The First 90 Days ถือเป็นแนวทางหรือวิธีการที่จะช่วยให้คนทำงานอีกหลายคนที่กำลังเริ่มต้นงานใหม่ หรือ กำลังอยู่ในช่วงทดลองงาน ผ่านฉลุย เรื่องราวและวิธีการจะเป็นอย่างไร? จะทำอย่างไรให้เราผ่านฉลุยในช่วงทดลองงาน และ ก้าวขึ้นมาเป็นหัวหน้ามือใหม่ได้อย่างประสบความสำเร็จ เรามาหาคำตอบกันจากหนังสือ The First 90 Days: Proven Strategies for Getting Up to Speed Faster and Smarter, Updated and Expanded ผู้เขียน Michael D. Watkins
“ในช่วงชีวิตของเรา อย่างน้อยก็ต้องมีสักครั้งที่ต้องเปลี่ยนงาน”
เพราะชีวิตคนเราไม่ได้ทำงานตำแหน่งเดียวไปตลอดชีวิต เป้าหมายในการทำงานที่แต่ละคนตั้งไว้ ก็คงไม่มีใครอยากจะเป็นลูกน้องให้คนอื่นสั่งไปตลอดชีวิตเช่นกัน เพราะใครๆ ก็อยากจะก้าวหน้า และ หลายคนก็มีความเชื่อว่า มันต้องมีสักวันหรือที่ทำงานสักที่ ที่เห็นคุณค่าของเรา แล้วผลักดันให้เราสามารถก้าวขึ้นมาสู่ตำแหน่งที่ต้องใช้ “ความเป็นผู้นำ” ได้เช่นกัน
หากวันนึงเราได้รับโอกาส ก็ถือว่านี่คือช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงซึ่งถือเป็นช่วงเวลาที่สำคัญมากครั้งนึงในชีวิต บทบาทของเราในช่วงนี้จะถูกเปลี่ยนไป ถ้าหากเราทำสำเร็จ ก็จะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้งในชีวิตของเราได้เช่นกัน แต่ขั้นตอนนี้ก็ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด ยังมีอีกหลายคนที่พลาดในการคว้าโอกาสตรงนี้
“ช่วงเปลี่ยนแปลงนี้ สิ่งที่เราต้องทำก็คือ การเริ่มสร้างคุณค่าให้กับองค์กรมากกว่าที่เราเคยได้รับ”
ในขณะที่เรากำลังเดินอยู่บนเส้นทางอาชีพในองค์กรของเรา ถึงจุดนึง เราก็จะมีเวลาที่เราอาจจะได้รับโอกาสให้ก้าวไปสู่อีกระดับหนึ่ง (เช่น ในระดับที่สูงขึ้น เป็นหัวหน้า เป็นต้น) ของอาชีพ ในช่วงของการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ จะเป็นเหมือนช่วงพิสูจน์ตัวเองอย่างหนักหน่วงของเรา ที่จะต้องพยายามทำตัวให้เหมาะสมกับโอกาสที่ได้รับมา ยิ่งเราสามารถสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจได้รวดเร็วมากเท่าไรก็ยิ่งดี เพราะนั่นหมายถึง การที่เราจะได้รับการยอมรับในฐานะหัวหน้ามือใหม่แล้ว ยังรวมไปถึงการได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจ และการสนับสนุนเราในทุกทางที่พวกเขาทำได้
กับดักของหัวหน้ามือใหม่
