NFT 101 กับเรื่องพื้นฐาน NFT โอกาสใหม่ กับตลาดใหม่ที่มาพร้อมกับช่องทางทำรายได้ที่มากมายให้กับนักลงทุน เพราะเรื่องนี้ยังใหม่มาก หลายคนอยากรู้ แต่ก็อาจจะยังไม่เข้าใจ วันนี้เรามาหาคำตอบกันกับ วิชา NFT 101
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา เขามีงานเสวนา NFT ที่ทางบริษัท SC Asset ได้จัดร่วมกับ CEA โดยมีวัตถุประสงค์จัดขึ้นเพื่อให้เหล่าเซียน หรือผู้เชี่ยวชาญในด้าน NFT ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุน นักสะสม นักสร้างสรรค์ และแบรนด์ดังๆ ต่างๆ ได้มาแบ่งปันความรู้ เคล็ดลับ รวมถึงประสบการณ์ที่เกี่ยวกับ NFT แบบหมดเปลือกไม่มีกั๊ก
งานเสวนาครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของงาน Bangkok Design Week ในปี 2022 เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ ภายใต้ธีม “Co With Creation คิด สร้าง ทางรอด” ตั้งแต่วันที่ 5-13 กุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งในการเสวนาครั้งนี้ เป็นเหมือนการเปิดคอร์สรายวิชา NFT ตลาดใหม่มาแรงที่สร้างโอกาสให้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายสามารถทำเงินมากมายได้
เชื่อหรือไม่… ภาพวาดบางภาพที่เราเองเห็นแล้วยังขำ สามารถทำเงินได้ถึง 10-20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ!!!
พอเห็นประเด็นนี้ พวกเราก็คงอยากจะรู้กันแล้วใช่ไหมว่า NFT มันคืออะไรกันแน่? แอดมินจะพาพวกเราทุกคนเข้าไปเข้าเรียนกับ ครูชื่อดัง ซึ่งเป็นเซียน NFT ทั้ง 3 ท่าน นั่นก็คือ
- คุณเอ็ดดี้ ภราดร ไชยวรศิลป์ นักลงทุนและผู้ก่อตั้งกลุ่ม NFT and Crypto Art Thailand
- คุณแพรว ลิ่มพงศ์พันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด Zipmex Thailand
- คุณติ๊ก ชิโร่ ศิลปินดังกับการขายงาน NFT “รักไม่ยอมเปลี่ยนแปลง”
ซึ่งห้องเรียน NFT 101 นี้ดำเนินรายการโดย คุณหนุ่ย จากเพจแบไต๋ ที่มาเป็นผู้ช่วยสอนที่จะทำให้พวกเราเข้าใจในเรื่อง NFT กันมากขึ้น
“เราอาจจะแลกธนบัตร 100 บาทในมือให้กลายเป็นธนบัตร 50 บาท 2 ใบได้ แต่สำหรับ NFT ธนบัตร 100 บาทไม่สามารถเปลี่ยนเป็นธนบัตรชนิดใดได้”
ในบทเรียนแรก เราต้องทำความเข้าใจกันก่อน NFT ย่อมากจากคำว่า Non Fungible Token แปลว่าเหรียญที่มีการเข้ารหัส ไม่สามารถทดแทน แบ่งย่อย ทำซ้ำ สร้างใหม่ในรหัสเดิม ส่งมอบ และแยกส่วนได้ ซึ่งจะต่างจาก Fungible Token ที่หมายถึง เหรียญที่สามารถใช้ทดแทน แลกเปลี่ยน แบ่งย่อยได้ เช่น เหรียญสิบ ธนบัตร 500 เป็นต้น
เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น NFT จะเป็นเหรียญที่มีความเฉพาะเจาะจง คงรูป ทดแทนกันไม่ได้ สามารถกำหนดทำชิ้นเดียวหรือทำสำเนาไว้หลายชิ้นได้ตั้งแต่ตอนที่สร้าง แต่ไม่สามารถแบ่งย่อยหนึ่งชิ้นให้ออกมาเป็นหลายส่วนได้ เพราะแต่ละชิ้นจะมีหมายเลขกำกับซึ่งเปรียบเสมือน DNA ของชิ้นนั้นๆ
