
Smart Farming เป็นการนำภูมิปัญญาชาวบ้านมาผสมผสานเข้ากับนวัตกรรมใหม่ๆ โดยมี ซิงค์ออกไซด์นาโน เป็นพระเอก ช่วยเกษตรกรไทยให้มีคุณภาพชีวิตดี สุขภาพดี และมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น
รู้ไหม? กว่าจะมาเป็นพืชผลแสนอร่อยที่วางขายทั่วไป เกษตรต้องปลูกปั้นอย่างทุ่มเทขนาดไหน The Practical พาคุณเดินทางสู่ “สวนยายดา เจ๊บุญชื่น” สวนผักและผลไม้ขนาด 30 ไร่ จังหวัดระยอง ที่ไม่เพียงเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ตลอดทั้งปี แต่ที่นี่ยังเป็นศูนย์เรียนรู้และพื้นที่ต้นแบบ Smart Farming ซึ่งนำภูมิปัญญาชาวบ้านมาผสมผสานเข้ากับนวัตกรรมใหม่ๆ อย่างซิงค์ออกไซด์นาโน
ซิงค์ออกไซด์นาโน ที่ว่านี้ เป็นธาตุอาหารเสริมช่วยให้พืชเติบโตแข็งแรง เพิ่มความหวานและขนาดให้กับผลไม้ ทำให้มีผลผลิตเพิ่มมากขึ้น ทั้งยังสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานโรค ช่วยฟื้นฟูพืชให้พร้อมมีผลผลิตได้ในฤดูกาลต่อไป และด้วยอนุภาคขนาดเล็กระดับนาโน มันจึงแทรกซึมในพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว แต่แม้จะมีคุณสมบัติรอบด้านพ่วงด้วยความปลอดภัยระดับ Food Grade แต่นี่ก็ยังเป็นนวัตกรรมใหม่ที่เกษตรกรส่วนใหญ่ยังไม่คุ้นเคย
“เราอยากเห็นเกษตรกรไทยมีคุณภาพชีวิตดี สุขภาพดี และรายได้ที่เพิ่มขึ้น”
คุณสุวัฒน์ ทวีสัตย์ ผู้จัดการนวัตกรรมปุ๋ยเคมี บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) คือทีมงานผู้อยู่เบื้องหลังการพัฒนาซิงค์ออกไซด์นาโน หรือ ที่สวนยายดา เจ๊บุญชื่น รู้จักในนาม “ปุ๋ยหมีขาว” พืชผลที่สวนแห่งนี้งอกงามยั่งยืน กลายเป็นแหล่งเรียนรู้แก่เกษตรกรคนอื่นๆ โดยมี “ปุ๋ยหมีขาว” พัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกร มอบผลผลิตที่อุดมสมบูรณ์ และฟื้นคืนสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร? คุณสุวัฒน์พาเราทัวร์ เพื่อทำความเข้าใจการขับเคลื่อนตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนถึงปัจจุบันและอนาคต

ทำไมเกษตรกรไทยยิ่งปลูก ยิ่งจน
คุณสุวัฒน์เริ่มเล่าว่า “ผมเป็นลูกชาวนา ตั้งแต่จำความได้ก็เห็นผืนนาพร้อมสารเคมียาฆ่าแมลงมาตลอด ที่ผ่านมาญาติ พี่น้อง คนใกล้ตัวของผมหลายคน เจ็บป่วยและจากไปด้วยโรคที่มีผลกระทบมาจากสารพิษเหล่านั้น ลองคิดดูว่า แม้แต่แมลงหรือสัตว์เล็กๆ ยังตาย ไม่ต้องจินตนาการเลยว่าเมื่อสารพิษเหล่านั้นเข้าไปในร่างกายคนเรา จะเกิดอะไรขึ้น”
เมื่อไปถามเกษตรกรว่าทำไมต้องใช้สารที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย คำตอบที่ได้รับกลับมาซ้ำๆ คือ “ก็ใช้กันมาแต่รุ่นพ่อแม่ ถ้าไม่ใช้ยาแรงแมลงก็ไม่ตาย ถ้าไม่ใช้ยานี้ จะใช้อะไร” คุณสุวัฒน์มองว่า สิ่งนี้เองทำให้ความเป็นอยู่ของเกษตรกรในประเทศไทยไม่ดีขึ้นสักที สุขภาพแย่ลง เงินที่ได้จากการขายผลผลิต ก็ไปฝากไว้กับสถานพยาบาล เพื่อรักษาตัวเอง รายได้จึงไม่คุ้มกับแรงเงินและแรงกายที่ลงไป

