
Zero Hunger การลดความอดอยากหิวโหย เป็นอีกหนึ่งเป้าหมายที่สำคัญภายใต้ Sustainable Development Goal ใน ข้อที่ 2 เพราะปัญหาเรื่องของความอดอยาก เป็นปัญหาระดับโลกไปแล้ว
ในฐานะประเทศผู้ส่งออกอาหารอันดับ 5 ของโลก ใครจะเชื่อว่าไทยยังคงเผชิญปัญหาเรื่องอาหาร เช่น ปัญหาด้านทุพโภชนาการ (ภาวะแคระแกร็น) ถึงแม้ว่าข้อมูลจาก SDG Index ล่าสุด จะพบว่าประเทศไทยมีเด็กที่มีภาวะทุพโภชนาการ และภาวะผอมแห้งลดลง แต่กลับมีปัญหาเด็กที่มีภาวะขาดสารอาหารเพิ่มขึ้น สาเหตุของเรื่องนี้และทางออกคืออะไร เราชวนคุณมาค้นหาคำตอบกับตัวจริงเสียงจริงในแวดวงอาหาร
- คุณประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จํากัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ
- คุณพฤฒิ เกิดชูชื่น กรรมการผู้จัดการ บริษัท แดรี่โฮม วิสาหกิจเพื่อสังคม จํากัด (Dairy Home)
- ดร. เดชรัต สุขกําเนิด นักวิชาการเศรษฐศาสตร์
โดยทั้งสามท่าน ได้มีโอกาสมาร่วมสนทนากันถึง Sustainable Development Goal ใน ข้อที่ 2 ว่าด้วยเรื่องของการลดความอดอยากหิวโหย (Zero Hunger) ซึ่งนับว่าเป็นประเด็นที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งทั้งในบ้านเรา และ ในระดับโลก
ผลิตมาก ส่งออกมาก ราคาอาหารแพงขึ้น
ดร. เดชรัต เปิดประเด็นว่า ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกผักและผลไม้อันดับ 6 ของโลก แต่กลับพบตัวเลขที่น่าสนใจว่า มีคนไทยประมาณ 38% เท่านั้นที่บริโภคได้ตามคำแนะนำขององค์การอาหารโลก ที่แนะนำว่าควรบริโภคผักและผลไม้ประมาณ 400 กรัมต่อคนต่อวัน ซึ่งมาจากข้อเท็จจริงว่าปริมาณผักและผลไม้ที่มีเหลือจากการส่งออกมีไม่ถึง 400 กรัมต่อคนต่อวัน และ ยังชี้ให้เห็นถึงความท้าทายของประเทศ แม้ว่าไทยจะผลิตมากและส่งออกมาก ผู้บริโภคภายในประเทศเองกลับไม่สามารถบริโภคผักผลไม้ถึงเกณฑ์ที่ควร
โดยเฉพาะในสถานการณ์โควิด ยิ่งพบปัญหาที่ซ้ำซ้อนกัน นั่นคือ ประชาชนกลุ่มรายได้น้อยประมาณ 20% ของประเทศมีความสามารถในการซื้อที่จำกัด ซึ่งต้องใช้เงินซื้ออาหารถึงประมาณ 48% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด ยิ่งไปกว่านั้น ราคาอาหารตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา ยังเพิ่มเร็วกว่าราคาเงินเฟ้อทั่วไป แม้ในช่วงโควิด ราคาสินค้าทั่วไปจะลดลง แต่ราคาอาหารก็ยังคงเพิ่มขึ้น ดังนั้น กลายเป็นภาระหนักสำหรับผู้มีรายได้น้อย ทั้งที่โควิดก็ทำให้คนกลุ่มนี้มีรายได้ลดลงอยู่แล้ว
โจทย์ที่ท้าท้าย ช่วงล็อคดาวน์
