
หัวหน้ารังแกลูกน้อง กลั่นแกล้งลูกน้อง รู้หรือไม่ คุณกำลังมีความเสี่ยง เพราะพฤติกรรมและสิ่งที่คุณกำลังทำอยู่นั้น อาจผิดกฏหมายได้ ในบทความนี้เรามาทำความเข้าใจกันในเรื่องของกฏหมาย ว่าพฤติกรรมของหัวหน้าว่าแบบไหน ที่เข้าข่ายที่พนักงานสามารถเดินหน้าเอาผิดทางกฎหมายได้
เรื่องของกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับการถูกรังแก หรือ ถูกข่มแหงในที่ทำงาน
หัวหน้ารังแกลูกน้อง หรือ การถูกการกลั่นแกล้งในที่ทำงานจากเพื่อนร่วมงาน ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นแทบจะทุกองค์กร คนที่กระทำก็อาจจะทำไปโดยคิดว่ามีอำนาจ ทำได้เพราะคงไม่มีพนักงานคนไหนกล้าที่จะไปร้องเรียน หรือ ไปฟ้องเพื่อเอาผิดพวกตน ส่วนผู้ที่ถูกกระทำก็น่าเห็นใจเพราะการถูกกลั่นแกล้งทำให้เกิดความเครียด ความกดดัน ความรำคาญใจ ทำให้ไม่มีความสุขในการทำงาน ผลงานก็อาจจะออกมาย่ำแย่ไปด้วย ซึ่งเป็นผลพวงมาจากสุขภาพจิตใจที่ย่ำแย่อันเนื่องมาจากการถูกข่มเหง กลั่นแกล้งในที่ทำงานนั่นเอง
หัวหน้ารังแกลูกน้อง หรือ โดนข่มเหงรังแกจากเพื่อนร่วมงาน ใครที่ตกเป็นเหยื่อไม่ต้องกังวลอีกต่อไปเพราะเขามีกฎหมายคุ้มครองอยู่ เพราะจริงๆ แล้วในบ้านเรา เขาก็มีกฎหมายที่ออกมาคุ้มครองและปกป้องผู้ถูกกระทำอย่างพนักงานอยู่ด้วย โดยผู้ถูกกระทำก็คือตัวพนักงานเองสามารถแจ้งความเอาผิดต่อผู้ที่มากลั่นแกล้งหรือข่มเหงรังแกได้ ในที่นี้ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้า เจ้านาย เพื่อนร่วมงาน หรือ อื่นๆ โดยถือว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดอาญาตามมาตรา 397
ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 397 เขาว่าเอาไว้อย่างไร?
อ้างอิงตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 397 เขาระบุเอาไว้ว่า “ผู้ใดกระทำด้วยประการใด ๆ ต่อผู้อื่น อันเป็นการรังแก ข่มเหง คุกคาม หรือกระทำการให้ได้รับความอับอาย หรือเดือดร้อนรำคาญ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง เป็นการกระทำในที่สาธารณสถาน หรือต่อหน้าธารกำนัล หรือเป็นการทำในลักษณะส่อไปในทางล่วงเกินทางเพศ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่ง 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคสอง เป็นการกระทำโดยเหตุที่ผู้กระทำมีอำนาจเหนือผู้ถูกกระทำ อันเนื่องมาจากความสัมพันธ์ในฐานะที่เป็นผู้บังคับบัญชา นายจ้าง หรือผู้มีอำนาจเหนือประการอื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน และปรับไม่เกิน 10,000 บาท”
สำหรับความผิดตามมาตรา 397 นี้ จะถือเป็นความผิดแบบลหุโทษ ซึ่งหมายความว่า เป็นความผิดที่จริงๆ แล้วถือว่าสามารถยอมความกันได้ในชั้นของพนักงานสอบสวน แต่ถ้าหากผู้เสียหายอยากต่อสู้จนถึงที่สุด ก็สามารถดำเนินการร้องทุกข์ต่อไปได้ เพื่อก้าวเข้าสู่ขั้นตอนการดำเนินคดีในชั้นศาลในลำดับต่อไปได้เช่นกัน เช่น พนักงานผู้ถูกรังแก รู้สึกและเห็นว่าการยอมความนั้นไม่เป็นธรรม ก็สามารถดำเนินคดีได้
หัวหน้ารังแกลูกน้อง หรือ โดนข่มเหงรังแกจากเพื่อนร่วมงาน มีโทษอย่างไร?