“ถ้า BITCOIN คือ ทองคำดิจิทัล, STABLECOINS คือ เงินตรา, DEFI คือ ระบบการเงินและธนาคาร และ NFT ก็คือ สินค้าและบริการบนเศรษฐกิจ/ระบบนิเวศคริปโตฯ”
NFT คือ สินค้าและบริการ “ที่ไม่ซ้ำแบบใคร” ในโลกดิจิทัลที่สามารถซื้อและขายได้เหมือนกับสินค้าและบริการอื่นๆ ในโลกความเป็นจริงแค่ไม่มีรูปแบบที่จับต้องได้ในตัวเอง เมื่อมีการซื้อขาย NFT เกิดขึ้น จะมีการบันทึกว่าใครเป็นเจ้าโดยข้อมูลจะถูกจัดเก็บไว้ในบล็อคเชน ทำให้ไม่สามารถปลอมแปลงได้ เนื่องจากได้รับการตรวจสอบโดยคอมพิวเตอร์หลายพันเครื่องทั่วโลก
“ทุกวันนี้ แบรนด์ต้องรู้จัก NFT” คุณเอ็ดดี้ เล่าให้เราว่า NFT เป็นเหมือนโอกาสที่ดีของแบรนด์ เพราะแบรนด์มีมูลค่า มีโลโก้ มีเอกลักษณ์ มีสินค้าและบริการที่เป็นของแบรนด์นั้นโดยเฉพาะในทุกอุตสาหกรรม ยกตัวอย่างเช่น ตอนนี้ YouTube มีความคิดที่จะเปลี่ยนคลิปวิดีโอที่เราดูกันให้เป็น NFT เพื่อสร้างช่องทางทำเงินใหม่เช่นกัน ใน 1 ชั่วโมงมีคนอัปโหลดคลิปลงใน YouTube รวมกันกว่า 48 ชั่วโมง ลองคิดถึงมูลค่าที่พวกเขาสามารถทำได้จาก NFT สิ ในส่วนของ TikTok ก็เช่นกัน พวกเขากำลังสนใจที่จะนำคลิป หรือท่าเต้น หรือเสียงที่กำลังเป็นไวรัลมาทำเงินจาก NFT ด้วยเช่นกัน
เราอาจจะยังไม่รู้ว่าแบรนด์หลายแบรนด์ที่เราเห็นกันอยู่ตามห้างในวันนี้ได้ก้าวเข้ามาในโลก NFT แล้ว ยกตัวอย่างเช่น NIKE ได้ประกาศรับสมัครพนักงานในตำแหน่ง NFT เพื่อจัดการสินทรัพย์ดิจิทัลในโลกเมตาเวิร์ส, BURBERRY ได้ร่วมกับเกมชื่อดังอย่าง BLANKOS สร้างตัวละครในเกมขึ้นมา ลองคิดดูว่าคุณสามารถใส่สินค้าอะไรก็ได้จากแบรนด์ BURBERRY ให้กับตัวละครในเกมของคุณ นอกจากนี้ยังมีแบรนด์อื่นๆที่ก้าวเข้าสู่ตลาด NFT แล้วเช่น Facebook, Twitter, Gucci, Samsung, Visa, NBA Topshot, Louis Vuitton หรือแม้แต่ค่ายหนังที่เราเคยได้ยินชื่อกันอยู่บ่อยๆอย่าง GDH เป็นต้น
“NFT กลายเป็นวงการที่กราฟพุ่งขึ้นสวนกระแสเศรษฐกิจที่ตกต่ำลงเรื่อยๆ”
หลายอุตสาหกรรมเริ่มเห็นความสำคัญของตลาด NFT เนื่องจากมีอัตราการเติบโตที่รวดเร็วและพุ่งขึ้นสูงสวนทางกับเศรษฐกิจในโลกที่กำลังตกต่ำลงเนื่องจากผลกระทบของโควิด-19 ในปี 2019 ตลาดของ NFT มีอัตราการเติบโตเพิ่มจากเดิมถึง 17% ซึ่งทำให้ผู้เชี่ยวชาญได้ทำการคาดคะเนขนาดตลาดในปี 2020 ไว้ว่าจะมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นประมาณ 50% หรือประมาณ 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงก็คือ ตลาดการ์ดสะสม NFT สายกีฬามีมูลค่าการซื้อขายกว่า 1,107,349,355 ดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2020 นอกจากนี้ข้อเท็จจริงที่น่าตกใจและเพิ่งอัพเดทกันล่าสุดเมื่อวันที่ 30 มกราคมนี้เอง ก็คือ ปริมาณการซื้อขาย NFT รายเดือน แตะระดับสูงสุดที่ 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนมกราคม 2022
ตลาดของ NFT ในปัจจุบัน
เรามาดูกันดีกว่า ว่าตลาด NFT ที่สามารถทำการซื้อขายได้มูลค่าสูงขนาดนั้น ผู้ผลิตในตลาด NFT มีกลุ่มไหนกันบ้าง?