คุณประสิทธิ์ ให้ข้อมูลเสริมในเรื่องนี้ว่า CPF ในฐานะผู้นำการผลิตอาหารจากประเทศไทยไปจำหน่ายทั่วโลก ที่ให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางอาหาร โดยเฉพาะในสถานการณ์โควิด CPF ตระหนักถึงหน้าที่ร่วมสร้างความมั่นคงด้านอาหารให้กับประเทศไทย ภายใต้ปรัชญา 3 ประโยชน์ คือ ประโยชน์ต่อประเทศที่ไปทำธุรกิจอยู่ ประโยชน์ต่อประชาชน และประโยชน์กับบริษัท โดยในช่วงวิกฤติตั้งแต่ปีที่แล้ว มีกระแสตื่นตระหนกว่าอาหารอาจจะไม่เพียงพอ ซึ่ง CPF ได้ร่วมประชุมหลายครั้งกับรัฐบาลเพื่อเตรียมการรับมือ โดยใช้ความรู้จากสถานการณ์โควิดที่อู่ฮั่นมาวางแผนล่วงหน้า เพื่อผลิตและกระจายอาหารให้ครอบคลุมทั่วถึง
คุณประสิทธิ์ ยังเล่าให้ฟังว่า ความท้าทายในช่วงล็อกดาวน์ ยังรวมถึงเรื่องการขนส่งด้วย เพราะการกระจายสินค้าไม่ใช่แค่อาหาร แต่ต้องรวมถึงวัสดุอื่นๆที่จำเป็น เช่น Packaging หรือ วัตถุดิบต่างๆ ที่จะทำให้การผลิตอาหารเกิดขึ้นได้ แต่ก็ได้รับความร่วมมือที่ดีมากจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ CPF ยังได้มีส่วนร่วมช่วยลดภาระให้กับกระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะหมอกับพยาบาลที่ปกป้องประเทศ โดยอาสาสนับสนุนเรื่องอาหาร ให้กับโรงพยาบาลประมาณ 80 แห่งทั่วประเทศ และอีก 2 จุดหลัก คือ สถานีกลางบางซื่อ สถานที่ฉีดวัคซีนใหญ่ที่สุดของกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงแรงงาน ที่มีจุดฉีดวัคซีนผู้ประกันตนทั่วทั้งกรุงเทพฯ ซึ่งภารกิจทั้งหมดที่ CPF มุ่งมั่นทุ่มเทนี้ เป็นไปตามนโยบาย Good Corporate Citizen หรือ การเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศ
บริหารต้นทุน เพิ่มกำลังการผลิต เพิ่มอาหารโภชนาการสูง
คุณประสิทธิ์ ยังได้เปิดมุมมองในฐานะบริษัทผู้ผลิตอาหารชั้นนำว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดของธุรกิจอาหาร ก็คือ การบริหารต้นทุนให้มีประสิทธิภาพ เพิ่มกำลังการผลิต เพิ่มขีดความสามารถในการผลิตให้ได้ปริมาณมากขึ้นจากการลงทุน การใช้พื้นที่ และ ทรัพยากรต่างๆ ในปริมาณเท่าเดิม ในวันนี้ CPF จึงพยายามใช้องค์ความรู้ในเชิงยุทธศาสตร์มากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของ Robotic Engineering และ Software AI เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พื้นที่เดิม ให้สามารถเพิ่มผลิตภาพได้มากขึ้นกว่าเดิม เพื่อให้ต้นทุนลดลงและให้ผู้บริโภคเข้าถึงอาหารได้มากที่สุด ควบคู่ไปกับ การพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารให้มีคุณค่าทางโภชนาการ (Nutrition) ให้มากขึ้นต่อการบริโภคหนึ่งครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนา Plant-based หรือเนื้อจากพืช หรือผลิตภัณฑ์อื่นๆ เพื่อเพิ่มความหลากหลายของสินค้า ช่วยทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากยิ่งขึ้น

