแลตนเองได้
เคล็ดลับอยู่ที่กลับมารับรู้ สิ่งที่อยู่ตรงหน้า
ถ้าวันนี้เจอเรื่องที่ไม่ดีมา เราควรเริ่มที่ตรงไหน? อย่างไร?
ดร. สรยุทธ อธิบายถึงวิธีง่ายๆ ที่คนทำงานทุกคนดูแลตนเองได้ นั่นก็คือ กลับมารับรู้ สิ่งที่อยู่ตรงหน้า เชื่อหรือไม่ว่าวิธีหนึ่งที่ง่ายที่สุด ก็คือ การดื่มน้ำ เพราะคนส่วนมาก มักดื่มน้ำไปข้างหน้า หมายความว่า ดื่มน้ำให้เสร็จ เพื่อจะได้ไปทำงานหรือทำอย่างอื่นต่อ หรือการล้างมือ ก็ล้างมือเพื่อที่จะไปทำอะไรบางอย่าาง เป็นการล้างมือไปข้างหน้า ไม่ใช่ล้างมือตรงนี้ ขณะนี้ หรือล้างมือเพื่อล้างมือ
จริงๆ หากเราดื่มน้ำเพื่อดื่มน้ำ ล้างมือเพื่อล้างมือ จะช่วยให้ผ่อนคลายทันที เพราะเราได้วางความกังวลทั้งหลายไปแล้วในขณะนั้น เรื่องนี้ดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่มหัศจรรย์มาก เหมือนเส้นผมบังภูเขา แต่ละคนมีวิธีของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการทำงานศิลปะ ไปทำงานอาสา ได้เคลื่อนไหวร่างกาย ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม ขอเพียงกลับมารับรู้ สิ่งที่กำลังอยู่ตรงหน้าให้ได้ อาจพบว่า นั่นเป็นการเส้นทางสู่ความผ่อนคลายของเรา เมื่อเจอแล้ว ทำต่อเนื่องแล้ว ก็จะการกลับมาสู่จุดสมดุลของตนเองเลย
ร่วมเป็นเครือข่ายความสุข และเติบโตไปด้วยกัน
สุดท้ายคุณศิรินภา ได้เพิ่มเติมถึง เครื่องมือล่าสุดของ สสส. ที่ให้พนักงาน “ประเมินสุขภาวะทางปัญญา” ด้วยแบบสอบถาม 38 ข้อที่ผ่านการวิจัยมาแล้วจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้พนักงานได้ย้อนมองและทบทวนตนเองถึงสภาวะอารมณ์ ความคิด และพฤติกรรม ส่วนองค์กรก็ได้ข้อมูลมาทำงานต่อ รวมทั้งปีนี้ ยังเพิ่มกิจกรรมที่หลากหลายขึ้นอีก จากปีที่แล้วที่เน้นกิจกรรม online ปีนี้ก็เพิ่มกิจกรรม on site เพื่อให้คนได้เจอกันในรูปแบบ face to face มากขึ้น
เพิ่มเติมด้วยการจัดโครงการ Happy Growth ความสุขกำลังเติบโต เชิญชวนหน่วยงานต่างๆ มาร่วมเป็นเครือข่ายกับ สสส. ร่วมกันช่วยคนวัยทำงานให้เกิดการเติบโตจากภายในสู่ภายนอก ด้วยการพัฒนาสุขภาวะปัญญาเพื่อการใช้ชีวิตและทำงานได้อย่างมีความสุข โดยใช้กิจกรรม/เครื่องมือของสสส. และภาคีเครือข่าย ทั้งแบบประเมินสุขภาวะทางปัญญา กิจกรรม (workshop) และเครื่องมือต่างๆ โดยหวังจะสร้างให้เกิดเป็นเครือข่ายองค์กรความสุข
#ความสุขกำลังเติบโต #สสส #LifeTalk #HappyGrowth #ถอดรหัสความสุขคนทำงาน
สามารถเลือกรับชมรายการ ในรูปแบบของ YouTube ได้ที่
LIFE TALK HAPPY GROWTH : การดูแลคนทำงานยุคใหม่ ที่จะทำแบบเดิมๆไม่ได้อีกต่อไป
หรือ จะเลือกรับฟังรายการ ในรูปแบบของ Podcast ได้ที่: