
Procrastination hack ในบทความนี้ เราจะมานำเสนอวิธีการง่ายๆ ที่เราทุกคนสามารถลงมือทำได้ เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาในเรื่องของการผัดวันประกันพรุ่งนั่นเอง มาหาคำตอบกันได้กับบทความในตอนนี้ (อ้างอิงจาก How to Hack Your Brain to Destroy Procrastination)
Procrastination แปลว่า การผัดวันประกันพรุ่ง มีความหมายตามพจนานุกรมว่า การที่บางสิ่งล่าช้าหรือถูกเลื่อนออกไปทั้งที่จริงๆมันควรจะเสร็จหรือจบ โดยที่คุณเองก็รู้ถึงการมีอยู่ของสิ่งนั้นเสียด้วย แต่ยังตั้งใจจะขยับมันออกไปอีกเสียหน่อย แล้วบอกตัวเองว่าเดี๋ยวก็ทำจนเสร็จนั้นล่ะ แต่แค่ยังไม่ใช่ตอนนี้ หากคุณมองสิ่งนี้เป็นกระบวนการอะไรสักอย่างในสมอง ที่กำลังต่อคิวเรียงลำดับเข้ามาแล้วสิ้นสุดที่คุณผัดวันประกันพรุ่ง คุณคิดว่ากระบวนการนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร มีวิธีหยุดมันระหว่างทางให้ได้สักครั้งหรือทุกครั้งที่กระบวนการนี้เกิดขึ้นมาบ้างไหม
“ทำไมบางสิ่งมันรู้สึกว่ายากที่จะทำให้เสร็จ และยากที่จะเริ่มทำ”
จริงๆ แล้วมันมีเหตุผลมากมายที่คนเราจะสรรหาขึ้นมาเพื่อไม่ทำงานให้เสร็จหรือเริ่มทำงานอะไรสักอย่าง Ali Schillerและ Marissa Boisvert เจ้าของ Accountability Work อธิบายว่าการผัดวันประกันพรุ่งของเราสามารถจำแนกออกได้ 4 ประเภทด้วยกัน ดังนี้
1. The performer
คนประเภทนี้เป็นคนที่สามารทำงานภายใต้แรงกดดันได้อย่างดีเยี่ยม เขาจะนั่งอยู่ตรงนั้นจนถึงวินาทีสุดท้าย เพื่อให้งานเสร็จ แม้การทำงานภายใต้แรงกดดันได้จะเป็นทักษะที่ดี แต่การติดอยู่ในงานที่มีความกดดันสูงตลอดเวลาไม่ใช่กลยุทธิ์การทำงานที่ยั่งยืนเสียเท่าไร แถมยังส่งผลอันตรายมากต่อสุขภาพของคนทำงานลักษณะนี้ด้วย สิ่งที่คนประเภทนี้ควรทำคือจดจ่อและให้ความสำคัญกับงานที่ช่วยบรรลุเป้าหมายส่วนตัวของคุณและอย่ารับงานที่เดดไลน์กระชั้นชิดจนคุณต้องโกงความตายเพื่อทำมันให้เสร็จ ให้ความสำคัญกับสุขภาพของตัวเองด้วย
2. The Self-Deprecator
คนประเภทนี้เป็นคนที่รู้ผิดกับตัวเองเมื่อพบว่าตัวเองกำลังไม่ทำงาน พวกเขาจะขาดความมั่นใจในตัวเองในการทำอะไรก็ตาม คนประเภทนี้ต้องพบกับสัจธรรมที่เป็นวงโคจรของพวกเขา ท่องไว้ได้เลยว่ายิ่งคุณรู้สึกแย่มากเท่าไร คุณก็ยิ่งทำงานได้น้อยเท่านั้น และยิ่งคุณทำงานได้น้อยเท่าไร คุณก็ยิ่งรู้สึกแย่มากเท่านั้น ทางแก้ไม่ได้ยากเลย คนประเภทนี้ต้องการการพักผ่อนเสียหน่อย ลองหยุดพักผ่อน ดูแลตัวเองให้กลับมาสดชื่นอีกครั้ง มองหาแรงบันดาลใจหรือตัวกระตุ้นใหม่ๆในการทำงาน
