I Hate My Job หรือ ฉันไม่ชอบงานที่ทำอยู่เลย อารมณ์แบบนี้เชื่อว่าสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่หลังจากเรารู้สึกแบบนี้แล้ว เราจะทำอย่างไรต่อไป? เราจะเลือกหาวิธีแก้ปัญหา หรือ จะเลือกปล่อยให้รู้สึกเกลียดและไม่ชอบงานนี้ต่อไป?
คุณคิดว่าทำไมอัตราการลาออกตั้งแต่เดือนแรกของพนักงานใหม่ถึงสูงถึง 31%? คุณจะโทษที่พนักงานคนนั้นที่ไม่สามารถปรับตัวไม่ได้ หรือพนักงานคนนั้นไม่มีความอดทน หรือ จะเลือกที่จะโทษสภาพแวดล้อมของบริษัทและเนื้องานที่หนักหนาสาหัสเกินกว่าที่ลงเอาไว้ในรายละเอียดงานที่ต้องรับผิดชอบ มันถูกหรือไม่? มันเป็นเหตุผลที่ถูกต้องหรือเปล่า?
มันมีความเป็นไปได้อยู่แล้วที่คุณจะเกลียดงานใหม่ของคุณ บางทีอาจไม่ต้องรอให้ถึง 1 เดือนเลยด้วยซ้ำ บางครั้งคราวเกลียดชังและขยะแขยงจนไม่อยากจะลืมตาตื่นขึ้นมาทำงานก็เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่วันที่ 2 ของการทำงานใหม่เลยด้วยซ้ำ หากเป็นแบบนี้ คุณจะทำอย่างไร? ถ้าคุณกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ลักษณะนี้?
“หนีหายไปเฉยๆ หรือ แจ้งให้บริษัททราบอย่างตรงไปตรงมาแล้วเดินหน้าต่อไป?”
ในยามที่เราเกลียดงานที่ทำอยู่ อย่าเพิ่งรีบตอบคำถามด้านบนนั้น ก่อนที่คุณจะเร่งรีบทำตามตัวเลือก 1 ใน 2 ตัวเลือกด้านบน คุณควรลองพิจารณาทางเลือกด้วยกลยุทธ์บางอย่างที่อาจจะเป็นประโยชน์ต่อตัวคุณเองและอาจจะเป็นประโยชน์ต่อเรื่องการเงินของคุณด้วย
4 เรื่องที่ควรทำเมื่อเราต้องมาเจอกับเรื่อง I Hate My Job หรือ ฉันไม่ชอบงานที่ทำอยู่เลย
เรื่องที่ 1 ค้นหาว่าอะไรทำให้คุณไม่อยากทำงาน:
เมื่อความรู้สึกเกลียดงานใหม่ของคุณเริ่มเข้าครอบงำ ก่อนอื่นเลยคุณต้องรู้ก่อนว่าคุณเกลียดอะไรเป็นพิเศษ? เพราะท้ายที่สุดแล้วเมื่อคุณเริ่มงานใหม่ คุณมักจะรู้สึกเงอะงะและงุ่มง่ามเพียงเพราะทุกอย่างใหม่ไปเสียหมดจนทำอะไรไม่ถูก คุณอาจจะเคยชินกับการที่ตัวคุณมีความสามารถ แต่ตอนนี้เป็นตอนที่คุณยังรู้สึกไม่สบายใจ เต็มไปด้วยความอึดอัด ความสามารถที่เคยมีก็เหมือนไม่มี ทำอะไรก็พาลแต่จะล้มเหลวเพราะยังไม่รู้ว่าควรใช้มันไปกับเรื่องอะไรดี แน่นอนว่าความหงุดหงิดใจเหล่านี้ อาจทำให้คุณรู้สึกอยากล้มเลิกในงานหรือสิ่งที่กำลังทำอยู่ได้ไม่อยากเลย
“ความรู้สึก บุคลากร สภาพแวดล้อม หรือวัฒนธรรม ปัญหาคือเรื่องอะไรกันแน่?”