เมื่อเราถูกผู้บริหารวางตัวเราในบทบาทใหม่ หรือ หน้าที่ความรับผิดชอบใหม่ ในช่วงนี้เองเราก็ต้องการสร้างผลงานให้แก่องค์กร เพื่อเป็นการพิสูจน์ตัวเราเองว่าเราเหมาะสมกับตำแหน่งที่ได้รับมา แต่โชคร้ายจริงๆ ที่หัวหน้ามือใหม่ส่วนใหญ่ มักติดกับดักใหญ่ในช่วงแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้ ซึ่งกับดักนี้ก็คือ “การตัดสินใจที่ผิดพลาด” ด้วยความที่มีจิตใจร้อนรน อยากสร้างผลงานที่ดี แต่สิ่งได้กลับมาเป็นการสูญเสียความน่าเชื่อถืออย่างยากจะทวงคืนกลับมาได้ แถมคนในทีมที่ทำงานร่วมกับเราก็อาจจะสูญเสียศรัทธาในตัวหัวหน้ามือใหม่คนนี้ด้วยเช่นกัน
กับดักที่เกิดจากการตัดสินใจที่ผิดพลาดเหล่านี้ จะสร้างวงจรอุบาทว์ทำให้เรามีการตัดสินใจที่ไม่ดี ครั้งที่ 2 และ 3 ตามมา ก็เพราะความเดือดเนื้อร้อนใจ ที่เราอยากจะแก้ตัวเพื่อทวงคืนความน่าเชื่อถือ นอกจากจะไม่ช่วยแล้ว เราอาจจะยังต้องสิ้นเปลืองทั้งพลังงานและเวลาอย่างมากมายมหาศาลอีกด้วย หนังสือ The First 90 Days เล่มนี้ จึงเป็นตัวช่วยเราในการออกแบบกลยุทธ์ที่ถูกต้อง ที่จะช่วยเราขับเคลื่อนตัวเราเองไปสู่การเป็นหัวหน้ามือใหม่ หรือไปดำรงตำแหน่งที่เราต้องการได้อย่างปนะสบความสำเร็จและสมบูรณ์แบบที่สุดภายในระยะเวลา 90 วัน
“เราต้องพยายามไม่เข้าใกล้บทบาทใหม่ของเรา ด้วยวิธีแบบเดียวกับที่นำเราไปสู่ความสำเร็จในอดีต”
หนึ่งในความผิดพลาดที่เกิดบ่อยที่สุดของผู้นำมือใหม่ก็คือ การที่เรายังคงดำเนินการทำอะไรเหมือนเดิมตามที่เคยประสบความสำเร็จไปแล้วในอดีต สิ่งที่เราควรทำไม่ใช่การทำอะไรแบบเดิม แต่เราควรพักบทบาทเก่าของเราก่อน แล้วเตรียมตัวรับการเปลี่ยนแปลงเพื่อประสบความสำเร็จจากบทบาทใหม่แทน แม้ว่าการกระทำแบบเดิมจะทำให้เราโดดเด่นจนได้รับการเลื่อนขั้น แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราจะทำแบบเดิม แล้วได้เป็นดาวเด่นในตำแหน่งใหม่นี้ได้หรอกเพราะมันคนละบริบทกัน
“เริ่มต้นโฟกัสหลักการเบื้องต้น ในการเตรียมพร้อมสำหรับบทบาทใหม่ของเรา”
การย้ายตำแหน่งในแต่ละครั้ง มักจะเกิดขึ้นด้วยความรวดเร็ว เช่น ปุ๊บปั๊บได้งานใหม่ หรือ ได้รับการโปรโมทในองค์กร คนส่วนใหญ่มักจะสร้างความชัดเจนที่เฉพาะตัวมากในช่วงนั้น สิ่งสำคัญก็คือการพักหายใจ โยนความรู้สึกเดิมๆจากตำแหน่งเก่าไปให้ไกลๆ ควรหาช่วงเวลาสุดสัปดาห์ นั่งพักที่ไหนสักที่แบบเงียบๆ และลองคิดภาพของตัวเองเดินออกมาจากตำแหน่งเก่า ซึ่งเราก็อาจจะประหม่ากับตำแหน่งใหม่อยู่บ้าง แต่ก็ขอให้เราเปลี่ยนมันเป็นความกระตือรือร้นเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในตัวเราเองแทน
“หาจุดแข็งและจุดอ่อนของตัวเองให้เจอ”