จนเมื่อคุณสุวัฒน์ได้มาทำงานที่ IRPC ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ จึงได้รู้จักกับซิงค์ออกไซด์ วัตถุดิบ ซึ่งเป็นสารตั้งต้นในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์มากมาย ทั้งเครื่องสำอาง ครีมกันแดด สเปรย์ระงับกลิ่น ไปจนถึงอาหารสัตว์ ที่ใช้ได้หลากหลายขนาดนี้เพราะซิงค์ออกไซด์ที่พัฒนาโดย IRPC ได้รับมาตรฐานความปลอดภัยไร้สิ่งเจือปนและสารเคมีตกค้างจากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐฯ

ผสมผสานของเก่าเข้ากับของใหม่
“เราต่อยอดซิงค์ออกไซด์กันมาเรื่อยๆ จนถึงการใช้งานในด้านเกษตรกรรม การพัฒนาอนุภาคให้มีขนาดเล็กมากๆ ระดับนาโนเมตรทำให้ได้ผลลัพธ์เป็นซิงค์ออกไซด์นาโน ธาตุอาหารเสริมสำหรับพืชที่ปลอดภัยต่อผู้ใช้ ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม ทั้งยังลดต้นทุนให้เกษตรกรและช่วยดูแลสุขภาพพวกเขาให้ดีขึ้นด้วย”
เพราะ IRPC เป็นโรงงานแรกในประเทศไทยที่มีนาโนเทคโนโลยีนี้ ทีมงานจึงผ่านขั้นตอนการพัฒนาและลงทดสอบนวัตกรรมเคมีใหม่กันอย่างเข้มข้นเป็นเวลาหลายปี
“เจ๊บุญชื่น เจ้าของสวนยายดา เจ๊บุญชื่น คือเกษตรกรที่พร้อมเปิดรับนวัตกรรมใหม่ๆ เมื่อสามปีก่อน ผมซึ่งเป็นผู้ดูแลกระบวนการผลิตร่วมกับนักวิจัย จึงได้นำซิงค์ออกไซด์นาโนเข้าไปทำแปลงทดลอง ในสวนทุเรียน เงาะ มังคุด ในช่วงเก็บข้อมูล เราพบว่าทุเรียนในสวนเกิดโรคและมีโอกาสยืนต้นตาย เราจึงนำภูมิปัญญาชาวบ้านอย่างการฝังเข็มเข้าลำต้นของทุเรียน มาผสมผสานกับนวัตกรรมเทคโนโลยีนาโนซิงค์ออกไซด์ มีการปรับวิธีการเข้าด้วยกัน หาจุดขั้นตอนที่เหมาะสมจนได้เป็นการฝังเข็มต้นทุเรียน ที่เกิดประโยชน์ สร้างภูมิต้านทานให้กับทุเรียน สู้ต่อโรคได้”
นอกจากนี้ คุณสุวัฒน์ยังพบปัญหาความไม่สมบูรณ์ของดิน ซึ่งแน่นอนว่ามีผลต่อการเจริญเติบโตของพืช ทีมนักวิจัยจึงนำดินมาวิเคราะห์ เพื่อตรวจสอบธาตุอาหารต่างๆ จากนั้นใส่ซิงค์ออกไซด์นาโนเพื่อเติมในธาตุอาหารที่ขาด เมื่อดำเนินการไปได้ระยะหนึ่ง การเก็บข้อมูลระบุชัดเจนว่าธาตุอาหารต่างๆ ในดินสมบูรณ์ขึ้น ส่งผลให้ผลผลิตของสวนยาวดา เจ๊บุญชื่นเพิ่มขึ้นไปด้วย