ระหว่างที่คุณกำลังตามหาสิ่งที่สร้างความหงุดหงิดใจให้แก่คุณ ในทางกลับกันอาจะเป็นไปได้ว่างานที่ได้สัมผัสจริงๆ ไม่เหมือนที่ได้เคยคุยกันเอาไว้ในตอนที่สัมภาษณ์ หรือ เราอาจจะเรียกว่า “ขายฝัน” ก็ได้ ทำให้คุณอาจจะต้องมาเจอกับผู้จัดการที่ไร้ประโยชน์ วัฒนธรรมองค์กรที่ห่วยแตก หรือ เพื่อนร่วมงานที่ไร้ประสิทธิภาพสิ้นดี แต่สิ่งที่แย่ที่สุด คือเมื่อมองเห็นแล้ว สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามกาลเวลา เพราะพวกเขาเป็นแบบนี้กันมาตั้งแต่ต้น เป็นมาตั้งแต่ก่อนเราเข้ามาแล้ว ดังนั้นหากเปลี่ยนได้ พวกเขาคงได้เปลี่ยนกันไปนานแล้ว
“คุ้มค่าพอไหมที่จะอยู่ต่อ?”
จากการพิจารณาสถานการณ์ที่เลวร้ายที่ทำให้คุณเกลียดงานใหม่ที่นักหนาแล้ว ให้ลองมองหาสิ่งที่คุณอาจทำให้แก่บริษัทได้ ซึ่งนั้นอาจจะกลายเป็นผลงานที่ยอดเยี่ยมท่ามกลางความห่วยแตกที่คุณกำลังเผชิญอยู่ก็ได้ หรือ หนึ่งในฝูงเป็ดอาจจะมีหงส์สักตัวที่หลงอยู่ในนั้น เขาอาจกลายเป็นที่ปรึกษาที่ยอดเยี่ยมหรือผู้เชี่ยวชาญที่คุณสามารถเรียนรู้จากเขาได้อีกมากโข แต่ถ้าหากคุณประเมินทั้งหมดแล้วลองชั่งน้ำหนักดู ปรากฏว่าว่ามันไม่คุ้มเอาเสียเลยก็ทำอะไรไม่ได้นอกจากการเลือกที่จะโบกมือลา แต่หากมองเห็นถึงความคุ้มค่าในระยะยาวก็ลองให้โอกาสตัวเอง ให้โอกาสบริษัทแล้วเดินหน้าต่อไป
เรื่องที่ 2 การพูดคุยกับผู้บังคับบัญชา:
การรับสมัครและจ้างพนักงานใหม่ก็เป็นเรื่องลำบากสำหรับองค์กรเช่นกัน เพราะก็การจัดจ้างล้วนเป็นการลงทุนให้กับทรัพยากรบุคคลที่ต้องมาลุ้นว่าบุคคลที่จ้างมามีประสิทธิภาพสร้างประโยชน์ให้แก่บริษัทได้มากน้อยแค่ไหน? เพราะฉะนั้นหากได้ตัดสินใจเลือกจ้างพนักงานสักคนเข้ามาแล้ว คงไม่มีบริษัทใดอยากเสียพนักงานใหม่ไปภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์แน่
“องค์กรเลือกจ้างคุณ เพราะเขาเชื่อว่าคุณช่วยให้บริษัทประสบความสำเร็จได้ คนที่เลือกคุณเข้ามาต้องผิดหวังแน่ หากคุณจากไปในระยะเวลาอันสั้น”
บางทีการพูดตรงไปตรงมาอย่างไม่มีความลับปกปิดอาจเป็นเรื่องที่ง่ายกว่าการเก็บทุกอย่างไว้แล้วจากไป เพราะอย่าลืมว่าเจ้านาย ผู้จัดการ หรือ ผู้บริหาร ทุกคนล้วนเป็นคนที่สามารถผิดพลาดได้เช่นกัน หากความผิดหวังของคุณที่เกิดขึ้นกับตัวบริษัทเกิดจากรายละเอียดงานจริงที่คุณได้มีการพูดคุยไว้ คุณสามารถถามไถ่ถึงความเป็นมา และคุณจะได้เลือกตัดสินใจได้ว่าคุณสามารถที่จะยืดหยุ่นกับงานที่ทำอยู่ให้ได้หรือไม่? หรือ หากสาเหตุของความไม่พอใจเกิดจากบุคคล คุณสามารถเริ่มต้นพูดคุย ปรึกษา โดยไม่ใช่การนินทาเพื่อกำจัดความหงุดหงิดตรงนั้นออกไปได้ แน่นอนว่าต่อให้มันไม่ได้ผล อย่างน้อยคุณก็ได้พูดมันออกไปแล้ว
เรื่องที่ 3 การกำหนดเวลาให้กับตัวเอง:
ในตอนนี้คุณเริ่มงานใหม่แล้ว แต่งานใหม่ที่ควรจะตรงตามที่วาดฝันไว้กลับไม่มีอะไรเป็นไปตามอุดมคติเลยสักนิด พนักงานใหม่ส่วนใหญ่รีบด่วนสรุปรีบตัดสินใจโดยใช้ความรู้สึกชั่ววูบที่เกิดขึ้นจากความไม่ประทับใจแรกที่เกิดขึ้น พวกเขาจะถอยจนสุดตัวโดยไม่เดินหน้าออกมาทำความเข้าใจสิ่งใดให้ดีอีกต่อไป
“อย่าลืมว่า งานและความสำเร็จ มาพร้อมกับการใช้เวลา ฝึกฝน และเรียนรู้”
พนักงานส่วนใหญ่ออกจากงานเพราะรู้สึกไม่มั่นใจในการทำงานให้เสร็จหรือทำความรู้จักเจ้านายและเพื่อนร่วมงานให้ดีเสียก่อน เห็นได้ชัดเลยว่าสิ่งที่พวกเขาไม่ได้ทำคือการให้เวลาตัวเองได้ทำทั้ง 2 ข้อนี้ให้สำเร็จ คือ การสร้างเดดไลน์ของคุณเองสำหรับการเริ่มงานใหม่ คุณจะใช้เวลากี่เดือนกับการทำความรู้จักเนื้องานอย่างถ่องแท้และเริ่มแสดงความสามารถ? คุณจะใช้เวลากี่สัปดาห์กับการทำความรู้จักเจ้านาย เพื่อนร่วมงาน และวิธีที่พวกเขาทำงาน?