วิธีการทางเดียวที่จะช่วยให้เราเจอจุดแข็งของตัวเราเองก็คือ ให้เราคิดเกี่ยวกับปัญหาที่เราเคยเจอในอดีต ปัญหาแบบไหนที่เรารู้สึกว่ามันง่าย และเราสนุกกับการแก้ไขในปัญหาเหล่านั้นมากที่สุด? สำหรับเรื่องจุดอ่อนก็เช่นกัน ปัญหาแบบไหนกันที่ยากแสนยากและไม่เคยจัดการได้ด้วยตัวเราเองเลย? หรือ ถ้าหากเราแก้ได้ มันมักจะสร้างช่วงเวลาที่ยากลำบากให้เสมอ แต่เมื่อเจอจุดอ่อนแล้ว เพื่อที่จะจัดการกับมันได้ เราต้องลองตั้งกฎเกณฑ์กับตัวเองและหาเวลาในการพัฒนาความสามารถทางด้านนั้น หรือ ลองมองหาคนในองค์กรที่เก่งในเรื่องเหล่านั้น แล้วเริ่มเรียนรู้วิธีการจากพวกเขา
“เราต้องจับคู่กลยุทธ์ กับช่วงการพัฒนาองค์กรให้ถูกต้อง”
องค์ส่วนใหญ่จะมีสถานการณ์อยู่ 5 ช่วงด้วยกัน คือ 1.การเริ่มต้น 2.การเปลี่ยนแปลง 3.การเติบโต 4.การปรับโฉมใหม่ 5.การประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง จาก 5 สถานการณ์นี้เป้าหมายหลักคือการขับเคลื่อนธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ ดังนั้นจึงจำเป็นที่คุณต้องเข้าใจก่อนว่าในช่วงเวลาที่คุณได้ขึ้นมาเป็นหัวหน้า องค์กรของคุณกำลังอยู่ในสถานการณ์ช่วงไหน คุณจะขับเคลื่อนองค์กรไปได้อย่างถูกทาง
“เพื่อผลักดันองค์กรไปข้างหน้า เราต้องรู้จุดเริ่มต้นของกระบวนการ ต้องรู้ว่าตอนนี้เราอยู่ตรงไหน และกำลังจะเดินหน้าไปทางไหน?”
ในตอนเริ่มต้น เราอาจจะรู้สึกถึงความท้าทายจากการที่เราต้องใช้ความสามารถและศักยภาพของตัวเองด้วยการสร้างผลงานอย่างสินค้าหรือโปรเจคที่น่าพอใจ ในช่วงของการเปลี่ยนแปลง จุดประสงค์หลักของเราในฐานะหัวหน้ามือใหม่ อาจจะเป็นการพยายามดึงทุกคนให้เข้าที่เข้าทาง จัดระเบียบคนในทีมใหม่ให้พวกเข้าไปด้วยกันได้ ในช่วงที่พยายามกระตุ้นให้ธุรกิจเติบโต องค์กรจะต้องประสบกับสถานการณ์การขยายตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งเราก็ต้องมีความสามารถในการวางระบบและการดำเนินการที่จำเป็นต่อการรองรับการเติบโตขององค์กร ในช่วงปรับโฉมหรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบครั้งใหม่ เราก็ต้องการฟื้นฟูพลังงานที่เคยทำให้ผลงานหรือโปรเจคของเราที่เคยทำสำเร็จมาแล้วขึ้นมาใหม่ เพราะสถานการณ์นี้เป็นช่วงหมิ่นเหม่ที่มีความเสี่ยงสูง และหากเราได้มีโอกาสเข้าไปดำรงตำแหน่งในบริษัทที่ประสบความสำเร็จอยู่แล้ว ความท้าทายของเราก็จะต้องรักษามาตรฐานสูงนี้เอาไว้ และต้องพยายามผลักดันให้องค์กรไปอยู่ในระดับที่สูงขึ้นอีกต่อไป
“เราต้องยอมละทิ้งผลไม้ที่เก็บได้ง่ายเพียงแค่เอื้อม และเลือกที่จะไขว่คว้าผลไม้จากต้นที่สูงแทน”
