เราไม่ได้เจอแค่วิกฤติโควิดเพียงอย่างเดียว แต่หลังจากนี้ เรายังต้องเจอกับวิกฤติอื่นๆ ที่กำลังตามมาอีกหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น เรื่องสงครามทางการค้า ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ ปัญหาภัยเแล้ง และ อื่นๆ
ผลกระทบที่ตามมาก็คือ ปัญหาการว่างงาน สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดว่าในปีนี้ จะมีแรงงานที่เสี่ยงถูกเลิกจ้าง 8.4 ล้านคน ขณะที่เด็กจบใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน 5.2 แสนคนอาจไม่มีงานทำ
วิกฤติครั้งนี้ จึงถือว่าเป็นมรสุมลูกใหญ่มาก ที่มีผลกระทบต่อคนทำงาน แล้วพวกเราคนทำงานมีทางเลือก ที่จะเป็นทางรอดไหม?
“ทักษะแห่งอนาคต หรือ Skills for The Future” จึงเป็นอีกหนึ่ง หัวข้อที่สำคัญที่มีการหยิบยกมาเสวนาในงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM
มันจบแล้วจริงๆ กับรูปแบบการศึกษาเดิมๆ กับระบบการศึกษาของไทยที่ยังมุ่งเน้นการเรียนการสอนแบบท่องจำ ปลูกฝังให้เน้นเฉพาะหลักการ หรือ ทฤษฏี ทำให้ไม่สามารถผลิตบุคคลากร ที่มีทักษะ ความรู้และความสามารถ ที่ตรงกับที่ตลาดงานต้องการ จึงเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เด็กๆ จบใหม่ หางานยาก หรือ บางสายวิชา อาจจะหาไม่ได้เลยก็เป็นได้
จากมุมมองของผู้ประกอบการ ดังที่ คุณ อนุพงษ์ อัศวโภคิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AP (Thailand) กล่าวว่า
“สิ่งที่ผู้ประกอบการอยากได้ จากนักศึกษาที่กำลังจะจบการศึกษา คือ ความพร้อมที่จะทำงานได้เลย”
นั่นหมายถึง นักศึกษาควรจะมีการเตรียมความพร้อม และมีประสบการณ์ทำงานในสายงาน หรือ เกี่ยวกับงานที่จะสมัครมาก่อนบ้าง ไม่ใช่เข้ามาแล้วค่อยมาเรียนรู้ในองค์กร กว่าจะทำงานได้ก็ใช้เวลาหลายเดือนเป็นต้น
สำหรับแอดมิน โดยส่วนตัวเห็นด้วยกับประเด็นนี้ เพราะโลกเปลี่ยนไปเร็วมาก พวกเราเองก็รู้สึกได้ หลายๆ อาชีพ ที่เราคุ้นเคยในอดีตก็หายไปแล้ว หลายอาชีพก็ถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยี คุณ อนุพงษ์ ยังเล่าให้ฟังอีกว่า
ข้อมูลจากมหาวิทยาลัย Oxford บอกว่า “งานที่เราเห็นในปัจจุบัน ในอีก 10 ปีข้างหน้า งานกว่า 40% จะหายไป แต่ก็จะมีตำแหน่งงานใหม่โผล่ขึ้นมา”
ฟังดู เหมือนน่ากลัวนะครับ แต่สำหรับแอดมิน มองว่าเรื่องนี้น่าจะรุนแรงและรวดเร็วมากกว่านั้น เพราะจากสถานการณ์ล่าสุด วิกฤติรอบนี้น่าจะเป็นตัวเร่งปฏิกริยา ทำให้งานในปัจจุบันหายไปเร็วกว่าเดิมและจำนวนมากกว่าเดิม อย่างแน่นอน แต่อีกด้านนึง มันก็มีโอกาส เพราะมีตำแหน่งงานเกิดใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมายด้วยเช่นกัน
