Refinance – รีไฟแนนซ์บ้านดีไหม? หนึ่งในคำถามที่มักเจอบ่อยๆ เกี่ยวกับเรื่องของคนมีบ้าน บ้านในที่นี้คือที่พักอาศัย เช่น บ้าน หรือ คอนโด ที่เราไปกู้เงินจากธนาคารมาซื้อ หลังจากที่เราได้ผ่อนบ้านหรือคอนโดมาสักพักนึงแล้ว เราซึ่งเป็นคนที่กู้สินเชื่อที่พักอาศัยนั้นมา ก็จะเริ่มสงสัยว่าเราควรจะรีไฟแนนซ์บ้านดีหรือไม่?
Refinance – รีไฟแนนซ์บ้าน คืออะไร?
การไปขอสินเชื่อ (หรือการไปขอกู้เงิน) กับธนาคารใหม่ เพื่อเอาเงินกู้ดังกล่าวมาปิดยอดสินเชื่อ (หรือเงินกู้เดิม) ของธนาคารเก่าของเรา โดยหลังจากนั้นเราก็ไปผ่อนบ้านของเรากับธนาคารใหม่แทน
เพื่อให้เข้าใจง่ายๆ ยกตัวอย่างเช่น เราซื้อบ้านหลังนี้มา 3.5 ล้านบาท ซึ่งแน่นอนเราไม่ได้ซื้อด้วยเงินสด เราจึงจำเป็นต้องไปขอกู้เงินหรือขอสินเชื่อมาจากธนาคาร A เพื่อมาซื้อบ้านหลังนี้ ซึ่งหากกรณีนี้เป็นบ้านหลังแรก ก็จะสามารถกู้ได้ 100% หลังจากที่เราผ่อนไปได้สักระยะหนึ่งและเกิน 3 ปี เราก็ทำเรื่อง รีไฟแนนซ์บ้านหลังนี้ ด้วยการไปขอสินเชื่อจากธนาคาร B เพื่อมาปิดยอดค้างชำระที่เหลือของสินเชื่อธนาคาร A นั่นเอง (ย้ายจากการผ่อนบ้านผ่านธนาคาร A ไปยัง ธนาคาร B)
เหตุที่คนมีบ้านส่วนมากนิยมที่จะรีไฟแนนซ์บ้าน ก็เพราะเมื่อเกิดการสิ้นสุดสัญญาสินเชื่อที่มีอยู่กับธนาคารเดิม เช่น มีการผ่อนบ้านมาเกิน 3-5 ปีไปแล้ว จะมีธนาคารใหม่ๆ ที่มักจะนำเสนอโปรโมชั่นดีๆ เช่นให้อัตรดอกเบี้ยเงินกู้ที่ต่ำๆ เพื่อดึงดูดให้คนที่มีบ้านมารีไฟแนนซ์ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ถูกกว่าธนาคารเดิมมาก นอกจากนี้ยังได้รับเงื่อนไขการผ่อนชำระที่ดีกว่าเดิมอีกด้วย ดังนั้นการรีไฟแนนซ์บ้าน
ทำไมเรื่อง รีไฟแนนซ์บ้าน ต้องรอนาน 3 – 5 ปี?
เพราะธนาคารเวลาเราซื้อบ้านใหม่หรือการ รีไฟแนนซ์บ้าน เพื่อย้านธนาคาร เขาก็จะมีสัญญาผูกมัดกับเราว่าเราต้องอยู่กับเขาประมาณ 3 – 5 ปี (ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสัญญาและข้อเสนอของแต่ละธนาคาร) เช่น ธนาคารแห่งหนึ่งให้ดอกเบี้ยเราในอัตราพิเศษคงที่ 3 ปีแรก เช่น 2% และปีที่ 4 และ 5 อาจจะสูงขึ้นมาหน่อย เช่น 3% และ 4% ตามลำดับ แต่หลังจากปีที่ 5 เป็นต้นไปจะเป็นอัตรดอกเบี้ยปกติเป็นต้น ซึ่งหลายคนผ่อนบ้านกันจนลืมไปว่าเลยกำหนดที่เคยได้ดอกเบี้ยอัตราพิเศษไปแล้ว ทำให้ตัวเองต้องผ่อนบ้านในอัตราดอกเบี้ยที่สูงมาก ผลที่ตามมาก็คือภาระดอกเบี้ยที่สูงเกินไป เมื่อเทียบกับราคาบ้านที่เราซื้อมา
รีไฟแนนซ์บ้าน ดีอย่างไร?
