The Best Job Candidates Are the Best Storytellers – ผู้สมัครงานที่ดีที่สุด ต้องเป็นนักเล่าเรื่องที่ดีที่สุดเช่นกัน เพราะมันเป็นเรื่องของการสร้างความประทับใจและความน่าเชื่อถือ
ในเรื่องของการหางานใหม่ อุปสรรคที่คนทำงานมักเจอกันบ่อยๆ ก็คือ เรื่องของการสัมภาษณ์ หลายคนมีความสามารถ ประสบการณ์ตรงแป๊ะ ผลงานล้นเหลือ แต่ก็มาตกม้าตายตรงกระบวนการสัมภาษณ์ ดังนั้นในบทความนี้ อ้างอิงมาจากบทความของทาง Harvard Business Review จะมาแนะนำวิธีการเตรียมตัวก่อนไปสัมภาษณ์งาน ว่าเราต้องเปลี่ยนมุมมองและวิธีการเดิมๆ อย่างไรบ้าง และ ควรทำอย่างไร เพื่อให้การสัมภาษณ์งานครั้งถัดไป ให้เราได้เข้ารอบและมีโอกาสได้งานมากที่สุด
เรื่องของการสัมภาษณ์งาน
หลังจากที่เราได้รับโอกาสในการเรียกตัวไปสัมภาษณ์งานบริษัทที่เราได้ยื่นสมัครไป สิ่งที่คนส่วนใหญ่มักจะทำก็คือ รีบหาเสื้อผ้าที่คิดว่าเรียบร้อยและดูดีที่สุดเพื่อเตรียมเอาไว้ใช้ในวันสัมภาษณ์งาน เปิดเข้าหน้าเว็บไซต์ของบริษัทดังกล่าวเพื่ออ่านประวัติการก่อตั้งบริษัท วิสัยทัศน์ พันธกิจ และรายชื่อผู้บริหาร โดยพยายามเร่งจำมันอย่างรวดเร็วราวกับพยายามจำคำขวัญโรงเรียน เพราะตอนสัมภาษณ์เข้าเรียนประถมหรือมัธยม คำขวัญโรงเรียนน่ะฮิตที่สุดแล้วใช่ไหมล่ะ แต่ในเรื่องของการสัมภาษณ์งาน คนที่จำคำขวัญได้แม่นที่สุด หรือ จำประวัติของบริษัท หรือ ชื่อผู้บริหารได้ อาจจะไม่ใช่คนที่ได้เข้างานก็ได้ แต่คนที่เล่าเรื่องได้ดีที่สุดต่างหากที่จะได้งาน
“มันคือเรื่องของความประทับใจ”
คำว่า “ประทับใจ” ไม่ได้มีความหมายเพียงแค่ความหมายเดียวเท่านั้น ถ้าเราลองคัดเลือกความหมายที่ดูแล้วว่าจะเกี่ยวข้องกับคำว่า “ประทับใจ” มากที่สุดมารวมกัน มันจะหมายถึงการได้รับการยอมรับ การเพิ่มระดับความสนใจ และอาจจะยังหมายถึง การประทับ การผนึก หรือความตั้งใจอย่างมากในการทิ้งร่องรอยของตัวเราเอาไว้อย่างถาวรในที่ที่เราต้องการอีกด้วย ซึ่งหากเปรียบเทียบกับโรคระบาด เราก็คือพาหะ หากใครติดโรคระบาดชนิดนี้ ก็จะมีภาพทรงจำที่เกี่ยวกับเราฝังอยู่ในหัวของพวกเขานั่นเอง