- 1/1 ทำแค่ชิ้นเดียวเป็น Limited edition : หากคุณซื้อไปแล้วคุณเป็นผู้ครอบครองมันเพียงคนเดียว และจะไม่มีใครได้ครอบครองงานที่เหมือนกับคุณอีกต่อไปแล้ว คุณสามารถหาซื้องานพวกนี้ได้จากแพลทฟอร์ม NFT ต่างๆ เช่น Foundation.app, SuperRare เป็นต้น
- คอลเลกชัน : จะเป็นงานวาดด้วยมือเป็นดิจิตัลอาร์ต เช่น งานคอลเลกชันจาก 3LAND WORLD ซึ่งเป็นผลงานของคนไทย โดยในคอลเลกชันนี้มีผลงานกว่า 241 ชิ้น หรือ GANGSTER ALL STAR ที่ปล่อยผลงานเป็นคอลเลกชันโดยมีผลงานทั้งหมด 64 ชิ้นในคอลเลกชันนั้น ทุกคนสามารถหางานเหล่านี้ได้จากแพลทฟอร์ม Opensea
- Generative Art : งานในลักษณะนี้จะไม่ใช่แค่เพียงการวาดมือ แต่จะเป็นการดึงคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยในการสร้างด้วย ยกตัวอย่างเช่น โปรเจค Ape Kids Club (AKC) ของคนไทยที่เป็นการมีรูปลิงกว่า 10000 แบบโดยที่ไม่ซ้ำกันเลย เป็นต้น
- Performance Art : เป็นงานประเภทการถ่ายภาพที่เกี่ยวกับร่างกาย เช่น ถ่ายรูปตอนเต้นบัลเลต์การแต่งหน้า หรือการเคลื่อนไหวร่างกายต่างๆ เป็นต้น
- NFT Photo : เป็นงานจากการถ่ายภาพ เช่น โปรเจค The Green Symphony ที่ไปไล่ล่าการถ่ายภาพแสงเหนือ หรือ Beautiful cities of the World ที่ไปตามถ่ายภาพแสงสีจากเมืองทั่วโลก เป็นต้น
- Experiment and Conceptual Crypto Art : เป็นงานที่พิเศษมาก อย่างงานที่กำลังเป็นที่โด่งดังอยู่ในตอนนี้ อย่างผลงานที่ชื่อ The Merge ของ Pak เป็นรูปวงกลมที่ราคา 3 ล้านกว่าบาท ใช้เทคโนโลยีในการสร้างรูปขึ้นมา รูปที่เป็นเหมือนชิ้นส่วนวงกลมเล็กๆที่ยิ่งเราซื้อเยอะ ขนาดรูปวงกลมก็จะยิ่งมีขนาดใหญ่ขึ้น คนส่วนใหญ่ก็จะซื้อแล้วอวดกันที่ ใครวงกลมใหญ่แปลว่าคนนั้นมีกำลังซื้อสูง
- NFT MUSIC : ศิลปินทั้งมีชื่อเสียงอยู่แล้วและบุคคลทั่วไปที่มีความสามารถทางดนตรีสามารถแปลงเสียงเป็น NFT แล้วขายได้ เช่น Kings of Leon ของ YELLOWHEART เป็นอัลบั้มที่จำกัดจำนวนไว้ และผู้ซื้อทุกคนนอกจากจะได้ไฟล์ NFT แล้วยังได้ไวนิล ดิจิทัลอัลบั้ม สิทธิ์ในการเข้าถึงไฟล์เสียงคุณภาพสูงอีกด้วย หรืออีกตัวอย่างก็คือ ศิลปินอย่าง BLAU ที่มีการจัดประมูลเสียง และเสียงของเขามีคนประมูลไปสูงถึง 3 ล้าน 6 แสนกว่าดอลลาร์สหรัฐ เป็นต้น
นอกจากผลงานที่หลากหลายในตลาด NFT แล้ว เรายังพบพื้นที่มากมายจากหลายแพลทฟอร์มที่เปิดโอกาสรอรับผลงานของครีเอเตอร์ทั้งไทยและต่างประเทศอยู่เสมอ ยกตัวอย่างเช่น Opensea, LOOKSRARE, Foundation.app, RARIBLE, Paras, JNFT และ CRYPTO เป็นต้น
