The neurons that shaped civilization – เซลล์ประสาทที่หล่อหลอมอารยธรรม เพราะสมองของเราถูกจัดเป็นสิ่งที่พิศวงและเข้าใจยากมากที่สุดในโลก ชุดความคิดที่คำนวณได้ยากอีกทั้งยังมีปรากฎการณ์มากมายภายในสมองที่แสดงออกมาเป็นการแสดงออกในรูปแบบต่างๆ วิวัฒนาการและวัฒนธรรมอันน่าทึ่งที่ก้าวไปข้างหน้าอย่างไม่มีหยุดล้วนมาจากก้อนเนื้อที่เราเรียกว่า “สมอง” กันนี่เอง
Vilayanur Ramachandran นักประสาทวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง เขามองลึกลงไปยังกลไกพื้นฐานของสมอง การทำงานร่วมกับผู้ที่มีความบกพร่องทางจิตที่เฉพาะเจาะจงบ่อยครั้ง ทำให้เขาสามารถจับคู่การทำงานของจิตใจกับโครงสร้างทางกายภาพของสมองได้ เขาได้เล่าถึงเซลล์สมองที่น่าสนใจอย่างเซลล์ประสาทกระจกเงาไว้ใน TEDIndia 2009 ในหัวข้อ The neurons that shaped civilization ว่าเป็นเซลล์ประสาทที่อยู่เบื้องหลังการก่อให้เกิดรากฐานของอารยธรรมมนุษย์ของเรา
“สมอง คือ ก้อนเนื้อที่มีน้ำหนักประมาณ 3 ปอนด์”
Ramachandran เล่าว่าเขากำลังศึกษาสมองของมนุษย์ซึ่งเป็นงานวิจัยของมหาวิทยาลัย University of California สมองคือก้อนเนื้อที่มีน้ำหนักประมาณ 3 ปอนด์ หรือ 1.36 กิโลกรัม ซึ่งเป็นน้ำหนักและขนาดที่คุณสามารถวางมันไว้บนมือได้อย่างง่ายดาย แต่ใครจะคิดว่าเจ้าก้อนเนื้อก้อนนี้สามารถคิดเรื่องราวกว้างไกลกว่าฝ่ามือไปถึงระดับจักรวาลได้ สามารถคิดถึงจำนวนอนันต์ที่ไม่มีวันสิ้นสุด ถามตัวมันเองถึงความหมายของการคงอยู่ ไปจนถึงธรรมชาติของความเชื่อเกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้า
“นี่คือสิ่งที่มหัศจรรย์และลึกลับที่สุดที่มนุษย์เคยพบเจอเลยก็ว่าได้”
อย่างที่ทุกคนเคยเรียนผ่านมาในวิชาวิทยาศาสตร์หรือชีววิทยาว่าสมองของมนุษย์ประกอบไปด้วยเซลล์ประสาทมากมาย หากถามว่ามากขนาดไหน ลองคิดดูว่ามนุษย์ในวัยทำงานมีสมองที่ประกอบไปด้วยเซลล์ประสาท 1000 ล้านเซลล์ และแต่ละเซลล์มีการสื่อสารหรือเชื่อมต่อกัน 1000-10000 ครั้งกับเซลล์ประสาทรอบๆ มีคนได้ทำการคำนวณไว้ว่าตัวเลขความหลากหลายที่เกิดจากการสื่อสารกันของเซลล์ในสมองเหล่านั้นมากเกินกว่าจำนวนของธาตุพื้นฐานทุกๆธาตุในจักรวาลนี้เสียอีก
การค้นพบเซลล์ประสาทกระจกเงา
Giacomo Rizzolatti นักวิจัยจากเมืองปาร์มา ประเทศอิตาลี และทีมนักวิจัยของเขา ได้ค้นพบว่า มีกลุ่มของเซลล์ประสาท ที่พวกเขาเรียกกันว่า เซลล์ประสาทกระจกเงา รวมอยู่ส่วนหน้าของสมองทั้ง 2 ซีก และนอกจากนี้ยังพบเซลล์ประสาทอีกแบบหนึ่ง พวกเขาเรียกมันว่า เซลล์ประสาทมอเตอร์ควบคุมทั่วไป อยู่ตรงส่วนหน้าของสมอง ซึ่งเซลล์ประสาทนี้เป็นที่รู้จักดีมากกว่า 50 ปีแล้ว