ใน Portfolio แต่ละปี จะต้องมี Healthy Food Concept เช่น ทำให้เนื้อสัตว์มีคุณค่าอาหารเพิ่ม หรือ ตอบโจทย์ Balance Need ยิ่งขึ้น เช่น อาหารหนึ่งชาม มีทั้งผัก ข้าว เนื้อสัตว์ ให้ครบถ้วนใน 1 pack ให้ผู้บริโภคสะดวกสบาย และ Functional food อื่นๆ ที่อยู่ระหว่างพัฒนา เช่น เครื่องดื่มและอาหาร นอกจากนี้ CPF ยังมีอีกหลายโครงการที่ช่วยให้คนเข้าถึงอาหาร เช่น โครงการเลี้ยงไก่ไข่ เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน สำหรับโรงเรียนที่อยู่ตามขอบชายแดน ประมาณ 855 โรงเรียน ซึ่งใช้ทีมงานที่มีอยู่ทั่วประเทศไทยไปเป็นจิตอาสาแนะนำคุณครู สอนนักเรียนให้สามารถเลี้ยงไก่ไข่ได้ด้วยต้นทุนการจัดการไม่สูง และนอกจากได้เรียนเลี้ยงไก่ไข่ ได้อาหารแล้ว ยังเอาไปจำหน่ายให้ชุมชน โครงการอิ่มสุขปลูกอนาคต เพื่อช่วยเหลือสถานศึกษาที่อยู่ใกล้ๆกับโรงงาน ประมาณ 90 โรงเรียน โครงการจาก by product เช่น นำมูลไก่หรือมูลสุกร ไปทำเป็นปุ๋ยชุมชนรอบด้านโรงงาน เพื่อลดต้นทุนปุ๋ยกำจัดสิ่งที่ไม่ต้องการ และสร้างคุณค่าเพิ่มแก่ผู้เกี่ยวข้อง
เกษตรพึ่งตนและอาหารปลอดสารพิษ ต้นทางอาหารปลอดภัยและยั่งยืน
คุณพฤฒิ จาก Dairy Home ระบุว่าการทำให้ประเทศไทยมีความมั่นคงด้านอาหารได้อย่างแท้จริง ต้องมาดูแลเรื่อง supply chain ว่าสิ่งใดที่เราสามารถทำได้เองจริงๆ โดยไม่ต้องพึ่งพาปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะปัญหาเรื่องโภชนาการ ซึ่งประเด็นสำคัญ ถัดจากความหิวโหย คือเรื่องของการกินอาหารไม่ถูกส่วน และผู้เป็นโรคอ้วนที่เพิ่มมากขึ้น
ยังมีประเด็นเรื่องดัชนีความผอมของเด็กไทยอยู่ คำถาม คือ ทำอย่างไรจึงจะสามารถสร้างความสมดุลในเรื่องเหล่านี้ โดยคุณพฤฒิได้แบ่งปันประสบการณ์ทำงานที่ Dairy Home ว่าเป็นองค์กรขนาดเล็กที่โฟกัสกับกลุ่มเกษตรกรโคนม เพื่อให้เป็นต้นแบบของเกษตรปลอดสารพิษ

โดย Dairy Home พยายามพัฒนากระบวนการผลิตน้ำนมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ดีต่อสุขภาพของผู้บริโภค ในขณะเดียวกันเกษตรกรต้องพึ่งพาตนเอง ด้วยการสร้างปัจจัยการผลิตของตัวเองให้ได้ หรือพึ่งพาปัจจัยภายนอกให้น้อยที่สุด เพื่อให้ตัวเองสามารถเป็นผู้ผลิตอาหารแบบสมบูรณ์ ด้วยความเชื่อว่า สามารถผลิตอาหารได้อย่างสมบูรณ์ จะเป็นกระบวนการผลิตอาหารที่ยั่งยืนมากที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยทำได้ และช่วยผลักดันสังคมสู่เป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมที่โลกต้องการ คือการลดคาร์บอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการผลิตอาหารที่อยู่ในประเทศไทย ควรเป็น zero miles