
Performance Improvement Plan (PIP) คำนี้อาจจะไม่ค่อยคุ้นหูใครหลายคน แต่หากวันนึงหัวหน้าของเราบอกเราว่า เรามีผลงานไม่ดี ต่ำกว่าเป้าหมาย แล้วต้องการให้เราเข้าโปรแกรม PIP เราจะรู้สึกอย่างไร? บริษัทฯ กำลังจะบีบเรา หรือ กดดันให้เราลาออกเองใช่ไหม?
Performance Improvement Plan (PIP) คืออะไร?
Performance Improvement Plan (PIP) ก็เป็นครื่องมือชนิดนึง ที่บริษัทฯ ใช้ในการปรับปรุงผลการทำงานของพนักงานเพื่อให้พนักงานมีผลการทำงาน จากที่เคยตกต่ำ ขึ้นมาอยู่ในระดับที่บริษัทคาดหวัง ในบางครั้งก็มีการนำ PIP มาใช้เพื่อปรับปรุงผลงานพนักงานในบางเรื่องหรือ บางจุดที่ต้องการการปรับปรุงและแก้ไขโดยด่วน โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยงกับพฤติกรรมที่ไม่ค่อยดี อาทิเช่น ปัญหาอันเนื่องมาจากพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในการทำงานร่วมกับคนอื่น หรือ ปัญหาในเรื่องระเบียบวินัย เป็นต้น
“PIP เป็นเครื่องมือช่วยกู้สถานการณ์ของพนักงานที่มีผลงานย่ำแย่”
ถ้ามองในแง่บวก สำหรับตัวพนักงานที่ต้องเข้าสู่โปรแกรม PIP คือ พนักงานที่เคยมี หรือ กำลังมีผลงานที่ย่ำแย่ ก็จะได้รับโอกาสในการแก้ไข ปรับปรุงตัวเอง โดยกระบวนการของ PIP ที่ดี คือ หัวหน้า หรือ ฝ่ายบุคคล จะต้องทำความเข้าใจในเรื่องโปรแกรมนี้ร่วมกันกับตัวพนักงาน โดยจะต้องมีการระบุเป้าหมาย เรื่องที่จะต้องแก้ไขและปรับปรุง รวมไปถึงในเรื่องของกรอบระยะเวลา วิธีการวัดผล และ การติดตามผล เป็นต้น
“เป้าหมายของ PIP คือ ต้องการให้พนักงานที่มีผลงานย่ำแย่ กลับมาดีขึ้น”
ดังนั้นทั้งตัวหัวหน้าและฝ่ายบุคคล ก็จะต้องให้ความช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นการอบรมเพิ่มเติม การโค้ช การเป็นพี่เลี้ยง ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงผลงานให้กับพนักงานที่มีปัญหาเรื่องผลงานอีกด้วย
ปัญหาของ PIP กับมุมมองของพนักงาน
แทนที่ เรื่องของโปรแกรม PIP จะทำให้พนักงานที่มีปัญหาในเรื่อง Performance จะรู้สึกว่านี่คือ โอกาส กลับรู้สึกแย่กว่าเดิม กลายเป็นว่า PIP เป็นเครื่องมือในการเอาเขาออกแทน หรืออีกมุมนึง การที่พนักงานมีผลงานที่ตำต่ำ แทนที่หัวหน้า หรือ ฝ่ายบุคคล จะเข้ามาช่วยเหลือ ควรจะต้องแสดงให้เห็นว่าตั้งใจช่วยเหลือพนักงานจริงๆ
“ในมุมมองของพนักงาน PIP ถูกมองว่า การเข้าสู่โปรแกรม PIP จะเป็นการถูกกดดัน หรือ ถูกบีบให้ต้องลาออก”
แต่กลับนำเรื่องราวที่พวกเขาต้องเข้าโปรแกรม PIP ไปป่าวประกาศให้คนอื่นๆ ในที่ทำงานรับรู้ เรื่องนี้ก็เป็นอีกหนึ่งปัญหา ที่ทำให้พนักงานที่ต้องโดน PIP มองว่า เป็นการซ้ำเติมในเรื่องของผลงานที่ตกต่ำ และ เป็นการบีบให้ออกโดยทางอ้อม เพราะพวกเขาต้องรู้สึกอับอาย เมื่อคนในที่ทำงานต่างก็รู้ว่า พวกเขากำลังมีปัญหาในเรื่องของ Performance
ด้วยเหตุนี้เอง PIP จึงถูกเหมารวมว่าเป็นโปรแกรมเตรียมให้ออก มากกว่าเป็นโปรแกรมที่จะมาช่วยเหลือพนักงาน
หากพนักงานผลงานไม่ดี ทำไมบริษัทฯ ไม่ไล่ออกไปเลย ทำไมต้องให้พวกเขาเข้าโปรแกรม PIP?