หัวใจ คือใช้ปุ๋ยอย่างสมดุล
คุณสุวัฒน์และทีมได้พัฒนานวัตกรรมจนผู้บริหารทุกระดับเห็นถึงคุณภาพและความแม่นยำ จากซิงค์ออกไซด์นาโนจึงหลายสินค้าเกษตรในนาม “ปุ๋ยหมีขาว” ที่นับเป็นหนึ่งในธุรกิจแซนด์บอกซ์ (Sandbox) ของ IRPC นอกเหนือจากธุรกิจดั้งเดิมอย่างปิโตรเลียม
“เราตั้งใจทำงานร่วมกับหน่วยงานด้านเกษตรกรรมที่ไม่แสวงหากำไรจากเกษตรกรไทย อย่างธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ไปจนถึงวิสาหกิจชุมชนต่างๆ เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าปุ๋ยหมีขาวมีความปลอดภัยสูง สามารถยกระดับคุณภาพการเพาะปลูกและคุณภาพชีวิตได้จริงๆ
“ทุกครั้งที่ลงพื้นที่ เราจะไปเป็นทีม ทั้งทีมฝ่ายผลิต ทีมฝ่ายวิจัย ทีมการตลาด และทีมพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อให้แน่ใจว่าเราได้ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์อย่างครบถ้วนแก่เกษตรกร การใส่ปุ๋ยหรือธาตุอาหาร ไม่ควรใส่พร่ำเพรื่อเพราะไม่เพียงส่งผลเสียแทนที่จะเป็นผลดีแล้ว ยังเป็นการสิ้นเปลืองทุนทำกิน ที่ผ่านมาเราลงพื้นที่เก็บข้อมูลในหลายจังหวัดว่าธาตุอาหารอะไรบ้างที่จำเป็นสำหรับพืชจริงๆ เพื่อจะได้ผลิตสินค้าที่เกิดประโยชน์อย่างสมดุลทั้งต่อพืช สิ่งแวดล้อม และเกษตรกร”
คุณสุวัฒน์เล่าอย่างภาคภูมิใจว่า “เมื่อเราได้ช่วยเหลือเกษตรกร รอยยิ้มแห่งความสุขและคำพูดขอบคุณจากเกษตรกรที่ได้รับในทุกครั้งที่ลงพื้นที่ เป็นพลังที่จะผลักดันให้เรายิ่งมีแรงใจไปต่อ เพื่อให้ผลงานของเราเป็นสะพานเชื่อมโยงจากภาคอุตสาหกรรมลงสู่ภาคเกษตรกรรม สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรไทยอย่างยั่งยืน”

ยกระดับคุณภาพชีวิตด้วยนวัตกรรม
“คนกินต้องการของดี ของสวย ถึงจะซื้อ ถึงจะขายออก ถ้าไม่ใช้ยาฆ่าแมลงพืชผลเราก็ขายไม่ออก” นั่นคือคำพูดที่เกษตรกรจากทุกภาคบอกเล่าให้คุณสุวัฒน์ฟัง
“ผมอยากฝากถึงผู้บริโภค ว่าการบริโภคพืชผลจากกลุ่มเกษตรกรที่เป็นกลุ่มไม้ผลปลอดภัย หรือผลไม้ที่ผ่านมาตรฐานการรับรองว่าไม่มีสารเคมีตกค้าง จะช่วยเป็นอีกแนวทางให้เกษตรกรค่อยๆ ปรับลดการใช้ยาฆ่าแมลงและสารเคมีลง ทั้งผู้ใช้สารอย่างเกษตรกรและผู้บริโภคก็จะปลอดภัยจากการมีสารอันตรายสะสมในร่างกาย ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว”
นอกจากปุ๋ยหมีขาว คุณสุวัฒน์เล่าทิ้งท้ายว่าตอนนี้ IRPC ทำสัญญาร่วมกับภาคการศึกษาและมหาวิทยาลัยหลายแห่ง เพื่อพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตผู้คนอย่างการจัดตั้ง “บริษัท วชิรแล็บเพื่อสังคม จำกัด หรือ วชิรแล็บ” ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ทำห้องปฏิบัติการกลางแห่งแรกในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ให้บริการทดสอบคุณภาพอุปกรณ์ทางการแพทย์แบบครบวงจรในที่เดียว สร้างความมั่นใจและความปลอดภัยให้กับผู้บริโภค พร้อมรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยกระดับมาตรฐานสู่สากล

“IRPC ให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมมาก เรายังมีผลิตภัณฑ์อีกหลายๆ ชิ้นที่กำลังอยู่ใน
ขั้นดำเนินการ และผมมั่นใจว่ามันจะช่วยแก้ปัญหาหลากมิติให้คนไทยในหลายภาคส่วน เราระลึกเสมอว่าธุรกิจที่ยั่งยืนคือธุรกิจที่เติบโตไปพร้อมกับสังคม สิ่งแวดล้อม และชุมชน”
เราปรับ โลกเปลี่ยน The Next Generation: ส่งต่อ innovation สร้างเกษตรยั่งยืน
หรือ จะเลือกรับฟังรายการ ในรูปแบบของ Podcast ได้ที่:
เราปรับ โลกเปลี่ยน The Next Generation เพราะเราทุกคน “เปลี่ยน” โลกให้ดีขึ้นได้ พบหลาก idea หลาย action ของคนรุ่นใหม่ที่ลุกขึ้นมา “ปรับ” คิดแล้วลงมือทำ เพื่อร่วมกันสร้างโลกให้ยั่งยืน
#WeShiftWorldChange #NextGeneration #เราปรับโลกเปลี่ยน #ทุกคนเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้นได้