
ลูกจ้างจะไม่ได้รับเงินชดเชย อันเนื่องมาจากการเลิกจ้าง เป็นเคสที่เกิดขึ้นบ่อยมาก โดยเฉพาะในช่วงปี 2563 ปีแห่งการมาของโควิด
“ปัญหาการถูกเลิกจ้าง เกิดขึ้นได้เสมอ หากพนักงานรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ก็อาจจะโดนเอาเปรียบจากนายจ้างได้”
ดูได้จากปริมาณคดีแรงงาน ที่เพิ่มขึ้น และ มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในแต่ละปี

จากข้อมูลแค่ปี 2561 จำนวนคดีรับใหม่ที่เกิดขึ้น รวมกับคดีที่ค้างมาจากปี 2560 ทั้งหมดก็ เกือบๆ 25,000 คดีเข้าไปแล้ว หากเป็นเมื่อก่อนคดีแรงงาน อาจจะต้องใช้เวลา หรือ รอคิวในการพิจารณา แต่เดี๋ยวนี้การทำงานของศาลแรงงานกลาง และ ศาลแรงงานภาค รวดเร็วกว่าเดิมมาก มากกว่า 80% จากคดีทั้งหมดราว 25,000 คดี ก็สามารถทำคดีให้เสร็จสิ้นไปได้ถึง 20,942 คดีเลย ดังนั้นอย่าไปกังวล หรือ กลัวในเรื่องความล่าช้า
สิ่งสำคัญคือ หากเราถูกเอาเปรียบ หรือ ไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือ โดนกลั้นแกล้ง เราก็มีสิทธิที่จะสู้นายจ้าง ผ่านกระบวนการของศาลแรงงาน
ในเรื่องประเด็น หรือ ข้อหาสูงสุด 5 อันดับ ที่ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลแรงงานกลาง และ ศาลแรงงานภาค ก็คือ
- การจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า
- การขอให้คิดค่าชดเชย
- การขอให้จ่ายค่าจ้างให้ถูกต้องและตามกำหนดเวลา
- การขอให้รับกลับเข้าทำงาน หรือ ให้จ่ายค่าเสียหายกรณีเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
- การขอให้จ่ายค่าจ้างในวันหยุด
จากประเด็นดังกล่าวจะเห็นว่า เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของลูกจ้างทั้งสิ้น และ เชื่อว่าจำนวนคดีแรงงานโดยเฉพาะในปี 2563 นี้ ต้องสูงกว่า ปีที่ผ่านมามากหลายคีดอย่างแน่นอน เพราะเจอกับวิกฤติโควิด บวกกับเศรษฐกิจ ถึงสองเด้ง
แล้วทำไมบริษัทถึงบอกเลิกจ้าง และไม่ยอมจ่ายค่าชดเชย?
ส่วนนึง ก็อาจจะมาจากปัญหาสภาพเศรษฐกิจ บริษัทจำเป็นต้องลดขนาดองค์กร หรือ จำเป็นต้องปิดกิจการ (บริษัทอาจจะไม่มีเงินพอ หรือ ไม่ยากจ่าย) อย่างบริษัทใหญ่ๆ หรือ ไม่ใหญ่ ที่มีการปิดตัวลงไปเป็นจำนวนมาก
หรือ อาจจะเป็นเพราะว่าตัวพนักงาน หรือ ลูกจ้างเอง ไม่รู้กฎหมาย บริษัทฯ ก็เลยสบช่องว่างตรงนี้ หาเหตุเลิกจ้างพนักงานได้ โดยไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม ได้ง่ายขึ้น
ประเด็นหลัง เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะคนทำงานส่วนใหญ่ ไม่รู้และไม่เข้าใจกฎหมาย แรงงานทำให้เสียรู้บริษัทฯ และถูกเลิกจ้างทั้งๆ ที่ตนเองอาจจะไม่ได้มีความผิดมากมายถึงขั้นต้องโดนไล่ออกก็ได้
เรื่องของ กฎหมายแรงงาน
ถือเป็นอีกหนึ่งความรู้ที่สำคัญ ที่คนทำงาน หรือ มนุษย์เงินเดือนทุกคน ต้องรู้ เพราะทุกๆ การกระทำของเรา ทุกๆ ขั้นตอนทำงาน หรือ การใช้ชีวิตอยู่ในที่ทำงาน มีผล และ อาจจะมีความสุ่มเสี่ยง ต่อการถูกเอาเปรียบจากนายจ้าง หรือ อาจจะถูกเลิกจ้างได้ง่าย ด้วยเหตุเพราะได้กระทำผิดไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์
ยกตัวอย่าง เช่น ป่วยติดต่อกัน หลายวัน แต่ไม่ได้แจ้งหัวหน้า หรือ บริษัทฯ หรือ อยู่ดีก็หายไปเฉยๆ หลายวัน ติดต่อไม่ได้ กลับมาทำงานอีกที ก็อาจจะได้รับซองขาวได้
เพื่อป้องกัน ลูกจ้างจะไม่ได้รับเงินชดเชย อันเนื่องมาจากการเลิกจ้าง ดังนั้นเราต้องมาทำความเข้าใจเสียก่อนว่า มีกรณีไหนบ้าง ที่นายจ้าง สามารถเลิกจ้างเราได้ โดยนายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
อ้างอิงตามแนวทางของ กฎหมายแรงงาน ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพุทธศักราช 2541 มาตรา 118 กำหนดให้นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้างในกรณีต่อไปนี้
- กรณีที่ 1 : ลูกจ้างที่มีระยะเวลาการทำงานให้นายจ้างไม่ครบ 120 วัน