ทำให้ “เรื่องของการพัฒนาตัวเองจึงเป็นเรื่องสำคัญ และ เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้อีกต่อไปแล้ว”
เพราะงานเก่าก็กำลังจะหายไป งานใหม่ๆ กำลังจะเกิดขึ้น หากเราต้องการเป็นที่ต้องการของตลาดงาน เราก็ต้องมีทักษะใหม่ๆ ที่เป็นที่ต้องการของผู้ประกอบการทั้งวันนี้ และอนาคตด้วยเช่นกัน ดังนั้น คนที่ไม่พัฒนาตนเอง ไม่หมั่นอัปเดตความรู้ในสายอาชีพของตนเอง รวมไปถึงไม่เพิ่มเติมทักษะใหม่ๆ ต่อไป คงจะไม่มีงานทีดีๆ เหลือให้ทำอย่างแน่นอน
ทุกคนไม่ว่าจะเป็นคนทำงาน นิสิตนักศึกษาที่กำลังจะจบ หรือ แม้กระทั่งสถาบันการศึกษา จำเป็นอย่างมากที่ต้องปรับตัว ก่อนที่จะสายเกินไป เพราะเราก็รู้อยู่แล้วว่าทักษะบางตัว หรือ วิชาบางตัว หมดอายุ หรือ ใช้ไม่ได้กับโลกในการทำงานอีกต่อไปแล้ว
เราคงจะกลับไปโทษระบบการศึกษาไทย ว่าเป็นต้นเหตุ ก็คงไม่ได้ เอาเป็นว่า เราควรมองไปข้างหน้า และเดินหน้าหาวิธีการ ว่าจะทำอย่างไร ให้คนทำงาน หรือ นิสิตนักศึกษา ต้องมีทักษะอะไร ที่จะทำให้ไม่ตกงาน จะดีกว่า
แล้วสำหรับคนที่ทำงานอยู่แล้ว ซึ่งมีจำนวนมากในตอนนี้ “คนทำงานควรจะต้องมีทักษะอะไร ที่จะทำให้ไม่ตกงาน?”
ด้วย เพราะปัญหาที่เราพบส่วนมาก ก็คือ นิสิตนักศึกษาที่จบใหม่ ยังไม่มีความพร้อม ไม่มีความรู้และไม่มีทักษะเพียงพอ ที่จะทำงาน พอมาเริ่มทำงาน ก็ต้องมานับหนึ่งกันใหม่ อาศัยที่ทำงานเป็น ที่ฝึกอบรม กว่าจะทำงานได้จริง ก็ต้องใช้เวลาหลายเดือน หรือ บางตำแหน่งก็เป็นปี
นอกจากนี้ คนทำงานปัจจุบัน ความรู้ที่มีก็เริ่มที่จะใช้ประโยชน์ต่อไปไม่ได้แล้ว แต่การจะให้พวกเขากลับไปเรียนรู้ในระบบการศึกษาในปัจจุบัน ระบบการศึกษาตอนนี้ก็อาจจะยังไม่สามารถให้องค์ความรู้ หรือ ทักษะใหม่ๆ ที่จำเป็น หรือ เป็นทักษะที่ใช้ทำงานได้จริงตามที่ผู้ประกอบการ หรือ โลกแห่งการทำงานต้องการได้
นั่นจึงเป็นที่มาที่ทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องสร้างศูนย์เรียนรู้ขึ้นมา โดยเป็นรูปแบบการเรียนรู้แบบใหม่ที่ตอบโจทย์รูปแบบการเรียนรู้ที่เหมาะกับคนทำงาน ที่มาพร้อมกับทักษะใหม่ๆ ที่เป็นทักษะที่สำคัญตอนนี้ และ รองรับอนาคต สำหรับคนทำงาน อย่าง SEAC (บริษัทในเครือของ AP (Thailand) รายละเอียดเพิ่มเติม https://www.yournextu.com)
