Resilience – ถอดรหัส จากบททดสอบ อึด-ฮึด-สู้ จนผ่านพ้นวิกฤต ใครจะไปรู้ว่าสถานการณ์ชีวิตการทำงานของเราจะ disruptive ขึ้นมาเมื่อไหร่ ต่อให้ระวังและวางแผนอย่างดี แต่ก็อาจมีเหตุที่ไม่สามารถควบคุมได้เกิดขึ้น
เหตุการณ์การระบาดโควิดในครั้งนี้ ก่อความเสียหายอย่างหนักหนาสาหัสไม่ใช่ย่อย คงไม่ต้องคุยถึงความ สั่นคลอนหรือความเสียหายที่เกิดขึ้น รู้เพียงว่าหากใคร “อึด ฮึด สู้” ก็พออยู่รอดได้ ซึ่งคงไม่ใช่เป็นเพียงการแก้ปัญหาไปในลักษณะ “ถึกทน” ทางกายแต่เพียงเท่านั้น
จะทำอย่างไร เมื่อคนทำงานติดโควิดกันไปเกือบครึ่ง !?!? และผู้บริหารระดับสูงตั้งหลักชัดเจนตรงนโยบายที่ว่า “พนักงานต้องไม่เสียชีวิตและยังคงต้องเลี้ยงดูครอบครัวได้” คนทำงานอย่าง คุณแอม ณัฐพิมล เพ็งเภา ผู้อำนวยการสายงานทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบเรื่องการดูแลพนักงานโดยตรง แชร์ประสบการณ์ที่ผ่านพ้นช่วงเวลาแห่งความตึงเครียดมาได้ด้วยการดูแล ”จิตใจ” ของตนเองและเพื่อนร่วมงาน
ตั้งหลัก ด้วย “สติ”
เมื่อต้องต่อสู้กับสิ่งที่คาดการณ์ไม่ได้ สิ่งแรกที่ต้องทำ ก็คือ บริหารจิตใจของตนเองให้ได้ก่อน นั่นคือ “มีสติ” ไม่ไหลไปกับความรู้สึกหรือความคิด และพยายาม “เป็นสติขององค์กร” ที่จะช่วยให้ทุกคนตั้งหลักสู้อย่างมั่นคง และพยายามทำความเข้าใจความต้องการของทุกคน ตั้งเป้าหมายที่จะมอบความมั่นใจให้คนทำงานทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหาร หัวหน้างาน หรือพนักงาน พยายามที่จะช่วยบริหารจิตใจของกันและกัน ตระหนัก แต่ไม่ตระหนก พร้อมคิดหาวิธีบริหารจัดการใหม่ๆ เพื่อรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้น
เปิดพื้นที่ปลอดภัย ให้สื่อสาร
การสื่อสารอย่างใกล้ชิด เป็นอีกเรื่องที่ต้องทำ โดยเปิดพื้นที่ปลอดภัยให้คนทำงานได้สื่อสาร อาจการทำงานร่วมกับโคช ซึ่งเป็นบุคคลจากภายนอกองค์กร หรือหาเครื่องมือเปิดหัวใจ ให้คนทำงานได้พูดคุยปรึกษาโดยสมัครใจ เช่น การ์ดเพื่อนใจ ที่จะมีข้อความเตือนสติ และให้แนวคิดต่างๆ ในกระบวนการพูดคุยกัน จะมีการฝึกลมหายใจ เพื่อคลายความกังวล จากนั้นจึงรับฟังทุกเรื่อง ทั้งปัญหาในเรื่องของการทำงานและเรื่องส่วนตัว ค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ ถามเพื่อให้เขาได้รับรู้ความคิดและความรู้สึกในเรื่องของเขาเอง เพื่อให้เห็นตัวเองชัดเจนขึ้นว่าตนจะจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร
รับฟังอย่างไม่ตัดสิน
