Fixed Mindset ที่เป็นปัญหา ที่เราพบได้บ่อยๆ ในสังคมทำงาน เช่น บางคน เมื่อพวกเขาต้องเจอกับปัญหา หรือ ต้องเจอกับสถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคย ก็ออกอาการถอดใจ หรือ ยอมแพ้ง่ายๆ
แต่กับอีกคน เขาอาจจะขอลองแก้ไขดูก่อน หรือ ลองทำดูก่อน ทั้งๆ ที่อาจจะไม่เคยมีประสบการณ์ในเรื่องนั้นมาก่อน แต่ก็มีความเชื่อว่า น่าจะเจอวิธีการที่จะแก้ไขในเรื่องนี้ได้
นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ว่า ความเชื่อ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม ล้วนมีผลต่อการตัดสินใจ และ การดำเนินชีวิตของเราทั้งสิ้น และ ทุกๆ การตัดสินใจ จะส่งผลต่อผลลัพธ์ที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน เช่นกรณีแรก เพราะเขาอาจจะมี Fixed Mindset ที่เป็นปัญหา จึงเกิดอาการถอดใจได้ง่าย ก็ไม่ได้ไปต่อ ก็หมายความว่ายอมแพ้ต่อปัญหา ซึ่งต่างจากกรณีที่สอง คือ ลองดูก่อน ค่อยๆ ทำไป ก็จะมีแนวโน้มที่อาจจะประสบความสำเร็จได้
ดังนั้น เรื่องของความเชื่อ จึงมีผลต่อความเป็นไปได้ ในสิ่งที่เราเชื่อสูงมาก
แล้วเราควรเชื่อแบบไหนดี? ที่จะส่งผลดีกับชีวิตในการทำงานของเรา?
โดยธรรมชาติ เมื่อเราอายุเยอะขึ้น เรามักจะมีแนวโน้มที่จะเป็นแบบ Fixed Mindset ในหลายๆ เรื่อง ด้วยเหตุที่เราอาจจะไม่ได้ถูกปลูกฝังชุดความคิดและทัศนคติที่ถูกต้องมาตั้งแต่ในวัยเด็ก ล่วงเลยจนมาถึงวันเรียนและวัยทำงาน ผลที่ตามมาก็คือ เรามักมองจะอะไรที่ไม่คุ้นเคย อะไรที่ยากๆ กลายเป็นปัญหา หรือ อุปสรรคของชีวิตไปซะหมด
ถึงแม้ว่า เราจะมี Fixed Mindset ที่เป็นปัญหาในหลายๆ เรื่องก็จริง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เราจะเปลี่ยนแปลงให้เป็น Growth Mindset ไม่ได้ ดังนั้น เรามาทำความเข้าใจกันก่อน กับ เรื่อง Fixed Mindset ที่เป็นปัญหา ที่พบได้บ่อยๆ ในการทำงาน ว่ามีประเด็นอะไรบ้าง? แล้วมาดูวิธีการกันว่า เราจะสามารถเปลี่ยนมุมมองของเรา (หากเราเองก็เป็น Fixed Mindset) ในเรื่องนี้ได้อย่างไร?
“เราเก่งในบางเรื่อง หรือ ไม่เก่ง (ห่วย) ในบางเรื่อง”
เมื่อใดก็ตามที่เราคิดว่าเราเก่งในเรื่องใดเรื่องนึง เราก็จะไม่พยายามที่จะเรียนรู้ หรือ พัฒนาต่อไปในเรื่องนั้นๆ เพราะ เราอาจจะคิดไปเองว่า “ฉันเก่งแล้ว ไม่ต้องเรียนรู้อะไรเพิ่มเติมอีกก็ได้” ในทางตรงกันข้าม หากเราบอกว่าเราไม่เก่งเรื่องนี้ อาจจะเป็นเพราะเราพลาดมาก่อน ผลที่ตามมาก็คือ เราจะหลีกเลี่ยงที่จะทำในเรื่องนี้ สาเหตุที่หลีกเลี่ยงก็เพราะกลัวพลาด กลัวความผิดหวัง หรือ กลัวเสียหน้าหากเกิดความผิดพลาดขึ้นมา และก็จะไม่พยายามเรียนรู้ หรือ ฝึกฝนในเรื่องนี้ เพราะมองว่าถึงเรียนรู้ไปก็เท่านั้น เพราะเราไม่เก่ง ไม่ได้เรื่อง เสียเวลาเปล่าๆ นี่แหละครับ คือ ผลพวงของอนุภาพของ Fixed Mindset ที่เรามีต่อตนเอง
คิดเแบบ Growth Mindset สำหรับกรณีนี้ คือ อะไรก็ตามที่เราไม่เก่ง เราควรบอกตัวเองว่า “เราอาจจะยังไม่เก่งพอในเรื่องนี้ ถ้าเราเรียนรู้เพิ่มเติม ฝึกฝนเพิ่มเติมมากขึ้นอีกสักหน่อย เราก็จะสามารถทำได้ดีกว่านี้ได้อีกแน่นอน”