หยุดการโฟกัสโปรเจคที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรา หัวหน้ามือใหม่หลายคน มักตกเป็นเหยื่อของสิ่งที่ Michael Watkins เรียกว่า ผลไม้ที่ห้อยลงมาต่ำ (Low hanging fruits) หรือเป้าหมายที่เราสามารถบรรลุได้อย่างง่ายๆ สิ่งที่เราต้องทำควรมีความหมายต่อตัวเราในการตั้งเป้าหมายระยะยาว และเป็นสิ่งที่ไม่ต้องยุ่งยากมาก แต่พอที่จะช่วยให้เราสามารถสร้างแรงผลักดัน และใส่ความพยายามลงไปทั้งหมด เพื่อเปลี่ยนมันให้กลายเป็นชัยชนะ
ถ้าเราได้มีโอกาสทำงานกับทีมที่ใช่ ในช่วงเวลาที่เรากำลังจะเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาตัวเอง เราก็จะสามารถบรรลุเป้าหมายได้อย่างง่ายดาย ไม่ว่าเราจะสร้างทีมจากทีมที่มีแต่รอยแตกร้าว หรือเป็นการเข้ามาสืบทอดตำแหน่ง สิ่งที่สำคัญก็คือเราต้องเข้าให้ถึงสมาชิกในทีมก่อนโดยต้องพยายามทำให้พวกเขารู้สึกว่าเราเป็นพวกเดียวกัน และเราพร้อมที่จะพาพวกเขาลงเรือลำเดียวกัน โดยเราสามารถทำตามหลักการเหล่านี้ได้ ดังต่อไปนี้
- ความสามารถ พวกเขามีความสามารถเพียงพอที่จะทำงานอย่างมีประสิทธิภาพไหม?
- ความสัมพันธ์ พวกเขามีความสัมพันธ์อันดีต่อกันหรือเปล่า?
- ความเชื่อ คุณสามารถไว้วางใจในตัวพวกเขาในการทำในสิ่งที่ได้รับมอบหมายหรือไม่?
- การตัดสินใจ พวกเขาสามารถสร้างการตัดสินใจที่ดีหรือไม่?
- พลังงาน พวกเขามีพลังงานที่ใช่ให้กับทีมหรือไม่?
- โฟกัส สมาชิกในทีม พวกเขามีความมุ่งมั่นขนาดไหน?
หากเรากำหนดคะแนนเต็มเอาไว้ 100 คะแนน เราก็ต้องมาพิจารณาดูว่าแต่ละข้อสำคัญกับเรากี่คะแนน เราอาจจะให้ 10 คะแนน สำหรับความเชื่อ และ 20 คะแนนสำหรับความสามารถ ถ้าเราได้รับสืบทอดทีมมา และมีหลายคนที่คะแนนไม่ถึงเกณฑ์ที่เราต้องการจริงๆ ดังนั้นเราก็ควรเริ่มทำงานโดยการหาคนมาแทนที่พวกเขาให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้
“ปลูกฝังความสัมพันธ์อันดีกับทุกคน แม้ว่าเราจะไม่ได้เป็นคนควบคุมพวกเขาโดยตรง”
เราสามารถขอให้หัวหน้าของเราแนะนำตัวเรากับกลุ่มคนสำคัญในองค์กรได้ สร้างการนัดหมายเพื่อพบปะระหว่างเรากับบุคคลสำคัญเหล่านั้น ซึ่งกระบวนการนี้แน่นอนว่ามันเป็นการสร้างความสัมพันธ์และการเรียกความสนใจที่ดีได้ นอกจากนี้ยังช่วยให้เราได้รับรู้ถึงความคิดเห็นของพวกเขา ซึ่งเป็นประเด็นที่สำคัญมากในการวิ่งเข้าใส่ความสำเร็จ แม้นี่จะเป็นสิ่งที่สร้างอิทธิพลและการสนับสนุนอย่างมหาศาลในองค์กร แต่อย่าลืมว่าก็ต้องระวังโดนดูดเข้าไปในอำนาจด้านลบๆ ที่ไม่จำเป็นได้เช่นกัน ซึ่งอาจจะทำให้เราเสียโฟกัสหลักในการบรรลุเป้าหมายไปได้