3. The Over Booker
คนประเภทนี้เป็นคนยุ่งๆ ยุ่งเกินกว่าจะทำอะไรให้เสร็จได้ เหมือนกับว่าเขามีเหล็กวางรอการหลอมอยู่มากมาย แต่ตัวเขากลับตัดสินใจไม่ได้ว่าควรจะทำอันไหนก่อนดี พวกเขาเลือกสร้างความวุ่นวายโกลาหลกลบความวุ่นวายที่เขาต้องเผชิญ ใช่แล้ว ระหว่างที่ทุกอย่างกับยุ่งเหยิง เขาจะเลี่ยงการเผชิญหน้าด้วยการแอบหนีออกไปเงียบๆ สิ่งที่คนประเภทนี้ควรทำคือมองภาพจากมุมกว้าง แล้วลำดับความสำคัญให้ได้ว่าตัวเองควรทำอะไรก่อน และอะไรที่ควรหลีกเลี่ยง
4. The Novelty Seeker
คนประเภทนี้อาจกล่าวได้ว่าเขามีอาการเหมือน Shiny object syndrome นิสัยสมาธิสั้น ไม่สามารถโฟกัสหรือจดจ่อกับสิ่งใดได้นาน เขามักจะมองหาสิ่งใหม่ๆที่น่าสนใจกว่า น่าตื่นเต้นกว่าอยู่เสมอ ทำให้เขาไม่สามารถทำงานที่ทำอยู่ให้สำเร็จได้หากหมดความสนใจในงานนั้นแล้ว สิ่งที่คนประเภทนี้ควรทำคือเมื่อมีความคิดหรือไอเดียใหม่ผุดขึ้นมาในหัว ให้จดมันใส่กระดาษหรือสมุดจดเอาไว้ก่อน แล้วหันกลับมาทำงานเดิมให้เสร็จ แล้วค่อยหันไปให้ความสำคัญกับความคิดใหม่ๆที่จดทดเอาไว้
“การผัดวันประกันพรุ่งก็เหมือนบัตรเครดิต มันสนุกมากจนกระทั่งมีบิลเรียกชำระค่าบริการมาที่บ้าน”
Christopher Parker
การผัดวันประกันอาจดูมีหลายรูปแบบและหลายอาการ แต่จริงๆ แล้วมันก็แค่การ “ไม่ทำสิ่งต่างๆให้เสร็จ” เท่านั้น หากคุณมีเวลามากมายคุณคงสามารถพักงานเดิมไว้ ไปทำงานใหม่ แล้วอาจจะกลับมาทำงานเดิม หรือค่อยๆทำงานไปทีละนิดได้ แต่แย่หน่อยที่อายุขัยของคนเราสั้นเหลือเกิน แถมสิ่งที่ยังไม่เสร็จก็ยังกองอยู่ตรงนั้น เพราะฉะนั้นเรียกชื่อตัวเอง ดังๆ ให้ได้สติแล้ว
“ติดสินบนตัวเอง”
สำหรับวิธีการในขั้นตอนแรก – คุณได้ลองพยายามจัดการการผัดวันประกันพรุ่งดูหรือยัง หาทางหรือวิธีที่ทำให้ความรู้อยากเลื่อนออกไปก่อนไม่เกิดขึ้น กี่ครั้งที่คุณบอกตัวเองให้ลุกขึ้นไปทำงานหน่อยเถอะ หรือกี่ครั้งที่คุณปล่อยให้วันวันหนึ่งผ่านไปโดยไม่ทำอะไรเลย คุณต้องหาตัวช่วยมากระตุ้นตัวเองหน่อยแล้วล่ะ อย่างเช่น สินบนหรือรางวัล บางทีอาจจะได้ผลหรือบางทีอาจจะไม่ มันก็ขึ้นอยู่กับว่าสินบนของคุณดีพอหรือไม่
“ย่อยออกมาชิ้นเล็กๆ”
ในขั้นตอนที่สอง – หากสาเหตุการผัดวันประกันพรุ่งของคุณคือขนาดของงานที่ดูน่ากลัวเหลือเกิน คุณอาจจะคิดว่ามันใหญ่เกินตัวและวันนี้คุณยังไม่พร้อม ทำให้คุณผัดวันประกันพรุ่งไปเรื่อยๆเพื่อรอวันพร้อม วิธีที่ง่ายกว่านั้นก็คือแบ่งขั้นตอนการทำงานออกเป็นข้อย่อยๆ แล้วคุณค่อยลำดับขั้นตอนนั้นว่าควรทำอะไรก่อนหลัง มันจะทำให้งานของคุณดูง่ายขึ้น และคุณจะสามารถทำมันให้เสร็จได้โดยที่ไม่ได้รู้สึกว่ามันยากหรือใหญ่เกินตัว
