
Workplace Stress ความเครียดในที่ทำงานกำลังเป็นปัญหาใหญ่สำหรับหลายๆ องค์กร เพราะมีพนักงานเป็นจำนวนมากที่ตกอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ และ ยังไม่สามารถหาวิธีการบำบัด หรือ รับมือกับความเครียดต่างๆ ที่เกิดจากการทำงานได้
ความเครียดในตอนนี้กำลังคุกคามเข้ามาในชีวิตประจำวันของเราจนกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว ไม่ว่าจะที่ความเครียดที่เกิดขึ้นที่บ้าน บนรถ ซุปเปอร์มาร์เก็ต และโดยเฉพาะที่ทำงาน ขึ้นชื่อว่าเป็นเรื่องของการทำงาน มันช่วยไม่ได้เลยที่เราจะทำไปโดยมีความเครียดเดินทางร่วมไปด้วยกันตลอดเส้นทาง ถ้ามองในเรื่องของเวลา การทำงานของเราก็กินเวลาเกินครึ่งหนึ่งของชีวิต แล้วเราจะยอมปล่อยให้ความเครียดที่เกิดขึ้นในที่ทำงานมากัดกินชีวิตของเราต่อไปแบบนี้เหรอ?
“44% ของพนักงานทั้งหมด บอกว่าพวกเขาล้วนได้รับความเครียดมาจากที่ทำงานกันทั้งนั้น”
ความเครียดคืบคลานเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคุณในแต่ละวัน ที่น่าแปลกใจก็คือ บางครั้งเราเองก็ไม่สามารถมีคำตอบที่ชัดเจนได้ว่าความเครียดเหล่านั้นมาจากไหน? และเกิดขึ้นเพราะอะไร? อ้างอิงจากการศึกษาจาก Gallup พบว่า 44% ของพนักงานบอกว่าพวกเขาประสบกับความเครียดจากที่ทำงาน และนี่คือความเครียดที่เราพบได้บ่อยที่สุดด้วย แม้งานจะไม่ใช่ความเครียดที่ใหญ่ที่สุดของคุณ แต่มันอาจเป็นปัจจัยสนับสนุนให้พวกคุณเกิดความเครียดที่ยิ่งใหญ่ได้
“ความเครียดในที่ทำงานคืออะไร?”
ความเครียดจากการทำงานเกิดขึ้นเมื่อจิตใจและร่างกายของคุณตอบสนองต่อความต้องการทำงานที่สูงจนคุณไม่สามารถรับมือได้ กล่าวคือคุณมาถึงจุดที่คุณมีรายการสิ่งที่ต้องทำแต่ทำได้ไม่หมดหรือทำไม่ได้ อาจะเป็นเพราะจำนวนงานที่มากไปหรือรูปแบบงานที่เกินความสามารถของคุณเอง เส้นตายที่ใกล้เข้ามารัดคุณจนแทบหายใจไม่ออกเพิ่มแรงกดดันให้ความเครียดของคุณยิ่งปะทุขึ้น และเมื่อนั้นเองที่คุณค้นพบว่าตัวเองกำลังประสบกับการมีความเครียดในที่ทำงานเข้าอย่างจัง
“การระบาดใหญ่ที่ไม่ใช่แค่โรคภัยไข้เจ็บอย่างโควิด แต่ยังรวมถึงความเครียดด้วย”
วิกฤตโควิด-19 เป็นเหมือนเคราะห์ร้ายที่ทำให้สุขภาพจิตของพนักงานย่ำแย่ลงไปอีก งานวิจัยพบว่าการระบาดใหญ่ทำให้ปัญหาต่างๆ มีความรุนแรงมากขึ้น เช่น การสูญเสียทางการเงิน ความไม่มั่นคงในหน้าที่การทำงาน ความกลัวการเจ็บป่วยที่อาจส่งผลให้ขาดงาน หรืออาการทุพพลภาพในระยะยาวที่ส่งผลกระทบในระยะยาวเช่นกัน ความเครียดจากการทำงานกลายเป็นสิ่งที่ไม่มีใครต้านทานได้ ตั้งแต่ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพและที่ปรึกษาไปจนถึงครูและผู้บริหาร
“ความเครียดที่เพิ่มขึ้น ยังหมายถึงความเหนื่อยหน่ายในที่ทำงานที่เพิ่มขึ้นด้วย”
จากการศึกษาพบว่าอุตสาหกรรมใดที่มีความเครียดสูงในการทำงาน อาจจะนำไปสู่ความเหนื่อยหน่ายของพนักงานที่มีต่อการทำงานด้วย นี่เป็นเหมือนจุดแตกหักของชีวิตการทำงาน แม้คุณจะไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าความเครียดของคุณเกิดขึ้นจากอะไร? แต่หากลองสังเกตตัวเองดูในแต่ละวัน คุณจะพบว่ามีความเครียดหลายประเภทที่ส่งผลกระทบต่อคุณในแต่ละวัน ความเครียดทำให้คนงานประมาณล้านคนขาดงานในแต่ละวัน ซึ่งมันไม่ได้ทำร้ายแค่คุณ แต่ทำร้ายเพื่อนร่วมงานของคุณด้วย ดังนั้นการรู้ที่มาของความเครียดจึงเป็นกุญแจสำคัญในการจัดการกับความเครียด
