Self-empathy in action – ความสุขเริ่มต้นที่การรักตัวเอง หากลองสังเกตตัวเองว่า เราตื่นขึ้นมาแล้วไปทำงานอย่างมีความสุขในทุกวันหรือไม่ อาจได้คำตอบว่า บางวันก็มีความสุข บางวันก็ไม่ แต่นี่ก็ยังเป็นคำตอบที่น่าดีใจ เพราะมีคนอีกเป็นจำนวนมากที่พบว่าตนเองไม่มีความสุขเอาเสียเลย และอีกจำนวนมากที่ไม่รู้แม้แต่ว่าชีวิตควรจะเลือกทางไหนดี ระหว่างการทำให้ตนเองมีความสุข หรือเลือกทำให้คนอื่นมีความสุข
ในบทความนี้เรามาชวนคุยเรื่อง Self-empathy ซึ่งหมายถึง ความรักตัวเอง ความเห็นอกเห็นใจตัวเอง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของความสุข ที่ทุกคนน่าจะสร้างได้ด้วยตัวเอง แต่เราจะรักตัวเองอย่างไร จึงจะพอดี ไม่น้อยไปจนเผลอทำร้ายตัวเองโดยไม่รู้ตัว หรือมากไปจนเข้าสู่โหมดคนเห็นแก่ตัว และรักตัวเองแบบไหนที่จะสร้างความสุขให้เกิดขึ้นได้ ไปหาคำตอบด้วยกันในเรื่องนี้
พลังงานความสุขของคนเรา ส่งต่อถึงกัน
ลองดูปรากฏการณ์รอบตัวเรา จะพบว่า เป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะมีความสุขอยู่คนเดียว โดยที่คนรอบตัวมีแต่ความทุกข์ หรือแม้แต่ว่าเราพยายามให้ทุกคนรอบตัวเรามีความสุข แต่เรากลับเข้าไม่ถึงความสุขนั้นด้วย หากเป็นเช่นนั้น..ที่เราบอกว่ามีความสุข ก็อาจเป็นความสุขที่ไม่จริง
เรื่องนี้ อาจารย์ตุ้ง หรือ คุณสุภาภร พัฒนศิริ วิทยากรด้านกิจกรรมพัฒนาสุขภาวะทางปัญญา ยกตัวอย่างให้เราสังเกตความสุขที่เกิดขึ้น เมื่อเราอยู่ใกล้กับเด็กเล็กๆ ที่แจ่มใส ต่อให้เราเป็นคนที่ไม่ชอบเด็ก เราก็จะพลอยมีความสุขไปกับความไร้เดียงสาของเด็กน้อยนั้นด้วย เพราะความสุขของทุกคนต่างส่งผลต่อกัน เมื่อเราอยู่ด้วยกัน ความสุขควรจะเกิดขึ้นมาร่วมกัน เพราะจะมีพลังเหนี่ยวนำบางอย่างเกิดขึ้นเสมอ
จุดเริ่มต้นของความสุขในทุกคน เริ่มต้นที่ตัวเอง
ลองดูตัวอย่างที่ง่ายๆ สำหรับคนทำงาน เวลาที่เราอยู่ในห้องประชุมแล้วมีพลังงานอึมครึมของใครสักคนปรากฏขึ้น บรรยากาศของวงประชุมจะเปลี่ยนไปทันที เพราะต่างคนต่างกังวล หวาดกลัว ไม่แน่ใจ ไม่เชื่อใจ พลังแบบนั้นจะวนเวียนอยู่ในสิ่งแวดล้อมนั้น แต่หากว่ามีใครสักคน โดยเฉพาะคนที่มีผลต่อการประชุม มากๆ เช่น หัวหน้างาน อยู่ในภาวะที่สงบ แจ่มใส ใจของผู้คนที่นั่นก็คงจะพลอยผ่อนคลาย การพูดคุยแลกเปลี่ยนกันย่อมเป็นไปได้ง่ายกว่า ตอกย้ำว่าพลังงานความสุขของมนุษย์นั้นสามารถส่งต่อถึงกันได้
การดูแลตัวเองให้มีความสุข จึงเป็นจุดเริ่มต้นของความสุขในคนอื่นด้วย ดังนั้น ถ้าอยากให้เกิดความเปลี่ยนแปลง หน้าที่ของทุกคน ก็คือพยายามรักษาพลังงานความสุขของตัวเองเอาไว้ให้ดี แค่นี้ก็เท่ากับเราได้ดูแลคนอื่นแล้ว ดูเหมือนว่าง่าย แต่ว่าก็ทำได้ยาก เพราะเรื่องเช่นนี้ เราต้องฝึกฝนเป็นประจำ เพื่อให้ใจของเราพร้อมที่จะเป็นแบบนั้นอย่างอัตโนมัติ