เพื่อให้เข้าใจมากขึ้น ลองนึกถึงเรื่องราวของใครสักคนนึง ที่เรามีความประทับใจในตัวเขามากๆ ลองถามตัวเราเองดูว่าทำไมเราถึงนึกถึงคนเหล่านี้อยู่บ่อยๆ เรื่องราวอะไรที่เกี่ยวกับเขาที่เราจำได้ไม่รู้ลืม … นี่แหละ เราได้ติดโรคระบาดของคนเหล่านี้มาแล้ว
ในสถานการณ์ที่ตอนนี้มีแต่คนอยากเปลี่ยนงาน มีคนจำนวนมากมายกำลังมองหาโอกาสทางการทำงาน ไม่ว่าจะเด็กจบใหม่หางานทำครั้งแรก หรือคนทำงานที่ทำงานมานานแล้วแต่กำลังเผชิญหน้ากับอาการหมดไฟกับที่ทำงานเดิมและกำลังต้องการมองหาโอกาสใหม่ๆ ในการทำงาน ซึ่งถ้าเราเป็นหนึ่งในคนกลุ่มนี้ และกำลังมองหาโอกาสใหม่ๆ แต่ก็ยังไม่มีวิธีการเตรียมตัวที่ถูกต้อง สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เราต้องจำเอาไว้ให้แม่นเลยว่าอย่าทำเด็ดขาด เช่น
1.ใช้เวลาทั้งหมดไปกับการท่องจำข้อมูลบริษัท
การหาข้อมูลเกี่ยวกับบริษัท อาทิเช่น เรื่องราวตั้งแต่วันก่อตั้ง ชื่อนามสกุลผู้ก่อตั้ง รายชื่อผู้ถือหุ้น เรื่องราวของบริษัทตั้งแต่ล้มเหลวจนกระทั่งถึงการประสบความสำเร็จอย่างปัจจุบัน บางคนก็ถึงขั้นจำยันบ้านเลขที่และจำนวนพนักงานในบริษัทได้เลย เราไม่จำเป็นต้องทำถึงขนานนี้ ถึงแม้ว่าผู้สมัครทุกคนจะพยายามทำแบบนี้ก็ตาม เรื่องพวกนี้ผู้สัมภาษณ์เขารู้เรื่องอยู่แล้ว เราอาจจะไม่จำเป็นต้องมาทวนความจำให้กับเขาก็ได้ อันที่จริงแล้วผู้สัมภาษณ์ เขากำลังมองหาสิ่งที่เราสามารถให้เขาเพิ่มเติมได้ต่างหาก
2. นอนเก็งคำถาม
เพราะชีวิตการทำงาน ไม่มีเฉลย มันไม่ใช่มีกฏตายตัวว่าในการสัมภาษณ์งานจะต้องตอบแบบนี้ แบบนั้น ถึงจะได้งาน เพราะคำตอบที่เราเตรียมไปมันอาจจะใช้ไม่ได้
หากเราเป็นอีกคนนึงที่กำลังทำเหมือนกันคนทั่วไปในเวลาที่ต้องเตรียมตัวเพื่อไปสัมภาษณ์งาน ด้วยการเข้า Google เพื่อค้นหาข้อมูล เช่น “เคล็ดลับในการสัมภาษณ์งานให้ได้งาน” หรือ “คำถามยอดฮิตตอนสัมภาษณ์งาน” เรากำลังทำแบบนี้หรือเคยทำแบบนี้หรือเปล่า?