“มันสายเกินไป ที่จะเริ่มต้นใหม่ หรือ อายุมากเกินไป ที่จะเรียนรู้ใหม่”
พวกเราคงเคยได้ยิน พี่ๆ ในที่ทำงาน (หรือแม้ระทั่งตัวเราเอง) เปรย หรือ บ่นให้เราฟังว่า “พี่แก่เกินที่จะเรียนรู้แล้ว พี่คิดว่าเอาแค่นี้ ทำแค่นี้ก็พอแล้ว” หรือ “มันคงสายเกินไป กับการเริ่มต้นใหม่ เพราะเราอายุก็มากแล้ว”
ประเด็นเหล่านี้ ก็เกิดจาก Fixed Mindset ที่เป็นปัญหา ที่เรามีต่อตนเอง มองว่าเรามีข้อจำกัดเรื่องอายุ มองว่าเมื่ออายุเยอะ ความสามารถในการเรียนรู้เป็นศูนย์ ซึ่งถือว่าเป็นความเชื่อที่ผิดมาก
ซึ่งข้อเท็จจริง และ ด้วยการคิดเแบบ Growth Mindsetก็คือ การเรียนรู้ ไม่ได้ถูกจำกัดด้วยอายุ ทุกคนสามารถเรียนรู้เมื่อไหร่ก็ได้ ได้ทุกช่วงอายุ ตามที่ต้องการได้เสมอ โดยเฉพาะในยุคนี้ ยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงสูงและไวมาก หากใครไม่เรียนรู้ ไม่พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ก็อาจจะถูกทิ้งเอาไว้ท้ายแถว หรือ อาจจะไม่เหลืองานดีๆ ในอนาคตให้ทำก็เป็นได้
“จะพยายามทำไปทำไมอีก ในเมื่อทำไปก็ผิดพลาด หรือ ล้มเหลวอยู่ดี”
ถึงแม้ว่าจะไม่มีใครชอบความผิดพลาด และ ความล้มเหลว แต่มันก็เป็นเรื่องที่เราล้วนต้องเจออยู่ดีในการทำงาน หรือ การดำเนินชีวิต บางคนอาจจะต้องเจอความผิดพลาดบ่อยครั้ง ถึงแม้จะพยายามซ้ำแล้วซ้ำอีก แต่ก็ยังผิดพลาดอยู่ดี ผลที่ตามมาก็เกิดอาการถอดใจ ไม่อยากทำอีกครั้ง เพราะเชื่อไปโดยสนิทใจแล้วว่า ถ้าทำต่อไปผลก็คือพลาดอยู่ดี
ความรู้สึก หรือ ความคิดที่เกิดขึ้นแบบนี้ เกิดจาก Fixed Mindset ที่เรามีต่อสถานการณ์นี้ การที่มีความพยายามที่จะทำอีก แต่ไม่ได้กลับไปเรียนรู้จากสิ่งที่ผิดพลาด อจจะทำให้การลงมือทำของเราสูญเปล่าได้ เพราะการทำซ้ำๆ แบบเดิม แต่คาดหวังผลลัพธ์ที่ดีกว่าเดิม คงไม่มีทางเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน
ดังนั้น หากเราคิดด้วย Growth Mindset ก็คือ มองความผิดพลาดเป็นเรื่องธรรมดา มองว่าเรายังมีโอกาสที่จะเรียนรู้จากความผิดพลาดนั้น เพื่อเอามาปรับปรุง หรือ พัฒนาเป็นวิธีการใหม่ ในการลองครั้งถัดไป ด้วยมุมมองแบบนี้ จะทำให้เราก้าวไปข้างหน้าโดยไม่ต้องกลัวว่าจะล้มเหลวได้ง่ายกว่า
“คำแนะนำ หรือ ข้อเสนอแนะ คือ การวิพากษ์วิจารณ์เชิงลบ”
คงไม่มีใครชอบอย่างแน่นอน หากมีคนมาบอกว่าสิ่งที่เราทำไม่ถูกต้อง หรือ มาตำหนิเราว่า เราไม่มีความรู้ ไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะทำในสิ่งนั้น แต่มันก็เป็นเรื่องธรรมดา เพราะความสามารถในการยอมรับคำวิพากษ์วิจารณ์ของแต่ละคนไม่เท่ากัน และ ก็อยู่ที่มุมมองของแต่ละคนด้วย ว่าจะตีความว่า สิ่งที่คนอื่นพูดถึงเรานั้น เป็นลบ หรือ เป็นบวก
คนที่รับไม่ได้เลยกับการถูกวิพากษ์วิจารณ์ (อาจจะด้วยเพราะตนเองคิดว่า ตนเองถูกเสมอ หรือ ดีกว่าคนอื่น) ก็จะไม่รับฟังความคิดเห็น หรือ ข้อเสนอแนะอะไรทั้งสิ้น ซึ่งบางที การที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ เราอาจจะเจอสิ่งสำคัญ ที่เราสามารถนำไปปรับปรุง ต่อยอดให้ดีขึ้นได้ แต่ในกรณีนี้ พอเราเป็น Fixed Mindset ที่เป็นปัญหา เราก็จะมองว่า คนที่มาวิพากษ์วิจารณ์เรา คือ พวกไม่ประสงค์ดี พยายามมาตัดสินเราแบบไม่ยุติธรรม พาลทำให้เราไม่พอใจ และ เกลียดคนกลุ่มนี้ได้
