
Provident Fund – กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ฝ่ายบุคคล เขาแนะนำให้ออม แต่จะออมได้อย่างไร? ในเมื่อเงินแต่ละเดือนยังไม่พอใช้เลย
แต่ก็เป็นเรื่องที่น่าตกใจ ที่คนทำงานหลายคน “ปฏิเสธ” ที่จะสมัครเข้า Provident Fund หรือ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ทั้งๆ ที่บริษัทก็มีสวัสดิการในเรื่องนี้ให้พวกเขา เพราะอะไร พวกเขาเหล่านั้นถึงไม่ยอมสมัคร?
จุดเริ่มต้น มาจาก “ความเข้าใจผิด” หลักๆ ก็มี อยู่ 2 ประเด็น
ประเด็นแรก เข้าใจผิดที่ว่า “เงินเดือนน้อย ไม่พอใช้ เลยไม่ยอมหักเงินเดือนเข้าไปเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ”
เรื่องนี้เป็นเรื่องของการบริหารจัดการเรื่องการเงินล้วนๆ อาจจะมองว่าการถูกหัก เป็นการเสียผลประโยชน์ ทำให้เงินเดือนน้อยลง เงินเลยไม่พอใช้
รู้หรือไม่ ว่า ทุกๆ บาทที่เราโดนหักเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ นายจ้าง (หรือบริษัทที่เราทำงานอยู่) เขาก็จะสบทบเข้าไปด้วย แต่สมทบเท่าไหร่ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของนายจ้างนั้นๆ
เช่น ถ้าเราเงินเดือน 20,000 บาท หักเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 5% คือ 1,000 บาท
ถ้าบริษัทมีเงื่อนไขสมทบ 5% บริษัท เขาก็จะสบทบให้เรา อีก 1,000 บาท ด้วย นั่นหมายความว่า “การออมผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กำไร 100% ทันที” เพราะเราแค่ออมเอาไว้ 1,000 บาท แต่ก็ได้กำไรในรูปแบบของบริษัทช่วยสบทบให้เราทันที อีก 1,000 บาท
โดย เงิน 1,000 บาท ของเรา และ เงิน 1,000 บาท ของบริษัท ก็จะถูกนำไปบริหารจัดการโดยผู้จัดการกองทุน นักบริหารเงินมืออาชีพ เพื่อสร้างผลตอบแทนที่มากขึ้นให้กับเรา แบบนี้สบายเลย ได้ทั้งเงินสบทบจากบริษัท และมีโอกาสได้กำไรจากการลงทุนอีกด้วย
แต่ก็อย่าลืมว่าไม่ว่าการลงทุนใดๆ มีโอกาสได้ ก็มีโอกาสขาดทุนเช่นกัน
ยิ่งเราทำงานนานขึ้น และ มีการหักเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพเอาไว้ตั้งแต่เริ่มทำงานใหม่ๆ บวกกับเลือกลงทุนในกองทุนที่ตอบโจทย์เป้าหมายของเรา เราสามารถมีเงินล้าน ได้อย่างสบาย ก่อนเกษียณ
ประเด็นที่สอง เข้าใจผิดที่ว่า “เงินของเราที่ฝากเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพแล้ว หากอยากใช้เงินก็ถอนออกมาไม่ได้”
ก่อนอื่นต้องเข้าใจวัตถุประสงค์ของการมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก่อน เขามีไว้เพื่อออมเงินของเรา เพื่อเอาไว้ใช้ในยามเกษียณ ดังนั้น เขาจึงมีกฏกติกา กำหนดเอาไว้ค่อนข้างเยอะ เช่น สามารถไถ่ถอนได้ เมื่อมีอายุ 55 ปีขึ้นไป
หรือ แม้กระทั้งเงื่อนไขที่จะได้เงินจากจากนายจ้าง จะขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละบริษัท โดยมาก นายจ้างจะมีการผูกอายุงานของเรา กับ อัตราเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบที่จะจ่ายให้
ตัวอย่างเช่น ถ้าเรา ทำงาน ตั้งแต่ 1 ปี ขึ้นไป แต่ไม่ถึง 2 ปี บริษัทจะจ่ายเมื่อสิ้นสุดสมาชิกภาพ คือ 20%
