Problem-Solving Skills หรือ ทักษะการแก้ปัญหา ถือเป็นทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้แทบกับทุกเรื่องไม่ว่าจะเป็นเรื่องงานหรือการดำเนินชีวิต ดังนั้นคนที่แก้ปัญหาเก่ง หรือ ทำได้ดี ก็ย่อมเป็นที่ต้องการเสมอ
หากคุณกำลังมองหางาน กำลังอยากที่จะการเปลี่ยนงาน หรือความก้าวหน้าในหน้าที่การงานของคุณ คุณจำเป็นต้องอัพเดทสิ่งที่ฝ่ายบุคคล นายจ้าง หรือบริษัทส่วนใหญ่กำลังมองหาอยู่กันสักหน่อย ถ้าเทียบกับเมื่อก่อน การจบเกียรตินิยม การทำกิจกรรมต่างๆ มากมาย หรือการมีประวัติทำจิตอาสา หรือการใส่ประสบการณ์ในการฝึกงานกับบริษัทชั้นนำ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่บริษัทต่างๆ มองหาเป็นอันดับแรกๆ แต่ตอนนี้ด้วยสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปธุรกิจและอุตสาหกรรมต่างๆ ก็มีการเปลี่ยนไปตามกาลเวลาบวกกับการมาของเทคโนโลยี ทำให้สิ่งที่กำลังเป็นที่ต้องการมากกว่าตัวเลขเกรดเฉลี่ย นั่นก็คือ “ทักษะการแก้ปัญหา”
“ทักษะการแก้ปัญหา มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเส้นทางอาชีพ”
ไม่ว่าคุณจะทำงานตำแหน่งอะไร บริษัทขนาดเล็กหรือใหญ่ คุณจะต้องมีโอกาสได้เผชิญกับปัญหาทั้งใหญ่และเล็กตลอดเวลา หากคุณเป็นหนึ่งในคนทำงานที่ต้องการประสบความสำเร็จในเส้นทางที่เลือก จงรู้ไว้เลยว่าความสามารถในการแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพถือเป็นหนึ่งตัวช่วยที่จะทำให้เส้นทางการทำงานของคุณในอนาคตราบรื่นขึ้นอีกเยอะ แต่แค่มีทักษะความสามารถนี้อาจจะยังไม่พอ คุณต้องแสดงมันออกมาให้ทุกคนเห็นได้ด้วย
ทักษะการแก้ปัญหาคืออะไร?
หากจะอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ทักษะการแก้ปัญหาคือทักษะที่ช่วยให้คุณสามารถบอกได้ว่าปัญหาคืออะไร? ควบคุมและกำหนดสถานการณ์ที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงได้ หากคุณสามารถบอกได้ว่าปัญหาที่คุณเผชิญคืออะไร? ทักษะการแก้ปัญหาจะทำให้คุณระบุผลลัพธ์ที่ดีที่สุดที่คุณต้องการได้โดยวางแผนกระบวนการที่นำมาซึ่งผลลัพธ์นั้น ประเมินกระบวนการออกมาว่าจะสำเร็จหรือล้มเหลว และหากล้มเหลวจะแก้ไขอย่างไร?