คือไม่ต้องนำเข้า ต้องสามารถใช้ทรัพยากรในฟาร์มที่มีทำการผลิตได้ ซึ่งเป็นโมเดลที่กำลังพัฒนาได้เกินครึ่งทางแล้ว ปัจจุบันเกษตรกรที่เป็นฟาร์มโคนมของ Dairy Home สามารถพึ่งพาปัจจัยผลิตของตัวเองได้ถึง 80% ถ้าฟาร์มหนึ่งฟาร์มสามารถผลิตอาหารได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ต้นทุนหน้าฟาร์มจะถูกมากเพราะจะไม่มีค่าใช้จ่ายด้าน logistic การใช้จ่ายด้าน packaging ค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป ทำให้สามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้เกือบทั้งหมด
Short food supply chain ทางออกเพื่อความมั่นคงทางอาหาร
ดร. เดชรัต เสริมเรื่องการสร้างความมั่นคงและความยั่งยืนทางอาหารว่า ภาพรวมไม่น่าห่วง แต่ต้องมีระบบเสริมเพื่อกระจายไปช่วยในส่วนย่อยๆ โดยเสนอว่า แนวทางในอนาคตควรใช้ Food supply chain ที่สั้น ในพื้นที่ระดับชุมชนหรือระดับจังหวัด โดยหยิบยกตัวเลขจากสำนักงานส่งเสริมสุขภาพ ที่นำพื้นที่รกร้างว่างเปล่ามาให้ชุมชนปลูกผักสวนครัว ปรากฏว่าพื้นที่ประมาณ 400 ตารางเมตรสามารถปลูกผักได้เพียงพอสำหรับคนประมาณ 22 คน เทียบเป็นการดูแลคนได้เกือบ 100 คนต่อพื้นที่ 1 ไร่ จะเห็นได้ว่า short food supply chain มีศักยภาพมาก เพราะนอกจากจะนำมาบริโภคเองแล้ว ยังสามารถนำไปขายได้อีกด้วย การขายนี้จะทำให้ supply chain โตขึ้นได้อีก
อย่างไรก็ตาม การพัฒนาให้เกิด short food supply chain จำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยสำคัญอื่นๆ ด้วย นั่นคือ ที่ดินและการเข้าถึงที่ดิน โดยไม่จำเป็นต้องใช้ที่ดินขนาดใหญ่ แค่เพียง 1 งาน ถ้ามีกระจายในที่ต่าง ๆ ก็จะสามารถทำได้ และต้องที่สำคัญคือต้องมี น้ำ บางคนมีที่ดินของตัวเองแต่ไม่มีน้ำ ก็ไปต่อไม่ได้ ซึ่งเรื่องนี้ต้องการการลงทุนเล็กน้อย นอกเหนือไปจากพืชไร่ นอกจากนั้น เมื่อมีความต้องการขาย ก็จำเป็นต้องมีตลาดรองรับ ซึ่งอาจเป้นโรงเรียน อาหารท้องถิ่นหรือ Short Food Supply Chain จะเป็นตัวช่วยเสริมตลาดหลักอย่างมาก โดยเฉพาะทำให้คนมีอำนาจซื้อมากขึ้น เป็นโอกาสทำให้คนขาดแคลนเข้าถึงอาหารได้ง่ายขึ้น และทำให้ประเทศโดยรวมดีขึ้นได้
สูตรอาหารแห่งอนาคต บริหารต้นทุนการผลิต เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โภชนาการสูง