เรื่องราวของการกลั่นแกล้งกันในที่ทำงานนั้น สามารถเกิดขึ้นได้ไม่ว่าจะมาจากหัวหน้า หรือ เพื่อนร่วมงาน หรือ ลูกจ้างกับนายจ้าง ถือเป็นข้อพิพาทที่อาจเกิดขึ้นในสถานประกอบการ เพราะฉะนั้นแล้ว การข่มเหงรังแกในการทำงานนั้น ย่อมอาจเป็นการกระทำความผิดกฎหมายในข้อหา รังแก ข่มเหง คุกคาม หรือ เป็นการกระทำให้ได้รับความอับอาย หรือ เดือดร้อนรำคาญ และ ถ้าคนที่ทำความผิดเป็นถึงระดับหัวหน้าหรือเจ้าของกิจการด้วยแล้วล่ะก็ ความผิดนั้นจะถือเป็นการกระทำในบทฉกรรจ์ ซึ่งจะต้องรับโทษหนักมากขึ้นอีกด้วย
ตามที่ได้กล่าวไปช่วงแรกว่าความผิดแบบนี้ เป็นความผิดแบบลหุโทษ ซึ่งอัตราโทษก็คือ จำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ โดยหากผู้กระทำผิดระบุว่าตนเองกระทำไปโดยไม่ได้เจตนา ก็ยังต้องรับโทษอยู่ดี แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ความผิดแบบลหุโทษ ถือเป็นความผิดเล็กน้อย ซึ่งอำนาจจะอยู่ที่พนักงานสอบสวนที่สามารถเลือกลงโทษด้วยการเปรียบเทียบปรับอย่างเดียวก็ได้ ถ้าหากเห็นสมควรว่าผู้นั้นไม่ควรได้รับโทษจำคุก โดยผู้ต้องหาและผู้เสียหายจะต้องยินยอมให้พนักงานสอบสวนทำการเปรียบเทียบปรับด้วย เพราะความผิดแบบลหุโทษนี้ จะเน้นการป้องกันข้อพิพาทระหว่างบุคคลไม่ให้เรื่องราวบานปลายใหญ่โต และป้องกันไม่ให้ความผิดอาญาขยายใหญ่เกินไป จนไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นปกติสุข
พฤติกรรมการรังแกแบบใด? ที่เสี่ยงผิดกฎหมายอาญา
พฤติกรรมที่ 1: ถูกหัวหน้า ดุด่าว่ากล่าวตักเตือนอย่างรุนแรง ต่อหน้าคนในออฟฟิศ
ในเรื่องของการทำงานคนเราทุกคนสามารถมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นได้อยู่แล้ว ในฐานะหัวหน้าที่ดี ก็ควรเรียกลูกน้องไปตักเตือน แต่ต้องเป็นการเตือนแบบส่วนตัว ไม่ใช่การดุด่าว่ากล่าวลูกน้องด้วยถ้อยคำรุนแรงในสถานที่ที่มีคนอยู่ด้วยเยอะๆ ตัวอย่างเช่นไปว่าลูกน้องเสียงดัง หรือ ด่าลูกน้องต่อหน้าคนอื่นๆ ในออฟฟิศ ยิ่งถ้าความผิดในเรื่องงานนั้นถือเป็นความผิดเพียงเล็กน้อย แต่หัวหน้ากลับทำเป็นเรื่องใหญ่ ด่าลูกน้องที่ทำผิดแบบไม่ไว้หน้าต่อหน้าธารกำนัล ทำให้ลูกน้องเกิดความอับอาย ลูกน้องก็สามารถนำเรื่องนี้มาร้องทุกข์กล่าวโทษได้เหมือนกัน
พฤติกรรมที่ 2: ถูกหัวหน้า ข่มขู่ว่าจะลดเงินเดือนหรือลดประโยชน์