- กรณีที่ 2 : ลูกจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างแน่นอนและเลิกจ้างตามกำหนด ซึ่งงานที่มีกำหนดระยะเวลานี้ ต้องทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษร และมีกำหนดระยะเวลาแน่นอน อาจมีลักษณะการจ้างเป็นครั้งคราว เช่น การทำสัญญาจ้างเหมาแรงงานก่อสร้างบ้านหนึ่งหลัง ซึ่งงานประเภทนี้จะต้องเสร็จสิ้นภายในกำหนดเวลาไม่เกิน 2 ปี
สำหรับกรณีที่ 1 จะเห็นได้ว่า ทำไมการทดลองงานถึงจะต้องมีระยะเวลาไม่เกิน 120 วัน หลายบริษัทฯ กำหนดเอาไว้คือ 119 วัน หรือ บางที่ก็กำหนดไว้ 90 วัน เป็นต้น เหตุที่ทำแบบนี้ ก็เพราะว่านายจ้างจะได้มีสิทธิในการยกเลิกการจ้างลูกจ้างในช่วงทดลองงานได้ หากนายจ้างแจ้งลูกจ้างว่าไม่ผ่านทดลองงานหลัง 120 วันไปแล้ว นายจ้างก็ต้องจ่ายค่าชดเชยอันเนื่องมาจากการเลิกจ้าง หากไม่จ่ายก็เข้าข่ายทำผิดในเรื่องเลิกจ้างไม่เป็นธรรมได้
ในกรณีที่ 2 จะเป็นการจ้างชั่วคราวมีระยะเวลากำหนด หากบริษัทฯ หัวหมอใช้หลักการจ้างที่เป็นสัญญาชั่วคราว แต่จ้างลูกจ้างรายเดิมเป็นระยะเวลาต่อเนื่องเกิน 2 ปี ถึงแม้ในสัญญาจ้างจะเป็นตามกฏหมาย แต่ความจริงคือการจ้างต่อเนื่อง หากมีการเลิกจ้างลูกจ้างรายนี้แบบไม่ยุติธรรม นายจ้างก็อาจจะมีความผิดตามกฏหมายแรงงานได้เช่นกัน
นอกจากนี้ นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง เมื่อลูกจ้างกระทำความผิดตามมาตรา 119 แห่งพระราชบัญญัตินี้ ตามเหตุดังต่อไปนี้
กฎหมายคุ้มครองแรงงานนั้นหาใช่คุ้มครองสิทธิ์เฉพาะแต่ลูกจ้างเท่านั้น แต่ยังดูแลไปถึงนายจ้างอีกด้วย โดยเฉพาะในกรณีที่นายจ้างได้รับความเสียหาย อย่างร้ายแรงจากการกระทำอันจงใจของลูกจ้าง ไม่ว่าจะเป็นแกล้งทำงานไม่เสร็จตามกำหนด หรือ การขโมยทรัพย์สินของนายจ้าง หรือแม้แต่การทำร้ายนายจ้าง
- ทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาต่อนายจ้าง
- จงใจให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
- ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
- ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือลายลักษณ์อักษรแล้ว เว้นแต่ในกรณีที่ร้ายแรงนายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน
- ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรและ
- ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุด ทั้งนี้ หากลูกจ้างกระทำผิดตามเหตุที่กล่าวมาข้างต้น เมื่อนายจ้างเลิกจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้ลูกจ้าง แต่ต้องระบุเหตุแห่งการกระทำความผิดไว้ในหนังสือเลิกจ้างด้วย
จากที่ได้กล่าวมาทั้งหมด ถึงตรงนี้ เราคงเข้าใจแล้วว่า ลูกจ้างจะไม่ได้รับเงินชดเชย อันเนื่องมาจากการเลิกจ้าง ในกรณีใดบ้าง
ดังนั้นในเรื่องของ กฎหมายแรงงาน เราต้องศึกษาถึงเงื่อนไข และข้อกำหนดให้ละเอียดถี่ถ้วน มิฉะนั้น เราอาจจะต้องกลายเป็นผู้เสียผลประโยชน์ และ ถูกเอาเปรียบจากนายจ้างได้ และ เราเองก็ไม่ควรเอาเปรียบ หรือ เอาช่องโหว่ของกฏหมายมาเอาเปรียบนายจ้างเช่นกัน
เรื่องใด หรือ ประเด็นใด ที่ลูกจ้างและนายจ้างสามารถพูดคุยและเคลียร์กันได้ สามารถได้ข้อสรุป แบบไม่ต้องขึ้นโรงขึ้นศาลได้ ก็น่าจะเป็นการดีที่สุด แต่หากไม่เป็นไปตามนั้น ก็อย่ากังวลกับการต้องไปขึ้นศาล เพราะศาลแรงงานมีไว้เพื่อทั้งลูกจ้าง และนายจ้าง เพื่อทวงสิทธิอันชอบธรรม หากตนเองไม่ได้รับความยุติธรรม
ขอขอบคุณข้อมูลจาก กระทรวงยุติธรรม
บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวกับกฏหมายแรงงานสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ :
เลิกจ้าง เพราะโควิด จริงหรือเปล่า? คนทำงานควรรู้เรื่องนี้ จะได้ไม่เสียรู้ให้กับบริษัท
ถูกเลิกจ้าง และ ให้ออกจากงานแบบกระทันหัน ต้องทำอย่างไรดี?
เรื่องสิทธิประโยชน์จากการว่างงาน (กองทุนประกันสังคม)