คุณประสิทธิ์ เน้นย้ำ ในการสร้างมูลค่าของธุรกิจอาหารในอนาคต สิ่งที่ต้องพัฒนาเพิ่มเติม คือ ประสิทธิภาพการผลิต ทำอย่างไรให้หนึ่งไร่หรือหนึ่งพื้นที่สามารถเพิ่มผลิตผลให้มากขึ้น เมื่อมีหนึ่งคนต่อหนึ่งครอบครัวเป็นทีมงาน เช่น วิสาหกิจชุมชน เพื่อเป็นการรวมพลังของคนที่อยู่ในพื้นที่ เพื่อสร้างผลผลิตเพิ่มขึ้น องค์ความรู้ของแต่ละบุคคลมีคนหลากหลาย เมื่อรวมคนเป็นพลัง ทำให้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตดีขึ้น ต้นทุนการให้บริการ หรือ cost to serve ลดลง และ ช่วยสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศไทย อีกประการหนึ่ง คือ เรื่องไฟฟ้าและน้ำ ซึ่งเป็น key infrastructure หนึ่งในการตัดสินใจลงทุนขยายธุรกิจ ในการลงทุนขยายธุรกิจ ถ้าเราสามารถพัฒนาประสิทธิภาพเรื่องระบบชลประทานให้เหมือนกับระบบไฟฟ้า จะทำให้ต้นทุนการทำเกษตรกรรมของประเทศไทยลดลง ต้นทุนในการขาย ราคาขายถูกลง และประสิทธิผลจะดีขึ้นมาก
คุณพฤฒิ เสริมว่า ถ้าเกษตรกรมีความมั่นคงสามารถผลิตอาหารได้อย่างยั่งยืนและพึ่งพาตนเองได้ มี Food supply chain ที่สั้น ต้นทุนในการผลิตจะถูกลง ถ้าเราสามารถใช้ประสิทธิภาพของพื้นที่ให้ได้มากที่สุด โดยไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม ทำแบบเข้าใจเรื่องการจัดการหมุนเวียนสารอาหารในสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ จะสามารถผลิตอาหารได้ในต้นทุนที่ต่ำ แต่ขายได้ราคาสูง พร้อมยกตัวอย่างเกษตรกรในกลุ่มเครือข่ายของ Dairy Home ที่เอาน้ำนมไปขายในราคาแบบปกติ ยังได้ราคาสูงกว่าเกษตรกรรายอื่น เพราะตัวน้ำนมมี solid content ที่มีสารอาหารสูงกว่า
ดังนั้น จึงเป็นโมเดลที่อยากให้เกษตรกรหันมาดูแลเรื่องของการจัดการทรัพยากรก่อน ถ้าทำได้แล้ว ต้นทุนการผลิตจะต่ำมาก ไม่ว่าราคาตลาดจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร ก็ได้รับผลกระทบน้อย นอกจากนี้ ยังสามารถเสริมเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) ได้ด้วย เพราะการเลี้ยงสัตว์ในฟาร์มสามารถเลี้ยงหลายชนิดที่เกื้อกูลกันได้ เช่น เลี้ยงไก่ควบคู่ไปวัวนม ไก่มาช่วยกำจัดแมลงรบกวนวัว และการใช้ระบบการเกื้อกูลกันของสิ่งมีชีวิตเช่นนี้ จะทำให้ต้นทุนต่ำ
นอกจากนี้ ในโรงงานก็พยายามใช้แนวคิด Zero Waste ไม่มีอะไรทิ้งเลย พลาสติก กระดาษ เปลี่ยนเป็นเงินได้ หรือการทำโครงการ Upcycling Waste เช่น สารอาหารที่เหลือจากการล้างเครื่องจักรผลิตน้ำนม ซึ่งมีค่า BOD สูง ทำให้มีค่าใช้จ่ายในการบำบัดสูงมาก ก็นำไปเลี้ยงสาหร่าย และเอาสาหร่ายไปเลี้ยงไรทะเล และเอาไรทะเลนำมาเลี้ยงกุ้งก้ามกราม ซึ่งงานวิจัยนี้สำเร็จแล้ว กำลังขยายในเชิงพาณิชย์ และยินดีให้ SME มาเรียนรู้
Food Safety – Food loss – Food Waste สู่อาหารยั่งยืน
ในการสร้างระบบอาหารยั่งยืนในอนาคต คุณประสิทธิ์ ย้ำว่าเรื่อง zero hunger เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ CPF พิจารณาอย่างสม่ำเสมอ เพราะการเข้าถึงอาหาร การลดความหิวโหยของคนเป็นเรื่องสำคัญมาก และถือว่าเรื่องความมั่นคงอาหารเป็นหนึ่งในหน้าที่ของ CPF ทั้งในยามปกติหรือยามวิกฤติ โดยมีเป้าหมายเรื่อง food safety เป็นหนึ่งในหัวใจหลัก รวมถึงการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ และการลด food loss ในกระบวนการผลิตให้เหลือน้อยที่สุด