ในเรื่องปัญหา Performance ของพนักงาน เป็นเรื่องที่ท้าทายทุกองค์กร ซึ่งมีได้หลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นพนักงานในอดีตเคยมีผลงานที่ดี พอมาปีนี้ก็แย่ลง หรือ พนักงานบางคนมีผลงานย่ำแย่มาโดยตลอด หรือ กรณีอื่นๆ ซึ่งในมุมของบริษัทฯ หากจะใช้เกณฑ์ตัดสินว่า พนักงานผลงานไม่ดีในตอนนี้ให้ไล่ออกให้หมด ก็คงไม่ได้ เพราะ คงไม่เหลือใครจะทำงานให้
และที่สำคัญ หากต้องไล่ออก ในปริมาณมากๆ ด้วยเหตุแค่เรื่องผลงานตกต่ำ บริษัทฯ อาจจะต้องเสียเงินมากมายมหาศาลในเรื่องของค่าชดเชยจากการเลิกจ้าง ทำให้บริษัทฯ ส่วนมากก็เลยมองว่า หากต้องไล่ออกจริงๆ ก็ควรจะต้องให้โอกาสกับพนักงานให้ปรับปรุงแก้ไขตนเองเสียก่อน เพื่อความยุติธรรมของทั้งฝั่งของพนักงาน และ ฝั่งของบริษัทฯ เพราะบริษัทฯ เองจะเก็บ หรือ เลี้ยงพนักงานที่ไม่มีผลงานเอาไว้นานก็คงไม่ได้ คงไม่ยุติธรรมกับพนักงานคนอื่นๆ ที่ตั้งใจทำงานและมีผลงานเช่นกัน
ถ้าเราต้องเข้าโปรแกรม PIP เราควรทำอย่างไร?
เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของพนักงานแต่ละคน ว่าพวกเขากำลังเผชิญหน้ากับบริษัทฯ แบบไหน?
กรณีแรก หากบริษัทฯ มีวัตถุประสงค์เชิงบวก คือ เพื่อต้องการช่วยเหลือพนักงานที่มีปัญหาในเรื่องผลงานจริงๆ ก็น่าจะเป็นเรื่องที่เป็นบวกและเป็นโอกาสดีสำหรับพนักงานที่พวกเขาจะได้รับโอกาสในการปรับปรุงตนเอง
“หากบริษัทฯ ต้องการช่วยพนักงานจริงๆ ทำไมต้องให้เขาเข้าโปรแกรม PIP?”
ต้องเข้าใจก่อนว่า การที่บริษัทฯ ทำ PIP ก็ถือเป็นการทำให้มีความชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งถือเป็นการกำหนดวัตถุประสงค์ เป้าหมาย วิธีการ และ การวัดผลที่เป็นรูปธรรม ร่วมกันระหว่างพนักงาน หัวหน้า และ ฝ่ายบุคคล เป็นการกระทำที่โปร่งใส และ ชัดเจนว่า พนักงานต้องทำอย่างไร แบบไหน วัดผลอย่างไร เพื่อให้ตัวพนักงานสามารถกลับมามีผลงานดีดังเดิม หรือ ดีตามเป้าหมายได้
หากบริษัทฯ แค่มากล่าวลอยๆ หรือ บอกกับพนักงานที่มีปัญหาในเรื่องผลงานให้ปรับปรุงตัว โดยไม่มีรายละเอียด หรือ มีการทำข้อตกลงร่วมกัน หากเป็นแบบนี้ พนักงานเตรียมตัวได้เลย ไม่มีทางรอดแน่นอน
กรณีที่สอง บริษัทฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการกำจัดพนักงานที่มีผลงานไม่ดี พฤติกรรมไม่ดี มีปัญหาหรือ มักสร้างปัญหาให้องค์กรออก พวกเขาก็จะใช้ PIP เป็นเครื่องมือในการบีบพนักงานให้ลาออกไปเอง ใจจริงบริษัทฯ ก็อยากจะเลิกจ้างคนกลุ่มนี้ใจจะขาด หรือ หากให้ไปได้เลย ไวที่สุด ก็อยากจะทำอย่างนั้น
แต่เอาเข้าจริง ก็ทำไม่ได้ เพราะ ถ้าบริษัทฯ ต้องจ่ายค่าเลิกจ้างให้กับพนักงานที่มีผลงานไม่ดี เช่น พนักงานผลงานย่ำแย่ พนักงานเกียจคร้านอู้งาน หรือ ทำงานกับผู้อื่นไม่ได้เอาสร้างแต่ปัญหา เท่ากับว่าเป็นการสร้างตัวอย่างไม่ดีให้พนักงานในองค์กรเอาเป็นแบบอย่าง
“บริษัทฯ จึงเลือกใช้ ช่องทาง PIP เป็นการบีบพนักงานให้ออก เพื่อจะได้ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแทน ใช่ไหม?”