“กำหนดเวลา”
ในขั้นตอนที่สาม – หลายคนมีปัญหากับระยะเวลาในการทำงาน เมื่อเราได้เดดไลน์ที่ต้องส่งงานมาแล้ว แทนที่มันจะเป็นตัวผลักดัน มันกลับกลายเป็นตัวทำให้เราอยากจะผัดวันประกันพรุ่งเพราะรู้สึกว่ายังไม่กระชั้นชิดพอ ไฟยังไม่ลนก้นก็ไม่รู้สึกว่าอยากจะทำ เพราะฉะนั้นให้กำหนดระยะเวลาแบบเฉพาะเจาะจงงาน เมื่อเราแบ่งขั้นตอนการทำงานออกเป็นข้อย่อยๆแล้ว ให้กำหนดระยะเวลาที่เราอยากจะทำงานพวกนั้นให้เสร็จด้วย เพื่อให้งานสุดท้ายที่เราต้องทำเพื่อส่งทันเดดไลน์ตัวงานใหญ่ทั้งหมด
“กำจัดมารผจญ”
ในขั้นตอนที่สี่ -การกำจัดสิ่งที่ทำให้ไขว้เขว้อาจฟังดูเป็นเรื่องยาก มารผจญหรือสิ่งรบกวนอย่างการแจ้งเตือนโทรศัพท์หรือการเคลื่อนไหวของสิ่งของหรือสิ่งมีชีวิตรอบตัวที่พร้อมจะดึงความสนใจของคุณออกไปให้ห่างงานในทันที เพราะฉะนั้นก่อนที่คุณจะทำงาน ทำให้คุณทุกคนรู้ว่านี่คือเวลางานของคุณและคุณไม่ต้องการถูกรบกวน เพื่อทำให้ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาทำงานที่มีประสิทธิภาพของคุณ ที่สำคัญจำไว้ว่าอย่ารู้สึกผิดและให้อภัยตัวเองถ้าเกิดรู้สึกอยากจะพักสักหน่อย คุณสามารถทำได้แต่คุณต้องพยายามกลับเข้าสู่เวลาทำงานให้ได้อีกครั้ง
“การลงมือทำช่วยทำลายการผัดวันประกันพรุ่ง”
ในขั้นตอนที่ห้า – ตอนนี้สิ่งที่คุณต้องการคือตัวช่วยที่จะยุติการผัดวันประกันพรุ่งของคุณตั้งแต่ต้น ดังนั้นก่อนอื่นเลยคือหันหลังแล้วมองหาว่าคุณซ่อนอะไรเอาไว้ ความกลัว ความไม่มั่นใจ หรืออุปสรรคอะไรที่ทำให้คุณไม่สามารถทำงานนี้ได้จนคุณต้องหนี ลองขยับไปข้างหน้าสักนิด ก้าวแรกจะเป็นกาวที่ยิ่งใหญ่ที่จะทำให้ก้าวต่อๆไปของคุณง่ายขึ้น เมื่อคุณเริ่มลงมือทำบางสิ่งแล้ว การผัดวันประกันพรุ่งจะถูกกำจัดไป
“การกระทำต้องการแรงจูงใจและแรงจูงใจจะเกิดขึ้นเมื่อมีสิ่งมากระตุ้น”
ในขั้นตอนที่หก – การที่คนเราจะลงมือทำบางสิ่งได้มักมาจากแรงจูงใจภายใน ความต้องการที่อยากจะลงมือทำสิ่งนั้น ไม่ว่าจะเป็นความสำเร็จ การหลีกเลี่ยงการโดนตำหนิ คะแนน หรือความก้าวหน้าในการทำงาน ซึ่งสำหรับบางคน บางงาน หรือบางสถานการณ์แรงจูงใจในการทำงานไม่ได้เกิดขึ้นโดยง่าย มันต้องการสิ่งกระตุ้น เช่น หากคุณมีแรงจูงใจที่จะไม่อยากโดนตำหนิเมื่อทำงานไม่เสร็จ คุณอาจจะยังไม่ลุกขึ้นมาทำงานจนกว่าหัวหน้าของคุณจะโทร.มาหาคุณแล้วถามว่างานถึงไหนแล้ว ซึ่งสิ่งนี้เรียกว่าสิ่งกระตุ้น แน่นอนว่าหลังจากรับสายนี้คุณจะลุกขึ้นมาทำงานในทันทีเลย เพราะฉะนั้นหากคุณอยากกำจัดนิสัยการผัดวันประกันพรุ่งของตัวเอง มองหาสิ่งที่กระตุ้นตัวคุณได้ ไม่ว่าจะเป็นรางวัล การแข่งขันในที่ทำงาน เงินเดือน หรือการทำงานอย่างไรไม่ให้ถูกตำหนิ เป็นต้น
