เจ้านายที่จู้จี้ เจ้านายที่ขี้บ่น เจ้านายที่คอยแต่จะจ้องจับผิดเรา ถ้าเราต้องทำงานกับคนแบบนี้ ตลอดเวลา คงจะน่าเบื่อใช่ไหม? พวกเราเคยมีประสบการณ์การทำงานร่วมกับเจ้านายเหล่านี้บ้างไหม?
ถ้าเคย… แล้วรู้สึกอย่างไรบ้าง ที่ต้องทำงานกับเจ้านายที่เป็นแบบนี้?
พวกเราคงจะรู้สึกแย่ใช่ไหม และ นอกจากนี้ก็คงมีอีกหลายๆ ความรู้สึกที่ตามมา อาทิเช่น
บางคน คงจะรู้สึกไม่พอใจเวลาที่เจ้านายบ่น และก็ไม่พอใจกับเหตุผลต่างๆ นาๆ ที่เขาหยิบยกขึ้นมา
บางคน ไม่พอใจ ว่าทำไมเจ้านายต้องมาคอยจับผิดการทำงานของเขา ทำให้เขารู้สึกว่าเจ้านายอาจจะไม่ไว้วางใจ
บางคน รู้สึกว่าตัวเราเองไม่มีความสามารถเพียงพอ เพราะเจ้านายคอยมาจู้จี้ ตามจิก ตามดูงานที่พวกเขาทำทุกฝีเก้า
บางคน รู้สึกว่าเจ้านายมองไม่เห็นความทุ่มเทของเขา ทั้งๆที่เขาตั้งใจทำงานหนักมาโดยตลอดเพื่อองค์กร
เชื่อว่าหลายๆ คนก็คงเคยรู้สึกแบบนี้ และ ก็มีเหตุผลคล้ายๆ กับที่ว่านี้เช่นกัน
จนทำให้ หลายๆ คนต้องตัดสินใจเปลี่ยนงาน เพราะไม่สามารถทน และรับมือกับปัญหาและความรู้สึกแย่ๆ ที่เกิดขึ้นได้ เมื่อต้องเจอกับ เจ้านายที่จู้จี้ เจ้านายที่ขี้บ่น
กับแต่ก็มีอีกหลายคน ซึ่งอาจจะแย่หน่อย ไม่สามารถเปลี่ยนงานได้ (อาจจะเพราะไม่อยากเปลี่ยน หรือ ไม่มีที่ไป) พวกเขาเลือกที่จะทนอยู่กับสถานการณ์อันเลวร้ายเหล่านี้ต่อไป แถมบางคนอาจจะเลือกทางที่แย่กว่านั้น คือ เป็นศัตรูกับเจ้านายของตนเองไปซะเลย
แรงมา ก็แรงไป ยิ่งอยู่ ยิ่งทำงาน ย่ิงมีปัญหากับเจ้านายหนักขึ้นไปอีก ไม่รู้ใครจะไปก่อนกัน (แต่ที่แน่ๆ สุขภาพจิตไปก่อนแน่นอน)
เรื่องเหล่านี้ จึงเกิดเป็นวงจรปัญหา ที่เห็นได้มากมายที่ทุกๆ ที่ทำงาน
ตัวผมเองก็เคยเป็นแบบนี้ เพราะในอดีต ทำงานกับเจ้านายมาหลายคน จะบอกว่าได้เจ้านายดีทุกคน ก็จะหาว่าโกหก
ผมเองก็เคยตั้งคำถามกับตัวเองมาก่อนว่า ที่เราต้องมาเจอกับเรื่องแย่ๆ ในตอนนี้ เพราะเจ้านายจริงเหรอ?
เพราะเจ้านาย ทำให้เราต้องมากลายเป็นแบบนี้? เพราะเจ้านาย ที่ทำให้เราไม่ก้าวหน้า?
เป็นคำถามที่ตอกย้ำให้คิดมาโดยตลอด และคำตอบในอดีตที่มักจะได้ ก็คือ ใช่ เจ้านายนั่นแหละ คือ ตัวปัญหา
แต่ผมก็ยังพบอีกว่า การเปลี่ยนที่ทำงาน เพื่อหนีเจ้านายเจ้าปัญหา กลับไม่ได้เป็นการแก้ปัญหา เพราะไม่ว่าจะไปที่ใด ก็ยังเขาพวก เจ้านายที่จู้จี้ เจ้านายที่ขี้บ่น เจ้านายที่คอยแต่จะจ้องจับผิด อยู่เรื่อยไป
หรือ การที่ย้านแผนก หรือ ได้เจ้านายใหม่ เคยคิดดีใจเพราะเจ้านายเฮงซวยไปแล้ว แต่คนใหม่ที่ได้มา ก็กลับมีปัญหาแบบเดิมอีก
ตกลงแล้ว เจ้านายเป็นต้นเหตุของปัญหา จริงเหรอ? ชักมีอาการลังเล เพราะเท่าที่ดูแล้วมันไม่น่าจะใช่แล้วนะสิ ตกลงแล้วมันคือ อะไร?
จนในสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสอ่านหนังหนังสือเล่มนึง ที่ชื่อว่า The Outward Mindset “seeing beyond ourselves”
เลยทำให้เข้าใจมากขึ้นเลยว่า ตัวเรานั่นเองที่เป็นต้นเหตุของปัญหา
อ้าว แล้วเราผิดอะไรละ เราทำงานก็ดี เป็นลูกน้องที่ดี มีผลงาน ทำงานหนักและทุ่มเทเพื่อองค์กรมาโดยตลอด
เจ้านายต่างหากที่ งี่เง่า ไม่พยายามเข้าใจเรา ไม่เห็นว่าเราเก่ง ไม่เห็นว่าเราเป็นคนมีความสามารถและมีความทุ่มเท
นี่แหละ คือจุดเริ่มต้นของปัญหา ที่เกิดจากการที่เรา กำลังหลอกตัวเอง (ภาษาอังกฤษ เรียกว่า Self-Deception)
อาการหลอกตัวเอง ก็คือ การที่เราพยายาม ปฏิเสธว่าตัวเราเองมีปัญหา ด้วยการมองสิ่งรอบๆ ตัวบิดเบือนไป และ พยายามหาเหตุผลมาเข้าข้างตนเอง หรือ อะไรก็ตามมาเป็นปัญหาแทน หรือ ไปกล่าวโทษสิ่งอื่นแทน
ซึ่งในกรณีนี้ เรากำลังโทษเจ้านายว่าเป็นตัวปัญหา เช่น
ที่ฉันไม่ก้าวหน้ากับที่นี่ ก็เพราะเจ้านายไม่สนับสนุน หรือ ที่ฉันทำงานที่นี่ไม่ได้ ก็เพราะเจ้านายเอาแต่หาเรื่อง คอยจ้องจับผิด เป็นต้น โดยทั้งสองประเด็นนี้ คือ เหตุผลที่เราอาจจะยกขึ้นมาเอง หรือ กุขึ้นมาเอง ซึ่งอาจจะไม่ใช่เรื่องจริงๆ ทั้งหมดก็ได้
เพราะ Mindset ของเราทำให้เรามีปัญหา
การคิดถึงแต่ตนเองว่าตนเองเป็นฝ่ายถูก ตนเองสำคัญกว่าผู้อื่น หรือ มองว่าตนเองกำลังตกเป็นผู้ถูกกระทำ หรือ การให้ร้ายคนอื่น ล้วนเป็นผลมาจาก การคิดเข้าข้างตนเองทั้งนั้น (กลุ่มความคิดแบบนี้ เราเรียกว่า Inward Mindset)
เพื่อให้เข้าใจมากขึ้น เช่น ลองนึกถึงตอนทำงาน สมมุติว่า เราโดนเจ้าตำหนิเรื่องที่ทำงานงานพลาด ต่อหน้าคนอื่นๆ ในที่ประชุม จะเกิดอะไรขึ้น
“เรื่องนี้ปัญหาเกิดจากฝ่ายผลิตครับ เขาพลาดกันเอง หรือ เพราะลูกค้าไม่ระบุชัดเจนในใบสั่งซื้อเองตั้งแต่แรก เลยทำให่เราส่งสินค้าผิดไม่ตรงตามที่ลูกค้าต้องการ”
บางคน อาจจะเลือกที่จะตอบโต้ ด้วยการแก้ตัว หรือ ด้วยการพยายามอธิบายถึงสาเหตุ เช่นโยนความผิดของปัญหาที่ตนเองกำลังโดนตำหนิไปให้ผู้อื่น ยิ่งเราโบ้ยให้คนอื่นมากเท่าไหร่ หรือ ผลักความผิดไปที่คอื่นๆ มากเท่าไร เจ้านายก็ไม่ได้รู้สึกดีขึ้นกับเราเลย
ลองนึกในมุมของเจ้านายดูบ้าง ถ้าเรามีพฤติกรรมแบบข้างต้น เจ้านายจะมองเราเป็นคนอย่างไร?
เจ้านายก็คงมองเราว่า เราเป็นคนไม่มีความรับผิดชอบ ดื้อรั้น ไม่ฟัง ก้าวร้าว ชอบเถียง หรือ อื่นๆ ใช่ไหม
และพอเจ้านายมองเราแย่ๆ เป็นแบบนั้นแล้ว ผลที่ตามมาก็คือ เราจะโดนเจ้านายจู่โจมทันที ในทุกๆ ครั้งที่ต้อง present ในที่ประชุม จะโดนเจ้านายซักถาม จู้จี้ไปทุกรายละเอียด หรือ เจ้านายอาจจะส่งคนเข้าไปช่วยเราทำงาน และแน่นอนพอเราเจอแบบนี้ เรารู้สึกอย่างไรกับการกระทำของเจ้านาย?