ซึ่งสิ่งที่บทความยอดนิยมเหล่านั้นบอกก็คือ การหาจุดแข็งและจุดอ่อนของตัวเองให้เจอ นำเสนอจุดแข็งของตัวเองและบอกว่าตัวเองทำอะไรได้บ้างใช่ไหม? ตอบตอบที่เราเตรียมไปในประเด็นเหล่านี้อาจจะทำให้ผู้สัมภาษณ์เขาเบื่อเอาได้เพราะมันกลายเป็นเรื่องไม่น่าสนใจก็เป็นได้
3. พูดความจริงทั้งที่เรื่องเหล่านั้นก็มีอยู่ใน Resume
เมื่อถูกสัมภาษณ์ แล้วเราเอาแต่เล่าประวัติการศึกษาหรือเกรดเฉลี่ยที่น่าภาคภูมิใจของตัวเราเอง หรือ พูดถึงรางวัลที่เราได้รับจากการแข่งขันต่างๆ ว่าเรามีความโดดเด่นมากมายแค่ไหนจากที่ที่เราทำงานผ่านมา หรือ ในที่ที่เรากำลังทำงานอยู่ในปัจจุบัน
เรารู้อะไรไหม? ในเรซูเม่ของเรามันก็บอกเรื่องเหล่านี้อยู่แล้ว หากเราพูดเรื่องเหล่านี้ไป มันอาจจะไม่สามารถสร้างความประทับใจอะไรให้แก่ผู้สัมภาษณ์ได้เลย หลังจากที่เราเดินออกไปจากห้องสัมภาษณ์แล้วตัวตนของเราก็จะเหลือเพียงความว่างเปล่า ไร้ซึ่งความน่าจดจำ อันที่จริงแล้ว ข้อเท็จจริงในเรซูเม่ของเราไม่ใช่สิ่งที่เราควรพูดเพื่อสร้างความประทับใจ เพราะอย่าลืมว่าที่เราถูกเรียกมาสัมภาษณ์ก็เพราะผู้สัมภาษณ์เขาอ่านมันมาแล้วถึงได้เรียกตัวเรามา ดังนั้นไม่ต้องฉายเรื่องเดิมซ้ำในตอนสัมภาษณ์
อะไรคือสิ่งที่เราควรทำ ก่อนไปสัมภาษณ์งาน?
หากเราพอที่จะมีประสบการณ์การการสัมภาษณ์งานมาบ้าง เราคงคุ้นเคยกับคำถามยอดนิยม ตัวอย่างเช่น “เล่าเรื่องเกี่ยวกับตัวคุณให้ฟังหน่อย” หรือ “คุณช่วยอธิบายความท้าทายที่คุณเคยเผชิญมาได้ไหม” ซึ่งในคำถามเหล่านี้เป็นคำถามที่เราจะได้รับประโยชน์เต็มๆ หากเรามีเรื่อราวที่ยอดเยี่ยม และมีวิธีการเล่าเรื่องให้น่าสนใจพอที่จะทิ้งร่องรอยเล็กๆ ของเราเอาไว้ในภาพจำและความทรงจำของผู้ฟัง (ในที่นี้คือผู้สัมภาษณ์เรา)
“คุณวาดภาพตัวเองอย่างไรให้ผู้สัมภาษณ์เห็น?”
การสัมภาษณ์เป็นเหมือนกระดานสีขาว ที่ให้เราได้วาดสิ่งที่เราต้องการให้เขา (ในที่นี้คือผู้สัมภาษณ์เรา) ได้เห็น และสิ่งที่เราคิดว่าเขาต้องการจะได้จากเรา เรื่องนี้มันคือกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้เราโดดเด่นในความทรงจำของผู้สัมภาษณ์มากกว่าคนอื่น ซึ่งเดิมทีพวกเราทุกคนมีเรื่องจะเล่าอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเอาชนะอุปสรรคหรือการเรียนรู้จากความผิดพลาด ดังนั้นสิ่งที่ต้องแข่งกันจริงๆ ก็คือใครที่จะสามารถเล่าเรื่องของตัวเองได้ดีกว่ากันต่างหาก
“เรื่องราวที่ดี จะนำผู้ฟังออกเดินทาง”
เราต้องทำให้ภาพในตอนเริ่มต้นเรื่อง ตอนกลาง และตอนจบให้ออกมาชัดเจน เล่าให้เห็นเป็นภาพเช่น ตอนต้นเป็นภาพของเราในตอนก่อนที่จะเจอความท้าทาย ก่อนที่จะเติบโตอย่างทุกวันนี้ ตอนกลางเป็นช่วงที่เราต้องได้รับแรงกดดัน รับความท้าทาย และอาจจะมีช่วงเวลาที่ยากลำบากมากมาย และในตอนจบเราอาจจะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวก็ได้ แต่สิ่งสำคัญของตอนจบก็คือ “เราได้อะไรออกมาบ้าง จากความท้าทายตรงนั้น?”
