
Plant-Based Food หรือ อาหารจากโปรตีนพืช ทางเลือกใหม่สำหรับอนาคตของวงการอาหาร ถือเป็นอาหารรักษ์โลกที่ตอบโจทย์สุขภาพและเรื่องของสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย
คุณแดน ปฐมวาณิชย์ คือผู้บริหารรุ่นใหม่ CEO แห่งบริษัทเอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ NRF ผู้นำด้านการผลิต Specialty Food ที่ผสมผสานรสชาติและสุขภาพเข้าด้วยกันด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ

เขาเป็นนักธุรกิจ ผู้สร้างกิจการผลิตอาหารจากโปรตีนพืช (Plant-Based Food) คนแรกๆ ของประเทศไทย ด้วยความเชื่อมั่นอย่างเต็มเปี่ยมว่าเราสามารถต่อกรกับสภาวะโลกร้อนได้ ด้วยการใช้อาหารเป็นเครื่องมือ เพราะอาหารที่ผลิตจากพืชปล่อยก๊าซก๊าซเรือนกระจกเพียง 1 ใน 10 ของอาหารที่ผลิตจากเนื้อสัตว์
อย่างไรก็ตามความมุ่งมั่นของคุณแดนไปไกลกว่าแค่ลดการปล่อยคาร์บอน หนึ่งในก๊าซเรือนกระจกตัวการทำให้โลกร้อน แต่เขาต้องการผลักดันให้ NRF เป็น Clean Food Tech Company และไปถึงจุดที่ปล่อยคาร์บอนเป็นลบ (Carbon Negative) ซึ่งนับเป็นเป้าหมายที่ท้าทายอย่างมาก
มุมมองการทำธุรกิจของคุณแดนน่าสนใจ เช่นเดียวกับทัศนคติและความมุ่งมั่นของเขา จะมีผู้บริหารสักกี่คน ที่เป็นนักลงมือทำด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรอบด้าน ทั้งในด้านกิจการและชีวิตส่วนตัว หลายปีที่ผ่านมาเขาขึ้นพูดสร้างความตระหนักบนหลากหลายเวทีระดับโลก ทั้งยังลงทุนซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในชีวิตประจำวันของตัวเองให้เป็นศูนย์
จากนักธุรกิจสู่นักเคลื่อนไหวด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คุณแดนพูดกับเราถึงความท้าทายในการขับเคลื่อนบริษัท ที่สร้างผลกำไรไปพร้อมกับช่วยโลกลดก๊าซเรือนกระจก และภายใต้โลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในทุกด้าน คนทำงานยุคใหม่ต้องปรับตัวอย่างไร และลงมือทำสิ่งใด เพื่อให้การทำงานและการใช้ชีวิตของเราเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างโลกที่ยั่งยืน

เมื่องานของเราช่วยกู้โลกได้
ระบบอาหารของโลกเราทุกวันนี้ไม่ยั่งยืน เพราะปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 30 เปอร์เซ็นต์จากปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของอุตสาหกรรมทั้งหมด
ในแต่ละปีการปศุสัตว์มีการผลิตจำนวนมากให้เพียงพอต่อปริมาณความต้องการของผู้บริโภคซึ่ง 1กระบวนการของปศุสัตว์คือขั้นตอนการขุนสัตว์ให้อ้วนพีมีโปรตีน ต้องใช้พื้นที่ รวมทั้งทรัพยากร และพลังงานมหาศาล นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมระบบอาหารจึงสร้างก๊าซเรือนกระจกมากตามไปด้วย และที่สำคัญไปกว่านั้น ในแต่ละวันวัวนับล้านตัวจะปล่อยก๊าซมีเทนออกจากร่างกายผ่าน “ตด” และ “เรอ” แต่แท้จริงแล้วมันมีปริมาณมากจนถือเป็นอีกหนึ่งแหล่งสร้างก๊าซเรือนกระจกร้ายแรงตัวการโลกร้อน