- ตั้งแต่ 2 ปี ขึ้นไป แต่ไม่ถึง 3 ปี คือ 40%
- ตั้งแต่ 3 ปี ขึ้นไป แต่ไม่ถึง 4 ปี คือ 60%
- ตั้งแต่ 4 ปี ขึ้นไป แต่ไม่ถึง 5 ปี คือ 80%
- และ ตั้งแต่ 5 ปี ขึ้นไป คือ 100%
หมายความว่า ยิ่งเราทำงานยิ่งนาน เงินที่เราสมทบและผลประโยชน์ก็จะเพิ่มขึ้น หากเราทำงาน เกิน 5 ปี ก็จะได้ส่วนที่บริษัทสบทบและดอกผลเต็ม 100% ทันที
กรณีใดบ้าง ที่เราสามารถออกจาก Provident Fund (กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ) ได้
ได้ แต่ต้องเข้าข่ายเงื่อนไขดังต่อไปนี้ เช่น
- พ้นจากการเป็นลูกจ้างด้วยเหตุเสียชีวิต ทุพพลภาพ หรือ เกษียณ อายุ
- พ้นจากการเป็นลูกจ้างด้วยเหตุนายจ้างเลิกจ้าง
แต่ถ้าเราร้อนเงินจริงๆ มีความต้องการจะใช้เงินจริงๆ จะออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ได้ไหม? ได้เสมอ ถ้าต้องการ แต่ต้องยอมรับผลกระทบที่จะตามมาด้วย เช่น
- ถ้าออกก่อน 5 ปี ที่ทำงานกับนายจ้าง ก็จะได้ส่วนที่นายจ้างสบทบ ตามสัดส่วนที่เขากำหนดเอาไว้
เช่นออกในขณะที่ทำงานมาไม่ถึง 3 ปี ส่วนของนายจ้างที่สบทบเอาไว้ เราก็จะได้แค่เพียง 40% เท่านั้น
แต่ไม่ต้องห่วง ส่วนของเราที่ถูกหักเอาไว้ เราจะได้ครบทั้งหมด - เสียภาษีย้อนหลัง เพราะการออมผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้
ดังนั้นถ้าเราออกจากกองทุนนี้ ถือว่าเราผิดเงื่อนไขทางภาษี เราก็ต้องเสียภาษีย้อนหลังด้วยเช่นกัน - และเมื่อออกมาจาก กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แล้ว อาจจะกลับเข้าไปไม่ได้ในทันที หรือ อาจจะต้องมีช่วงรอเวลาเรื่องนี้ขึ้นอยู่ข้อบังคับกองทุนของบริษัท
กรณีย้ายบริษัท ไม่จำเป็นต้องขายกอง Provident Fund แต่สามารถถือเอาไว้ เพื่อย้ายไปบริษัทใหม่ได้ หรือ หากเลิกเป็นพนักงานบริษัทแล้ว สามารถย้ายไป RMF ที่เป็นกอง Provident Fund ได้
“คนทำงานก็สามารถมีเงินเก็บเป็นล้านได้ด้วยการออมผ่าน กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ”
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางและวิธีการสำหรับการออมที่เอาไว้ใช้สำหรับอนาคตของคนทำงานในยามเกษียณ เนื่องจากเป็นเรื่องของความสมัครใจ
ดังนั้น ถ้าหากบริษัทให้ทำ แต่เราไม่ทำ ไม่สมัครเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ถือว่าพลาดมาก สิ่งที่เราควรทำต่อไปก็คือ ลองกลับไปดูนโยบาย กองทุนสำรองเลี้ยงชีพของบริษัทของเราดู ว่า ณ ปัจจุบัน เขามีให้เลือกหักเงินเดือนกี่ % และ บริษัทจะสบทบให้สูงสุดกี่ %
เพียงแค่เราเลือกหักเงินเดือนใน % ที่สูงขึ้น เราก็มีโอกาสมีเงินล้านหรือหลายล้านได้เร็วกว่า
และ ด้วยวิธีการแบบนี้ จะทำให้เราเกษียณสุขได้อย่างแน่นอน หรือเรียกได้ว่า “เกษียณ Happy Provident Fund ช่วยได้”

บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวกับ การเงินและการลงทุน สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ :
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ตัวช่วยที่สำคัญในการบรรลุเป้าหมายมีเงินใช้ในยามเกษียณ
กองทุน RMF ปี 2563 มีอะไรใหม่ เงื่อนไขเป็นอย่างไร ดีกว่าเดิมไหม?