เราลองมาทำให้มันชัดเจนขึ้นกว่าเดิมอีกสักหน่อย เรื่องเล่าที่ดีควรทำให้ผู้ฟังได้จมไปในเรื่องราว เหมือนกับว่าพวกเขาอยู่เหตุการณ์ ณ เวลานั้นกับเราด้วย เราต้องมีตอนเริ่มที่น่าสนใจ ทำให้คนอยากรู้การเดินทางระหว่างตอนกลางของเรื่อง และแน่นอนว่าตอนกลางของเรื่องจะต้องดึงดูดคนฟังให้เข้าถึงพอที่จะลุ้นผลลัพธ์ในตอนจบไปกับเราได้
- ตอนเริ่มต้น: เลือกเรื่องราวที่จะทิ้งร่องรอยของเราเอาไว้ในแบบที่เราต้องการ
ในตอนเริ่มต้นเล่าเรื่อง เริ่มต้นโดยการร่างเค้าโครงคร่าวๆให้ผู้ฟังเห็นภาพ อย่าลืมว่า พวกเราทุกคนเป็นคนธรรมดากันทั้งนั้น เราไม่จำเป็นต้องฆ่าสัตว์ประหลาดที่มาบุกโลกแบบในหนังเพื่อให้ได้เป็นมนุษย์ และในการสัมภาษณ์งานก็ไม่จำเป็นต้องเล่าแต่เรื่องราวที่ทำให้คุณดูเป็นฮีโร่เสมอ
“เรื่องราวที่มีทั้งความสำเร็จและความล้มเหลว จะทำให้ผู้สัมภาษณ์รู้สึกว่าคุณโดดเด่น ดูเป็นผู้สมัครที่รู้จักตัวเอง”
ทุกคนต้องเคยมีประสบการณ์กับการเผชิญหน้ากับงานที่ท้าทาย ความสามารถของเราอาจจะถูกปลดล็อกได้จากบางเหตุการณ์หรือบางอย่างที่นำพาเราไปถึงเวลาที่ต้องใช้ความสามารถใหม่ๆ เพื่อให้ผ่านมันไปให้ได้ บางทีเราอาจจะเป็นคนที่สนับสนุนและให้กำลังใจหัวหน้าในการผ่านวันที่เลวร้ายไปได้ หรือบางทีด้วยการผ่านช่วงเวลาที่เราเองก็เคยล้มลุกคลุกคลาน เราก็ผ่านมันมาได้โดยตระหนักถึงข้อผิดพลาดเหล่านั้น และคุณกลายเป็นคนใหม่ที่แข็งแรงขึ้นและมีศักยภาพมากขึ้น
- ตอนกลาง: ดึงผู้สัมภาษณ์ให้จมดิ่งลึกลงไปในรายละเอียดของความทรงจำ
อย่าเพิ่งพูดว่าเราได้รับรางวัลหรือทำภารกิจยากสำเร็จ เราต้องรู้จักแบ่งปันความสำเร็จเหล่านั้นอย่างมีชั้นเชิงด้วยเรื่องราว กระตุ้นและดึงดูดผู้สัมภาษณ์ด้วยรายละเอียดที่หลากหลาย เราต้องทำให้เขาอยากรู้ว่า “เราได้เสียสละอะไรไปบ้างเพื่อรางวัลนั้น?” หรือ “เรารู้สึกอย่างไร เมื่อต้องเผชิญหน้ากับความท้าทาย?” หรือ “ใครคือคนที่ยืนเคียงข้างเราและคอยสนับสนุนเรา?” หรือ “เราผ่านทุกอย่างมาได้ด้วยตัวคนเดียว ได้อย่างไร?”