ถ้าเรากำลังตกอยู่ในสถาณการณ์ ไม่ว่าจะในกรณีบริษัทแรก หรือ บริษัทแบบที่สอง ต้องทำความเข้าใจในรายละเอียดทุกอย่างที่กำหนดอยู่ในโปรแกรม PIP เป้าหมายคืออะไร วิธีการเป็นอย่างไร เขาวัดผล ติดตามผลงานของเราแบบไหน ก่อนที่จะเซ็น หรือ ตอบรับเข้าสู่โปรแกรมนี้
หลายๆ ครั้ง พนักงานไม่เข้าใจ และ ก็ตอบรับ เซ้นเข้าโครงการ PIP ไป โดยไม่ได้รู้เลยว่าสิ่งที่ได้เซ็นไปนั้น ทำให้ตัวพนักงานเองเสียเปรียบอย่างมาก เพราะเป้าหมายที่หัวหน้าให้ทำเพื่อปรับปรุงตนเองนั้น หลายข้อแทบจะไม่สามารถทำจริง และ หลายข้อไม่สามารถทำสำเร็จได้ในกรอบระยะเวลาที่กำหนดเลย จึงเป็นปัญหาที่ตามมาว่า การเข้าสู่ PIP โปรแกรม คือ การเข้าสู่โปรแกรมให้ลาออกเอง ไปโดยปริยาย
พนักงานอย่างเราทุกคน มีโอกาสที่จะมีปัญหา Performance ด้วยกันทั้งนั้น หากเราต้องเจอกับ PIP จริงๆ ก็อย่าเพิ่งถอดใจ ขอให้มองว่านี่คือ โอกาสในการที่เราจะปรับปรุงและแก้ไขเอาไว้ก่อน หากเราสามารถทำได้ทุกข้อ ตามที่เขากำหนดเอาไว้ใน PIP ถึงแม้ว่าบริษัทฯ จะมีเจตนาดี หรือ ไม่ดีอย่างไรก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถเอาเป็นเหตุในการที่จะเอาเราออกได้ นอกเสียจากว่าเขาจะเอาออกจริงๆ ก็จะเป็นอีกกรณีนึง ซึ่งจะเป็นการเลิกจ้างไป
ถ้าเราไม่ผ่าน ตามที่ PIP กำหนด บริษัทฯ มีสิทธิเลิกจ้างเราได้ไหม?
บริษัทฯ มีสิทธิในการเลิกจ้างเราได้เสมอ แต่การที่บริษัทฯ จะเลิกจ้างพนักงานคนใด ก็ต้องทำตามที่กฏหมายกำหนดด้วย
อ้างถึง กฎหมายคุ้มครองแรงงาน มาตรา 119 ในข้อ 4 มีการกล่าวเอาไว้ในหัวข้อนึงว่า หากลูกจ้าง ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือลายลักษณ์อักษรแล้ว เว้นแต่ในกรณีที่ร้ายแรงนายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน ลูกจ้างจะไม่ได้รับเงินชดเชย อันเนื่องมาจากการเลิกจ้าง
ประเด็นนี้แหละที่นายจ้าง หรือ บริษัทฯ เอา PIP มาใช้ แต่ก่อนจะเข้าโปรแกรม ก็มีการออกหนังสือเตือนในเรื่องผลงงานไม่ดีของพนักงาน โดยอาจจะมีข้อกำหนดเพิ่มเติมในช่วงท้ายว่า หากพนักงานไม่สามารถทำได้ตามเป้าหมาย ตามที่บริษัทกำหนด ทางบริษัทฯ ก็จะเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยใดๆ ทั้งสิ้น และ หลังจากที่พนักงานเข้าสู่ โปรแกรม PIP ก็จะเข้าทางบริษัทฯ ทันที หากผลงานของพนักงานไม่ดีขึ้น ก็ถือว่าขัดคำสั่งตามหนังสือเตือนที่ได้ระบุไว้ และเลิกจ้างพนักงานได้โดยไม่จ่ายค่าชดเชย
ในกรณีนี้ ถือว่าบริษัทฯ ทำผิด เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม เพราะการที่พนักงานไม่สามารถปฏิบัติงานให้มีผลงานได้ตามที่มีการตกลงกันเอาไว้นั้น ไม่ใช่ความผิดทางวินัยร้ายแรง