“เซลล์ประสาทมอเตอร์ควบคุมทั่วไป”
เซลล์ประสาทเหล่านี้จะทำงานก็ต่อเมื่อร่างกายของเจ้าของมันกระทำกริยาบางอย่าง ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราเอื้อมมือไปหยิบแอปเปิ้ลสักผลบนโต๊ะ เซลล์ประสาทมอเตอร์ควบคุมทั่วไปจะเริ่มทำงานทันที และถ้าเราเอื้อมมือไปดึงบางอย่างหลังจากหยิบแอปเปิ้ล เซลล์ประสาทอีกตัวก็จะทำงานทันทีเช่นกันเพื่อสั่งให้ดึงของสิ่งนั้นได้สำเร็จ คำสั่งของการกระทำทั้งหมดนี้ถูกสั่งงานโดยกลุ่มเซลล์ประสาทมอเตอร์ควบคุมทั่วไป ที่พวกเรารู้จักกันมานานแล้วนั่นเอง
“นี่คือความน่าทึ่งอย่างแท้จริงของเซลล์ประสาทกระจกเงา”
สิ่งที่ Rizzolatti พบก็คือย่อยลงไปอีกของเซลล์ประสาทเหล่านี้ ประมาณ 20% อาจจะทำงานในขณะที่คุณกำลังดูใครบางคนทำปฏิกิริยาอะไรสักอย่างแบบเดียวกัน แม้ว่าคุณจะไม่ได้เอื้อมไปหยิบสิ่งของบางอย่างด้วยตัวคุณเอง แต่คุณทำแค่เพียงมองคนข้างๆหรือคนตรงข้ามเอื้อมมือไปหยิบสิ่งของบางอย่าง สมองส่วนนี้จะทำงานในลักษณะเดียวกันกับตอนที่คุณเอื้อมไปหยิบของด้วยตัวคุณเอง เพราะเซลล์ประสาทตัวนี้กำลังทำงานราวกับว่าได้นำเรื่องของคนอื่นมาขบคิดให้กลายเป็นเรื่องของตนเอง หรือกล่าวได้ว่าเซลล์ประสาทตัวนี้กำลังจำลองการกระทำราวกับว่าได้ทำสิ่งเดียวกันกับคนอื่นที่เจ้าของสมองได้เห็นนั่นเอง
“ทำไมเซลล์ประสาทกระจกเงามันถึงสำคัญล่ะ?
เซลล์ประสาทกระจกเงามีความเกี่ยวข้องกับการเลียนแบบและลอกเลียนพฤติกรรม เพราะการเลียนแบบใครสักคนเป็นเรื่องที่ซับซ้อน ต้องดึงตัวเองเข้าไปรับการมองโลกจากมุมมองของคนอื่น เพราะฉะนั้นการเลียนแบบและการลอกเลียนพฤติกรรมจึงเป็นสิ่งสำคัญ
ปรากฎการณ์ที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมของมนุษย์
หากเรามองย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 75000 ปีหรือ 100000 ปีที่แล้ว เราจะพบว่าเมื่อ 75000 ปีก่อนมีบางอย่างที่น่าสนใจมากเกิดขึ้น ซึ่งนั่นก็คือการวิวัฒนาการและการแผ่วงกว้างของจำนวนทักษะใหม่ๆที่เรียกได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ของมนุษย์ เช่น การใช้เครื่องทุ่นแรง การใช้ประโยชน์จากไฟ การรู้จักสร้างที่อยู่อาศัย สิ่งสำคัญอย่างการใช้ภาษา และความสามารถในการอ่านจิตใจและแปลภาษากายของผู้อื่นอีกด้วย
“การวิวัฒนาการอย่างก้าวกระโดดเกิดขึ้นโดยมนุษย์ที่มีสมองขนาดเท่าเดิมมาโดยตลอด”