การรับฟัง เป็น Key success คนที่เป็นทำหน้าที่โคช ไม่จำเป็นต้องเป็นบุคคลภายนอกองค์กรเท่านั้น แต่ทุกคนก็สามารถเป็นโคชให้กันได้ เริ่มตรงคำถามว่า รับฟังผู้อื่นได้มากน้อยเพียงใด และค้นพบประเด็นได้มากน้อยแค่ไหน ไม่ด่วนตัดสิน จนเกิดอารมณ์หรือความรู้สึกขึ้นมากระทบ หรือขัดแย้ง จนขาดความเห็นอกเห็นใจกัน แต่รับฟังด้วยใจที่จะให้เขาพ้นทุกข์และมีความสุขได้บ้างท่ามกลางสถานการณ์เปราะบาง การได้รับรู้ความทุกข์ยากของกันและกัน ซึ่งอาจมิได้หมายถึงเพียงแค่คนที่ทำงานอยู่กับด้วยกันกับเราเท่านั้น แต่รวมไปถึงครอบครัวของเขาด้วย ช่วยให้ความรู้สึกและบรรยากาศของการ “ร่วมทุกข์ร่วมสุข” เกิดขึ้นได้
จัดการอย่างเป็นรูปธรรม
เมื่อ”สติ”พาตั้งหลัก และมีคุณธรรมนำพา ทุกคนในองค์กรต่างใส่ใจมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหา “เอ๊ะ อ๊ะกับเรื่องนั้นเรื่องนี้” ทำให้เกิดแผนการรองรับอย่างชัดเจน เป็นรูปธรรม กับทุกสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เช่น จะทำอย่างไร หากพนักงานติดเชื้อเพิ่มขึ้นออกแบบมาตรการเพื่อประเมินความเสี่ยง เตรียมการรายงานรัฐบาล จัดหาโฮสพิเทลให้พนักงานพักอาศัยได้ตลอดช่วงที่ต้องกักตัว และกินอยู่อย่างดี ทั้งหมดนี้เพื่อสร้างความมั่นใจว่า หากเจ็บป่วยจะมีผู้ดูแลและเกิดความมั่นใจในการมาทำงานอย่างต่อเนื่อง
ร่วมอึด-ฮึด-สู้ไปด้วยกัน
การดูแล “จิตใจ” การสื่อสารที่ทันการณ์และรัดกุม การจัดการในระดับบุคคล นำไปสู่การสร้างผลกระทบเชิงบวกในภาพรวม สามารถสร้างทีมที่กล้าจะสื่อสารกัน สร้างความเป็นผู้นำ อึด-ฮึด-สู้ และทำงานแทนกันได้ เพราะหมดห่วงเรื่องของตนเองไปแล้ว การงานก็ไม่หยุดชะงัก และยังสามารถผลิตให้ลูกค้าได้ตามออร์เดอร์ที่มีอย่างล้นหลาม เพราะพนักงานยอมร่วมหัวจมท้ายไปด้วยกัน ลูกค้าก็มั่นใจ เพราะมีผลงานเป็นที่ประจักษ์
การตั้ง “สติ” ไว้ได้ เท่ากับว่าเราจับภาพทุกอย่างไว้ให้นิ่ง ท่ามกลางความผันผวนปรวนแปรอย่างที่คาดไม่ถึง เหมือนเราได้แว่นขยายในการมองเรื่องเล็กๆ ที่อาจซ่อนทางออกไว้ และให้ปัญญาแก้หรือตั้งรับกับปัญหาที่ต้องเผชิญ รวมทั้งเป็นจุดเริ่มสำหรับความสามารถที่สำคัญของคนทำงานในยุคปัจจุบัน นั่นคือ resilience หรือความสามารถในการฟื้นคืน หรือลุกให้ไวจากความอ่อนแอ
#ความสุขกำลังเติบโต #สสส #LifeTalk #HappyGrowth #ถอดรหัสความสุขคนทำงาน
สามารถเลือกรับชมรายการ ในรูปแบบของ YouTube ได้ที่: LIFE TALK HAPPY GROWTH : ได้เวลา อึด ฮึด สู้ ของมนุษย์เงินเดือน
หรือ จะเลือกรับฟังรายการ ในรูปแบบของ Podcast ได้ที่:
บทความแนะนำ:
Generation Gap – ช่องว่างระหว่างวัยที่ (อาจ) ไม่มีอยู่จริง