นี่คือปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเครียดในการทำงาน 7 อย่าง ดังต่อไปนี้
- ประเภทของงาน : คุณอาจไม่สามารถควบคุมงานที่คุณทำได้ งานที่ใช้เวลานาน น่าหงุดหงิด และสับสนมีส่วนทำให้เกิดความเครียด มันทำให้คุณรู้สึกว่าคุณทำอะไรไม่ได้ผลสำเร็จหรือคุณภาพงานของคุณแย่เกินกว่าจะรับได้
- รูปแบบการจัดการ : คุณรู้สึกว่าไม่ได้รับการสนับสนุนจากผู้จัดการของคุณ เมื่อผู้นำในที่ทำงานของคุณไม่ให้การสนับสนุนหรือคำนึงถึงความเป็นอยู่ที่ดีของคุณ มันจะส่งผลต่อความเครียดของคุณ บางทีผู้จัดการของคุณอาจทำงานหนักเพื่อคุณ และคุณรู้สึกว่าคุณไม่สามารถพักผ่อนได้ จึงทำให้เกิดความเครียดขึ้นก็ได้
- ความสัมพันธ์ในการทำงาน : ไม่ใช่ทุกคนในที่ทำงานจะสามารถคบค้าสมาคมเป็นเพื่อนได้ เมื่อสมาชิกในทีมหรือผู้จัดการมีความไม่เข้ากันทำให้เกิดสถานการณ์ตึงเครียด มันนำไปสู่ความตึงเครียดที่มากขึ้นและการตัดสินใจที่ไม่ดี หากสมาชิกในทีมของคุณทำให้คุณรู้สึกไม่ปลอดภัยหรือไม่สบายใจในการทำงาน ความเครียดก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้นอีก
- บทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบ : การรับภาระหน้าที่มากเกินไปจะทำให้คุณมีขีดจำกัดและทำให้คุณเข้าใกล้ความเหนื่อยหน่ายมากขึ้น มันทำให้คุณยุ่งเกินไป และคุณเริ่มใช้เวลาทำงานหลายชั่วโมงแทนที่จะใช้เวลาพักผ่อน แต่การรับรู้บทบาทและขอบเขตความรับผิดชอบของคุณจะช่วยให้คุณกำหนดขอบเขตทางอาชีพได้
- ความกังวลด้านอาชีพในอนาคต : ทุกความไม่แน่นอนทั้งทางเศรษฐกิจไปจนถึงการเติบโตของอุตสาหกรรม ความมั่นคงในการทำงานและการเลื่อนตำแหน่งเพื่อพัฒนาอาชีพ ทั้งหมดนี้สามารถทำให้เกิดความเครียดได้ง่าย อนาคตของคุณมีความสำคัญต่อคุณ แต่สุขภาพจิตและร่างกายของคุณก็สำคัญเช่นกัน คุณไม่สามารถควบคุมอนาคตได้ ดังนั้นจงให้ความสำคัญกับการดูแลตัวเองในปัจจุบันก่อน
- สภาพการทำงาน : สภาพการทำงานของคุณเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คุณทำงานได้อย่างมีประสิทธิผล มีสมาธิ และมีความต้องการที่จะมีส่วนร่วม การทำงานที่บ้าน คุณอาจพบกับสิ่งรบกวนรอบๆบ้านซึ่งอาจทำให้คุณเครียดมาก หรือที่ทำงานที่มีเสียงดังมากอาจสร้างความวิตกกังวลเกี่ยวกับการจดจ่ออยู่กับงานของคุณได้
- การเดินทางไปทำงาน: แหล่งที่มาของความเครียดไม่จำเป็นต้องอยู่ในที่ทำงานเท่านั้น การทำงานเป็นกะอาจนำไปสู่การขับรถกลับบ้านโดยที่คุณรู้สึกเครียดหรือวิตกกังวลเกี่ยวกับอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่อาจเกิดขึ้น การต่อสู้ฝ่าการจราจรที่แน่นไม่ขยับระหว่างทางไปทำงานอาจเพิ่มความดันโลหิตของคุณได้ นี่เป็นสัญญาณที่ไม่ดีหากการไปทำงานเพิ่มความเครียดในที่ทำงานของคุณ
“ผลกระทบทางกายภาพของความเครียดที่เกิดในที่ทำงานมีอะไรบ้าง?”
