
Pinocchio Effect หากใครก็ตามที่พูดโกหก จมูกก็จะยิ่งยื่นยาวออกมาเรื่อยๆ ทำให้คนรอบข้างรู้ได้ทันทีว่าเขาคนนั้นกำลังโกหกเราอยู่ ซึ่งหากเป็นแบบนี้ เราคงไม่โดนใครหลอกเอาง่ายๆ อย่างแน่นอน แต่นั่นก็เป็นแค่เรื่องในนิทานเท่านั้น
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ชายชราผู้มีอาชีพช่างไม้ ใช้ชีวิตอยู่คนเดียวอย่างโดดเดี่ยวมาตลอด ไม่มีลูก ไม่มีภรรยา ไม่มีแม้แต่ญาติที่ไหน วันหนึ่งเขาตัดสินใจสร้างหุ่นกระบอกไม้ขึ้นมา เพื่อให้มันเป็นเหมือนลูกชายของเขา และตั้งชื่อมันว่า “พินอคคิโอ”
หลังจากชายชราเข้านอนด้วยความอ่อนเพลีย ในคืนนั้นนางฟ้าปรากฏตัวขึ้น จะเสกให้หุ่นกระบอกไม้มีชีวิตขึ้นมาจริงๆ เพื่อตอบแทนความดีงามที่ชายชราคนนี้ได้ทำมาตลอด โดยกำชับไว้ว่าเมื่อไรก็ตามที่พินอคคิโอเป็นเด็กดีและกล้าหาญ เขาจะกลายเป็นคนขึ้นมาจริงๆ
แต่เรื่องกลับไม่ได้เป็นอย่างที่คิด พินอคคิโอหลงระเริงกับการได้มีชีวิต เขาไม่ได้พยายามเป็นเด็กดีเลยสักนิดเดียว เขากลายเป็นเด็กขี้โกหก และทุกครั้งที่โกหกจมูกของเขาจะยื่นยาวออกมาเรื่อยๆ มันจะหดกลับเข้าไปก็ต่อเมื่อเขาพูดความจริงเท่านั้น
จากหุ่นกระบอกไม้ กลายเป็นปรากฏการณ์ทางจิตวิทยา
นิทานเรื่อง Pinocchio ถูกแปลมากกว่า 260 ภาษา ถูกใช้เป็นนิทานในการสอนเด็กและเยาวชนให้เป็นเด็กดี กล้าหาญ และซื่อสัตย์ อุบายเรื่องโกหกแล้วจมูกยาวถูกใช้เพื่อให้เด็กกลัวการโกหก ก่อนมันจะกลายมาเป็นปรากฏการณ์ทางจิตวิทยา ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อมีคนโกหก
เมื่อโกหกจะต้องเกิดอาการสะอึก
หากใครเป็นสาวกซีรีย์เกาหลี คงต้องเคยเห็นซีรีย์เรื่องดังอย่าง Pinocchio ที่นำแสดงโดยพระเอกสุดฮอตอย่าง Lee jong suk และนางเอกชื่อดังอย่าง Park shin hye กันมาบ้าง ซึ่งสิ่งที่เป็นประเด็นให้พูดถึงกันอย่างล้นหลามก็คือ โรคพินอคคิโอ ที่นางเอกเป็น

Choi in ha นางเอกของเรื่องไม่สามารถพูดโกหกได้ ไม่ใช่เพราะเธอถือศีลหรือยึดมั่นถือมั่นในเรื่องความถูกต้องอะไร แต่เป็นเพราะมันเป็นอาการของโรคพินอคคิโอที่เธอเป็นมาตั้งแต่เกิด เมื่อไหร่ที่เธอโกหก เธอจะมีอาการสะอึกขี้นมาทันทีและจะสะอึกแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะพูดความจริง เพราะอาการของเธอนี่เองทำให้ทุกคนเชื่อสิ่งที่เธอพูดเสมอ และมั่นใจได้ว่ามันคือความจริง
“เมื่อโรคพินอคคิโอ กลายเป็นจุดขาย”