ตามหลักแล้วก่อนที่เราจะเริ่มทำงานที่ใดก็แล้วแต่ พนักงานทุกคนก็จะต้องมีการตกลงกับนายจ้างอย่างชัดเจนว่าเงินเดือนที่ได้รับจะอยู่ที่เท่าไร? และจะไม่ค่อยมีการลดเงินเดือนเกิดขึ้น หากพนักงานคนนั้นไม่ได้ทำผิดร้ายแรงจริงๆ หรือถ้าหากมีการทำผิด บริษัทส่วนมากเขาก็มักจะเลือกลงโทษพนักงานด้วยวิธีอื่นๆ ดังนั้น ถ้าหากเราถูกข่มขู่ด้วยเงื่อนไขที่ว่า ถ้าเราไม่ยินยอมทำงานที่ได้รับมอบหมาย แล้วจะถูกลดเงินเดือนหรือจะถูกลดผลประโยชน์ต่างๆ หากเรากำลังโดนกรณีนี้อยู่ ถือว่าเป็นการกลั่นแกล้งอย่างแน่นอน
พฤติกรรมที่ 3: ถูกหัวหน้า มอบหมายงาน ที่ไม่สามารถทำได้ หรือ มอบหมายงานที่ไม่มีคุณค่า
เริ่มตั้งแต่วันที่พนักงานสมัครงานเข้ามา ทุกคนก็จะต้องมี Job Description ของตนเองระบุไว้อยู่แล้ว หากได้เข้าไปทำงานจริงๆ แล้ว บางครั้งการได้ทำงานนอกเหนือจากหน้าที่บ้าง หากมองในแง่บวกก็ถือเป็นเรื่องที่ดี ถือเป็นโอกาสที่เราจะได้ฝึกฝนทักษะใหม่ๆ และเพิ่มประสบการณ์ใหม่ๆ แต่ในทางตรงกันข้ามหากเป็นการถูกโยนงานให้ต้องทำแบบไม่ชอบธรรม หรือ เป็นการกลั่นแกล้งจากหัวหน้าให้ทำงานที่ไม่ตรงขอบเขตและความสามารถ จนลุกลามไปถึงการกลั่นแกล้งให้เราเกิดข้อผิดพลาดในการทำงานขึ้น หรือ หัวหน้าไม่ขอบเราไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม มอบหมายงานอะไรสักอย่างที่ไม่มีคุณค่าเลย หรือเป็นงานที่ไม่จำเป็นให้ทำ พอถึงเวลาประเมินผลงานก็ให้คะแนนเราน้อยกว่าปกติ แถมบอกว่าเราไม่มีผลงานอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอันเลย ประเด็นเหล่านี้ก็สามารถถือเป็นความผิดได้เช่นกัน
พฤติกรรมที่ 4: ถูกหัวหน้า ประเมินผลงานแบบไม่ยุติธรรม
เรื่องของประเมินผลงานถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะมีโอกาสสูงมากที่พนักงานจะไม่ได้รับความยุติธรรม อันเนื่องมาจากการเลือกปฏิบัติของหัวหน้า เรื่องของการประเมินผลงาน หัวหน้าควรมีความชัดเจน ประเมินแบบตรงไปตรงมาเพื่อลดข้อกังขา หรือ ข้อโต้แย้ง ไม่ใช่เลือกปฏิบัติให้คะแนนผลงานเยอะๆ กับลูกน้องคนโปรด ซึ่งอาจจะไม่ได้ทำงานอะไรจริงจังเลย แต่ในทางกลับกัน กลับกดคะแนนและให้คะแนนประเมินน้อยมาก กับลูกน้องที่ตนเองไม่ชอบ ทั้งๆ ที่พวกเขาทำงานออกมาได้ดี มีผลงานชัดเจน หากพวกเรากำลังตกอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ เราก็สามารถนำเรื่องดังกล่าวไปดำเนินการทางกฎหมายต่อได้
พฤติกรรมที่ 5: ถูกหัวหน้า หรือ เพื่อนร่วมงาน ละลาบละล้วงเรื่องส่วนตัว หรือ นำความลับส่วนตัว ไปเปิดเผยต่อคนอื่นในที่ทำงาน