“Opensea จตุจักรของ NFT”
หนึ่งในแพลทฟอร์มที่คุณเอ็ดดี้เลือกแนะนำสำหรับการซื้อขายผลงาน NFT ก็คือ Opensea โดยผู้เชี่ยวชาญทั้ง 3 ท่าน เห็นพ้องต้องกันเป็นเสียงเดียวกันว่า มันเป็นเหมือนตลาดนัดจตุจักรของ NFT เลยทีเดียว มีทั้ง ลายมือ รูปวาด รูปถ่าย เนื้อเพลง เกม และผลงานอีกหลากหลายรูปแบบ มีแม้กระทั่งการเอารถจริงไปเทรดรถในเกม เพราะเขาสามารถเอารถในเกมไปขายต่อแล้วได้รถจริงๆคันใหม่ได้ หรือ ตัวอย่างเช่น คุณติ้ก ชิโร่ ที่ขายเนื้อเพลงรักไม่ยอมเปลี่ยนแปลงภาคต้นฉบับให้กับศิลปินชาวสิงคโปร์ เป็นต้น
จริงๆแล้วในประเทศไทยของเรา มีหลายคนที่พยายามจะพัฒนาแพลทฟอร์มตลาด NFT ขึ้นมาเองเหมือนกัน แม้ว่าสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ยังไม่มีการรับรองในส่วนของตลาด NFT ก็ตาม Zipmex บริษัทของคุณแพรวเองก็เผยว่ากำลังจะเปิดแพลทฟอร์ม NFT เช่นกัน
มือใหม่ควรเริ่มต้นอย่างไรดี?
คุณเอ็ดดี้ แนะนำว่าสำหรับศิลปินหน้าใหม่ที่ไม่เคยมีชื่อเสียงหรือปล่อยผลงานที่ไหนมาก่อนเลย เราจะต้องรู้จักวิธีการโฆษณาหรือทำการตลาดงานของคุณให้ได้ดี ในเมื่อตลาดของเราอยู่ในสื่อต่างๆ ช่องทางที่เราต้องใช้ในการโฆษณาตัวเอง ก็คือช่องทางเหล่านั้น สื่อ Social Media ตั้งไบโอในแอคเคาท์โซเชียลมีเดียร์ของตัวเอง ติดแฮชแท็กงาน NFT ของตัวเอง สิ่งสำคัญก็คือโฆษณาในพื้นที่ที่เหมาะสม กลุ่มตลาดของคนที่สนใจงาน NFT ส่วนใหญ่จะอยู่ใน Twitter ซึ่งเราสามารถติดแฮชแท็กเพื่อให้คนที่สนใจกดเข้าแฮชแท็กแล้วมาเจอผลงานของเราได้
“Story telling ทักษะทางการตลาดที่ช่วยให้ประสบความสำเร็จ”
คนไทยหลายคนที่มีความสามารถในการสร้างสรรค์ผลงานอยู่แล้ว สิ่งที่ต้องสอนกันคือการตลาด หลายคนไม่มีความมั่นใจในตัวเอง ทำให้ตั้งมูลค่าในผลงานตัวเองเอาไว้ต่ำ งานใน NFT ที่ขายได้ในราคาสูง ไม่ได้หมายถึงงานที่สวยหรือดีเลิศเสมอไป แต่พวกเขาทำการตลาดได้ดี ซึ่งทักษะ Story telling หรือการเล่าเรื่องเป็นเคล็ดลับอย่างหนึ่งที่ช่วยซื้อใจ ชักจูง และโน้มน้าวให้เขาซื้องานของเรา คนซื้อส่วนใหญ่ไม่ได้ซื้อเพราะสวยเสมอไป แต่ซื้อเพราะรู้สึกว่าผลงานเหล่านั้นมีอิทธิพลต่อเขาต่างหาก
“ถ้าคุณสร้างงานได้น่าสนใจพอ คุณแทบจะไม่ต้องทำอะไรเลย”