เมื่อเติบโตขึ้นชเวอินฮา ตัดสินใจที่จะเป็นนักข่าวเพื่อหวังว่าจะได้เจอแม่ของตัวเอง และใช้อาการของโรคพินอคคิโอเป็นจุดขายในการเป็นนักข่าว เพราะทุกคนที่เสพข่าวที่เธอทำจะมั่นใจได้ว่าทุกเรื่องที่เธอพูดมันคือความจริงแน่นอน ซึ่งสิ่งที่ทุกคนลืมไปก็คือ จุดบอดของโรคนี้ นางเอกของเราพูดทุกอย่างตามความเข้าใจและสิ่งที่รู้มาจริงๆ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่เธอรู้และเอามาส่งต่อและนำเสนอในรูปแบบของข่าวมันจะถูกต้อง

“เมื่อพยานก็เป็นโรคพินอคคิโอ”
Ki ha myung พระเอกของเรื่องที่มีพ่อเป็นนักดับเพลิง พ่อของเขาหายสาบสูญไปหลังจากเกิดโศกนาฏกรรมไฟไหม้โรงงานระเบิด ที่ทำให้นักดับเพลิงทั้งหมดที่นั่นตาย มีเพียงพ่อของเขาเท่านั้นที่หายตัวไป จึงทำให้พ่อของเขาโดนกล่าวหาว่าเป็นสาเหตุของโศกนาฏกรรมครั้งนี้ทันที
แม้ว่าเขาจะพยายามพิสูจน์ความจริงเพื่อความบริสุทธิ์ของพ่อเขาขนาดไหน แต่ก็ไม่มีใครเชื่อเพราะอิทธิพลจากกระแสข่าวและคำให้การของพยานที่เป็นโรคพินอคคิโอ ทำให้ความพยายามทั้งหมดของเขาสูญเปล่า
ความจริงก็คือ พยานที่เป็นโรคพินอคคิโอไม่ได้โกหก แต่เขาก็ไม่ได้พูดความจริง เพราะสิ่งที่พยานคนนั้นพูดมันคือสิ่งที่เขาเข้าใจผิดไป แต่ความเข้าใจผิดนั้น มันทำลายครอบครัวของพระเอกจนไม่เหลือชิ้นดี
โรคพินอคคิโอมีจริงไหม?
หลังจากที่ได้ดูซีรีย์เรื่อง Pinocchio จนจบ หลายคนต้องตั้งข้อสงสัยกันแน่ๆ ว่าโรคที่นางเอกเป็นมันมีจริงไหม เพราะถ้ามีจริง คนที่เป็นโรคนี้ต้องทนทุกข์ทรมานจากการที่เป็นคนโกหกไม่ได้ และการสะอึกทุกครั้งที่โกหก มันก็ดูหนักเกินไปที่คนคนหนึ่งจะรับไหว

“โชคดีของคนชอบโกหก เพราะโรคนี้มีเฉพาะในซีรีส์เท่านั้น”
การโกหกแล้วสะอึกแบบ Choi in ha เป็นเพียงแค่โรคในซีรีย์เท่านั้น เพราะในความเป็นจริงแล้ว โลกของเราไม่มีโรคลักษณะแบบนั้น แต่เรามีอาการบางอย่างที่จะแสดงออกทางร่างกายเวลาที่คนเราโกหกเรียกว่า “Pinocchio effect”
“หุ่นกระบอกไม้พินอคคิโอในนิทาน ถูกสาปให้จมูกยืดยาวออกมาทุกครั้งที่พูดโกหก”
นักวิจัยด้านจิตวิทยาที่ University of Granada ในสเปน เรียกผลการทดลองนี้ว่า Pinocchio Effect พวกเขาหาวิธีจับผิดการโกหกด้วยการศึกษาอุณหภูมิบริเวณใบหน้าของผู้ที่โกหก และ พบว่าระหว่างที่คนกำลังพูดโกหกอุณหภูมิบริเวณรอบจมูกและรอบเบ้าตาด้านในจะสูงขึ้น นอกจากนี้ยังพบด้วยว่าคนที่กำลังวิตกกังวลหรือกลุ้มใจจะมีอุณหภูมิบริเวณทั่วใบหน้าสูงขึ้นด้วยเช่นกัน
สาเหตุที่ทำให้จมูกของคนพูดโกหกร้อนขึ้น เพราะการทำงานของสมองส่วนอินซูลา (Insula) ซึ่งทำหน้าที่กำหนดและควบคุมอุณหภูมิในส่วนต่างๆของร่างกาย เมื่อคนเราพูดโกหกสมองส่วนนี้จะทำงานหนักมากกว่าปกติ อุณหภูมิของร่างกายบางส่วนจึงเพิ่มสูงขึ้น