คุณควรลองสร้างกำหนดการขึ้นมาว่าวันที่เท่าไรที่คุณจะมานั่งตัดสินใจกับตัวเองว่าควรไปต่อหรือพอแค่นี้ดี? แต่ต้องในช่วงเวลาก่อนถึงวันตัดสินใจนั้น คุณเองก็ต้องเต็มที่กับการทำงาน การทำความรู้สึก และการแสดงความสามารถในการทำงานเช่นกัน ไม่ใช่อยู่ไปวันๆ แล้วก็เลือกที่จะตัดสินใจออก
เรื่องที่ 4 ถ้าไม่มีอะไรได้ผล ให้ลาออกแล้วของานเก่าคืน:
เมื่อคุณได้เริ่มต้นเข้าไปทำงานที่ใหม่ ซึ่งเป็นที่ที่คุณหวังอย่างที่สุดในการจะได้เข้ามาทำงานที่นี่ แต่ความจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น สิ่งที่ดูดีเหลือเกินเมื่อถูกมองด้วยมุมมองของคนนอกบริษัท กลับย่ำแย่เกินรับไหวเมื่อได้เข้ามาสัมผัสภายในด้วยตัวเอง ไม่ต้องห่วง คุณไม่ใช่คนเดียวที่ต้องเจอกับสถานการณ์แบบนี้
“มีคนมากมายมีประสบการณ์อย่างน้อย 1 ครั้งกับการผิดหวัง เมื่อได้มีโอกาสเข้าไปทำงานในบริษัทที่ฝัน แต่กลับไม่ได้เป็นอย่างที่ฝันไว้เลย”
คนเรากลับตัวได้เสมอหากคุณมีความสัมพันธ์ที่ดีพอกับที่ทำงานเก่า เจ้านายเก่า หรือเพื่อนร่วมงานเก่า นี่เป็นข้อดีของการไม่สร้างศัตรูในที่ทำงาน แม้วันสุดท้ายก็อย่าเพิ่งคิดที่จะตัดพวกเขาออกจากชีวิตหรือพูดความในใจเชิงลบใส่พวกเขา เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่คุณไปไม่รอดกับที่ทำงานใหม่ เป็นไปได้ว่าคุณอาจจะต้องย้อนกลับไปมองที่ทำงานเก่า ต่อให้ตำแหน่งเดิมของคุณจะถูกแทนที่ด้วยพนักงานใหม่แล้ว แต่หากคุณมีความสัมพันธ์ที่ดีพอ เจ้านายหรือเพื่อนของคุณก็อาจจะแนะนำงานในตำแหน่งหรือแผนกอื่นๆ ให้คุณได้
“ถ้าคุณคือคนที่กำลังจะลาออกจากงาน อย่าคิดว่าสิ่งที่คุณต้องทำคือการหางานทำให้ได้เท่านั้น การหางานที่เหมาะสมกับคุณในสถานที่ที่เหมาะสมกับคุณต่างหาก คือสิ่งที่คุณต้องทำ”
Reference:
4 Things You Should Do When You Hate Your New Job (That Don’t Involve Beating Yourself Up)
บทความแนะนำ:
Job Interview Guide 2022 – ตัวอย่างคำถามที่พบบ่อยที่สุดในการสัมภาษณ์งาน