สูตรโกงทางการตลาดที่ทำให้เราแทบจะไม่ต้องโฆษณาอะไรเลยก็คือ ทำงานของคุณให้ออกมาดีที่สุด เพราะถ้างานของคุณดีและน่าสนใจมากพอ คนจะวิ่งเข้าหาเราเองโดยที่คุณอยู่เฉยๆ แต่อย่าลืมว่าสำหรับงานศิลปะ ผู้สร้างสรรค์ศิลปะควรมีความสุขและรู้สึกเป็นอิสระในการสร้างสรรค์ผลงาน อย่าทำให้มันกลายเป็นงานเชิงพานิชย์จนตัวเราเองต้องทุกข์จากการสร้างสรรค์สิ่งเหล่านั้น
โอกาสการร่วมมือกันข้ามสายงาน
อย่างที่แอดมินได้บอกไปว่างาน NFT เป็นงานที่หลากหลายมาก ยิ่งเป็นศิลปะยิ่งเป็นความอิสระเสรีในการสร้างสรรค์ ดังนั้นจึงไม่แปลกที่จะเกิดการร่วมมือกันสร้างสรรค์ผลงานแบบข้ามสายงาน ยกตัวอย่างเช่น กราฟฟิกและดนตรีที่เป็นการร่วมมือกันของ GUMPOONG ศิลปินหญิงที่ถ่ายภาพนิ่งแล้วเอาไปปรับสีให้เกิดความน่าสนใจกับ BOX ผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรีและการโค้ดดิ้ง พวกเขาได้สร้างงานใหม่ขึ้นมาเป็นภาพที่เปลี่ยนไปตามเวลาในแต่ละวัน เช่น หากเราเปิดรูปดูในตอนเช้ามันจะเป็นรูปท้องฟ้าในยามที่พระอาทิตย์กำลังขึ้น และเป็นรูปท้องฟ้าที่เต็มไปด้วยหมู่ดาวในตอนกลางคืน เป็นต้น
“ศิลปะ เป็นการสร้างสรรค์ผลงานที่ไร้ขอบเขต”
ขาย NFT ผสมกับการขายของทางกายภาพ : การขายผลงานในรูปแบบไฟล์ NFT จะส่งผลงานที่จับต้องได้ไปให้แก่ผู้ซื้อไหม? ขึ้นอยู่กับความต้องการและการตกลงซื้อขายระหว่างเจ้าของผลงานและผู้ซื้อผลงานเลย เช่น หากขายไฟล์ภาพวาดแบบ NFT ได้ในราคาที่สูง เราอาจจะส่งภาพวาดของจริงไปให้แก่ลูกค้าของเราเพื่อเป็นการขอบคุณก็ได้ หรือผู้ซื้ออาจจะทำการตกลงขอซื้อภาพวาดจริงๆ ที่จับต้องได้มาห้อยไว้ที่บ้านก็ได้ ถ้าเจ้าของผลงานยินยอม เป็นต้น
นอกจากงานศิลปะแล้ว เราสามารถขายอะไรได้บ้างใน NFT?
ใน NFT เป็นตลาดที่มีความหลากหลายมาก เพราะฉะนั้นนอกจากงานศิลปะภาพวาด ภาพถ่าย หรืองานดนตรีแล้ว งานที่สามารถขายได้ยังรวมถึงงานเขียน วรรณกรรม หัตถกรรมอีกด้วย เช่น คุณบอย ท่าพระจันทร์ ที่โด่งดังในวงการพระเครื่อง ได้ทำเทมเพลตหนังสือขายในแพลทฟอร์ม JNFT และมีคนประมูลไปในราคาเกือบ 3 แสนบาท เป็นต้น
NFTBOOKS (NFTBS)
สำหรับวงการหนังสือ ได้มีโครงการเกี่ยวกับ NFT ที่ส่งเสริมในส่วนของหนังสือ นิตยสาร บทความ EBOOK และงานเขียนประเภทอื่นๆออกมาเช่นกัน มีเป้าหมายในการเพิ่มความนิยมการอ่านหนังสือ แก้ปัญหาการสิ้นเปลืองกระดาษ ปัญหาลิขสิทธิ์งานเขียน การแบ่งผลตอบแทนระหว่างผู้เขียนและผู้แปล การขายต่อหนังสือ เป็นต้น
มีโอกาสที่อุตสาหกรรมบันเทิงไทยจะเข้า NFT เหมือนเมืองนอกไหม?