คุณแดนอธิบายว่า “ในปี 2050 โลกอาจจะมีจำนวนประชากรถึงหนึ่งหมื่นล้านคน คำถามที่ตามมาคือเราจะหล่อเลี้ยงประชากรจำนวนมากขนาดนั้นได้อย่างไร นั่นคือความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ และผมมองว่าการบริโภคอย่างยั่งยืน ที่เปลี่ยนห่วงโซ่อุปทานและการผลิต การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง คือหัวใจสำคัญของการแก้ปัญหานี้”
ในยุคปัจจุบันที่โลกของเรากำลังเผชิญวิกฤติด้านต่างๆ เราทุกคนมีส่วนเกี่ยวกับกับปัญหาใดไม่ก็ปัญหาหนึ่ง คำถามคือ เมื่อรู้แล้วว่าปัญหาคืออะไร เราจะเลือกลงมือแก้ไขมันหรือไม่?
ในฐานะผู้บริหารธุรกิจเกี่ยวกับอาหาร คุณแดนตั้งเป้าหมายทันทีว่าบริษัทของเขาจะต้องเป็นพาหนะในการเปลี่ยนแปลงระบบอาหาร ให้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยลง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและยั่งยืนยิ่งขึ้น เพื่อแก้ปัญหานี้ให้ได้
ความยั่งยืนที่ทุกคนในทีมร่วมสร้าง
“เราจะผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ Plant-Based Food ที่คุณภาพได้มาตรฐาน ในราคาที่แข่งขันได้ในระดับโลก ที่เรามุ่งมาทางนี้ เพราะในกระบวนการผลิตอาหารจากพืช ที่ได้ทั้งสารอาหารและโปรตีนไม่แพ้เนื้อสัตว์ นั้นปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าอาหารจากสัตว์ถึง 1 ใน 10”
หากคุณติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด จะเห็นได้ว่าปัจจุบันทิศทางการพัฒนาของประเทศต่างๆ ล้วนให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การที่คุณแดนเริ่มขยับตัวสู่ Plant-Based Food เป็นคนแรกๆ ของประเทศไทย นับเป็นวิสัยทัศน์และการตัดสินใจเฉียบขาดที่ผู้บริหารและคนทำงานในปัจจุบันต้องดูเป็นตัวอย่าง
“เราเป็นหนึ่งในไม่กี่บริษัทของไทยที่เซ็นสัญญาลดปล่อยก๊าซคาร์บอน หนึ่งในก๊าซเรือนกระจก เพื่อให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นไม่เกิน 1.5 องศา ทุกวันนี้ NRF เป็นโรงงานผลิตอาหารที่ได้รับการรับรองคาร์บอนเป็นกลาง (Carbon Neutral) แห่งแรกและแห่งเดียวในไทย สิ่งนี้ส่งผลต่อความรู้สึกเชิงบวกของผู้บริโภคโดยเฉพาะที่ต่างประเทศ อย่างซูเปอร์มาร์เก็ตที่สหรัฐฯ ก็นำสินค้าของเราขึ้นเชลฟ์แทนสินค้าหลายๆชิ้น เพราะเราเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า”
อย่างไรก็ตาม เป้าหมายของคุณแดนต่อการขับเคลื่อนระบบอาหารนั้นไม่มีจุดสิ้นสุด เมื่อหมุดหมายแรกสำเร็จ ก็ต่อขยายจุดต่อไปเรื่อย ๆ แผ่กิ่งก้านออกเป็นโครงข่ายความยั่งยืน ปีที่ 5 กำลังก้าวสู่ปีที่ 6 การบริหารงานของเขามุ่งเน้นไปที่การสร้างวัฒนธรรมองค์กรสู่การเติบโตร่วมกัน ให้ทีมงานทั่วโลกทั้ง 1,500 คนเห็นความสำคัญของระบบอาหารที่ยั่งยืน เมื่อทุกคนในทีมเห็นภาพเดียวกัน องค์กรก็เดินหน้าไปอย่างถูกทิศทางและรวดเร็ว
“หมุดหมายใหม่ของเราตอนนี้ คือการมุ่งสู่การเป็น Global Clean Food Tech Company เราจะไม่ใช่แค่เป็นกลางทางคาร์บอน แต่เราจะไปให้ถึงจุดที่ปล่อยคาร์บอนติดลบ (Carbon Negative)”