“คนที่สามารถนำวิธีการแก้ปัญหามาวางบนโต๊ะได้ จะถูกมองว่าเป็นคนที่สามารถทำสิ่งต่างๆให้สำเร็จได้”
ความสามารถในการแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพสามารถช่วยให้คุณประสบความสำเร็จและสร้างความประทับใจได้ ไม่ว่าคุณจะมีงานหรืออาชีพประเภทใดที่คุณวางแผนจะทำ ยิ่งคุณก้าวหน้าในอาชีพมากเท่าไร ทักษะเหล่านั้นยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นเท่านั้น
6 ขั้นตอนในการแก้ปัญหา และทักษะที่จำเป็นสำหรับแต่ละขั้นตอน
เรามาเช็คกันดีกว่าว่าคุณมีทักษะแก้ปัญหานี้แล้วหรือยัง และหากยังลองทำตาม 6 ขั้นตอนนี้ดู
1. ระบุและประเมินปัญหา
คุณไม่สามารถแก้ปัญหาได้หากคุณยังไม่รู้ว่าปัญหาคืออะไร? ดังนั้นขั้นตอนแรกคือการพิจารณาว่าปัญหาอะไรที่คุณกำลังเผชิญอยู่ เมื่อทราบแล้วให้ประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบทางคน ทรัพยากร บริษัท หรือชื่อเสียง ค้นหาขอบเขตของปัญหาว่าสามารถสร้างความเสียหายวงกว้างได้ขนาดไหน และเราอยากจะจำกัดให้อยู่ในวงขนาดไหน เมื่อคุณตอบคำถามได้ทั้งหมดคุณจะสามารถหาวิธีแก้ไขที่เหมาะสมได้ในที่สุด
ทักษะที่จำเป็นในขั้นตอนนี้ประกอบด้วย
-การวิเคราะห์
-ใส่ใจในรายละเอียด
-การเก็บรวบรวมข้อมูล
-การคาดเดา
2. ไปที่แหล่งที่มาของปัญหา
เมื่อรู้แล้วว่าปัญหาและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นคืออะไร? ก็ถึงเวลามองหาต้นตอของปัญหาและสาเหตุของมันแล้ว เนื่องจากการระบุแหล่งที่มาของปัญหาจะทำให้คุณได้ข้อมูลเชิงลึกมาประกอบการตัดสินใจเกี่ยวกับวิธีการแก้ไขปัญหานั้น ในระหว่างขั้นตอนการแก้ปัญหานี้ ความอยากรู้อยากเห็นเป็นกุญแจสำคัญ คุณจะต้องใช้มันเพื่อสำรวจปัจจัยต่างๆ ทั้งหมดที่อาจมีส่วนทำให้เกิดปัญหา
ทักษะที่จำเป็นในขั้นตอนนี้ประกอบด้วย
-การวิเคราะห์
-ระดมความคิด
-ความคิดสร้างสรรค์
-การคิดอย่างมีวิจารณญาณ
-ความอยากรู้
-การวิจัย
3. ระดมความคิดเพื่อการแก้ปัญหาที่เป็นไปได้
คุณต้องระดมความคิดมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับว่าคุณกำลังเผชิญปัญหาอะไรกันอยู่? ถ้าปัญหาเล็กและตรงไปตรงมา คุณอาจใส่ตัวเลือกในการแก้ไขลงไปเพียงแค่ 2-3 ตัวเลือกก็พอแล้ว แต่หากเป็นปัญหาใหญ่ ให้ลองใช้เวลาคิดให้ไกลกว่านั้นออกไปอีก เพิ่มความชัดเจนในการนำไปสู่วิธีแก้ปัญหาที่ดีกว่าและยั่งยืนกว่า ยิ่งทุกคนมีส่วนร่วมในการระดมความคิดมากเท่าไรยิ่งดีเท่านั้น เพราะเราจะได้มุมมองที่แตกต่างกันออกไปในหลายด้าน
ทักษะที่จำเป็นในขั้นตอนนี้ประกอบด้วย
-ระดมความคิด
-การสื่อสาร
-ความคิดสร้างสรรค์
-การตัดสินใจ
-การฟัง
-ความอดทน
-การทำงานเป็นทีม
4. ประเมินวิธีการแก้ปัญหา
เมื่อคุณมีรายการวิธีแก้ปัญหาที่เป็นไปได้จากการระดมความคิดแล้ว ต่อไปคือการตรวจสอบให้แน่ใจว่าแต่ละวิธีนั้นเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุดหรือไม่? โดยคุณต้องจำกัดวิธีเหล่านั้นให้แคบลงอย่างรอบคอบ เพื่อให้ประสบความสำเร็จในระหว่างขั้นตอนการแก้ปัญหานี้ คุณจะต้องสามารถเจาะลึกลงไปในแต่ละวิธี และประเมินว่ามันเป็นไปได้อย่างไร