การที่บริษัทอ้างว่าพนักงานฝ่าฝืนคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม (คือ หนังสือตักเตือน) ของบริษัทนั้นเป็นการอ้างผิดประเภท เพราะในข้อ 4 ของ มาตรา 119 จะต้องเกี่ยวกับความผิดทางวินัย เช่น พนักงานมาสายบ่อย ซึ่งบริษัทก็ออกหนังสือตักเตือนแล้ว จนถึงครั้งสุดท้ายในหนังสือตักเตือนระบุว่า ถ้าหากครั้งต่อไปพนักงานยังมาสายอีก บริษัทจะเลิกจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยใด ๆ และค่าบอกกล่าวล่วงหน้าใด ๆ ทั้งสิ้น แล้วถ้าพนักงานยังประพฤติผิดเรื่องมาสายอีก ถึงจะเข้าข่ายข้อ 4 ของมาตรา 119 บริษัทฯ ถึงจะสามารถเลิกจ้างได้ โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
ถ้าบริษัทฯ เลิกจ้างเรา เพราะผลงานไม่ดี และไม่จ่ายค่าชดเชย เราควรทำอย่างไร?
เราก็มีสิทธิ ที่จะฟ้องร้อง เรียกค่าชดเชยอันเนื่องมาจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมได้
หากบริษัทฯ ไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน และไม่มีมีน้ำหนักเพียงพอ ว่าพนักงานมีผลงานไม่ดีแค่ไหน หรือ อย่างไร ก็อาจจะถือว่าเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม และอาจถูกศาลสั่งให้รับพนักงานกลับเข้าทำงานหรือชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยให้กับพนักงานได้เช่นกัน
หากพนักงาน ได้ทำความเสียหายให้กับบริษัทฯ และ มีหลักฐานจริง ผิดจริงตามมาตรา 119 ถึงแม้บริษัทฯ จะให้โอากาสจะเข้าโปรแกรม PIP ก็แล้ว และ ปรากฏว่าไม่ผ่าน บริษัทฯ ก็มีสิทธิไม่จ่ายค่าชดเชย ส่วนพนักงานหากไปฟ้องศาล ศาลก็อาจจะตัดสินตามข้อเท็จจริงว่า นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง เมื่อลูกจ้างกระทำความผิดตามมาตรา 119 ได้เช่นกัน
บทสรุป
จากที่ได้กล่าวมาทั้งหมด ถึงตรงนี้ เราคงเข้าใจแล้วว่า Performance Improvement Plan (PIP) เป็นอย่างไร? เราควรมีมุมมองต่อเรื่องนี้อย่างไร?
หากผลงานของเราไม่ดีจริง เราเองก็ต้องยอมรับ เพื่อที่จะเดินหน้าปรับปรุงแก้ไขต่อไป อย่ามองแต่ด้านลบด้านเดียวว่าบริษัทฯ กำลังเอาเปรียบหรือกำลังกดดันเพื่อให้เราลาออกเอง
ส่วนในเรื่องของ กฎหมายแรงงาน เราต้องศึกษาถึงเงื่อนไข และข้อกำหนดให้ละเอียดถี่ถ้วน มิฉะนั้น เราอาจจะต้องกลายเป็นผู้เสียผลประโยชน์ และ ถูกเอาเปรียบจากนายจ้างได้ และ เราเองก็ไม่ควรเอาเปรียบ หรือ เอาช่องโหว่ของกฏหมายมาเอาเปรียบนายจ้างเช่นกัน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
https://www.prachachat.net/csr-hr/news-496035
บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวกับกฏหมายแรงงานสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ :
ลูกจ้างจะไม่ได้รับเงินชดเชย อันเนื่องมาจากการเลิกจ้าง ในกรณีใดบ้าง?
เลิกจ้าง เพราะโควิด จริงหรือเปล่า? คนทำงานควรรู้เรื่องนี้ จะได้ไม่เสียรู้ให้กับบริษัท
ถูกเลิกจ้าง และ ให้ออกจากงานแบบกระทันหัน ต้องทำอย่างไรดี?