การทำงานที่มีแต่วินกับวิน
คุณแดนอธิบายต่อถึงกลยุทธ์สู่ Carbon Negative ของ NRF ว่า “เราใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการพัฒนาอาหาร ทำอย่างไรเพื่อปล่อยมลพิษและก๊าซเรือนกระจกน้อยลง แต่ยังคงคุณภาพและความอร่อยเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือดีต่อสุขภาพกว่าเดิมด้วยซ้ำ ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของเทคโนโลยีทั้งนั้น เช่นเดียวกับการปล่อยคาร์บอนติดลบ เราก็นำเทคโนโลยีเข้ามาเช่นเดียวกัน”
อีกหนึ่งภารกิจของคุณแดนและ NRF ตอนนี้คือพัฒนาไบโอคาร์บอน (Biocarbon) จากของเหลือทางการเกษตรที่ไม่มีมูลค่าใดๆ ซึ่งปกติจะถูกเผาทิ้งเนื่องจากเกษตรกรต้องจัดเตรียมพื้นที่สำหรับเพาะปลูกฤดูกาลถัดไป ของเหลือทางการเกษตรเหล่านี้มีมหาศาลทั่วโลก ซึ่งการเผานับเป็นหนึ่งในบอเกิดของมลภาวะ PM2.5 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเผาไหม้

“เราจึงนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ในกระบวนการนี้เพื่อการเพิ่มมูลค่าผ่านการแปรรูปของเหลือจากการเกษตรเหล่านั้น เช่น ซังข้าวโพด ให้กลายเป็นไบโอคาร์บอน ซึ่งเป็นถ่านชีวภาพที่เมื่อฝังแล้วจะช่วยเพิ่มศักยภาพของดิน ทำให้ดินดูดซึมน้ำได้ดีขึ้นถึง 3-4 เท่า ส่งผลให้ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น แทนที่ซังข้าวโพดจะถูกเผา แต่ถูกแปรรูปเป็นไบโอคาร์บอน เปรียบเสมือนโรงงานดักจับก๊าซเรือนกระจกไม่ให้ลอยขึ้นไปยังชั้นบรรยากาศ”

ทุกการลงมือทำล้วนมีความหมาย
นอกจากบทบาทนักลงทุนและผู้บริหารที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้ระบบอาหารยั่งยืนขึ้น ผ่านการสร้างผลกำไรให้บริษัทไปพร้อมกับการแก้วิกฤติปัญหาของโลก จนได้รับการกล่าวถึงจากสื่อสิ่งพิมพ์ต่างประเทศมากมาย ทั้ง Time, Forbes, Bloomberg และ CNN คุณแดนยังเป็น Climate Actor ที่ผลักดันการใช้ชีวิตแบบคาร์บอนต่ำอย่างจริงจัง ได้รับเชิญเป็นวิทยากรในหลายเวทีความยั่งยืนระดับโลก อย่าง COP26 เวทีบรรเทาสภาพอากาศที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่เมืองกลาสโกล์เมื่อปีที่ผ่านมา
คุณแดนอธิบายว่าคนจำนวนมากยังคิดว่าปัญหาโลกร้อนไม่เกี่ยวกับตัวเอง น้ำแข็งขั้วโลกละลาย ภัยพิบัติต่างๆ มันเกิดที่ทวีปอื่น ไม่มาถึงประเทศไทยหรอก ทั้งที่จริงโลกร้อนส่งผลกระทบกับเราในแทบทุกมิติ เอาใกล้ตัวที่สุดก็คืออาหารการกิน ดังนั้นอย่างแรกคือคุณต้องตระหนักก่อนว่ามันเกี่ยวกับคุณแน่ๆ
“อย่าคิดว่าการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวัน จะไม่ช่วยแก้ปัญหานี้ หากร่วมกันปรับเปลี่ยนคนละนิดละหน่อยก็สามารถช่วยโลกได้ อย่างตัวผมเอง เวลาไปออฟฟิศที่อยู่ชั้น 6 ผมจะเลี่ยงการใช้ลิฟต์แต่จะเปลี่ยนเป็นเดินขึ้นบันไดแทน ต่างกันไม่กี่นาที บางทีเราเลือกเดินอาจจะไวกว่าการขึ้นลิฟต์ และยังได้ออกกำลังกาย แถมยังประหยัดพลังงานอีกต่างหาก ลองคิดดูว่าถ้าทุกคนคิดแบบเดียวกับผม นั่งบีทีเอสบ้าง ลองเปิดหน้าต่างปิดเครื่องปรับอากาศดูบ้าง วันๆ นึงทั้งโลกจะลดการใช้พลังงาน ลดการเรือนกระจากจากการใช้พลังงานนั้นไปได้มากมาย”
คุณแดนเสริมต่อว่า เราทุกคนกู้โลกได้จากอาหารวันละ 3 มื้อ สนับสนุนเกษตรกรและผู้ผลิตอาหารที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม หรือลองเริ่มลดการกินเนื้อสัตว์ ปรับมากิน Plant-Based Food บ้าง ตอนนี้ในเมืองไทยมีผู้ประกอบการทั้งรายเล็กรายใหญ่ พัฒนาอาหารหลายสูตรที่อร่อยไม่แพ้เนื้อจริงๆ และไม่ได้มีแค่ทางเลือกทดแทนเนื้อ แต่นมทดแทนจากพืชก็มีให้เลือก สิ่งแวดล้อมดีขึ้นและสุขภาพก็ดีขึ้นด้วย เพราะอาหารจากพืชไม่มีคอเลสเตอรอล

“สิ่งที่ผมพยายามทำคือการสร้างเวทีให้อุตสาหกรรมอาหารและการเกษตรทั่วโลก รวมถึงสร้างแพลตฟอร์มและสร้างเครือข่ายให้ SME ไทยที่ทั้งเก่งและครีเอทีฟในด้านการพัฒนาอาหาร ตอนนี้เรามีร้าน alt.Eatery ซึ่งร่วมมือกับผู้ประกอบการรายย่อยที่ทำ Plant-Based Food มากมาย ยิ่งมีร้านเยอะ เราก็ยิ่งขยายสิ่งนี้ออกไปหาคนได้เยอะขึ้น ผลิตภัณฑ์ก็จะหลากหลายขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการทำตลาดได้เยอะขึ้น”
คุณแดนกล่าวทิ้งท้ายว่า “เมื่อคนกินอาหารจากพืชมากขึ้น ก็เท่ากับการผลิตอาหารปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยลง คนได้กำไรทางตรงคือคนทำธุรกิจก็จริง แต่คนได้กำไรระยะยาวที่แท้จริงคือมนุษย์ทุกคนบนโลก”
เราปรับ โลกเปลี่ยน The Next Generation: กู้โลกร้อน ด้วยระบบอาหาร Low Carbon
หรือ จะเลือกรับฟังรายการ ในรูปแบบของ Podcast ได้ที่:
เราปรับ โลกเปลี่ยน The Next Generation เพราะเราทุกคน ”เปลี่ยน” โลกให้ดีขึ้นได้ พบหลาก idea หลาย action ของคนรุ่นใหม่ที่ลุกขึ้นมา “ปรับ” คิดแล้วลงมือทำ เพื่อร่วมกันสร้างโลกให้ยั่งยืน
WeShiftWorldChange #NextGeneration #เราปรับโลกเปลี่ยน #ทุกคนเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้นได้