“ตั้งหลักของตัวเราเองเอาไว้ให้มั่นคง ในระหว่างการเปลี่ยนแปลงหรือในช่วงที่เรากำลังพัฒนา”
ในการเผชิญหน้ากับความท้าทายในทุกๆ เรื่อง สิ่งสำคัญก็คือ เราต้องจัดการเรื่องเหล่านั้นด้วยตัวเราเอง ช่วงนี้เราต้องบาลานซ์ตัวเองให้ดี เพราะเราจะต้องทำงานหนักเพื่อเพิ่มความสามารถและสร้างการตัดสินใจที่ดี เราไม่ควรอยู่อย่างโดดเดี่ยวในช่วงเวลานี้ มีควรต้องมีความมุ่งมั่นอยู่เสมอ พร้อมที่จะมองหาโอกาสในการทำงานที่สำคัญ พยายามสร้างการสนับสนุนที่มีความมั่นคง แสดงให้เห็นว่าเรามีความกล้าในการตัดสินใจที่ได้ผ่านการคิดพิจารณามาอย่างถี่ถ้วนแล้ว และแน่นอนว่าเราต้องพร้อมรับผลลัพธ์ที่จะตามมาหลังจากการตัดสินใจนั้นได้อย่างมีความรับผิดชอบ
บทสรุป
ในการเปลี่ยนแปลงบทบาทหน้าที่การทำงานหรือตำแหน่งไปในทิศทางที่ดีขึ้น ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีมากกว่าที่จะทำให้เราเอาเรื่องเหล่านี้มานั่งคิดกดดันตัวเอง เพราะคิดมากไป หรือ เครียดไป ก็ปล่าวประโยชน์ เพราะ การเปลี่ยนแปลงได้เกิดขึ้นแล้ว ในการเตรียมความพร้อมเข้าสู่การทำงานที่เข้มข้นขึ้นกว่าเดิม เราก็ต้องเชื่อมั่นว่าตัวเราเองมีความสามารถ และเราเองก็ทำได้ การเป็นดาวเด่นในบทบาทเดิมไม่ได้การันตีว่าเราจะเป็นดาวเด่นในบทบาทใหม่ได้อีกครั้ง
ดังนั้นเราจำเป็นจะต้องใช้ความพยายามให้มากกว่าเดิม เพื่อที่จะได้ดำรงตำแหน่งผู้นำตรงนี้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ มีตั้งสติ เตรียมร่างกายและจิตใจตัวเองให้พร้อมรับสิ่งใหม่ๆ ที่กำลังจะเข้ามา หาจุดแข็งและพัฒนาจุดอ่อนของตัวเองให้ดี มองสถานการณ์ให้ออกว่าเราสามารถทำอะไรได้บ้าง? เพื่อที่จะช่วยขับเคลื่อนองค์กรไปข้างหน้า สร้างความสัมพันธ์อันดีกับเพื่อนร่วมงานเพื่อที่เราจะได้รับการสนับสนุนที่ดีจากพวกเขา ยึดตัวเองให้มั่นแล้วพยายามพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง และสุดท้าย อย่าให้อะไรมาทำให้เราไขว่เขว้ระหว่างทาง หากเราทำแบบนี้ได้ เราก็จะสามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำที่สมบูรณ์แบบได้ภายใน 90 วันได้
“ในตอนเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลง จะมีความเสี่ยงสูงมากที่เราจะสูญเสียทัศนคติที่เราได้วางเอาไว้ นี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมการสร้างบาลานซ์ในชีวิตถึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก”