ถ่ายทอดเรื่องราวจากแนวคิดและประสบการณ์ส่วนตัวของนักเรียนไทยในอังกฤษ
สำหรับใครที่ติดตามข่าวคราวต่างประเทศ โดยเฉพาะแถบยุโรป คงจะอกสั่นขวัญหายกันพอสมควร กับเจ้าโควิดตัวร้าย หรือไวรัสโคโรน่า ที่ทางองค์การอนามัยโลก ออกมาประกาศให้เป็นการระบาดใหญ่ในรอบหลายปีเป็นที่เรียบร้อย และตัวเลขผู้ติดเชื้อในแถบยุโรปก็ยังคงรักษาระดับความรุนแรง จนรัฐบาลในหลายประเทศ ต้องออกคำสั่งให้ประชาชนกักตัวอยู่บ้าน
ไม่เว้นแม้แต่ประเทศอังกฤษ ที่นอกจากจะออกประกาศ Lockdown ให้ประชาชนอยู่บ้าน เพื่อช่วยลดภาระของเจ้าหน้าที่บริการสาธารณสุขแห่งชาติ (NHS) และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อแล้ว ก่อนหน้านี้ยังออกแถลงการณ์เกี่ยวกับการใช้นโยบายการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ทำเอาประชาชนรวมถึงผู้นำในหลายประเทศแสดงความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยเฉพาะเหตุผลและความอ่อนไหวด้านมนุษยธรรม
และแน่นอน นักเรียนไทยในอังกฤษก็เริ่มกังวลจนบางส่วนขอเดินทางกลับประเทศไทย เพื่อการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่สะดวกสบายกว่า แต่ผู้เขียนเป็นหนึ่งในจำนวนน้อย ที่ยังคงเลือกที่จะอยู่อาศัยในอังกฤษต่อ และนี่คือ 5 สิ่งที่น่าสนใจท่ามกลางสถานการณ์ COVID-19 ในฐานะคนที่อาศัยอยู่ที่นี่
โรงพยาบาลที่อังกฤษไม่รับรักษาผู้ป่วย: ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ของประเทศอังกฤษ
ต้องยอมรับว่าขนาดและความสะดวกสบายของการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่ประเทศอังกฤษอาจจะไม่ได้สะดวกสบายถ้าเปรียบเทียบกับประเทศไทย เมื่อมีการเตือนเรื่องการระบาดหนักในอังกฤษ ตัวผู้เขียนได้รับข้อความจากศูนย์บริการด้านสุขภาพแห่งชาติเพื่อแนะนำวิธีการสังเกตและดูแลตัวเองเบื้องต้น
เมื่อมีอาการต้องสงสัยว่าจะติดเชื้อหรือบุคคลที่กลับจากกลุ่มประเทศเสี่ยงผ่านการทำแบบประเมินออนไลน์และกักตัวอยู่ในบ้าน แล้วเมื่อไหร่ที่คุณจะมีสิทธิ์ไปโรงพยาบาล?
คำตอบก็คือ เมื่อระดับอาการของคุณเข้าเกณฑ์หรือเรียกให้ง่ายคือ อาการหนักพอที่จะต้องรับการรักษาโดยทีมแพทย์ ด้วยเหตุนี้ หลายคนจึงตกใจกับวิธีการรับมือกับผู้ป่วย แต่ในทางกลับกัน การจัดระบบแบบนี้ มีข้อดีก็คือการคัดกรองประชาชนไม่ให้เกิดการตื่นตูมจนไปรวมตัวกันและสร้างภาระงานที่เกินความจำเป็นให้กับเจ้าหน้าที่ ขณะเดียวกันก็ยังเหลือพื้นที่ให้กับผู้ป่วยโรคอื่นๆด้วย
นโยบาย Lockdown หละหลวมจนไม่ประสบความสำเร็จในการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส
ถึงจะมีการออกคำสั่งให้ประชาชนอยู่บ้านและรักษากฎอย่างเคร่งครัด แต่รัฐบาลอังกฤษยังอนุญาตให้ประชาชนที่จำเป็นต้องออกจากบ้านเพื่อไปทำงาน ไปรับการบริการทางการแพทย์ ไปซื้อของจำเป็นสำหรับการบริโภค และการไปออกกำลังกาย โดยข้อยกเว้นทั้ง 4 ข้อจะต้องได้รับการปฏิบัติภายใต้กฎ Social distancing อย่างเคร่งครัด
เคร่งครัดขนาดไหน?