เมื่อสมองของคุณรับรู้ถึงภัยคุกคาม มันจะส่งสัญญาณไปยังไฮโปทาลามัส จากนั้นฮอร์โมนความเครียด อย่าง คอร์ติซอลและอะดรีนาลีนจะเริ่มไหลผ่านร่างกายของคุณ ฮอร์โมนเหล่านี้เดินทางไปทุกตารางนิ้วของร่างกาย หากระดับความเครียดของคุณลดลง ฮอร์โมนที่คุกคามก็จะลดลงตามด้วย แต่หากความเครียดของคุณกลายเป็นความเครียดเรื้อรัง ฮอร์โมนเหล่านั้นจะคุกคามคุณต่อไปอย่างไม่รู้จบ แม้ความรู้สึกเครียดของคุณจะจบไปแล้วก็ตาม
“ความเครียดจะคอยขัดขวางการพัฒนาความสามารถและแผนการในอนาคตของคุณ”
ผลการศึกษาพบว่าพนักงานมีระดับคุณภาพและประสิทธิภาพในการทำงานที่ลดลงเมื่อพวกเขามีความเครียดจากการทำงาน ความจดจ่อในงานจะลดน้อยลง และความเครียดจะเป็นเหตุผลมากเพียงพอให้ใครบางคนออกจากงานได้เลยแม้ว่างานตรงนี้จะเคยเป็นงานที่สนุกสนานและเป็นเป้าหมายมาตลอดก็ตาม แน่นอนว่ามันจะยิ่งดูน่ากลัวขึ้นไปอีก หากคุณได้รู้ว่ามันสามารถขัดขวางความต้องการพัฒนาศักยภาพของตัวคุณเองและขัดขวางแผนการไปสู่เป้าหมายชีวิตในอนาคตของคุณได้ด้วย
“มันคือหายนะของการรักษาสมดุลการใช้ชีวิตและการทำงาน”
ความเครียดในที่ทำงานอาจซึมซับเข้าสู่ชีวิตส่วนตัวของคุณได้ด้วย มันจะเริ่มเป็นหายนะของชีวิตเมื่อคุณต้องพกความเครียดในที่ทำงานกลับไปเครียดต่อที่บ้านด้วย คุณอาจแยกตัวจากสังคม มีอารมณ์หงุดหงิด เลิกทำงานอดิเรก และเห็นได้ชัดว่าประสิทธิภาพในการทำงานและคุณภาพในการใช้ชีวิตของคุณลดต่ำลงอย่างช่วยไม่ได้
“ความเครียดทำอะไรคุณได้บ้าง?”
อาการเครียดจากการทำงานอาจส่งผลต่อสุขภาพจิตของคุณ ในขณะที่อาการอื่นๆจะส่งผลต่อร่างกาย แม้ว่าอาการบางอย่างจะหายไปหลังจากวันที่เครียดของคุณสิ้นสุดลง แต่อาการอื่นๆอาจยังเกิดขึ้นอยู่อย่างต่อเนื่อง และความเครียดเรื้อรังอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพจิต ระบบหัวใจและหลอดเลือดของคุณ ซึ่งนำไปสู่ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและอื่นๆอีกมากมาย นี่คืออาการของความเครียดที่ต้องระวังเอาไว้
- ไม่สามารถจดจ่อกับงานที่ทำได้
- ความอ่อนล้าทางร่างกายและจิตใจ
- ปวดหัวและไมเกรน
- ความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจสูง
- การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการนอนและกิจกรรมทางสังคม
- กำลังใจต่ำและทัศนคติที่ไม่ดี
- ขาดความมั่นใจในตนเองและขาดความสามารถในการตัดสินใจ
- ความรู้สึกวิตกกังวลในการทำงานและภาวะซึมเศร้าเพิ่มขึ้น
บทสรุป
หากคุณต้องการทำความเข้าใจกับความเครียด การลองมองหาวิธีคลายความเครียดจากการทำงานถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี สุขภาพของคุณจะได้รับประโยชน์จากการเรียนรู้ที่จะจัดการกับความเครียดเหล่านั้น ยิ่งหากคุณสามารถระบุสาเหตุของความเครียดในที่ทำงานที่คุณกำลังประสบอยู่ได้ มันจะช่วยเพิ่มความเข้าใจในตัวเองให้กับคุณ คุณจะมองเห็นสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีสำคัญเหนือการทำงาน แม้ว่างานนั้นจะเป็นงานในฝันของคุณก็ตาม
บริษัทต่างๆ กำลังตระหนักถึงความเครียดที่สูงขึ้นของพนักงาน ผู้นำและผู้จัดการต่างพยายามเข้าฝึกอบรมเพื่อหาวิธีแก้ไข เพราะทุกคนต่างรู้ว่าความเครียดของพนักงานส่งผลกระทบต่อบริษัทมากแค่ไหน พวกเขาพยายามแก้ไขสถานการณ์และช่วยเหลือพนักงานจากบทบาทของตัวเอง แต่ในขณะเดียวกันพนักงานทุกคนก็ต้องให้ความร่วมมือและช่วยเหลือตัวเองด้วย พยายามสังเกตสิ่งต่างๆที่ทำให้เกิดความเครียด เช่น สภาพการทำงาน ความรับผิดชอบ หรือวัฒนธรรมบริษัท เมื่อเจอสาเหตุคุณจะเจอวิธีจัดการความเครียดเหล่านั้นเอง
Reference:
What is workplace stress, and how what are its effects?
บทความแนะนำ:
Cooking at home – สุขภาพจิตดีได้ด้วยการทำอาหารทานเอง