โดยพิจารณาว่าจะนำไปใช้ประโยชน์สร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างไร หรือทำให้มีผลกระทบสิ่งแวดล้อมน้อยลงได้หรือไม่ จะพิจารณาว่าระบบการผลิตทั้งหมดมีส่วนใดบ้างที่สูญเสียและกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติที่ควรใช้อย่างระมัดระวังและรอบคอบ และสุดท้ายคือเรื่องการลด food waste ซึ่งเกิดขึ้นประมาณหนึ่งในสามของผลิตภัณฑ์ทั้งหมด โดยจะสร้างความร่วมมือในระบบ supply chain ทั้งหมด เพื่อยกระดับการบริหารจัดการและลด food waste อย่างยั่งยืน
3 ระบบตอบโจทย์อาหารยั่งยืน พลิกโฉมประเทศไทย
ดร. เดชรัต ทิ้งท้ายว่าการตอบโจทย์เรื่องอาหารยั่งยืนในประเทศไทย ทั้งในแง่ของเศรษฐกิจและทั้งในแง่ Zero Hunger ควรจะใช้ 3 ระบบไปคู่กัน คือ Highly Efficient Supply Chain โดยเน้นที่ประสิทธิภาพ ความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งไม่เพียงแค่ผลิตภายในประเทศแต่ตอบสนองผู้บริโภคทั่วโลก High Value Supply Chain เช่น สินค้าออร์แกนิก สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สินค้าที่ให้ประสบการณ์พิเศษ เช่น การท่องเที่ยวในชุมชน เป็นสินค้าที่ผู้บริโภคยุคใหม่ให้คุณค่ามากและยินดีที่จะจ่าย ประเทศไทยจะได้รับประโยชน์จากตรงนี้มากขึ้น ทั้งยังช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพด้วย Local Food Supply Chain หรือ Short Food Supply Chain เพิ่มเรื่องน้ำ ปัจจัยการผลิต เทคนิคการผลิต และกลไกการตลาด โดยเชื่อมคนรุ่นใหม่ให้มาแก้ปัญหานี้ ถ้าประเทศไทยทำทั้ง 3 supply chain ให้สอดคล้องกันจะเป็นคำตอบ และเมื่อสอดประสานกันได้ดีขึ้นกว่าเดิม จะเป็นอนาคตของ zero hunger และเชื่อว่าประเทศไทยทำได้

และนี่ก็คือ มุมมองและประสบการณ์ของผู้ร่วมเสวนาทั้ง 3 ท่าน ในเรื่อง ความมั่นคงทางอาหาร สู่การลดความอดอยากให้เป็นศูนย์ หรือ Zero Hunger ซึ่งเป็น โจทย์อาหารยั่งยืน ที่จะมาพลิกโฉมประเทศไทยในอนาคตอันใกล้นี้
….
รายการ “เราปรับ…โลกเปลี่ยน We Shift…World Change”
ตอน “ความมั่นคงทางอาหาร สู่การลดความอดอยากให้เป็นศูนย์”
หรือ จะเลือกรับฟังรายการ ในรูปแบบของ Podcast ได้ที่:
ติดตามชมรายการ “เราปรับ…โลกเปลี่ยน We Shift…World Change” Facebook
ได้ทาง Facebook เพจ @มนุษย์เงินเดือนพันธุ์ใหม่ หรือ Facebook Global Compact Network Thailand และ ช่องทาง Social Media ของ The Practical