ทุกคนล้วนมีเรื่องส่วนตัวที่ไม่อยากเปิดเผยให้ใครรู้ทั้งสิ้น แล้วถ้าสุดท้ายความลับดันเกิดรั่วไหลไปเข้าหูคนอื่นๆ โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ชอบนินทาในที่ทำงาน พวกเขานำไปพูดขยายผลต่อจนทำให้เราเกิดความเสียหาย การกระทำแบบนี้ก็ต้องการจัดการดำเนินคดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นเรื่องในครอบครัว เรื่องชู้สาว หรือ เรื่องโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ เรื่องแบบนี้ยิ่งไม่ควรพูดต่อ หรือ ทำให้บุคคลใดๆ ก็ตามเกิดความอับอายทั้งสิ้น หรือ การถูกละลาบละล้วงเรื่องส่วนตัวจนเกินไป ตัวอย่างเช่น คนพวกชอบสอดรู้ สอดเห็นเรื่องของคนอื่น คนกลุ่มนี้มักจะอยากรู้ชีวิตส่วนตัวของคนอื่นมากจนเกินไป จนทำให้ผู้เสียหายรู้สึกอึดอัดได้ เรื่องนี้ก็ถือเป็นอีกหนึ่งความผิดที่เราสามารถนำมาร้องทุกข์ได้เช่นกัน
พฤติกรรมที่ 6: ถูกหัวหน้า หรือ เพื่อนร่วมงาน นำความผิดของเราไปนินทาต่อลับหลัง
คนขี้เม้าท์ ขี้นินทา คนเหล่านี้มีอยู่ในทุกสังคม ยิ่งเป็นในที่ทำงานบอกเลยว่ามีทุกที่ ซึ่งถ้าหากเราดันเกิดทำงานผิดพลาด (ซึ่งย่อมเกิดขึ้นได้) แล้วเพื่อนร่วมงานรู้ จนเกิดการเอาเรื่องของเราไปกระจายข่าวต่อให้คนในที่ทำงานที่ไม่เกี่ยวข้องได้รับรู้ด้วย ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ตัวเรา หรือแม้กระทั่งตัวหัวหน้าเอง ก็ไม่ควรเอาความผิดของลูกน้องไปประจาน ไปนินทาให้คนอื่นฟังด้วยเช่นกัน ซึ่งถ้าหากเราต้องมาเจอกับสถานการณ์แบบนี้แล้วทนไม่ไหว แล้วอยากจะแก้เผ็ดคนเหล่านี้ เราก็สามารถดำเนินการร้องทุกข์ได้เช่นกัน
บทสรุป
ถึงตรงนี้พวกเราก็พอจะเข้าใจและเห็นช่องทางของกฏหมายแล้วว่า สามารถช่วยเหลือเรา ในกรณีที่เราเป็นผู้ถูกกระทำทั้งจากหัวหน้า เจ้าของ หรือ เพื่อนร่วมงาน สำหรับหัวหน้า หรือ ใครก็ตาม ที่กำลังทำผิด ทำร้ายจิตใจผู้อื่น ก็ขอให้รู้เอาไว้ว่า พวกคุณก็มีความเสี่ยงที่อาจจะถูกเอาผิดทางอาญาได้เช่นกัน คนที่มีพฤติกรรมแบบที่ยกตัวอย่างไปแล้วทั้ง 6 ประเภทนั้น หากโดนความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 397 ขึ้นมาจริงๆ คงหางานต่อไป ได้ยาก
บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวกับกฏหมายแรงงานสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ :
โดนสั่งย้าย โดนลดตำแหน่ง หมายความว่า ต้องการบีบให้เราลาออกเองใช่ไหม?