ความสุขขององค์กร
เมื่อคุยกันในระดับองค์กร การให้ความสำคัญเรื่อง “หัวใจ” ของคนทำงาน หรือดูแลให้เป็นองค์กรแห่งความสุข เป็นโจทย์ขององค์กรยุคนี้ คุณรัตนา วัชรเสถียร ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายกิจกรรมองค์กรเพื่อสังคม บริษัท ลอกซ์เลย์ จำกัด (มหาชน) แชร์ประสบการณ์ว่า เมื่อตั้งหลักว่า ควรเพิ่มการดูแลจิตใจคนทำงาน คำถาม ที่ตามมา ก็คือจะดูแลกันอย่างไรดี จึงพยายามค้นหาข้อมูล จนได้พบกับหลักสูตรของ สสส. เรื่อง Resilience at Workplace หรือการฟื้นฟูใจในที่ทำงาน และพบว่าพื้นฐานของการฟื้นฟูใจนั้น อยู่ที่การรักตัวเอง หรือ Self-Empathy
เรื่องนี้ถือเป็นจิตวิทยาแนวใหม่ ที่ทำให้เข้าถึงสภาวะจิตใจ หรือ เป็นศาสตร์ที่เรียกว่า Mindfulness Compassion เมื่อพนักงานได้เข้าร่วมกิจกรรม ก็สามารถนำเทคนิคและต่างๆ ไปใช้ในชีวิตการทำงานและชีวิตประจำวันได้ นอกจากได้เครื่องมือดูแลใจ ยังถือเป็นการฝึกฝน Soft Skill ให้คนทำงานด้วย นอกจากการฝึกอบรม ก็ยังมีกิจกรรมหลายอย่างที่ทำให้พนักงานเข้าถึงเรื่องนี้ เช่น การจัดดอกไม้ การระบายสีน้ำ การฝึกฟังอย่างลึกซึ้ง หรือการกอดตนเอง ทั้งหมดนี้อาจดูเผินๆ เหมือนเป็นกิจกรรมสันทนาการ แต่ก็แฝงไปด้วยเครื่องมือดูแลหัวจิตหัวใจ ที่นำไปใช้ได้จริง
ความสุข ที่มากับการกอดตัวเอง
อาจารย์ตุ้งเสริมว่า Mindfulness Compassion เป็นเรื่องของการทำงานของสมอง หรือเรื่องของความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างสมองกับการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์จิตใจมนุษย์ เพราะมนุษย์ชอบสัมผัส ชอบความอบอุ่น ชอบเสียงเบาๆ อันเป็นลักษณะของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม การปฏิบัติ mindfulness compassion ผ่านกิจกรรมต่างๆ เป็นการสร้างบรรยากาศของความอบอุ่น ในแบบที่จะสร้างความรู้สึกผ่อนคลาย
และเรื่องที่ต้องใช้ “สติ” กำกับ ซึ่งก็คือ การที่กลับมารับรู้ว่าเราคือใคร ต้องการอะไร อยู่กับใครบ้าง ในเวลานี้ ซึ่งที่สุด ก็จะนำมาสู่ การ “ ฟื้น” ของจิตใจขึ้นมาได้ แม้จะเคย “ฟุบ” มาก่อน อาจารย์ตุ้งยังบอกเทคนิคง่ายๆ ที่ให้เราแสดงความรักตัวเอง ด้วยการ ”กอดตัวเอง” โดยเอามือมาแตะหรือวางไว้ที่หัวใจ ลองรู้จริงๆ ว่า มือของเราอยู่ที่หัวใจให้ความรักกับหัวใจของเรา แล้วก็หายใจ รวมทั้งขอบคุณหัวใจ ที่เรายังมีหัวใจที่เต้นอยู่ หลักการง่ายๆ ก็คือ ไม่ต้องสนใจข้างนอก สนใจแต่หัวใจของเรา การทำเช่นนี้แล้วรู้สึกอย่างไร ก็คือรับรู้ตนเอง ที่สามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องใช้เวลานาน และเปลี่ยนแปลงได้ทันที