วิวัฒนาการที่น่าสนใจเมื่อ 75000 ปีก่อนถูกพัฒนาอย่างรวดเร็วมาก แม้ว่าตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน สมองของมนุษย์เรามีขนาดเท่าเดิมมาตลอด แต่ในช่วงเวลานั้นน่าทึ่งมากที่วิวัฒนาการของมนุษย์สามารถพัฒนาได้อย่างรวดเร็วขนาดนั้น สิ่งที่น่าสนใจของวิวัฒนาการที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นก็คือ การพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของเซลล์ประสาทกระจกเงา ซึ่งจะทำให้คุณเลียนแบบพฤติกรรมของผู้อื่นได้ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเกิดการค้นพบที่น่าเหลือเชื่อในช่วงเวลานั้นโดยไม่ได้คาดคิดอย่างการใช้ประโยชน์จากไฟครั้งแรก หรือการใช้เครื่องทุ่นแรงได้โดยบังเอิญ แทนที่สิ่งเหล่านี้จะเป็นแค่เรื่องบังเอิญและถูกลืมเลือนไป มันได้แผ่วงกว้างอย่างรวดเร็ว จนเกิดการเลียนแบบพฤติกรรมและส่งต่อความรู้นั้นจนถึงประชากรทั้งหมด รวมถึงการสืบทอดความรู้กันจากรุ่นสู่รุ่นต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย
“เด็กของ Lamarck ใช้เวลาเรียนรู้วิธีการฆ่าหมีขั้วโลกมาทำเสื้อผ้าในขั้นตอนเดียว ในขณะที่หมีขั้วโลกของ Darwin ใช้เวลากว่าแสนปีในการเปลี่ยนขนเป็นสีขาว”
งานวิจัยเรื่องเซลล์ประสาทกระจกเงาแสดงให้เห็นว่าวิวัฒนาการมนุษย์เป็นรูปแบบ Lamarck คือ สิ่งมีชีวิตสามารถถ่ายทอดลักษณะที่ได้รับมาใหม่ไปยั่งรุ่นลูกได้ไม่ใช่ Darwin ที่สิ่งมีชีวิตมีวิวัฒนาการโดยการคัดเลือกตามธรรมชาติ ซึ่งอย่างที่รู้กันว่าทฤษฎีของ Darwin จะเป็นการวิวัฒนาการแบบช้าๆ ซึ่งกินเวลากว่าแสนปี กว่าที่หมีขั้วโลกจะมีขนสีขาว ต้องกินเวลาของลูกหลานเป็นพันรุ่น หรือประมาณแสนปีได้ ทั้งที่ความจริงแล้วเด็กคนหนึ่งที่เกิดขึ้นมาสามารถมองดูพ่อแม่ของตัวเองฆ่าหมีขั้วโลก เมื่อโตขึ้นเขาจึงทำตามแล้วถลกหนังมือมาทำเป็นเครื่องนุ่งห่มได้เลย
“เซลล์ประสาทกระจกเงาสำหรับการสัมผัส”
นอกจากจะมีเซลล์ประสาทกระจกเงาสำหรับการเลียนแบบพฤติกรรมแล้ว เรายังมีเซลล์ประสาทสำหรับการสัมผัสด้วย ยกตัวอย่างเช่น เมื่อมีคนสัมผัสแล้ว เซลล์ประสาทกระจกเงาจะรับรู้ถึงการสัมผัสนั้นทันที หรือแม้แต่การมองเห็นคนอื่นโดนสัมผัส เซลล์ประสาทนี้ก็ทำให้เรารับรู้ความรู้สึกการโดนสัมผัสนั้นเช่นกัน โดยกลุ่มเซลล์แต่ละกลุ่มจะรับผิดชอบการถูกสัมผัสในตำแหน่งที่แตกต่างกันไป
“ทำไมเมื่อมองเห็นคนอื่นโดนสัมผัส เราถึงไม่รู้สึกตกใจแล้วรับรู้ความรู้สึกการโดนสัมผัสนั้นอย่างแท้จริงเลย?”