“ช่วยลดดอกเบี้ยบ้านให้ถูกลงกว่าเดิม”
ข้อดีของการรีไฟแนนซ์บ้านจะช่วยทำให้ภาระดอกเบี้ยบ้านของเราลดลง อันเนื่องมาจากเมื่ออัตราดอกเบี้ยผ่อนบ้านของธนาคารใหม่ต่ำกว่าของธนาคารเก่า ผลที่ตามมาทำให้จำนวนดอกเบี้ยที่เราต้องจ่ายต่อเดือน และดอกเบี้ยรวมทั้งหมดลดลงตามไปด้วย ซึ่งจะช่วยทำให้ค่าผ่อนบ้านในแต่ละเดือนของเราถูกนำไปหักเงินต้นคงเหลือได้มากยิ่งขึ้น
“ช่วยให้เราผ่อนบ้านหมดเร็วยิ่งขึ้น”
เมื่อการรีไฟแนนซ์บ้านช่วยลดดอกเบี้ยเงินกู้ เงินที่เหลือของค่าผ่อนบ้านก็จะไปตัดเงินต้นได้มากขึ้น หากเงินต้นยิ่งลดลงเยอะหนี้บ้านของเราก็หมดไวขึ้น ตัวอย่างเช่น จากต้องผ่อนบ้านต่ออีก 27 ปี หากมีการรีไฟแนนซ์บ้าน ก็จะเหลือแค่ 21-22 ปีเป็นต้น และ ถ้าหากเรามีการรีไฟแนนซ์บ้านต่อไปอีก หลังจากครบกำหนดสัญญาผูกมัด หนี้บ้านของเราก็จะหมดเร็วขึ้นอีกได้เช่นกัน
อย่างที่เห็นหลักๆ ก็คือ ข้อดีของการรีไฟแนนซ์บ้าน คือ จะช่วยให้เราผ่อนบ้านได้หมดเร็วขึ้น ถ้าเราจ่ายค่างวดเท่าเดิมแต่จะจ่ายส่วนที่เป็นดอกเบี้ยน้อยลง เงินต้นก็จะลดลงได้เร็วมากขึ้น แต่ในอีกกรณีนึงสำหรับบางคนที่ผ่อนบ้านไปสักระยะนึงแล้วเกิดปัญหาการเงิน เช่น ไม่สามารถผ่อนบ้านด้วยยอดเดิมได้ ก็สามารถใช้ทางเลือกด้วยการ “รีไฟแนนซ์บ้าน” เพื่อขอลดค่างวดที่ต้องจ่ายต่อเดือนให้ลดลงซึ่งเป็นการยืดระยะเวลาในการผ่อนให้นานขึ้นนั่นเอง
สิ่งที่ต้องเตรียมหากอยากรีไฟแนนซ์บ้าน
- ตรวจเช็คเงื่อนไขสัญญาเงินกู้เดิมจากธนาคารเดิมของเราเสียก่อนว่าใกล้ครบหรือเลยกำหนดในเงื่อนไขผูกมัดแล้วหรือยัง ทั้งนี้เพื่อป้องกันในเรื่องค่าปรับ หรือ ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นจากการย้ายไปธนาคารใหม่ ซึ่งโดยปกติหากอยากจะรีไฟแนนซ์บ้านจริงๆ ก็ควรรอให้ครบกำหนดก่อนจะดีกว่า
- หาข้อมูลด้วยการเปรียบเทียบเงื่อนไขของการรีไฟแนนซ์บ้านจากธนาคารต่างๆ สิ่งที่ต้องพิจารณาหลักๆ เช่น อัตราดอกเบี้ยตลอดอายุสินเชื่อจะต้องต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยเดิมของธนาคารเดิมของเรา ยิ่งของธนาคารใหม่ให้ต่ำกว่ามากๆ ยิ่งดี
- เตรียมเอกสาร ขั้นตอนนี้ถือว่ามีความยุ่งยาก ซึ่งหลายคนถึงกับถอดใจ ไม่อยากรีไฟแนนซ์บ้านกันเลย สิ่งที่ต้องการหลักๆ อาทิเช่น เอกสารข้อมูลส่วนบุคคลของผู้กู้ เช่น สำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน หรือ อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เอกสารแสดงหลักประกันที่นำมารีไฟแนนซ์ เช่น สำเนาแสดงกรรมสิทธิ์หลักประกัน เช่น โฉนดที่ดิน หรือ หนังสือรับรองกรรมสิทธิ์ห้องชุด สำเนาสัญญากู้เงินธนาคารเดิม สำเนาใบเสร็จเงินกู้เดือนล่าสุด และ แผนที่ตั้งหลักประกันโดยสังเขป นอกจากนี้ยังต้องเตรียม เอกสารแสดงรายได้ของผู้กู้ เช่น สลิปเงินเดือน หรือหนังสือรับรองการทำงาน รายการเดินบัญชีย้อนหลัง 6 เดือน เป็นต้น (ไม่ต้องห่วง แต่ละธนาคารจะระบุชัดเจนว่าเขาต้องการเอกสารอะไรบ้าง เราก็เตรียมตามที่เขาต้องการก็คือจบ)
- เมื่อยื่นเอกสารเรียบร้อยแล้ว ทางธนาคารใหม่ เขาก็จะส่งเจ้าหน้าที่มาประเมินราคาหลักประกันของเราเพื่อประกอบการอนุมัติ และเมื่อได้รับการอนุมัติจากธนาคารใหม่ที่เราเลือกเรียบร้อยแล้ว เจ้าหน้าที่ธนาคารจะแจ้งให้เราติดต่อธนาคารเดิมเพื่อสอบถามยอดหนี้คงเหลือและนัดวันไถ่ถอนในลำดับต่อไป
- ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการรีไฟแนนซ์บ้าน มีดังนี้ ค่าประเมินราคา (อาจมีค่าใช้จ่าย หรือไม่มี ขึ้นอยู่กับโปรโมชั่น), ค่าจดจำนอง จ่ายให้กรมที่ดิน 1% ของวงเงินกู้, ค่าอากรแสตมป์ 0.05% ของวงเงิน(ไม่เกิน 10,000 บาท), ประกันอัคคีภัย (โดยปกติต้องทำทุก 1-3 ปี ตามกฎหมาย) และ ค่าธรรมเนียมอื่นๆ ของธนาคาร
ทางเลือกของคนที่ไม่อยากรีไฟแนนซ์บ้านคือการขอลดดอกเบี้ยธนาคารเดิม
หากเราไม่อยากรีไฟแนนซ์บ้าน ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตาม (ซึ่งส่วนมากไม่พ้นเรื่องของการเตรียมเอกสาร หรือ ไม่ก็ปัญหาเรื่องของแหล่งที่มาของรายได้ เช่นบางคนเพิ่งเปลี่ยนงาน ก็อาจจะติดขัดเรื่องเอกสารรายได้ของผู้กู้) เราก็มีทางเลือกเช่นกันนั่นก็คือ การไปขออัตราดอกเบี้ยพิเศษจากธนาคารเดิมที่เราผ่อนอยู่
โดยทั่วไปธนาคารเดิมเขาก็จะลดให้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับประวัติการชำระเงินของผู้กู้ด้วยว่าเป็นอย่างไร เหตุที่ธนาคารมีทางเลือกให้ในส่วนนี้ก็เพื่อเป็นการรักษาลูกค้าเดิมเอาไว้ แต่ถึงแม้ว่าจะลดอัตราดอกเบี้ยให้ก็คงจะไม่มีทางที่จะเท่ากับอัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์บ้านที่เราได้จากธนาคารอื่นๆ อย่างแน่นอน ดังนั้นก็อยู่ที่การตัดสินใจของเราว่าเราเลือกทางไหน?
เพื่อเป็นทางเลือกก่อนที่จะตัดสินใจรีไฟแนนซ์บ้าน ลองติดต่อขออัตราดอกเบี้ยพิเศษจากธนาคารเดิมที่เราผ่อนอยู่ เพื่อประกอบการพิจารณาก่อนก็ได้ อย่างน้อยจะได้มีทางเลือกหลายๆ ทาง เพื่อประโยชน์ของเราเอง
บทสรุป
โดยสรุปแล้ว การรีไฟแนนซ์บ้านจะช่วยทำให้เราได้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ถูกลง ทำให้สัดส่วนเงินต้นในการผ่อนบ้านก็จะเยอะขึ้นช่วยให้ยอดหนี้เงินกู้ของเราลดลง ซึ่งยิ่งเรามีวินัยในการชำระหนี้ทุกงวดครบตามกำหนดบวกกับต้นทุนดอกเบี้ยที่ลดลงจากการรีไฟแนนซ์ ก็ยิ่งทำให้เราสามารถผ่อนบ้านหมดได้รวดเร็วและใช้เงินน้อยกว่าเมื่อเทียบกับการผ่อนเฉยๆ โดยไม่รีไฟแนนซ์เลยนั่นเอง
Reference:
ข้อมูลการรีไฟแนนซ์บ้านธนาคารกรุงศรีฯ
ข้อมูลการรีไฟแนนซ์บ้านจากตลาดหลักทรัพย์ฯ
เรื่องน่ารู้ของการรีไฟแนนซ์บ้าน