ในมุมมองแบบ Growth Mindset ก็คือ เราควรมองว่า ไม่ว่าจะทำอะไร ก็ย่อมมีคนคอยวิพากษ์วิจารณ์เราอยู่แล้ว และในทุกๆ การวิพากษ์วิจารณ์ บางประเด็นก็อาจจะมีประโยชน์สำหรับเราก็ได้ หรือ หากไม่มีประโยชน์ เราก็สามารถเลือกที่จะไม่นำมาเก็บเป็นอารมณ์ก็ได้เช่นกัน
“ตนเองคงไม่มีโอกาสเติบโตต่อไปได้อย่างแน่นอน”
ทุกคนถ้าถามว่าอยากก้าวหน้าในที่ทำงานไหม? เชื่อว่าคำตอบที่ได้ก็คือ อยาก แต่สิ่งที่พูดกับพฤติกรรมที่ทำ นั้นมันตรงกันข้าม เพราะหากยังทำงานแค่พอผ่าน มันก็เป็นเรื่องยากที่จะเติบโตในสายงานต่อไปได้
ด้วยความคิดแบบ Fixed Mindset ที่เชื่อว่า ตนเองไม่สามารถเติบโตต่อไปได้อย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเชื่อเพราะสาเหตุใดก็ตาม ผลที่ตามมาก็คือ เราก็จะไม่หาหนทาง ไม่หาวิธีการ หรือ หาหนทางใหม่ๆ ในการพัฒนาตนเอง เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง
ในมุมมองแบบ Growth Mindset ก็คือ เราควรคิดใหม่ว่า เราสามารถพัฒนาได้ แล้วเราควรพัฒนาอะไร? ด้วยวิธีการอย่างไร? เพื่อที่จะมีโอกาสเติบโตกับสายงานกับที่ปัจจุบัน หรือ ในอนาคตได้
“เห็นคนอื่นได้ดีกว่าเรา แล้วเรารู้สึกไม่พอใจ หรือ รู้สึกแย่เพราะไม่ยุติธรรม หรือ รู้สึกหมดหวัง”
เป็นเรื่องธรรมดา ที่เราเห็นได้ในที่ทำงานทั่วไป ในยามที่มีใครก็ตามที่ประสบความสำเร็จได้รับการโปรโมทเลื่อนขั้น ก็ต้องเกิดอาการอิจฉาบ้าง ไม่พอใจบ้าง มองว่าไม่ยุติธรรมบ้าง เป็นต้น ส่ิงเหล่านี้ เกิดจากการคิดแบบ Fixed Mindset ทำให้เราเชื่อว่า สิ่งที่เกิดขึ้น ไม่มีความยุติธรรมสำหรับเรา ผลที่ตามมาก็คือ เราก็จะเลิกที่จะพัฒนาตนเอง เลิกที่จะพยายามผลักดันด้วยการสร้างผลงาน และ นอกจากนี้ พาลเกลียดเพื่อนร่วมงานที่เขาได้รับการโปรโมทไปด้วยเช่นกัน
ในมุมมองแบบ Growth Mindset เราควรแสดงความยินดีด้วยความจริงใจ เมื่อเพื่อนร่วมงานของเราได้ดิบได้ดี และ ควรมองตนเองว่า เราเองก็สามารถทำได้เช่นกัน โดยเราสามารถขอคำแนะนำจากเพื่อนคนนี้ได้ เขาเองก็อาจจะยินดีที่จะแนะนำเราด้วยเช่นกัน
ทั้งหมดก็เป็น 6 ตัวอย่างของ Fixed Mindset ที่เป็นปัญหา ที่พบได้ทั่วไปในสังคมทำงาน
อย่างไรก็ตาม เราเลือกที่จะเชื่อในศักยภาพของตัวเราเองได้เสมอ เหมือนกับที่ โบราณเขาว่าเอาไว้ “เราคิดสิ่งไหน เชื่อแบบไหน ก็จะได้แบบนั้น” ซึ่งตรงกับแนวทางของ Growth Mindset เช่นกัน
ดังนั้น เราควรเชื่อว่าทุกอย่างเป็นไปได้ และขอให้ลงมือทำด้วยความเต็มใจและความตั้งใจไปก่อน ความผิดพลาดระหว่างทาง คือ เรื่องธรรมดา หากเรารู้จักเรียนรู้ ปรับปรุง และพร้อมที่จะแก้ไข ผลลัพธ์ที่เราต้องการก็จะอยู่ไม่ไกลอย่างแน่นอน
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : Growth Mindset และ Fixed Mindset คือ อะไร? และมีผลต่อตัวเราอย่างไร?