ทักษะที่จำเป็นในขั้นตอนนี้ประกอบด้วย
-การวิเคราะห์
-ตรวจสอบข้อเท็จจริง
-การคาดเดา
-การจัดลำดับความสำคัญ
-การวิจัย
-การทำงานเป็นทีม
5. เลือกทางออกที่ดีที่สุด
เมื่อคุณจำกัดตัวเลือกการแก้ปัญหาให้แคบลงและชั่งน้ำหนักข้อดีข้อเสียแต่ละวิธีแล้ว ต่อไปก็ถึงเวลาที่คุณจะเลือกวิธีที่ดีที่สุด หากปัญหามีความซับซ้อนหรือจะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อบริษัทของคุณซึ่งเกินกว่าระดับความรับผิดชอบของคุณ ทางที่ดีคือนำเสนอแนวทางแก้ไขที่เป็นไปได้ให้กับหัวหน้าของคุณหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียคนอื่นๆ และปล่อยให้พวกเขาเป็นผู้ตัดสินใจในขั้นสุดท้าย
ทักษะที่จำเป็นในขั้นตอนนี้ประกอบด้วย
-การวิเคราะห์
-การสื่อสาร
-การตัดสินใจ
-การโน้มน้าวใจ
-คาดการณ์
-การทำงานเป็นทีม
6. ใช้การตัดสินใจและไตร่ตรองผลลัพธ์
การทำวิธีแก้ปัญหาไปใช้และทำผลลัพธ์ออกมาได้ดี หมายถึงการพัฒนาแผนและการประสานงานกับคนอื่นๆในทีม ก่อนจะปิดจบปัญหานี้ไป คุณต้องย้อนกลับไปประเมินว่าวิธีแก้ปัญหานั้นจัดการปัญหาได้จริงหรือไม่ ได้ผลลัพธ์ตามที่คุณประเมินไว้ไหม หรือเกิดผลลัพธ์ใหม่ซึ่งไม่ได้อยู่ในรายการการประเมินของคุณ ติดตามเพื่อให้แน่ใจว่าวิธีที่ตัดสินใจไปแก้ปัญหาได้จริงและไม่ก่อให้เกิดปัญหาใหม่ตามมาทีหลัง
ทักษะที่จำเป็นในขั้นตอนนี้ประกอบด้วย
-ความสามารถในการปรับตัว
-การวิเคราะห์
-การสื่อสาร
-การทำงานร่วมกัน
-การวิเคราะห์ข้อมูล
-การมอบหมายงาน
-การรับฟังข้อเสนอแนะ
-การตั้งเป้าหมาย
-การจัดการและวางแผนโครงการ
-การจัดการเวลา
วิธีพัฒนาทักษะการแก้ปัญหาของคุณ
คนเก่งไม่เคยหยุดเรียนรู้เป็นเรื่องจริง หากคุณต้องการพัฒนาทักษะการแก้ปัญหาของคุณให้ลองพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญที่เขาทำงานกับความท้าทาย อาจต้องพบกับการตัดสินใจเพื่อแก้ไขปัญหาทุกวัน ปัญหาที่ยิ่งใหญ่ขนาดที่เราแก้ไขไม่ได้ในวันนี้ อาจเป็นปัญหาที่เขาพบมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน และหากคุณเริ่มต้นเรียนรู้จากเขา มันอาจกลายเป็นปัญหาเล็กๆที่คุณแก้ได้โดยไม่ต้องเปลืองแรงเลย
“ฝึกฝน เช่นเดียวกับสิ่งอื่นๆ”
หากคุณอยากปั่นจักรยานให้เก่ง คุณต้องปั่นมันทุกวัน อาจจะล้มบ้างแต่ครั้งต่อไปคุณอาจจะไม่ต้องล้มในโค้งเดิมอีก หากคุณต้องการพัฒนาทักษะการแก้ปัญหา คุณต้องฝึกฝนการแก้ปัญหานั้นให้บ่อยเท่าที่คุณจะทำได้ คนส่วนใหญ่กระโดดไปที่คำตอบที่ง่ายในการแก้ปัญหา ครั้งต่อไปที่คุณเผชิญกับปัญหา แทนที่จะรีบร้อนไปหาวิธีแก้ปัญหาที่ง่าย ลองใช้เวลากับกระบวนการแก้ปัญหาทั้งหมดก่อนที่คุณจะเริ่มตัดสินใจแก้ปัญหาอะไรที่คุณเผชิญ