ก็ขนาดที่ว่า ควบคุมจำนวนคนเข้าออกสถานที่ต่างๆไม่ให้มากเกินกว่า 7-10 คน และถ้าคุณอยู่ใน Super Market แต่บังเอิญเดินเพลินไปใกล้คนอื่นมากเกินไป เจ้าหน้าที่จะตะโกนให้ห่างออกมาทันที หรือหากถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสุ่มตรวจและไม่เข้าเกณฑ์ 4 ข้อข้างต้น เจ้าหน้าที่ตำรวจมีอำนาจในการปรับบุคคลนั้นทันที การยกเว้นแบบนี้ ในความคิดบางคนมองว่า หละหลวมและทำให้ตัวเลขผู้เสียชีวิตในอังกฤษยังคงน่าเป็นห่วงอยู่
แต่หากมาทบทวนดีๆแล้ว ผู้เขียนเห็นถึงความจำเป็น โดยเฉพาะหากงดเว้นไม่ให้ประชาชนออกไปจับจ่ายใช้สอยอุปกรณ์และอาหารจะทำให้เกิดการกักตุนสินค้าอย่างฉับพลันจนเกิดภาวะขาดแคลน รวมถึงส่งผลต่อดุลการค้าในระยะยาวด้วย ทั้งนี้ เมื่ออนุญาตแบบนี้แล้ว super market ที่ปรับเปลี่ยนเวลาเปิด-ปิดให้ลดลงนั้นก็ออกกฎจำกัดจำนวนสินค้าต่อคน เพื่อให้เพียงพอต่อการซื้อของประชาชนทั่วไป
และข้อสุดท้ายที่ผู้เขียนชื่นชมคือ การอนุญาตให้พลเมืองสามารถไปออกกำลังกายได้ 1 ครั้งต่อวัน เป็นการพยายามรักษาความสมดุลทางจิตใจให้กับคนอังกฤษเป็นอย่างมาก เพราะพลเมืองที่นี่ เพิ่งจะผ่านฤดูหนาวที่อากาศค่อนข้างหนาวจนทรมานและมีเวลากลางวันแสนสั้นจนไม่ได้ทำกิจกรรมกลางแจ้งมากนัก อย่างน้อยจากประสบการณ์นักเรียนที่กำลังทำวิจัยอย่างเคร่งเครียดอย่างผู้เขียนก็มองว่า การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตที่กระทันหันเกินไปจะยิ่งทำให้ประชาชนทวีความเครียดและก่อให้เกิดปัญหาทางอารมณ์มากขึ้นตามมา
สิ่งที่นักเรียนไทยในอังกฤษได้รับและได้เรียนรู้จากการอาศัยอยู่ท่ามกลางสถานการณ์พิเศษ
นักเรียนไทยที่ศึกษาอยู่ที่นี่ ได้มีการรวมกลุ่มกันเฉพาะกิจเพื่อกระจายข่าวสารที่เป็นประโยชน์และช่วยสอดส่องดูแลกันอีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีอาสาสมัครให้คำปรึกษาในเรื่องต่างๆ ทั้งเรื่องการเรียน การใช้ชีวิตจากผู้ที่มีประสบการณ์มาก่อน และที่สำคัญที่สุด การเปิดให้คำปรึกษาสำหรับใครที่มีอาการเครียดจนอาจส่งผลต่อสุขภาพจิต

ในขณะเดียวกันทาง Facebook page สถานเอกอัครราชทูตไทยฯ ก็ได้มีการแบ่งปันข้อมูลที่เป็นประโยชน์และวิธีการปฏิบัติตัวให้ปลอดภัยให้กับชาวไทยที่อาศัยอยู่ในอังกฤษ ถือเป็นการช่วยเหลือ และเป็นหลักอย่างดีให้กับคนไทยที่อาศัยอยู่ในอังกฤษ เพราะในช่วงแรกของการระบาดที่ไม่มีใครคาดคิดนี้ คำถามมากมายก็ถูกส่งไปหาเจ้าหน้าที่และนักการทูตให้ช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน
สิ่งที่ผู้เขียนได้เรียนรู้จากการอยู่ท่ามกลางสถานการณ์แบบนี้คือ เพื่อน พี่ น้องคนไทยมีน้ำใจต่อกันมาก ทั้งแบ่งปันแอลกอฮอล์ ผลิตภัณฑ์ล้างมือ หน้ากากอนามัยโดยเฉพาะการอาศัยในเมืองเลสเตอร์ซึ่งร้านอาหารไทยที่มีจำนวนเพียง 2-3 ร้านปิดตัวชั่วคราว การแบ่งปันอาหารไทย ขนมไทย จึงเกิดขึ้น ให้ช่วยบรรเทาความคิดถึงบ้าน และอาการอยากอาหารไทยไปได้มาก
การสื่อสารและแผนรองรับของรัฐบาลอังกฤษ
ผู้เขียนได้มีโอกาสติดตามข่าวสาร แถลงการณ์ ประกาศของรัฐบาลอังกฤษ สำนักข่าว (ผู้เขียนมักจะติดตามข่าวจาก The gardian และ BBC) และจากมุมมองเพื่อนชาวอังกฤษหลากหลายเพศและวัย สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจมากคือ การสื่อสารของทางการสู่ประชาชนค่อนข้างตรงประเด็น กระชับ และมีแผนรองรับอยู่เกือบเสมอ