“ชาวอเมริกันพูดโกหกประมาณ 11 ครั้งต่อสัปดาห์ และ 3 ครั้งระหว่างการพูดคุยช่วงสั้นๆ”
จากผลสำรวจในประเทศสหรัฐอเมริกา คนอเมริกัน 60% จำเป็นต้องพูดโกหกทุกๆ 10 นาทีเพื่อคงบทสนทนานั้นให้ไปต่อได้ พูดโกหกประมาณ 11 ครั้งต่อสัปดาห์ และมีความเป็นไปได้ว่าจะพูดโกหกถึง 3 ครั้งระหว่างการพูดคุยช่วงสั้นๆ เพื่อให้เราทันต่อการโกหกจากคนโกหกเราเหล่านี้ เราจึงต้องมีวิธีการจับโกหกกัน ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆด้วยกัน
เครื่องจับเท็จ ซึ่งเครื่องจับเท็จจะทำการตรวจจับการเปลี่ยนแปลงและการตอบสนองของร่างกายขณะพูด แต่ยังไม่ถึงกับบอกได้ว่าผู้พูดโกหกหรือไม่ เพราะเป็นการประมวลการตอบสนองของร่างกายแค่ระยะเวลาสั้นๆเท่านั้น
การสังเกต เป็นการจับพิรุธคนโกหกจากพฤติกรรม ท่าทาง ภาษากาย คำพูด และลักษณะการพูดที่เปลี่ยนไป เช่น การยกมือขึ้นปิดปากตอนโกหก ลุกลี้ลุกลน มองต่ำ พูดเสียงต่ำลง หรือไม่ขยับตัวท่อนบน เป็นต้น
ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการทำงานของสมองและการพูดโกหก อย่างที่นักวิจัยได้ข้อสรุปว่า ขณะที่คนเราพูดโกหก อุณหภูมิบริเวณจมูกรวมถึงกล้ามเนื้อรอบเบ้าตาด้านในจะเพิ่มสูงขึ้นชัดเจนนั่นเอง
“เพราะร่างกายของเราไม่เคยโกหก”
สิ่งที่ชัดเจนที่สุดจาก Pinocchio effect คือ ไม่ว่าคุณจะโกหกได้อย่างแนบเนียนแค่ไหน หรือ บ่อยครั้งที่เราจะบอกตัวเองว่ามันคือการโกหกที่ดี (white lie) แต่ร่างกายของเรามักจะตัดสินมันอย่างตรงไปตรงมา หากคุณโกหกจมูกและเบ้าตาของคุณจะร้อนขึ้น เช่นเดียวกับหุ่นกระบอกไม้พินอคคิโอ ทุกครั้งที่เขาโกหก เขาไม่อาจหลีกเลี่ยงอาการจมูกยื่นยาวออกมาได้จนกว่าเขาจะพูดความจริง
บทสรุป
การโกหกเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัน โดยแต่ละช่วงวัยก็จะมีแรงจูงใจในการโกหกที่แตกต่างกัน ในวัยเด็กเราอาจจะโกหกเพราะแยกแยะความเป็นจริงกับเรื่องโกหกไม่ออก เมื่อโตขึ้นเราอาจจะโกหกเพื่อปกป้องตัวเองจากความจริงที่เราเองรับไม่ไหว หรือ บางทีเราอาจจะโกหกด้วยเจตที่ดีอย่างการถนอมน้ำใจหรือรักษาความรู้สึกผู้อื่น
แต่ความจริงร่างกายของเราไม่เข้าใจความซับซ้อนของความคิดมนุษย์ขนาดนั้น มันซื่อตรงกับความจริง ทุกครั้งที่เราโกหก ร่างกายเราจึงแอบเผยความจริงออกมาให้เห็นเสมอ
“เราโกหกใครก็ได้ แต่เราโกหกตัวเองไม่ได้”
Source:
https://today.line.me/th/v2/article/PBRxOR