การที่เราไม่ได้รู้สึกโดนสัมผัสไปด้วยอย่างแท้จริงเป็นเพราะเรามีเซลล์รับความรู้สึกการโดนสัมผัสและความเจ็บปวดซ่อนอยู่ใต้ชั้นผิวหนัง ความรู้สึกจะถูกส่งไปสู่สมอง เพื่อให้สมองตอบเรากลับมาว่า “ไม่ต้องห่วงนะ คุณไม่ได้โดนสัมผัสจริงๆหรอก” เพราะฉะนั้นสิ่งที่คุณทำคือเข้าใจความรู้สึกของคนตรงหน้า แต่ไม่ต้องไปรู้สึกเหมือนกับเขาหรอก ไม่ใช่นั้นอาจจะทำให้คุณเกิดความสับสนและว้าวุ่นใจได้ สิ่งนี้เป็นการตอบรับจากสมองที่หยุดการทำงานของเซลล์ประสาทกระจกเงาเอาไว้
“สิ่งที่ขวางกั้นระหว่างคุณกับคนอื่นมีเพียงแค่ผิวหนังหรือร่างกายเท่านั้นเอง ลองทำเป็นไม่มีร่างกายเข้ามาขวางกั้นดู คุณจะรับรู้สัมผัสที่ได้จากคนอื่นด้วยจิตใจของคุณเอง”
ถ้าคุณโดนใครสักคนเข้ามาตัดแขนคุณจนขาดออกเป็น 2 ท่อน แขนคุณจะชาไปเลยเพราะร่างแหเส้นประสาทของคุณถูกตัดออกจึงไม่มีข้อมูลความรู้สึกส่งมาที่สมอง แต่ถ้าบังเอิญคุณเห็นคนตรงหน้าของคุณโดนสัมผัสเข้าถึงมือ แม้แขนของคุณจะขาดไปแล้ว คุณจะกลับมาเข้าใจความรู้สึกของการถูกสัมผัสเข้าที่มืออีกครั้ง หรือพูดได้ว่านี่เป็นการทำลายกำแพงระหว่างคุณกับเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน Ramachandran เรียกเซลล์ประสาทส่วนนี้ว่า “เซลล์ประสาทแห่งการเข้าใจผู้อื่น”
“ในที่สุดคุณได้ทำลายกำแพงที่ขวางกั้นระหว่างเพื่อนมนุษย์ด้วยกันลง”
นี่ไม่ใช่ปรัชญาที่ไร้ความหมายหรือกล่าวขึ้นมาลอยๆ แต่เป็นปรัชญาที่ได้จากการความเข้าใจทางประสาทวิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐาน เพราะฉะนั้นคุณต้องเชื่อว่า Ramachandran มีคนไข้ที่ไร้แขนไร้ขา แต่พวกเขายังรู้สึกได้ถึงการสัมผัสล่องหนที่แขนหรือขาของเขาจากการมองผู้อื่นโดนสัมผัส สิ่งที่น่าทึ่งไปกว่านั้นคือเมื่อคุณรู้สึกปวดเมื่อยที่แขนขาล่องหนของคุณ คุณต้องการเพียงแค่การยื่นมือออกไปแล้วนวดแขนหรือขาให้กับคนตรงหน้าคุณ ปรากฏมันช่วยคลายอาการปวดเมื่อยให้กับแขนขาล่องหนของคุณด้วยเช่นกัน
บทสรุป
แม้คุณจะปลีกตัวออกจากโลกภายนอกหรือสังคมเพื่อการสำรวจโลกและเพื่อนมนุษย์คนอื่นบนโลก ความจริงคุณไม่ได้ถูกเชื่อมโยงกันด้วยอินเทอร์เน็ตหรือ Facebook เพียงเท่านั้น คุณยังเชื่อมโยงกันผ่านเซลล์ประสาทแห่งการเข้าใจผู้อื่นอีกด้วย ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ห้องเรียน ที่ทำงาน ในป่า บนเขา บนดอย ทั้งหมดล้วนเต็มไปด้วยสายใยเซลล์ประสาทแห่งการเข้าใจผู้อื่น ที่สำคัญคือจิตสำนึกของคุณไม่ได้ถูกแยกออกจากจิตสำนึกของผู้อื่นเลยแม้แต่น้อย
CP. Snow ได้กล่าวไว้ว่า “วิทยาศาสตร์คือเรื่องหนึ่ง และมนุษยชาติก็คืออีกเรื่องหนึ่ง ไม่สามารถร่วมเดินด้วยกันได้” แต่สิ่งที่ Ramachandran พบก็คือเซลล์ประสาทแห่งการเข้าใจผู้อื่นเป็นตัวเชื่อมให้วิทยาศาสตร์และมนุษยชาติสามารถเดินไปด้วยกันได้ มันจะทำให้คุณกลับไปคิดใหม่เกี่ยวกับ จิตสำนึกของมนุษย์ การคงอยู่ สิ่งที่ปิดกั้นคุณออกจากคนอื่น ความเห็นอกเห็นใจที่คุณมีต่อคนอื่น รวมถึงวิวัฒนาการทางอารยธรรมและวัฒนธรรมของมนุษย์ด้วยเช่นกัน เพราะนี่คือเอกลักษณ์ของมนุษย์เรานั่นเอง
“นี่เป็นรากฐานสำคัญของปรัชญาตะวันออก คือ ไม่มีสิ่งใดคงอยู่ได้ด้วยตัวมันเองเพียงสิ่งเดียว”
Reference:
The neurons that shaped civilization | VS Ramachandran
บทความแนะนำ:
การเปลี่ยนแปลงความคิด เราต้องใช้กระบวนการอะไรบ้าง?