คุณเอ็ดดี้ เผยว่ามีแน่นอน เพราะอย่างตอนนี้ได้มีการร่วมมือกันของ 2 บริษัทอย่าง บริษัท จีดีเอช ห้าห้าเก้า จำกัด และ บริษัท บรอดคาซท์ ไทย เทเลวิชั่น เปิดตัวโปรเจค Destiny Token หรือ บุพเพสันนิวาส ภาค 2 ในรูปแบบของ NFT นอกจากนี้ยังมี GMM GRAMMY กับ Bitkub ผลักดัน Music NFT ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ เป็นต้น
คำเตือน!
ที่ผ่านมาเราได้พูดถึงแต่สิ่งดีๆ สิทธิประโยชน์ต่างๆ และโอกาสที่ดูงดงามในการเข้าสู่ตลาด NFT ไปแล้ว แน่นอนว่าในเมื่อมันเป็นตลาดที่เปิดกว้างและสามารถทำเงินได้ขนาดนั้น ย่อมมีมิจฉาชีพปะปนอยู่เป็นธรรมดา หากเราไม่ได้ศึกษามาอย่างดีเราอาจจะสูญเสียเป็นล้านหรือพันล้านได้อย่างไม่รู้ตัว
“ที่ไหนมีเงิน ที่นั่นมีโจร” คุณเอ็ดดี้ บอกเราว่า เราต้องดูว่าสิ่งที่เขาขายมันจริงไหม ใครก่อตั้ง มีที่มาอย่างไร มันเป็นไปได้ไหม คุณแพรว ยังเสริมอีกว่า ตอนนี้ทางกฎหมายยังจัดการอะไรในตลาด NFT ไม่ได้ ไม่มีสถาบันทางการเงินรองรับ ยกตัวอย่างเช่น การเข้าถึง Opensea จำเป็นต้องมีวอลเล็ตที่ใช้สกุลเงินอื่นในการเข้าถึงซึ่งไม่ได้อยู่ในกฎหมายของประเทศไหนทำให้ไม่สามารถเอาผิดได้ ดังนั้นก่อนที่เราจะทำการซื้อขายหรือทำธุรกรรมทางการเงินอะไรควรตรวจสอบ และอ่านรายละเอียดอย่างรอบคอบ อีกหนึ่งความผิดพลาดที่เกิดขึ้นบ่อยก็คือการเข้าเว็บปลอม เช่น Opensea เป็น OpenSea หรือ METAMASK เป็น MetaMask เป็นต้น
บทสรุป
ในโลก NFT มีโอกาสทางการตลาดและงานที่น่าสนใจรออยู่เยอะมาก เราสามารถเตรียมตัวให้พร้อมโดยเลือกจากความถนัด ความสนใจ หรือความต้องการของเราได้ ใครที่มีงานประจำทำอยู่ ก็สามารถใช้ตลาด NFT นี้ในการสร้างรายได้เสริมโดยการใช้งานอดิเรกหรือความถนัดมาสร้างสรรค์ผลงานได้
NFT เป็นตลาดที่กว้างและเต็มไปด้วยความหลากหลาย สิ่งที่เราถนัดอาจจะเป็นสิ่งที่มีคนมากมายกำลังมองหา เห็นได้ชัดการเติบโตของขนาดตลาด NFT มันไม่ใช่แค่ตลาดที่คนใช้ขายของ แต่มันยังเป็นสถานที่ที่เราสามารถนำความฝันของเรามาทำให้เป็นจริงได้ ศิลปินหลายคนใช้มันเป็นเวทีในการแสดงผลงาน และได้รับความนิยมอย่างที่โลกความเป็นจริงให้เขาไม่ได้
“การหาความรู้ที่ดีที่สุด คือการลองหาความรู้และลงมือทำด้วยตัวเอง”
ผลงานจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อคุณลงมือทำ ถ้าคุณเอาแต่ฝันกลางวันแล้วยังไม่ลงมือทำอะไรสักอย่างเสียตั้งแต่ตอนนี้ คุณก็เป็นได้แค่คนช่างฝันเท่านั้น คุณเป็นศิลปินไม่ได้
รายละเอียดเพิ่มเติมของเรื่องนี้ยังมีอีกเยอะ สามารถดูแบบเต็มๆ กันได้ที่: https://fb.watch/b4y_zy4VdO/