เมื่อทักษะการแก้ปัญหากำลังเป็นที่ต้องการ แค่เพียงฝึกฝนให้คุณมีทักษะการแก้ปัญหาที่ยอดเยี่ยมยังไม่พอให้บริษัทต่างๆ ได้รับรู้ คุณต้องรู้จักวิธีการแสดงให้พวกเขาเห็นด้วยว่าคุณมีทักษะนี้อยู่ในมือด้วย
- ในเรซูเม่ (RESUME) : คุณสามารถแสดงให้ผู้ว่าจ้างในอนาคตของคุณเห็นได้ว่า คุณเป็นนักแก้ปัญหาที่ยอดเยี่ยมได้จากเรซูเม่ของคุณ ในจุดที่คุณกำลังเขียนประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมาให้เพิ่มประเด็นในเรื่องความท้าทายที่คุณเคยเผชิญเข้าไปด้วย อธิบายสรุปสั้นๆ ว่าคุณเจอปัญหาอะไร วิธีแก้คืออะไร ที่สำคัญที่สุดคือคุณสร้างผลลัพธ์เชิงบวกอะไรจากการแก้ปัญหานั้น
- ในจดหมายสมัครงาน : คุณมีพื้นที่และความยืดหยุ่นมากในการแสดงทักษะการแก้ปัญหาของคุณลงในจดหมายสมัครงาน ใช้พื้นที่นี้ในการบอกเล่าเรื่องราวสั้นๆ เกี่ยวกับช่วงเวลาที่คุณได้แก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับงานที่คุณสมัคร ปัญหาคืออะไร คุณเจอปัญหานี้ได้อย่างไร แก้ไขได้อย่างไร ผลลัพธ์ที่ได้คืออะไร และบทเรียนอะไรที่คุณได้เรียนรู้
- ระหว่างการสัมภาษณ์ : ขั้นตอนการสัมภาษณ์เป็นโอกาสที่ดีที่สุดสำหรับทักษะการแก้ปัญหาของคุณที่จะฉายแวว ดังนั้นคุณจะต้องเตรียมตัวให้พร้อม เลือก 2-3 สถานการณ์ที่คุณได้มีโอกาสใช้ทักษะการแก้ปัญหาของคุณ คุณอาจขอให้ผู้สัมภาษณ์แบ่งปันประเด็นหรือปัญหาบางอย่างที่อาจได้พบเมื่อคุณถูกเลือกให้ทำงานในตำแหน่งที่คุณสมัคร และ ถ้าเขาถามกลับมาที่คุณว่า ถ้าเป็นคุณ คุณจะทำอย่างไร? อย่าตื่นตกใจ หากคุณมีเรื่องราวของปัญหาที่คล้ายกันในอดีต นี่เป็นโอกาสที่ดีในการหยิบขึ้นมาเล่า โปรดจำไว้ว่าผู้สัมภาษณ์ไม่ได้คาดหวังให้คุณคิดวิธีแก้ปัญหาโดยละเอียดสำหรับปัญหาที่บริษัทของพวกเขากำลังเผชิญอยู่ พวกเขาแค่ต้องการทราบว่าคุณจะเริ่มคิดอย่างไรเกี่ยวกับปัญหาเหล่านั้นหากคุณได้รับการว่าจ้าง
บทสรุป
ยิ่งคุณก้าวหน้าทางสายอาชีพมากเท่าไร ความรับผิดชอบในมือที่คุณต้องมีก็ยิ่งมากขึ้นตามไปด้วย เพราะฉะนั้นคุณอาจได้พบกับปัญหาที่ถาโถมเข้ามาให้แก้ไขนับไม่ถ้วนในขณะที่กำลังเส้นทางไปสู่ความสำเร็จในสายอาชีพ บางปัญหาอาจจะเคยเจอมาแล้วเมื่อเดือนที่แล้วหรือปีที่แล้ว และบางปัญหาก็อาจจะเป็นปัญหาที่ใหม่เกินกว่าจะดึงวิธีแก้ไขเก่าๆ ที่เคยใช้มาใช้ได้ แต่จำไว้ว่าไม่มีอะไรเกินความสามารถของคุณ หากคุณมองปัญหาเป็นการเรียนรู้ การหาวิธีแก้เป็นการค้นคว้า การใช้วิธีแก้ไขเป็นการนำเสนอ เมื่อจบมันจะกลายเป็นประสบการณ์ก้อนโตที่คุณจะสามารถใช้ไปได้ตลอดอายุการทำงานของคุณ
“ยิ่งคุณก้าวหน้าไปไกลเท่าไร ปัญหาจะซับซ้อนขึ้น คลุมเครือมากขึ้น ไม่มีความแน่นอน และมีความเสี่ยงมากขึ้น มีเพียงคนที่สามารถแก้ปัญหาได้เท่านั้นที่จะได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนตลอดเส้นทาง”
Reference:
How to Improve Your Problem-Solving Skills
บทความแนะนำ:
Empathy skill- ความเห็นอกเห็นใจ สิ่งสำคัญที่หัวหน้าควรต้องมี