คุณ อนุพงษ์ ยังย้ำอีกว่า หนทางรอดของคนทำงาน คือ คนทำงานทุกคนจะต้องรีบปรับตัวเข้าหาความเป็น New Normal หรือชีวิตวิถีใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นอีกไม่นานนี้ ด้วยการเริ่มตั้งเป้าหมายในชีวิตก่อนเป็นลำดับแรก ว่าตนเองต้องการอะไร อยากประกอบอาชีพอะไร และ ต้องมี Mindset ที่ดี ที่รักและใส่ใจที่จะเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา รวมไปถึงการมี Outward Mindset กล่าวคือ ให้ความสำคัญกับผู้อื่นเช่น คนรอบข้างไม่น้อยไปกว่าความสำคัญต่อตัวเราเอง
เมื่อเรามีเป้าหมายแล้ว ประกอบกับมี Mindset ที่ดีแล้ว คุณ อนุพงษ์ ยังแนะนำอีกว่า ทักษะที่คนทำงานรวมไปถึงนิสิตนักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ จำเป็นจะต้องมี เพื่อเป็นหลักประกันว่า พวกเราจะเป็นที่ต้องการของตลาดงานในตอนนี้ และ สามารถเติบโตต่อไปต่อได้กับโลกอนาคตนั่นก็คือ
ทักษะที่ 1 เรื่อง ความรู้พื้นฐาน : โดยจะต้องเป็นชุดความรู้ล่าสุดในสายงานที่คนทำงานทำอยู่
ทักษะที่ 2 เรื่อง Digital Literacy : ไม่ว่าจะเป็นทักษะการเขียนโปรแกรม หรือ ทักษะการใช้งาน โปรแกรมต่างๆ ล้วนจำเป็นทั้งสิ้น เพราะงานต่อจากนี้ไป จะอยู่ในโลกดิจิทัล มากกว่าครึ่งอย่างแน่นอน
ทักษะที่ 3 เรื่อง Soft Skills : ซึ่งประกอบไปด้วยหลายทักษะที่จำเป็น อาทิเช่น Leadership, Decision Making, Problem Solving, Creativity, Communication และ Collaboration Skills เป็นต้น จะเห็นได้ว่า ทักษะ Soft skills เหล่านี้ ก็ยังมีความจำเป็นเสมอ และ ยังเป็นทักษะที่ผู้ประกอบการ และ อนาคตยังเป็นที่ต้องการอีกด้วย
ทักษะที่ 4 เรื่อง Learning Skill : เพราะการเรียนรู้ ไม่มีที่สิ้นสุด เราจึงไม่ควรหยุดอยู่กับชุดความรู้เดิมๆ เราจึงจะต้องผลักดันตัวเองให้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ เพื่อก้าวไปให้ทันกับโลกแห่งการเปลี่ยนแปลง และ โลกแห่งอนาคตที่กำลังจะมาถึง
ส่ิงที่ได้ฟังจากคุณ อนุพงษ์ อัศวโภคิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AP (Thailand) ในงานเสวนา THE STANDARD ECONOMIC FORUM หัวข้อ “Skills For The Future” ครั้งนี้ ทำให้เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ทั้งในมุมของสถาบันการศึกษา และ การขับเคลื่อนด้านการศึกษาจากภาคเอกชน
สิ่งที่ได้ชัดเจนจากเสวนาครั้งนี้ ก็คือ ตอนนี้ เรารู้แล้วว่า เราต้องพัฒนาตนเองแบบไหน? อย่างไร? และทักษะอะไรที่มีแล้ว ไม่ตกงาน หรือ มีแล้วก้าวหน้าได้อย่างแน่นอน
ดังนั้น อย่ามัวรอช้า ถึงเวลาที่เราต้องเริ่ม upgrade ตัวเองอีกครั้ง กับทักษะ 4 อย่างนี้ รับรองว่า เรามีงานดีๆ ทำต่อไป อย่างแน่นอน
Reference: THE STANDARD ECONOMIC FORUM – Skills for The Future