ตัวอย่างเช่น การประกาศนโยบาย Lockdown มีการประกาศชัดเจนให้ประชาชนรู้และเตรียมการได้เหมาะสม รวมถึงการคาดการณ์ล่วงหน้า ไม่ว่าจะเป็น การประเมินขยายช่วงเวลาในการ Lockdown การคาดการณ์เวลาในการกลับสู่สภาวะปกติ และที่น่าสนใจคือการรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อนั้น ถูกรายงานด้วยตัวเลขที่ตรงกัน ไม่คลาดเคลื่อน แม้ผู้เขียนจะเปรียบเทียบจากหลายสื่อและหลายครั้ง รวมถึงการประเมินเวลาในการ Lockdown ตามช่วงอายุที่แปรผันกับกลุ่มเสี่ยง
นั่นหมายความว่า ทางการได้สื่อสารกับประชาชนอย่างชัดเจนว่า กลุ่มผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงจะต้องเฝ้าระวังตนเอง และถูกกักตัวนานกว่าคนวัยหนุ่มสาวที่มีความเสี่ยงน้อยกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การลำดับความสำคัญในการออกนโยบาย ดังนี้
⁃ การประกาศหยุดการแข่งขันฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ทันทีที่พบว่ามีนักกีฬาและทีมงานได้รับเชื้อ
⁃ การประกาศปิดสถานที่ที่ต้องการการรวมตัวมาก เช่น ผับ บาร์ คอนเสิร์ต
⁃ การนำงบประมาณมาจ่ายชดเชยให้กับกลุ่มธุรกิจต่างๆในอังกฤษถึง 80% เพื่อใช้เป็นการจ่ายให้แก่พนักงาน ถือเป็นการช่วยเหลือจากรัฐบาลในสภาวะฉุกเฉิน
การกระทำแบบนี้จากรัฐบาลอังกฤษนอกจากจะช่วยประคองสภาพคล่องทางเศรษฐกิจแล้ว ยังเป็นการเยียวยาประชาชนทางอ้อม เมื่อสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ การดำเนินการทางเศรษฐกิจทั้งหมดจะกลับมาได้อย่างรวดเร็ว
New cultures ที่คนอังกฤษได้เรียนรู้
หลายคนเคยได้ยินว่า หลังจากภาวะวิกฤติครั้งนี้หมดไป New Normal จะเกิดขึ้นกับมนุษย์ ผู้เขียนเห็นด้วยในหลายประการ โดยเฉพาะในเชิงวัฒนธรรมใหม่ๆที่เกิดขึ้น จะเห็นได้ว่า เกิดการตื่นตัวในการนำวัฒนธรรมการยกมือทักทายคล้ายวัฒนธรรมเอเชียมาใช้เพื่อรักษากฎ social distancing เช่น การไหว้แบบอินเดียหรือแบบไทย ซึ่งมีบุคคลสำคัญระดับประเทศปฏิบัติเป็นเสมือนผู้นำเทรนด์ นั่นก็คือ เจ้าฟ้าชายชาร์ล ถือเป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ค่อนข้างเห็นได้ชัดว่ามีการตระหนักเรื่องนี้อย่างจริงจัง ไม่นับรวมถึงการละทิ้งความเชื่อเดิมๆว่า การปิดหน้ากากอนามัยจะทำในเฉพาะผู้ป่วยเท่านั้น แต่หน้ากากอนามัยสามารถปิดเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อผ่านสารคัดหลั่ง เช่น น้ำลายได้

และที่สำคัญที่สุดที่ผู้เขียนมักจะได้รับการระบายจากเพื่อนชาวอังกฤษและชาวไทยบางส่วนคือ การต้องงดไปบาร์ เพราะชาวอังกฤษนิยมดื่มเบียร์เป็นอย่างมาก จากประสบการณ์การทำงานของผู้เขียนพบว่า คนอังกฤษสามารถนั่งดื่มเบียร์ได้ตั้งแต่เช้าจนถึงเย็น โดยไม่กินข้าวได้ และการดื่มเบียร์และนั่งคุย สังสรรค์กัน ในผับหรือบาร์ช่วงปลายหน้าหนาวต้นหน้าร้อนแบบนี้ ถือเป็นกิจกรรมยอดนิยม เมื่อบาร์ทุกที่ถูกสั่งปิด จึงเกิดการปรับตัวขึ้น เราได้เห็น คู่สามีภรรยา ออกมานั่งดื่มเงียบๆ ที่สวนหน้าบ้าน วัยรุ่นดื่มเบียร์ริมระเบียงในหอพัก หรือแม้กระทั่งการเปิดเพลงดังๆจากบ้านหลังหนึ่งและหลายๆคน เต้นรำกัน จากแต่ละส่วนของบ้านตัวเองถือเป็นการปรับตัวกับวิถีชีวิตที่ไม่คุ้นเคยได้อย่างดี
5 สิ่งที่น่าสนใจที่ผู้เขียนได้รวบรวมมานั้น เป็นเพียงมุมมองจากคนที่ได้รับประสบการณ์โดยตรง และจากการติดตามข่าวสารที่อยากจะแบ่งปันเพื่อให้ผู้อ่านได้ทราบว่า การใช้ชีวิตในช่วงเวลาร้ายๆ นั้นก็ไม่ได้แย่เสมอไป เพราะนอกจากทำให้เรามีสติ ระมัดระวังตัวมากขึ้นแล้ว หากเราเปิดใจให้มากพอ การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆเกิดขึ้นได้เสมอ