เจ้านายจู้จี้ เจ้านายไม่ไว้วางใจ เพราะส่งคนมาก้าวก่ายงานของเรา เจ้านายไม่เชื่อถือในตัวเรา และ อื่นๆ อีกมากมาย พอเรารู้สึกแย่ลง เราจะทำอย่างไร กับเจ้านาย?
เราก็ยิ่งจะตอบโต้เจ้านายหนักขึ้นไปอีก จะยิ่งแสดงอาการที่ไม่ควรทำเพิ่มขึ้นเข้าไปอีก เช่นเถียงเจ้านายโดยปราศจากเหตุผลที่ดี ต่อหน้าคนอื่นๆ หรือ ทำตัวแย่ๆ ไม่สนใจการทำงาน หรือ ปล่อยให้ผลงานตกต่ำลง เพราะมองว่าเจ้านายไว้ไว้วางใจในตัวเรา
ย่ิงเราแย่ลง เจ้านายก็มองเราไร้ซึ่งความสามารถ ในที่สุด ความย่ำแย่ยิ่งกว่า เช่นอาจจะต้องถูกอัปเปหิออกจากบริษัทได้ง่ายๆ เลย
สิ่งเหล่านี้ คือ วงจรอุบาทว์ ที่เกิดขึ้นระหว่างเรา เจ้านาย และอาจจะลากเพื่อนร่วมงานหรือคนอื่นๆ เข้ามาเอี่ยวด้วย ในทางทฤษฎี เรียกว่า การสมรู้ร่วมคิด (ภาษาอังกฤษ เรียกว่า Collusion) ซึ่งเกิดขึ้นจาก ทั้งสองฝ่ายต่างก็ใช้ Inward Mindset ที่พยายามจะมองแต่ตนเองเป็นใหญ่ เข้าข้างตนเอง และหาเหตุผลของตนมาหักล้างฝ่ายตรงข้าม
ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ มีแต่เสียกับเสีย
ทางแก้ คือ อะไร?
“หยุดเข้าข้างตนเอง และ อย่าไปคิดที่จะเปลี่ยนคนตรงหน้า ให้เปลี่ยนที่ตัวเราเอง”
เพราะทุกคนก็ต่างก็มีความต้องการ ต่างก็มีวัตถุประสงค์ในเรื่องดังกล่าว เฉกเช่นเดียวกับเรา ดังนั้นการใช้แนวคิดที่มุ่งเน้นแต่ตนเองอย่าง Inward Mindset คงไม่สามารถทำให้เกิดการทำงานร่วมกันที่ดีได้
Outward Mindset จึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นการมองผู้อื่นในแบบที่ พวกเขาก็มีคุณค่าและก็มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าตัวเรา
ดั่งในกรณีของเจ้านาย ที่ได้ยกตัวอย่างตอนต้น ถ้าเรามี Outward Mindset ในยามที่ทำผิด หรือ โดนตำหนิ เราก็จะเข้าใจถึงสาเหตุที่โดนตำหนิ (แต่เราจะไม่โกรธ หรือ หาเหตุผลแย่ๆ ของตัวเราเองมาหักล้างในสิ่งที่เจ้านายพูด เช่นไม่โบ้ยคนอื่นเป็นต้น) แทนที่จะเอ่ยปากแก้ตัว เราอาจจะเอ่ยปากขอโทษเจ้านาย และ ขอโทษหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วยก็ได้ ซึ่งการกระทำแบบนี้ ถึงแม้ทำผิดพลาดก็จริง แต่ก็ได้รับการยอมรับว่าเราเป็นคนที่มีความเป็นมืออาชีพมากกว่า คนแรกที่ไม่ยอมรับผิดแถมโบ้ยคนอื่นอีก
แล้วถ้าเราเป็นคนแบบนี้หละ การทำงานกับเจ้านายจะเป็นอย่างไร? การทำงานร่วมกับคนอื่นจะเป็นอย่างไร? ทุกคนย่อม happy และ เราก็ happy ในการทำงานร่วมกันใช่ไหม? และถ้าทุกคน happy ผลลัพธ์ ก็ต้อง happy ending ด้วยเช่นกัน
นี่คือสิ่งที่ผมได้ (แค่บางส่วน) จากการอ่านหนังสือ The Outward Mindset “seeing beyond ourselves” เพียงแค่ 1 วัน เท่านั้น จริงๆ ยังมีเนื้อหาที่น่าสนใจอีกเยอะ
การอ่านครั้งนี้ ทำให้ผมได้คำตอบมากมาย เกี่ยวกับเรื่องของคน เช่น การทำงานกับคน ความสัมพันธ์ระหว่างคนในที่ทำงาน คู่ค้า รวมไปถึงในครอบครัว Outward Mindset ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ ในการดำเนินชีวิตด้วยความสุข และ เต็มไปด้วยประสิทธิภาพ ทำให้มุมมองของการดำเนินชีวิตของผมเปลี่ยนไปหลายเรื่องเลยทีเดียว
บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวกับ Outward Mindset สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ :
ทัศนคติลบ คือ จุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ที่ย่ำแย่
Source:
https://arbingerinstitute.com/Landing/TheOutwardMindset.html