“พระเจ้าอยู่ในรายละเอียด”
อย่างที่หลายคนชอบพูดกันว่า “พระเจ้าอยู่ในรายละเอียด” ซึ่งหมายถึง ความพิถีพิถันใส่ใจในรายละเอียด ถึงแม้ว่าจะเป็นสิ่งที่เล็กน้อยที่สุด แต่ถ้าหากเราเอาใจไปใส่กับเรื่องเหล่านี้ก็จะกลายเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้ มันไม่ใช่การเรียงแถวข้อมูลในเรซูเม่ แต่มันคือความทรงจำทั้งหมด ที่ผู้สัมภาษณ์จะสามารถมองเห็นตัวตนของเราแบบเต็มๆ ได้ รับรู้ถึงการวิเคราะห์ การแก้ปัญหาของเรา รับรู้ถึงความมุ่งมั่น การรับมือความเสี่ยง และคุณสมบัติในการมองสะท้อนตัวเองของเราได้ จากเรื่องที่เราเล่า
- ตอนจบ: อย่าเป็นแค่ฮีโร่ ต้องเป็นคนที่อ่อนแอด้วย
เป้าหมายของเราก็คือ แบ่งปันเรื่องราวระหว่างการสัมภาษณ์ มันไม่ใช่แค่การแบ่งปันเรื่องราวน่าตื่นตาตื่นใจตลอดเวลา สิ่งสุดท้ายที่เราต้องทำก็คือ สร้างความแตกต่างและสร้างความประทับใจให้เกิดขึ้นจริงด้วยการแสดงทุกด้านของความเป็นตัวเราเอง เราสามารถเลือกบาลานซ์ความสำเร็จไปพร้อมกับเรื่องของความล้มเหลวในเรื่องเล่าเดียวกันก็ได้
“แบ่งปันประสบการณ์ ความมุ่งมั่นที่ดีที่สุด แม้ครั้งนั้นจะเป็นครั้งที่ได้ผลลัพธ์อันไม่พึงไม่ประสงค์ก็ตาม”
ในโลกแห่งความจริง ไม่มีใครประสบความสำเร็จในทุกๆ ครั้งที่พยายาม เพราะเราไม่ใช่ฮีโร่จากหนังยอดมนุษย์ เราเป็นเพียงคนธรรมดาที่ก็สามารถผิดพลาดกันได้ เอาเข้าจริงคนเราพบความผิดพลาดมากกว่าความสำเร็จด้วยซ้ำ ดังนั้นเมื่อเราเป็นเจ้าของของความผิดพลาดนั้น เมื่อเรายอมรับว่าเราได้ทำในสิ่งที่เราไม่อยากจะยอมรับเสียเท่าไร และเมื่อเรายอมที่จะเปิดเผยจุดอ่อนของเราบ้าง ตอนนั้นแหละเป็นตอนที่เราโดดเด่นสว่างไสวที่สุดในสายตาของผู้สัมภาษณ์
บทสรุป
ในกระบวนการสัมภาษณ์งาน เต็มไปด้วยความหลากหลายทั้งวิธีการนำเสนอของผู้ถูกสัมภาษณ์และความต้องการของผู้สัมภาษณ์ สิ่งที่เหมือนกันหมดก็คือ ถ้าอยากได้งาน เราต้องทำให้ผู้สัมภาษณ์จดจำเราให้ได้เสียก่อน การจดจำในที่นี้หมายถึง จดจำในด้านความประทับใจ การมีภาพจำที่ดี จะสร้างผลลัพธ์ที่ดี ดังนั้นเราอย่าเสียเวลากับการทำอะไรที่ไม่ได้ประโยชน์
การเป็นผู้เล่าที่ดีเป็นสิ่งที่สามารถฝึกฝนได้ หาเรื่องเล่าที่น่าประทับใจที่เคยเกิดขึ้นกับตัวเรา จากประสบการณ์การต่อสู้กับความท้าทาย อุปสรรค หรือ ปัญหา ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก ซึ่งไม่จำเป็นเลยว่า ตอนจบของเรื่องนี้ เราจะมีผลลัพธ์เป็นบวกหรือเป็นลบ เราก็แค่แสดงให้เห็นว่าเรารู้จักตัวเราเองดีพอ เรารู้ว่าเรานั้นพลาดตรงไหน และเราได้อะไรกลับมาจากความล้มเหลวหรือความสำเร็จตรงนั้น เรื่องเล่าเหล่านี้จะทำให้เราโดดเด่นและเป็นที่น่าจดจำที่สุด
“ความสำเร็จเป็นสิ่งที่น่าจดจำ แต่สิ่งที่ได้ระหว่างทางเป็นสิ่งที่น่าบอกต่อ”
Reference:
The Best Job Candidates Are the Best Storytellers