“วินัยในตนเองคือการทำในสิ่งที่ควรทำ ไม่ว่าคุณจะชอบหรือไม่ก็ตาม”
ในขั้นตอนที่เจ็ด -เมื่อคุณมีแรงกระตุ้นที่สร้างแรงจูงใจในการทำงานแล้ว มันจะง่ายต่อการเริ่มต้นทำงานโดยไม่ผัดวันประกันพรุ่งก็จริง แต่สิ่งที่สำคัญคือคุณต้องทำให้มันกลายเป็นนิสัย ซึ่งเรียกได้ว่าการสร้างวินัยในตนเอง ไม่ว่าคุณจะชอบหรือไม่ แต่คุณจะรู้ว่าในเวลานี้คุณต้องลุกขึ้นมาทำงาน Les Brown นักพูดสร้างแรงบันดาลใจกล่าวว่า การมีวินัยเป็นเพียงการถูกทำโทษเมื่อมันถูกบอกให้มีโดยคนอื่น แต่เมื่อคุณสามารถสร้างวินัยด้วยตนเองได้ มันจะกลายเป็นพลังในการทำงานให้แก่คุณ
บทสรุป
เมื่อคุณมีรายการสิ่งที่ต้องทำแต่คุณยังรู้สึกว่าไม่สามารถเริ่มต้นทำรายการเหล่านั้นได้ คุณจะรู้สึกอึดอัดเหมือนกับติดอยู่ในช่องแคบบางอย่าง ต่อให้มีงานหรือกิจกรรมที่คุณอยากทำ การลุกไปทำสิ่งเหล่านั้นจะกลายเป็นเรื่องยากเพราะคุณยังมีรายการที่คุณค้างคาแบกเอาไว้จนเต็มหลัง การผัดวันประกันพรุ่งไม่เคยดีกับใคร เมื่อคุณขอเลื่อนมันออกไปก่อน นั่นหมายถึงคุณกำลังเลื่อนความสำเร็จ ความก้าวหน้า และโยนความรับผิดชอบที่สำคัญไปไว้ในเวลาถัดไปด้วยเช่นกัน
การใช้ชีวิตโดยไม่มีรายการสิ่งที่ต้องทำที่ค้างคาไว้ยาวเป็นหางว่าวจะทำให้คุณเครียดน้อยลง ตัวเบาลง และช่วยทำให้คุณสมาธิจดจ่อกับสิ่งตรงหน้าได้โดยไม่ต้องพะวงถึงสิ่งที่ค้างคาอยู่ เมื่อคุณมีอิสระในการทำสิ่งที่อยากทำ คุณจะสามารถทำสิ่งต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เริ่มต้นจากการขยับตัวก้าวไปข้างหน้าในวันนี้ แล้วสร้างวินัยในการทำงานโดยอาศัยสิ่งกระตุ้นที่สร้างแรงจูงใจที่มีผลต่อคุณ แล้วคุณจะสามารถกำจัดการผัดวันประกันพรุ่งออกไปจากตัวคุณได้เอง ไม่มีอะไรจะเหน็ดเหนื่อยเท่ากับการที่งานไม่เสร็จค้างคาอยู่ชั่วนิรันดร์
“เริ่มทำในสิ่งที่อยากทำเดี๋ยวนี้ เราไม่ได้มีชีวิตอยู่ชั่วนิรันดร์ เราต่างคงอยู่กันเพียงชั่วขณะ ระยิบระยับเหมือนดวงดาวก่อนจะละลายหายไปราวกับเกล็ดหิมะ”
Sir Francis Bacon
Reference: How to Hack Your Brain to Destroy Procrastination | The Art of Improvement
บทความแนะนำ:
Emotions at Work – วิธีรับมือและจัดการกับอารมณ์ในที่ทำงาน