หากว่าวันนี้ชีวิตมันแผ่ว แค่ลิสต์ออกมา
เมื่อเวลาที่ใจเริ่ม “ตก” เรารักตัวเองได้ ด้วยการไม่ปล่อยตัวปล่อยใจให้ “ดิ่ง” ง่ายสุดให้เริ่มจาก หันกลับมามองสิ่งที่กำลังเผชิญ จะเห็นว่าชีวิตมีทั้งสิ่งที่ชอบ และสิ่งที่ไม่ชอบ บ่อยครั้งที่เราเผลออยากไปควบคุมสิ่งที่ไม่ชอบ เพราะลืมไปว่า นอกจากชอบ/ไม่ชอบ ก็ยังมีสิ่งที่ควบคุมได้ และสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ด้วย ยกตัวอย่าง ถ้าพักนี้ฝนตกไม่เป็นเวล่ำเวลา แม้ว่าเราจะไม่ชอบ เราก็ไม่สามารถควบคุมฟ้าฝนได้ เมื่อควบคุมไม่ได้ ก็ไม่ควรไปโฟกัสมาก เพราะจะใช้พลังงานหรือ energy เปลือง แนะนำให้เอาเวลาไปทำเรื่องที่ควบคุมได้แทนจะดีกว่าเช่น ไปหาเสื้อฝน หาร่ม
หรือวันไหนที่รู้สึกว่าชีวิตดูจะแผ่วๆ ให้ลองทำลิสต์ในทุกวัน ถึงสิ่งที่ทำให้เรายิ้มได้ในวันนั้น เริ่มต้นสัก10 อย่าง อาจรู้สึกว่าเยอะเกินไป แต่ลองทบทวนดู จะพบว่าเรื่องที่ทำให้ยิ้มได้เป็นเรื่องเล็กๆ ที่เป็นจริงและรู้ได้ เช่น วันนี้ฝนไม่ตก วันนี้กาแฟเจ๋ง วันนี้เจ้านายไม่บ่น วันนี้เพื่อนเล่าเรื่องขำขัน แล้วก็กลับมาอ่านใหม่แล้วลองยิ้มให้มันอีกครั้ง ลองทำติดต่อกันดู 5-7 วันจะพบว่าเรายังยิ้มได้ในทุกวัน และสุดท้าย ชวนจัดสรรเวลาให้กับตัวเอง วันละ 5 – 10 นาที ขอเวลากับคนในครอบครัว หรือคนใกล้ตัว ว่าเราอยากจะขอเวลาส่วนตัวสำหรับตัวเอง ปิดมือถือ แล้วทำสิ่งที่ชอบ เช่น มองท้องฟ้า จิบกาแฟ สังเกตเสียงที่พอใจ ลมที่มาสัมผัส แค่นี้ก็น่าจะช่วยยกใจของเราขึ้นมาได้ไม่มากก็น้อย
วันทุกวันไม่ใช่วันที่ดี แต่มีสิ่งดีๆ เกิดขึ้นทุกวัน
อีกเรื่องที่น่าจะเป็นสิ่งที่ช่วยเราได้มาก ก็คือ ลองนึกถึงคำที่กล่าวว่า วันทุกวันไม่ใช่วันที่ดี แต่มีสิ่งดีๆ เกิดขึ้นทุกวัน ซึ่งบางคนมักซ้ำเติมตนเอง เมื่อพบว่าวันนี้ไม่ใช่วันดีของเรา และพาลคิดไปว่ามันคือ ความล่มสลายของชีวิต
แต่ถ้าลองดูดีๆ จะพบว่ามีสิ่งดีเล็กๆ เกิดขึ้นด้วย ให้เปลี่ยนสายตาไปโฟกัสที่ตรงนั้น และหาทางชาร์จพลังจากจุดนั้นแทน ก็อาจจะทำให้เพิ่มพลังงานความสุข แค่เปลี่ยนโฟกัส ไปสู่เรื่องที่เราทำได้ง่ายๆ เพราะมันเกิดขึ้นอยู่แล้ว และทุกคนมีเวลาเท่ากันที่จะทำ แต่ว่าเรามักใช้ประโยชน์ได้ไม่เท่ากัน หรือไม่รู้จะใช้อย่างไร การเห็นอกเห็นใจตัวเอง การรักตัวเองแบบง่ายๆ ควรทำให้เป็นเรื่องเบสิค แบบที่ใครๆ ก็ do it yourself ได้ด้วยตนเอง
#ความสุขกำลังเติบโต #สสส #LifeTalk #HappyGrowth #ถอดรหัสความสุขคนทำงาน
สามารถเสามารถเลือกรับชมรายการ ในรูปแบบของ YouTube ได้ที่: LIFE TALK HAPPY GROWTH : SELF EMPATHY IN ACTION
หรือ จะเลือกรับฟังรายการ ในรูปแบบของ Podcast ได้ที่:
บทความแนะนำ:
Resilience – ถอดรหัส จากบททดสอบ อึด-ฮึด-สู้ จนผ่านพ้นวิกฤต